การเขียนข่าวแจกสำหรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์


การเขียนข่าวแจกทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในที่นี้ ได้แก่ การเขียนข่าวแจกทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จะมีความแตกต่างกับการเขียนข่าวแจกทางสื่อสิ่งพิมพ์

นักประชาสัมพันธ์ควรเลือกใช้ภาษาและคำที่สื่อความหมายได้ชัดเจน ปราศจากความคลุมเครือหรือกำกวมในข่าวแจกทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะผู้ฟังและผู้ชมไม่สามารถย้อนกลับไปฟังหรือชมได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ นักประชาสัมพันธ์ควรใช้ภาษาที่มีความกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เพราะการนำเสนอมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลากับจำนวนข่าวที่ต้องการนำเสนอ และต้องไม่ลืมว่าการเขียนข่าวแจกสำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้น ควรเขียนข่าวในลักษณะที่ทำให้ผู้ฟังและผู้ชมสามารถจินตนาการถึงภาพของข่าวที่รายงานได้

 1. โครงสร้างของข่าวแจก (Story Structure)

การเขียนข่าวสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น โดยทั่วไปจะมีโครงสร้างพื้นฐานอันประกอบด้วยพาดหัวข่าว (headline) ความนำข่าว (lead) ตัวข่าวหรือเนื้อเรื่อง (body) และส่วนจบหรือท้ายข่าว (conclusion) โดยนิยมใช้วิธีการเขียนเพื่อเสนอเนื้อหาข่าวภายในโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบพีระมิดหัวกลับ แต่ในการเขียนข่าวแจกสำหรับวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ความนำ  เนื้อเรื่อง  และส่วนท้าย  ซึ่งแต่ละส่วนจะมีสัดส่วนที่ต่างกัน โดยมีโครงสร้างการเขียนข่าวแบบรูปไข่

การเขียนข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ความนำข่าว (lead) เนื้อเรื่อง (body) และส่วนท้าย (end) ซึ่งทั้งสามส่วนหลักนี้จะมีสัดส่วนต่างกันเหมือนลักษณะของรูปไข่ โดยในส่วนของความนำและส่วนท้าย (ส่วนโค้งมนบนและล่างของไข่) มีสัดส่วนน้อยกว่าเนื้อเรื่อง (ส่วนกลางของไข่) โดยในแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

  1. 1 ความนำ (lead) ความนำ คือประโยคหรือสองประโยคแรกของข่าว ซึ่งสิ่งพิมพ์ มักใช้ความนำที่ประกอบด้วย 5 W และ 1 H แต่สำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียง ผู้ฟังส่วนใหญ่จะไม่สามารถรับข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้สื่อข่าว จึงควรคัดเลือกองค์ประกอบของข่าวที่สำคัญที่สุด 2 หรือ 3 องค์ประกอบในหนึ่งข่าว ที่จะเสนอในความนำ เช่น ใครทำอะไรกระทบกับใคร อะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน วันเวลาใด ทำไมจึงเกิดขึ้น และเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงความสนใจจากผู้ฟัง

  ข้อแนะนำในการเขียนความนำ คือ ความนำต้องมีความกระชับ ไม่ยุ่งเหยิง โดยเขียนถึงเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเขียนความนำที่กล่าวถึงสถานที่หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่มีความสำคัญและจำเป็นเพียงพอที่จะดึงความสนใจของผู้ฟัง

  1.2 เนื้อเรื่อง (body) เนื้อเรื่อง คือ ส่วนที่ถัดจากความนำ เป็นส่วนของการนำเข้าสู่ข้อมูลใหม่ และขยายส่วนที่ได้กล่าวไว้ในความนำ คือ หลังจากได้รวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในข่าวทั้งหมดที่เป็นประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งหมดแล้ว ให้นำมาจัดลำดับเนื้อเรื่องข่าว ซึ่งการจัดลำดับเนื้อเรื่องของข่าวสามารถจัดได้หลายแบบ อาทิ การจัดลำดับเนื้อเรื่องตามลำดับเวลา ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดสำหรับข่าวที่มีลำดับเหตุการณ์ การจัดลำดับเนื้อเรื่องตามลำดับเวลานี้จะอาศัยคำหรือกลุ่มคำที่บอกเวลา เช่น วันนี้ เมื่อวานนี้ หลังจากนั้น ในขณะที่ ล่าสุด เป็นต้น

  การจัดลำดับเนื้อเรื่องจากผลย้อนไปสู่เหตุ คือ การนำเสนอข่าวที่จะให้ผลที่เกิดจากเหตุเป็นลำดับแรกเสมอ และเมื่อแสดงถึงผลที่เกิดแล้ว จึงกลับมาอธิบายสาเหตุและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาจให้ความหมายของการเกิดผลดังกล่าวด้วย คำที่มักใช้ในการจัดลำดับเนื้อเรื่องจากผลไปสู่เหตุ เช่น เพราะว่า เนื่องจาก มีสาเหตุมาจาก เป็นต้น

การจัดลำดับเนื้อเรื่องตามลำดับประเด็น มีแนวทางคล้ายคลึงกับการจัดลำดับเนื้อเรื่องจากผลย้อนไปสู่เหตุ แต่นิยมใช้กับข่าวที่มีการแสดงทัศนคติต่อประเด็นข่าวจำนวนมาก เช่น การที่บุคคลหรือตัวแทนของกลุ่มบุคคลมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์หนึ่ง แล้วมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยตอบโต้ หรือวิจารณ์กลับมา

1.3 ส่วนท้าย (end) ส่วนท้ายเป็นส่วนของข้อความที่มีลักษณะการเขียนอย่างสั้น ๆ ในตอนท้ายของข่าวแจก หรือใช้ข้อความที่เป็นเสียงสัมภาษณ์สั้น ๆ ของผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นการสรุป หรือเป็นการให้ประเด็นหลักอีกครั้ง หรือเป็นการสรุปอย่างสั้น ๆ ปิดท้าย หรืออาจเป็นการนำเข้าสู่ข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลหรือประเด็นใหม่ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่มีในเนื้อข่าว หรืออาจเขียนถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของข่าวนั้น แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันสิ่งที่พึงระวังในการเขียนส่วนท้ายคือ ข้อความของส่วนท้ายไม่ควรมีลักษณะ ที่เป็นการอธิบายครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือไม่สมบูรณ์

 ข้อพึงระวังในการเขียนข่าวแจกสำหรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในที่นี้ หมายถึง วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะของสื่อแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ จึงมีข้อพึงระวังในการเขียนข่าวแจกเพิ่มขึ้นในประเด็นต่อไปนี้ (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต, 2540, หน้า 127 - 128)

1. เขียนเพื่อให้ฟัง ไม่ใช่ให้อ่าน

      นักประชาสัมพันธ์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเขียนข่าวแจกเพื่อเผยแพร่ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นเป็นการเขียนเพื่อการฟัง ไม่ใช่เพื่อให้อ่าน กล่าวคือ ผู้ฟังไม่อาจกลับมาทบทวนได้อีกหากไม่เข้าใจหรือฟังไม่ชัด ด้วยเหตุนี้จึงต้องเขียนให้กระจ่างชัด ฟังง่าย เข้าใจง่าย ไม่สับสน วกวน แต่ละประโยคควรมีแนวคิดเดียว เป็นประโยคสั้น ๆ มีความหมายจบในตัว มีความสัมพันธ์กันดี อาจมีประโยคยาวได้บ้างเป็นช่วง ๆ เว้นวรรคตอนให้ถูกต้องจะทำให้ผู้ฟังฟังได้ง่าย

2. ควรมีการย้ำชื่อบุคคลในข่าว

การกล่าวถึงชื่อบุคคลในข่าว ถ้าเป็นข่าวยาวควรเอ่ยชื่อซ้ำอีกครั้งเพื่อให้ผู้ฟังที่เพิ่งจะเปิดเครื่องรับจะได้ติดตามเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลได้

3. การยกข้อความหรือคำพูดของผู้อื่น

     ในกรณีที่มีการยกข้อความหรือคำพูดของผู้อื่นมาเขียนไว้ในข่าว ควรจะบอกให้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นคำพูดที่ยกมา

4. การใช้คำย่อ         

     ถ้าเป็นคำย่อ ควรใช้คำเต็ม ยกเว้นคำย่อที่ใช้กันจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น ป.ป.ป.   ก.พ.   ส.ป.ช.   ร.พ.ช.  เป็นต้น  คำที่เป็นคำย่ออื่น ๆ ถ้านำมาใช้จะทำให้เกิดปัญหาในการอ่านและการฟัง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย เช่น ร.ต. ควรใช้คำว่า เรือตรี หรือ ร้อยตรี เป็นต้น

5. ควรเขียนให้อ่านง่ายในทุกกรณี

คำใดที่ต้องการเน้นหรือมีความสำคัญ ควรขีดเส้นใต้คำหรือข้อความนั้นให้เห็นชัดเพื่อให้ผู้อ่านข่าวเน้นตามที่ต้องการ เช่นเดียวกับคำที่มักอ่านผิด ๆ อยู่เสมอ ควรเขียนคำอ่านไว้ในวงเล็บด้วย เช่น อาชญากรรม (อาด-ยา-กำ) คุณสมบัติ (คุน-นะ-สม-บัด) เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านข่าวอ่านได้ถูกต้อง 

6. รูปแบบของเอกสารข่าวแจก

     รูปแบบเอกสารข่าวแจกสำหรับวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ให้ใช้หลักความชัดเจน เรียบง่าย และมีระเบียบ เพื่อสะดวกในการอ่าน ได้แก่ การพิมพ์ข่าวแจกมักนิยมเว้นระหว่างบรรทัดให้ห่างกว่าปกติ  เช่น เว้นไม่น้อยกว่า 1 บรรทัด รวมทั้งควรเขียนข่าวแต่ละเรื่องแยกหน้ากระดาษกัน 1 หน้า ต่อ 1 เรื่อง ถ้าไม่หมดในหนึ่งหน้าให้เขียนลูกศรโยงให้เห็นว่ายังมีต่อในหน้าต่อไปให้ชัดเจน นอกจากนี้ข่าวแต่ละแผ่นไม่ควรเย็บติดกัน จะทำให้เกิดปัญหาในการเปิดหน้าถัดไป และเมื่อจบข่าวนั้นแล้ว ควรเขียนคำว่า "จบข่าว" ไว้ในตอนท้ายด้วย เป็นต้น

7. เวลาสำหรับการเสนอข่าว

เวลาสำหรับการเสนอข่าวทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสิ่งสำคัญที่พึงระวังอย่างยิ่ง ดังนั้นการเขียนข่าวแจกจึงควรกะประมาณเวลาในการอ่านให้พอเหมาะด้วย ตามปกติข่าวประมาณ 11 - 12 บรรทัด จะใช้เวลาอ่านประมาณหนึ่งนาที (นภาภรณ์ อัจฉริยะกุล, 2531, หน้า 265)

8. ข้อมูลที่ควรมีเพิ่มเติมในเอกสารข่าวแจก

     ควรบอกกำหนดวันที่ประสงค์จะให้เผยแพร่ข่าวไว้ชัดเจน รวมทั้งจะต้องแจ้งแหล่งที่ส่งข่าว พร้อมที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ทันที และควรใส่กำหนดเวลาและความยาวของข่าวไว้ที่มุมบนขวามือด้วย

ถ้าไม่ใช้รูปแบบเอกสารข่าวแจกเช่นเดียวกับเอกสารข่าวแจกทางสื่อสิ่งพิมพ์ นักประชาสัมพันธ์อาจจะส่งเป็นบทข่าววิทยุกระจายเสียงและบทข่าววิทยุโทรทัศน์ก็ได้ เช่น การเขียนบทวิทยุโทรทัศน์มักจะแบ่งหน้ากระดาษออกเป็น 2 ส่วน ส่วนซ้ายมือเป็นส่วนของภาพ และส่วนขวามือคือส่วนที่เขียนคำบรรยายประกอบภาพ หรือส่วนที่เป็นเนื้อข่าว นอกจากนั้นยึดหลักการเขียนเช่นเดียวกับการเขียนข่าวแจกทางวิทยุกระจายเสียง

  กล่าวโดยสรุป การเขียนข่าวแจกทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มีวิธีการเขียนอย่างเป็นทางการน้อยกว่าการเขียนข่าวแจกทางหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้การเสนอข่าวทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะใช้ภาษาพูด การเขียนข่าวทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จึงเป็นการเขียนเพื่อรับฟังและรับชม ไม่ใช่เขียนเพื่ออ่าน ผู้ฟังไม่มีโอกาสจะกลับมาทบทวนข่าว จึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่สับสน วกวน แต่อย่างไรก็ตาม หลักการเขียนโดยทั่วไปมีแนวทางเขียนเช่นเดียวกับการเขียนข่าวแจกทางหนังสือพิมพ์ คือต้องการให้ผู้ฟังรู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไม และอย่างไร ดังตัวอย่าง

 

หัวข้อข่าว ความพร้อมทัพนักกีฬานครศรีธรรมราชเกมส์

(ความยาวข่าว 1.15นาที , ความยาวโปรย, ความยาวเทป) (/) ข่าวอ่าน (/) ข่าวประกอบเสียง

  ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทยมั่นใจทัพนักกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 36 ที่จะถึงนี้

  นายอรรถพร ขาวล้วน ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเป้าหมายในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติหรือนครศรีธรรมราชเกมส์ในแต่ละประเภทว่า นักกีฬาทีมจังหวัดนครศรีธรรมราชน่าจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ โดยเฉพาะเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาประเภทกรีฑา วอลเลย์บอลชายหาด และมวยสากลสมัคเล่น ซึ่งกีฬาทุกคนที่ทางสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้คัดสรรมาแล้วนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมกันเป็นอย่างดีเพื่อจะนำถ้วยรางวัลและชัยชนะมาฝากพี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช


-แทรกเสียงแหล่งข่าว- เริ่มที่ "ผู้ว่าราชการจังหวัด
จบที่ ความหวังของจังหวัดที่ตั้งไว้"


                นายอรรถพรกล่าวอีกว่ากีฬาทุกคนที่ทางสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้คัดสรรมาแล้วนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมกันเป็นอย่างดีเพื่อจะนำถ้วยรางวัลและชัยชนะมาฝากพี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช (อรสา เพ็งโอ, 2550)

 

วิธีการจัดส่งข่าวแจก 

การจัดส่งข่าวแจกให้สื่อมวลชนไม่จำเป็นจะต้องส่งเป็นประจำทุกวัน อาจส่งเป็นระยะ ๆ หรือครั้งคราวตามความเหมาะสม หรือตามแต่ที่หน่วยงานต้องการจะเผยแพร่ข่าวนั้น การจัดส่งข่าวแจกล่วงหน้า ไม่ควรส่งล่วงหน้านานหลายวัน เพราะปกติจะมีข่าวเข้ามาตลอด ถ้าส่งล่วงหน้านานเกินไป บรรณาธิการอาจลืมได้ หรือถ้าส่งในระยะเวลากระชั้นชิดเกินไปก็อาจนำออกเผยแพร่ไม่ทัน ตามปกติจะส่งข่าวสารล่วงหน้าประมาณ 3 - 4 วันก่อนวันต้องการออกข่าว

วิธีส่งข่าวแจก อาจส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร (fax) หรือส่งด้วยตนเอง ซึ่งวิธีหลังนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมกว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของข่าวว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใด และผู้ส่งข่าวมีความสัมพันธ์กับผู้สื่อข่าวมากน้อยเพียงใด (ฟองรัตน์ ศรีนวลดี, 2546, หน้า 295)

1. การส่งด้วยตนเอง

     การส่งข่าวแจกด้วยตนเองเป็นวิธีการส่งข่าวที่ต้องการถึงเร็วและแน่นอน อาจนำส่งด้วยตนเอง หรือให้สายส่งตามสถานที่สื่อมวลชนหรือโรงพิมพ์มักมีตู้ใส่สิ่งพิมพ์ หรือจดหมายไว้บริการเห็นชัดเจน ส่งข่าววิธีนี้มักเป็นข่าวที่สำคัญและหวังผลข่าวจะต้องได้ลง

 2. ส่งทางไปรษณีย์ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

      การส่งข่าวแจกทางไปรษณีย์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เป็นทางจัดส่งที่สะดวก แต่โดยมากแล้วมักใช้จัดส่งข่าวทั่ว ๆ ไป ซึ่งข่าวจะได้ลงเร็วหรือช้าก็ได้ แต่ขอให้ได้ลง

3. ส่งทางโทรสาร  และโทรศัพท์

การส่งข่าวแจกทางโทรสารใช้ในกรณีเร่งด่วนส่งถึงเร็ว แต่มีข้อจำกัดตรงที่โทรสารเหมาะสมกับข่าวที่มีข้อความล้วน ๆ เท่านั้น ไม่เหมาะกับรูป ถ้ามีรูปด้วยก็ต้องนำส่งด้วยตนเองจะดีกว่า

     ส่วนการใช้โทรศัพท์เป็นวิธีแจ้งข่าวที่สะดวกอีกวิธีหนึ่ง แต่ผู้รับจะต้องเป็นคนที่คุ้นเคยกันมาก่อน จึงจะยินดีรับฟังการแจ้งข่าว ถ้าไม่คุ้นเคยกันแล้ว ไม่ควรใช้วิธีนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #ข่าวแจก
หมายเลขบันทึก: 272170เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รักนะเด็กโง่

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท