ตามครูแดงลงพื้นที่ เวทีคนไทยพลัดถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์


เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพรและมูลนิธิชุมชนไทได้ร่วมมือกันจัดเวทีขอคืนสัญชาติไทยให้แก่คนไทยพลัดถิ่น ณ ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เก็บภาพบรรยากาศมาฝากค่ะ

ครูแดง ท่านเตือนใจ ดีเทศน์ได้ฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภาได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของชาวไทยพลัดถิ่น อีกทั้งยังมีการถ่ายทำรายการเวทีชาวบ้านเพื่อรับฟัง พูดคุยและหาแนวทางแก้ไขสถานะบุคคลของชาวไทยพลัดถิ่น

 มีโอกาสได้ติดตามครูแดงลงพื้นที่ ได้รับรู้ปัญหาพี่น้องของชาวไทยพลัดถิ่น ซึ่งคนไทยพลัดถิ่นนี้ คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครและปัญหาที่พวกเขาได้รับจากการเป็นคนไทยพลัดถิ่นคืออะไร

คนไทยพลัดถิ่น หรือบางทีเรียกว่า คนไทยถิ่นพลัด ก็คือ บุคคลที่สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศคำถามต่อมาที่ต้องตอบ ก็คือ ใครคือบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ? คำตอบ ก็คือ บุพการีในชั้นต้นนี้เป็นคนสัญชาติไทย แต่ต่อมา เสียสัญชาติไทยโดยผลของการที่ประเทศไทยเสียดินแดนในส่วนที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้แก่อังกฤษหรือฝรั่งเศส ดังนั้น บุตรในชั้นต่อมาจึงเป็นคนเกิดในขณะที่บุพการีเป็นคนต่างด้าว แม้ว่าจะมีเชื้อสายไทยก็ตาม และแม้เป็นการเกิดบนดินแดนที่เคยเป็นของรัฐไทยในอดีตก็ตาม แต่ก็ยังต้องยอมรับว่า เป็นการเกิดบนดินแดนของรัฐต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทยทั้งโดยหลักบุคคลและหลักดินแดน

ขอให้สังเกตว่า ในปัจจุบัน เราอาจจำแนกคนไทยพลัดถิ่นออกเป็น ๒ พวก กล่าวคือ (๑) พวกที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐต่างประเทศที่เคยเป็นของประเทศไทย และ (๒) พวกที่อพยพกลับเข้ามาอาศัยในประเทศไทยแล้ว หลังการเสียดินแดน

สำหรับคนไทยที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนที่เราเสียไปแล้วนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่พอใจที่อาศัยอยู่ต่อไปในดินแดนที่เสียไป อาทิ คนเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ บุคคลดังกล่าวจึงมีสถานะเป็น คนสัญชาติมาเลเซียที่มีเชื้อสายไทย ทั้งนี้ ขอให้สังเกตว่า การอาศัยอยู่ในดินแดนที่เสียไปนั้นไม่มีปัญหาความปลอดภัยในสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินแต่เมื่อมาพิจารณาถึงคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว เราอาจจำแนกออกได้เป็น ๒ กลุ่มย่อย กล่าวคือ (๑) พวกที่อพยพกลับเข้ามาทันทีหลังการเสียดินแดน และ (๒) พวกที่อพยพกลับเข้ามาเพราะปัญหาความไม่สงบในรัฐต่างประเทศที่สืบสิทธิในดินแดนดังกล่าวในราว พ.ศ.๒๕๑๕ ๒๕๓๕ ขอให้สังเกตว่า พวกแรกนั้นมักไม่มีปัญหาการยอมรับให้มีสถานะเป็น คนสัญชาติไทย ในขณะที่พวกหลังมีปัญหาอย่างมากที่จะได้รับสถานะดังกล่าว แม้จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างมากในการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มหลัง[i] 

กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ในจังหวัดระนอง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์   ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันเป็น เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย แม้คนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีเชื้อชาติไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองให้มีสัญชาติไทย สาเหตุที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากการแบ่งเขตดินแดนระหว่างประเทศไทยและพม่าในปี พ.ศ. ๒๔๑๑

ก่อนที่รัฐบาลอังกฤษจะทำการแบ่งเขตดินแดนระหว่างไทยและพม่า ใหม่ พื้นที่ เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ฯลฯ  ถือว่าเป็นเขตแดนของประเทศไทยมาก่อน    มีชุมชนหมู่บ้านคนไทยตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินอยู่  เมื่อมีการแบ่งเขตดินแดนในช่วงแรกๆ  ยังไม่ได้มีความเข้มงวดเรื่องการเดินทางข้ามดินแดน  ไปมาหาสู่ระหว่างญาติพี่น้อง  ชุมชนคนไทยบางส่วนก็ยังอาศัยในดินแดนพม่า  ไม่ได้โยกย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนไทย   ซึ่งรัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ยอมรับให้เป็นพลเมืองพม่า  ในบางช่วงที่รัฐบาลพม่าออกบัตรให้ ก็ระบุว่าเป็นคนไทย   และคนกลุ่มนี้ยังมีวิถีชีวิต การใช้ภาษาสื่อสารเป็นภาษาไทยสำเนียงภาคใต้  มีประเพณีและวัฒนธรรมแบบคนไทยภาคใต้  ที่สำคัญทุกบ้านมีรูปของในหลวง เป็นสัญลักษณ์ที่ยึดมั่นในความเป็นคนไทย

จากการที่ได้ไปสัมผัสกับพี่น้องชาวไทยพลัดถิ่น ปัญหาที่พวกเขาได้รับจากการเป็นคนไทยพลัดถิ่น คือปัญหาสถานะบุคคล พวกเขาเป็นคนไทย พูดภาษาไทย มีวัฒนธรรมไทยแต่กลับต้องถือบัตรเป็นคนต่างด้าวหรือไม่มีเอกสารสถานะบุคคลใดๆเลย นำมาซึ่งการไม่มีสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิแจ้งเกิด แจ้งตาย สิทธิการเดินทาง สิทธิค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ประมาณการว่า คนไทยพลัดถิ่นถูกรีดไถไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อคนต่อปี จากการศึกษาเบื้องต้นประมาณการว่ามีคนไทยพลัดถิ่นกระจายในจังหวัดประจวบ ระนอง ชุมพร ประมาณ 20,000 คน แต่ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและทำกิจกรรมร่วมกันโดยตลอด ในระยะ 6 ปีมีสมาชิก ฯ จำนวน 1,275 ครอบครัว จำนวน 5,073 คน มีบัตรประชาชน  1,082 คน  ไม่มีบัตรประชาชนหรือไร้สัญชาติ  4,742 คน[ii]

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ  ในวันที่ ๑๑ และวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ โดย ได้กำหนดแนวทาง การให้สถานะบุคคลแก่คนไทยพลัดถิ่นไว้ในร่างมาตรา ๒๒ ดังนี้

            มาตรา ๒๒  บรรดาบุคคลที่สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทย    โดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ถ้าเข้ามาอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และประสงค์จะขอกลับคืนสัญชาติไทย ให้ยื่นแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

           การพิสูจน์การเป็นผู้สืบสันดานจากบุพการีที่มีเชื้อสายไทยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ ประกาศกำหนด

          การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้กลับคืนสัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่ง

แต่ด้วยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสัญชาติในครั้งนี้  มีประเด็นต่างๆถึง ๗  ประเด็น และเรื่องคนไทยพลัดถิ่นเป็นการขอคืนสัญชาติไทย  เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีในกฎหมายสัญชาติ  และผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้าใจมากนัก   สภานิติบัญญัติ ได้ตัดสินใจตัดมาตรา ๒๒ ออกจากร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ

ขณะนี้ทางเครือข่ายกำลังจะเสนอพ.ร.บ. คืนสัญชาติ ซึ่งรศ. ดร. บรรเจิด สิงคเนติเป็นผู้รับแปลเป็นภาษากฎหมายให้แก่ชาวไทยพลัดถิ่น ตัวแทนชาวไทยพลัดถิ่นและมูลนิธิชุมชนไทจะมารับตัวพ.ร.บ.ดังกล่าวในวันจันทร์ 29 มิถุนายนนี้ เวลา 17.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เก็บภาพบรรยากาศมาฝากค่ะ

พี่รุ่ง เป็นหนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย พี่รุ่งบอกว่าได้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับสถานะบุคคลในเว็บไซท์ของอาจารย์พันธุ์ทิพย์ www.archanwell.org แล้วนำไปเผยแพร่ให้แก่ชาวบ้าน

ดูรูปเพิ่มเติมได้ที่

http://cid-e511f9da71c0967a.skydrive.live.com/albums.aspx



[i] ทำไมต้องบัญญัติกฎหมายเพื่อคนไทยพลัดถิ่น โดยรศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร

[ii] บทความคนไทยพลัดถิ่น โดยนางปรีดดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท

คำสำคัญ (Tags): #คนไทยพลัดถิ่น
หมายเลขบันทึก: 272026เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบใจจ๊ะ ที่ถ่ายทอดบรรยากาศมาให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท