บทความพิเศษชุด.....“วัดคลองเรียน”(หาดใหญ่-สงขลา)


วัดคลองเรียน

บทความพิเศษชุด.....“วัดคลองเรียน”

                           วัดคลองเรียนตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านคลองเรียน ถนนศรีภูวนารถ หมู่ที่ 4 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดคลองเรียนสร้างขึ้นราว ปี พ.ศ. 2210 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2446 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมด้วยบ้านเรือนของราษฎรอยู่รายรอบวัด ปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระพุทธรูปผสมยางไม้ปางมารวิชัย ชาวบ้านคลองเรียนเรียกกันว่า “หลวงพ่อเกตุแดง” อันเป็นพระพุทธรูปคู่วัดมาช้านาน จากคำบอกเล่าของพระครูปัญญาภิมัณฑ์(เจ้าอาวาสวัดคลองเรียนรูปปัจจุบัน)ว่าแต่เดิมวัดนี้เรียก
“วัดคลองเวียน” เนื่องด้วยในอดีตเคยมีลำคลองเวียนรอบวัด ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดตามลักษณะของพื้นตั้งว่า “วัดคลองเวียน” ซึ่งในกาลต่อมาคงเรียกเพี้ยนกันเป็น “วัดคลองเรียน” ตามลำดับ
                           กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ศึกษาประวัติของวัดคลองเรียนเอาไว้ใน ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3 ปี พ.ศ. 2527 หน้า 376 ว่า วัดคลองเรียน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 บ้านคลองเรียน ถนนศรีภูวนารถ หมู่ที่ 4 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 16 ไร่ ดินของนายลอย นายแจ้ง นายนวลแก้ว ทิศใต้ยาว 2 เส้น 16 วา ติดต่อกับถนนศรีภูวนารถ ทิศตะวันออกยาว 2 เส้น 16 วา ติดต่อกับที่ดินของนายแคล้ว นายขำและนายวัน ทิศตะวันตก ยาว 2 เส้น 16 วา ติดต่อกับสวนยางนายทอง มีที่ธรณีสงฆ์ 6 แปลง เนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ส.ค. 1 เลขที่ 630,629,628,627,626 และ 642 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม แวดล้อมด้วยบ้านเรือนราษฎร อาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 18 เมตร มีสภาพทรุดโทรม ศาลาการเปรียญกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร กุฏิสงฆ์จำนวน 10 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้ สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง 2 เมตร เป็นพระพุทธรูปผสมยางไม้ ปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อเกตุแดง” วัดคลองเรียนสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2210 ต่อมาในสมัยหลวงพ่อปาน ปุญฺญมโน  เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณะเสนาสนะต่างๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ท่านได้ย้ายไปสร้างวัดใหม่ ปัจจุบันคือ "วัดโคกสมานคุณ" ประมาณ พ.ศ. 2466 วัดคลองเรียนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2446 เกี่ยวกับการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ขณะนี้มีนักธรรม 17 รูป นอกจากนี้ทางวัดยังได้จัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษามอบให้แก่ทางราชการ ต่อมาทางราชการได้จัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นและมีที่อ่านหนังสือสำหรับประชาชนอีกด้วยเจ้าอาวาสมี 6 รูป คือ
รูปที่ 1 หลวงพ่อปาน ปุญฺญมโน ถึงพ.ศ. 2466
รูปที่ 2 พระชู ธมฺมทินฺโน พ.ศ. 2467-2470  
รูปที่ 3 พระเคียง ธมฺมโชโต พ.ศ.2471-2480  
รูปที่ 4 พระครูอนันตคณาภิวัฒน์ พ.ศ. 2481-2483
รูปที่ 5 พระยก พ.ศ.2484
รูปที่ 6 พระครูปัญญาภิมัณฑ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา
วัดคลองเรียน มีพระภิกษุจำพรรษา 29 รูป สามเณร 1 รูป ศิษย์วัด 5 คน
ประเสริฐ ทวีรัตน์ ได้ศึกษาประวัติวัดคลองเรียนเอาไว้ใน หน่อเนื้อเชื้อไข “สืบสกุลสามทวด” (ทวดหมอ,ทวดอ้น,ทวดแก้ว) ไม่ระบุปีที่พิมพ์ หน้า 100 โดยเป็นการกล่าวอ้างถึงคำบอกเล่าของ พระครูปัญญาภิมัณฑ์(พ่อท่านแก้ว)เจ้าอาวาสวัดคลองเรียนรูปปัจจุบันว่า มีข้าราชการคนหนึ่งชื่อ หลวงนิมิต เลขาอยู่แผนกช่างตวงวัด บ้านเดิมอยู่ตรอกบางขวาง กรุงเทพฯ  อัฐิบรรพบุรุษ อยู่วัดจันทราวาส(ตรอกจันทร์) กรุงเทพฯ ทิดผ่อง(ปู่) อาศัยอยู่วัดโพธิ์ สงขลา ได้สร้างเจดีย์ไว้ 1 ลูก ที่วัดโพธิ์ หลวงนิมิตได้เดินทางมาตามถนนไทรบุรี(ปัจจุบันถนนกาญจนวนิช) มาพบพ่อท่านปาน สอบถามพูดคุยปรากฏว่า ปู่หลวงนิมิตเป็นผู้สร้างวัดคลองเรียน สร้างอุโบสถหลังแรก ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วและอุโบสถหลังที่ 2 (หลังเก่าปัจจุบันยังอยู่) ที่ดินโรงเรียนหลวงประธานชาวบ้านมอบให้วัดแต่หลวงประธานจะเอา รับปากกับพ่อท่านปานว่าจะสร้างอุโบสถให้ ชาวบ้านเลยยินยอมให้หลวงประธาน หลวงพ่อปานรื้ออุโบสถหลังเก่า(หลังแรก) เดิมพระพุทธรูปภายในอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากประเทศอินเดียอยู่ทางทิศตะวันตก พอสร้างอุโบสถหลังใหม่พระพุทธรูปในอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตอนนั้นหลวงประทานสร้างไม่เสร็จสร้างได้แต่เพียงโครงสร้าง ปลัดญาณ(ขุนจำนง) เป็นผู้รับผิดชอบสร้างไม่เสร็จ หลวงพ่อปานเลยไปสร้างวัดใหม่ชื่อ “วัดโคกสมานคุณ” เมื่อ ปี พ.ศ. 2466 แต่พ่อท่านปานก็ไปๆมาๆวัดคลองเรียนจนอุโบสถเสร็จ ต่อมาสกุลสามทวดก็ได้ช่วยกันทนุบำรุงวัดคลองเรียนมาโดยตลอด ในอดีตผู้นำท้องถิ่นก็ได้ร่วมมือกัน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แม้กระทั้งการแต่งตั้งกำนันวร นายประเสริฐ กาญจนดุลนายอำเภอหาดใหญ่ก็ได้สอบถามพ่อท่านแก้ววัดคลองเรียน หลังจากกำนันนวลถึงแก่กรรมแล้วว่าจะตั้งใครดี พ่อท่านแก้วก็บอกนายอำเภอไปว่าให้ตั้งลูกชายแทน ตอนนั้นกำนันวร อายุเพียง 22 ปี ต่อมานายประเสริฐ กาญจนดุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา วัดคลองเรียนเป็นวัดแรกในอำเภอหาดใหญ่ และเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนด้วย

                               นายไข่  ไชยโรจน์ อายุ 90 ปี พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 37 ซอย 14 ถนนศรีภูวนารถ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้บอกเล่าเรื่องราวของวัดคลองเรียนในสมัยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า ราวต้นเดือนธันวาคม ของปี พ.ศ. 2484 ขณะนั้นเองเป็นเวลากลางวันตนกำลังทำไร่ไถนาอย่างปกติที่บ้านทุ่งเสา ได้ยินชาวบ้านที่ผ่านไปมาตามรายทางพูดคุยกันว่ามีทหารญี่ปุ่นหลายสิบหมื่นนายยกพลขึ้นบกที่เก้าเส้ง กำลังมุ่งตรงมาทางบ้านคลองเรียนเพื่อจะผ่านไปตี “มลายู” ตนจึงรีบเดินทางกลับไปยังบ้านเดิมที่ตั้งอยู่ที่สามแยกคลองเรียน ปรากฏว่าพบทหารญี่ปุ่นมีอาวุธครบมือทั้งปืนปลายดาบ และปืนใหญ่ เดินเท้าบ้าง นั่งรถยนต์บ้างมุ่งมาจากทางคอหงส์เป็นขบวนยาวอย่างมีระเบียบ บางส่วนก็เดินผ่านสามแยกคลองเรียนมุ่งตรงไปทางสะเดา ทหารบางส่วนพอเดินพ้น “วังน้ำดำ” (วังน้ำดำ คือ วังน้ำขนาดใหญ่ในอดีต ปัจจุบันคือเปิดท้ายขายของกรีนเวย์)ก็ไปตั้งค่ายพักริมทางที่ “เนินดิน” ข้างป่าช้าโคกโพธิ์ (เนินดิน ดังกล่าวในปัจจุบันคือ ศูนย์หลวงประธาน) ชาวบ้านคลองเรียนในขณะนั้นเมื่อได้เห็นทหารญี่ปุ่นเต็มบ้านเต็มเมืองต่างก็ตกอยู่ในอาการขวัญหนีดีฝ่อแทบทั้งสิ้น วัดคลองเรียนจึงกลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านคลองเรียนในขณะนั้นโดยมีชาวบ้านหลายคนที่เข้าไปขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคลองเรียน(เข้าใจว่าน่าจะเป็นหลวงพ่อเกตุแดง และรูปเคารพหลวงพ่อปาน ลิ้นดำ) ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองขออย่าให้ทหารญี่ปุ่นทำอันตรายแก่ตนและครอบครัวได้(ขณะนั้นวัดคลองเรียนมี พระยก เป็นเจ้าอาวาส) อาจจะด้วยวัดคลองเรียนมิใช่เส้นทางผ่านโดยตรงของทหารญี่ปุ่น หรือด้วยเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดคลองเรียนก็ไม่ทราบได้ ชาวบ้านครองเรียนจึงไม่ถูกทหารญี่ปุ่นทำร้ายเอาแต่ประการใด  
รากเหง้าทางความเชื่อคือที่มาของรูปเคารพบูชา

                                ความเชื่อ(belief)หมายถึง รูปแบบทางความนึกคิดที่ฝังรากเข้าสู่ภายในจิตใจของมนุษย์ หากมีความเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องหรือมีแนวทางคิดที่หลอมรวมกันเรียกว่า “คตินิยม” (popular beliefs) ความเชื่อในยุคแรกๆของมนุษย์ล้วนเป็นความเชื่ออันคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับวิถีการดำรงคงอยู่ของเผ่าพันธุ์ตนทั้งสิ้น โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีดวงวิญญาณแฝงเร้นอยู่ในธรรมชาติและตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำ หรือแม้แต่ในป่าในเขาก็ล้วนเชื่อว่ามีดวงวิญญาณสิงสถิตอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งแนวความคิดและแนวความเชื่อดังกล่าวมีลักษณะที่สอดคล้องสัมพันธ์กันในรูปของ “วิญญาณนิยม” (animism) หรือ “คติถือผีสางเทวดา” อันหมายถึงความเชื่อที่ว่ารูปวัตถุบางสิ่งบางอย่างมีชีวิต ต่อมาดวงวิญญาณเหล่านี้ได้รับการยกระดับหรือยกสถานะให้สูงขึ้นเป็นผีฟ้า หรือเทวดากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการบูชาสืบเนื่องมาจวบจนยุคปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ก็ยังมีปรากฏให้ได้พบเห็นอยู่อย่างมากมาย จนก่อให้เกิดการสร้างสัญลักษณ์ทางความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นกลายมาเป็นรูปเคารพบูชาอันนำพาพวกตนหลบลี้หนีพ้นจากสิ่งที่กลัวเกรง รูปเคารพบูชาจึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธ์แต่ครั้งนั้นจวบจนบัดนี้

รูปเคารพบูชาหลวงพ่อทวด หรือท่านสมเด็จเจ้าพะโคะ

                               ปรากฏพบเป็นรูปประติมากรรมเคารพบูชาภายในวิหารรายข้างอุโบสถ(ติดถนนศรีภูวนารถ) วัดคลองเรียน บ้านคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลวงพ่อทวด,ท่านสมเด็จเจ้าพะโคะ บ้างก็เรียกพระราชมุนีสมีราม(หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) ซึ่งท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวสงขลาและชาวไทยภาคใต้มาช้านาน ถือได้ว่าท่านเป็นพระมหาเถระที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงทั้งในเรื่องของการบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่สังคม แม้แต่ในเรื่องอิทธิฤทธิ์ อภินิหาร และความศักดิ์สิทธิ์ ในบันทึกประวัติของท่านสมเด็จเจ้าพะโคะนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งคือในวัยเยาว์ของท่านเล่าว่าท่านได้รับการปกป้องจาก “งูทวด” หรือ “พญางูบองหลาขนาดยักษ์” (งูจงอางขนาดใหญ่) มิให้อันตรายนานับประการย่างกรายเข้ามาสู่ตัวท่านได้ อันมีเรื่องราวกล่าวขานความเป็นมาในครั้งวัยเยาว์ของท่านสมเด็จเจ้าพะโคะไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง พอที่จะสรุปได้ดังนี้ เรื่องดังกล่าวในปี พ.ศ.ใดไม่มีใครสามารถระบุชัดเจนได้ เพียงแต่มีการสันนิษฐานกันเอาว่าน่าจะเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2125 กล่าวคือ ในครั้งนั้นมีครอบครัวชาวบ้านครอบครัวหนึ่ง คนพ่อชื่อ “หู” คนแม่ชื่อ “จัน” ทั้งคู่มีอาชีพทำนาและอาศัยที่ดินของเศรษฐีใหญ่ชื่อ “เศรษฐีปาน” บ้านวัดเลียบ ตำบลดีหลวง อำเถอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ครั้งในกาลต่อมานางจันได้ให้กำเนิดบุตรชายให้ชื่อว่า “ปู” อยู่มาวันหนึ่งนางจันเลิกไฟหลังคลอดบุตรใหม่ๆจึงออกไปช่วยนายหู ผู้สามีเกี่ยวข้าวกลางทุ่งและได้นำทารกน้อยไปด้วยโดยผูกเป็นเปลผ้าไว้ให้นอนอยู่ในเงาของต้นหว้าใหญ่ปลายนา ครั้งถึงเวลาพระอาทิตย์ตรงหัว นางจันขึ้นจากนาหวังจะไปให้นมลูกก็ต้องตื่นตกใจอย่างที่สุด เนื่องด้วยเห็นงูบองหลาขนาดใหญ่(งูจงอางขนาดใหญ่)ขดตัวพันอยู่บนเปลรอบกายทารกน้อยแผ่พังพานอย่างน่าเกรงขาม นางจึงส่งเสียงหวีดร้องขึ้นด้วยความตื่นตระหนกเป็นยิ่ง ฝ่ายสามีได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็รู้ได้ในทันทีเลยว่า ที่เห็นอยู่นี่ไม่ใช่งูธรรมดา แต่น่าที่จะเป็น “งูทวด” หรือ “งูเจ้าที่” อันถือเป็นงูศักดิ์สิทธิ์ที่เคยได้ยินมาแต่ครั้งปู่ยาตาทวด ว่าห้ามทำร้ายหรือทำให้งูตัวดังกล่าวนี้ตายโดยเด็ดขาดเพราะจะได้ผลร้ายตามมาตามความเชื่อแต่ครั้งโบราณ เมื่อคิดได้เป็นดังนั้นแล้วนายหูจึงนำเอาข้าวตอกดอกไม้ ตลอดจนเครื่องเซ่นบวงสรวงสังเวยนำมาบูชาแด่เทพารักษ์หรือเทวดา อันสถิตอยู่ ณ ที่นั้นให้ช่วยคุ้มครองและป้องปกขออย่าให้งูบองหลาตัวดังกล่าวทำอันตรายบุตรของตนได้ ครั้งนายหูและนางจันบูชาเทพารักษ์เสร็จ ก็ปรากฏเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจปรากฏขึ้น กล่าวคือ งูใหญ่ตัวดังกล่าวที่เชื่อกันว่าเป็นงูทวดหรืองูเจ้าที่นั้นได้อ้าปากออกพร้อมกับคายดวงแก้วสีแวววาวขนาดเท่าไข่นกพิราบมอบไว้ให้ทารกน้อยเสร็จแล้วจึงเลื้อยหายไป และด้วยอิทธิฤทธิ์ของดวงแก้วพญางูนี้เองจึงทำให้ฐานะของนายหูและนางจันเริ่มดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ จนถึงขั้นมีทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมากลายเป็นเศรษฐีใหม่ในช่วงเวลาไม่นานนัก ส่วนเด็กชายปูต่อมาได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกุฏีหลวง หรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ครั้งกาลต่อมาได้เดินทางไปยังวัดเสนาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้อุปสมบทที่นั่นได้รับฉายาว่า “สามีราโม” และ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” ในกาลต่อมา ส่วนที่มาที่ไปที่ชาวไทยท้องถิ่นภาคใต้นิยมเรียกท่านว่า “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” นั้นมีประวัติความเป็นมาดังนี้คือ นานมาแล้ววันหนึ่งที่มีแสงสว่างจ้าเป็นพิเศษ พวกโจรสลัดได้แล่นเรือเลียบมาตามชายฝั่งครั้งเห็นท่านสมเด็จเจ้าพะโคะเดินอยู่มีลักษณะและท่าทางแปลกกว่าชนทั้งหลายที่ได้พบเห็นมาก่อนจึงใคร่ที่จะลองดี พอแล่นเรือมาจอดตรงบริเวณชายฝั่งได้จึงจับเอาตัวสมเด็จเจ้าพะโคะขึ้นเรือไปด้วย แต่ด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ของท่านซึ่งอาจจะรวมถึงดวงแก้วพญางูด้วยจึงบังเกิดเหตุอันน่าอัศจรรย์ใจเป็นยิ่ง เนื่องด้วยเรือของพวกโจรสลัดแล่นออกจากฝั่งได้ไม่ไกลนักก็เกิดเสียแล่นไปต่อไม่ได้ จะเข้าฝั่งก็ไม่ได้พยายามซ่อมก็ไม่ได้ จำต้องจอดอยู่กลางทะเลเป็นเช่นนั้นอยู่หลายวัน อาหารก็ร่อยหรอลงทุกที จนในที่สุดน้ำจืดบนเรือหมดลง พวกโจรสลัดได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นแล้วสมเด็จเจ้าพะโคะท่านสงสารจึงได้เอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในทะเลบังเกิดเป็นแสงสว่างโชติช่วง และน้ำทะเลตรงบริเวณนั้นก็กลายเป็นน้ำจืด เห็นเป็นดังนั้นแล้วพวกโจรสลัดจึงเกิดความเลื่อมใสและศรัทธากราบไหว้ขอขมาเป็นการใหญ่ ครั้งเรือซ่อมเสร็จจึงนำท่านสมเด็จเจ้าพะโคะกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้นขึ้นมาประชาชนจึงพากันกราบไหว้บูชาท่านกันเป็นจำนวนมาก และเรียกขนานนามของท่านสมเด็จเจ้าพะโคะเสียใหม่ว่า “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” นอกจากนี้แล้วเมื่อครั้งเกิดผีห่า (โรคอหิวาต์) ระบาดหนักทั่วกรุงศรีอยุธยาท่านก็ได้ช่วยปราบโรคห่าโดยการนำเอาดวงแก้วพญางูทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมทั่วกรุงศรี ปรากฏว่าโรคห่าก็สงบลงและหายขาดด้วยอิทธิฤทธิ์ของท่านและดวงแก้วพญางู เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้มีการนำดวงแก้วพญางูไปเก็บรักษาไว้ที่ส่วนยอดของพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ หรือเจดีย์วัดพะโคะ ครั้งกาลต่อมาเจดีย์ถูกฟ้าผ่าได้รับความเสียหาย ดวงแก้วพญางูได้ตกลงมาเจ้าอาวาสรุ่นต่อๆมาได้เก็บรักษาดวงแก้วพญางูไว้จวบจนปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีของหลวงพ่อทวด โดยเชื่อกันว่าหากใครได้เห็นหรือบูชาจะก่อให้เกิดศิริมงคลอันใหญ่หลวงทั้งในภพนี้และภพหน้า  อนึ่ง “ผีห่า” ในสมัยก่อนตอนที่การแพทย์ของสยามประเทศยังไม่เจริญมากนัก นิยมเรียกสิ่งที่ยังไม่รู้ว่า “ผี” โรคอหิวาต์เองคนในสมัยก่อนล้วนเชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผีปีศาจ และเรียกโรคอหิวาต์ ว่า “ผีห่า” นอกจากนี้ยังมีความเชื่อด้วยอีกว่า ผีห่ามันชอบมาทางน้ำ โดยเฉพาะเวลาคืนเดือนมืดที่มืดสนิทและเงียบวังเวง คนในสมัยก่อนพอได้ยินเสียงอะไรเข้ายามนั้นก็เหมารวมเอาว่า ผีห่ากำลังมา ผีห่ากำลังลง รวมถึงเรียกคนที่โดนผีห่ากินว่า “ตายห่า” ครั้งพอการแพทย์เริ่มเจริญเข้าจึงรู้กันว่า ผีห่าหรือโรคห่านั้นมันมีตัวตนจริงเป็นเชื้อโรคอยู่ในน้ำ แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าต้องใช้กล้องเฉพาะส่องจึงจะมองเห็น หากเราไม่ดื่มไม่กินมันเข้าไปก็ไม่เป็นไร เมื่อรู้เห็นเป็นดังเช่นนั้นแล้วคำว่า “ผีห่า” ก็หายไปเองเป็นธรรมดา

 

รูปเคารพบูชาพระสังกัจจาย

                               ปรากฏพบเป็นรูปประติมากรรมเคารพบูชาภายในวิหารรายข้างอุโบสถ(ติดถนนศรีภูวนารถ) วัดคลองเรียน บ้านคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พระสังกัจจาย ถือเป็น 1 ใน “ไตรภาคี” แห่งพระผู้ดลบันดาลโชคลาภและความมั่งมีศรีสุขให้แก่ผู้นับถือและเคารพบูชา อันประกอบไปด้วย พระสีวลี พระบัวเข็ม หรือพระอุปคต และพระสังกัจจาย โดยรูปลักษณ์ของพระสังจัจจายตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันนั้นกล่าวกันว่าท่านเป็นพระเจ้าเนื้อ อ้วนท้วนสมบูรณ์ ใบหูยาว  พระพักตร์ค่อนข้างกลมใหญ่ และที่สำคัญคือท่านนั้นพุงพลุ้ย ส่วนสาเหตุที่ท่านต้องพุงพลุ้ยนี่ก็มีความเชื่อสืบเนื่องมาแต่อดีตว่า ในสมัยก่อนมนุษย์บางคนมีความชั่วภายในจิตใจอยู่มากและความชั่วดังกล่าวนี้เองก่อให้เกิดความทุกข์และความเดือดร้อนต่างๆนาๆตามมามากมาย ท่านจึงดึงหรือดูดความไม่ดีดังกล่าวมากักขังไว้ในพุงอันพลุ้ยของท่าน พระสังจัจจายที่ปรากฏอยู่ในวิหารรายข้างอุโบสถวัดคลองเรียนนี้จัดเป็นพระสังกัจจายของทางฝ่ายนิกายหินยานเนื่องด้วยสังเกตดูแล้วท่านมีไรพระเกศาเป็นเม็ดกลม และท่านมีพระพักตร์ที่สงบนิ่ง อนึ่ง สำหรับพระสังกัจจายของทางฝ่ายจีนนั้นอยู่ทางฝ่ายนิกายมหายานสังเกตง่ายๆคือท่านมักจะมีพระพักตร์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นยิ่ง และไม่มีไรพระเกศาเป็นเม็ดกลมเหมือนของทางฝ่ายนิกายหินยานของไทย โดยพระสังกัจจายของจีนนั้นล้วนเชื่อกันว่าท่านเป็นอีกปางหนึ่งของ “พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย”  วกกลับมาเข้าเรื่องพระสังกัจจายของทางฝ่ายหินยานที่วัดคลองเรียนกันต่อว่าด้วยเรื่องการถือกำเนิดของท่านใน “มโนรถปูรณีอรรถกถา” มีเล่าเอาไว้ว่า พระสังจัจจาย กำเนิดขึ้นในตระกูลของคหบดีที่มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองและข้าทาสบริวารในสมัยของ “พระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ” อยู่มาวันหนึ่งพระสังกัจจายได้เข้าฟังธรรมเทศนาในวิหารและได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่งตั้งพระภิกษุผู้เป็นพระสาวกรูปหนึ่งให้กระทำหน้าที่เป็นผู้แปลอธิบายความหมายของพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงไว้โดยย่อให้พิสดาร พระสังกัจจาย หรือบุตรของคหบดีผู้มั่งคั่ง(ในขณะนั้น)ได้เห็นเช่นนี้ก็มีความคิดว่า อันตนนี้ก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้หนึ่งผู้ใด และน่าที่จะกระทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาได้ในอนาคต ท่านจึงกระทำการจัดถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกทั้งปวงเป็นเวลา 7 วัน โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอให้ตนได้รับตำแหน่งเหมือนภิกษุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่งตั้ง” พระพุทธเจ้าปทุมมุตตระได้ทรงสดับรับรู้ถึงแรงอธิษฐานดังกล่าวจึงตรัสกับบุตรของคหบดีว่า “ท่านจะได้บรรลุอรหัตผล และได้เป็นผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุในด้านการอธิบายขยายความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในศาสนาของพระพุทธเจ้านามพระสมณโคดม” ฝ่ายบุตรของคหบดีได้ยึดมั่นในการบุญการกุศลตราบจนสิ้นอายุขัยในชาตินั้น และได้อนิสงส์ผลแห่งผลบุญในอีกหลายชาติต่อมาบรรลุเป็นพระสังกัจจายอันถือเป็นพระมหาสาวกอีกรูปหนึ่งในจำนวนทั้ง 80 รูปที่ได้บรรลุอรหัตผลก่อนบรรพชา พระสังกัจจายท่านถือเป็นเอตทัคคะทางอธิบายธรรม เป็นเลิศในทางขยายอธิบายพุทธพจน์โดยย่อให้พิสดารและถือกันว่าท่านนั้นได้เสด็จเป็นพระอรหันต์มีความรู้แตกฉาน 4 ประการ คือ
                  
                   1. อรรถปฏิสัมภิทา                 คือ มีปัญญาแตกฉานในอรรถ
                   2. ธรรมปฏิสัมภิทา                 คือ มีปัญญาแตกฉานในธรรม
                   3. นิรุตติปฏิสัมภิทา                คือ มีปัญญาแตกฉานในภาษา
                   4. ปฏิภาณสัมภิทา                  คือ มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

                               พระสังกัจจายในสมัยกำเนิดใหม่นั้นท่านมีรูปลักษณ์สง่างามดุจพระพุทธเจ้า และมิได้มีร่างกายเจ้าเนื้อ พุงพลุ้ยแต่ประการใด ซึ่งมูลเหตุแห่งการมีรูปลักษณะเจ้าเนื้อ พุงพลุ้ยดังกล่าวมีความเล่าไว้ในตำนานทางพระพุทธศาสนานิกายหินยานตอนหนึ่งพอจับใจความได้ว่า แต่เดิมพระสังกัจจายมีรูปลักษณ์สง่างามยิ่งประหนึ่งพระพุทธเจ้า ท่านมีผิวพรรณสมใสงดงามเปล่งปลั่งดั่งทองคำสุกสกาวจนได้รับการขนานนามว่า “พระควัมปติเถระ” ว่าด้วยมีรูปลักษณ์ของกายงดงามยิ่งกว่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงโดยทั่วไป ยามใดที่ท่านออกบิณฑบาตจะมีประชาชน พุทธบริษัท หรือแม้แต่เทวดาลงมากราบไหว้บูชา และสรรเสริญท่านว่า “ท่านมีรูปกายงดงามยิ่ง ประดุจพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า” ฝ่ายพระสังกัจจายได้ยินได้ฟังเช่นนั้นบ่อยๆจึงเกิดความลำบากใจว่าไม่ควรที่จะนำตนไปเทียบ หรือยกย่องให้เสมอเหมือนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงเนรมิตรูปกายมิให้มีผิวพรรณงดงามเปล่งปลั่งดั่งทอง และเนรมิตรูปกายให้อ้วนเจ้าเนื้อมีพุงพลุ้ย เพื่อมิให้มีผู้ใดมาสรรเสริญท่านเปรียบกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อีก

รูปเคารพบูชาหลวงพ่อปาน หรือพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน

                               ปรากฏพบเป็นรูปประติมากรรมเคารพบูชาภายในวิหารรายข้างอุโบสถ(ติดถนนศรีภูวนารถ) วัดคลองเรียน บ้านคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดคลองเรียนและวัดโลกสมานคุณ ท่านเกิดวันพฤหัสษดี เดือนเจ็ด ปีระกา พ.ศ. 2404 มรณภาพเมื่อวันที่ 19 เดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2472 พระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน เป็นบุตรคนที่สองของนายขวัญ ชนะรัตน์ กับนางบัวจันทร์ ชนะรัตน์ บ้านเดิมของท่านอยู่ที่บ้านพรุ ตำบลบ้านพรุ อำเภอเหนือ(อำเภอเหนือ หรือ อำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน) ส่วนสาเหตุที่ท่านได้นามว่า “ปาน” นั้นมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า ในสมัยเด็กท่านมีปานปิดตรงบริเวณทวารหนักลากยาวไปข้างบนจนถึงสะเอว รอยปานนี้เองที่แลดูคล้ายกับลิ้นโค จึงเรียกท่านว่า “ปาน” บ้างก็เรียกท่านว่า “ปาน ลิ้นดำ” (เนื่องจากปานดำอันแลคล้ายลิ้นโค) อนึ่ง ในความเชื่อทางไสยศาสตร์ล้วนเชื่อสอดคล้องตรงกันว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีปานดำขึ้นปกปิดบริเวณทวารหนักนั้น ถือกันว่าเป็น “มหาอุต” คือฟันแทงหรือจะยิงก็ไม่เข้า นอกจากนี้ชาวบ้านคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังล้วนมีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน ในด้านต่างๆ อาทิ เช่น
1.   ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องวาจา ล้วนเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน นั้นท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ กล่าวคือ เมื่อท่านกล่าวหรือพูดว่าอย่างไรก็จะได้ผลตามนั้น
2.   ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการบนบาน ล้วนเชื่อกันว่า ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนประการใดก็ตามหากมาทำการบนบานกับรูปเคารพบูชาของท่าน หรือเพียงระลึกถึงท่านแล้วทำการบนเอาไว้ก็ย่อมได้รับการช่วยเหลือเสมอมา แต่มีข้อแม้ว่าผู้ที่ทำการบนบานจะต้องเป็นคนดีอันอยู่ในศีลในธรรม เพราะเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน แห่งวัดคลองเรียนนั้นท่านไม่ช่วยคนพาล อนึ่ง ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวปี พ.ศ. 2484) ได้มีชาวบ้านคลองเรียนเป็นจำนวนมากมาทำการบนบานเอาไว้กับท่านขอให้ท่านช่วยปกป้องรักษาคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการทำร้ายของทหารญี่ปุ่น และชาวบ้านเหล่านั้นก็มิได้รับอันตรายจากทหารญี่ปุ่นแต่อย่างใด จึงล้วนเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน แห่งวัดคลองเรียนนั้นเป็นผู้ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านครองเรียนในครั้งนั้น จนเมื่อเสร็จจากสงครามจึงเกิดการแก้บนขึ้นอย่างมากมาย โดยการแก้บนนั้นตามความเชื่อของชาวบ้านครองเรียนในสมัยนั้นนิยมแก้บนด้วยขนมโค(ขนมหนุมานคลุกฝุ่น) เนื่องด้วยเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโนนั้นท่านชอบทานขนมโค
3.   ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการเป็นหมอยา ล้วนเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน นั้นเป็นหมอยาผู้วิเศษ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งท่านเคยถูก “งูพญาตะบองหลา” หรือ “งูบอง” (งูพญาตะบองหลา หรืองูบอง  ภาษาภาคกลางเรียก งูจงอาง)กัดเอาแต่ปรากฏว่าท่านไม่เป็นอะไรเลย หรือเรื่องที่ว่าท่านสามารถรักษาคนที่ถูกสุนัขบ้ากัดให้หายเป็นปลิดทิ้งได้ด้วยยาของท่าน ชาวบ้านคลองเรียนจึงเชื่อว่าท่านเป็นประหนึ่งหมอเทวดาที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านได้ เป็นต้น
4.   ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องคาถาอาคมต่างๆ ล้วนเชื่อกันว่าท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ปุญฺญมโน นั้นท่านมีความสามารถทางด้านคาถาอาคมต่างๆ อาทิ เช่น
                                           - คาถาพระนารายณ์แบ่งภาค คือ คาถาที่สามารถลวงตาให้ศัตรูเห็นเป็น
                                             10  ร่างจนไม่สามารถยิงหรือแทงถูกได้
                                           - คาถาหายตัว คือ คาถาที่สามารถหายตัวให้พ้นไปจากศัตรูที่ตามมาทำ
                                              ร้ายได้ โดยเชื่อว่าต้องท่องคำว่า “อณูปรมณู” เอาไว้ในใจ แล้วเอาผ้า
                                              หรือฝ่ามือปิดหน้าไว้ ศัตรูคู่อริจะมองเราไม่เห็น
                                           - คาถาหยุดกระสุน เชื่อ กันว่าต้องท่องคำว่า “อุทธัง อัทโธ โธอุทธังอัด”                   
                                              เอาไว้ในใจแล้วจะ สามารถหยุดลูกกระสุนปืนได้ เป็นต้น

รูปเคารพบูชาพระสีวะลี หรือ พระสีวะลีเถระ

                   ปรากฏพบเป็นรูปประติมากรรมเคารพบูชาภายในวิหารรายข้างอุโบสถ(ติดถนนศรีภูวนารถ) วัดคลองเรียน บ้านคลองเรียน ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พระสีวะลี หรือ พระสีวะลีเถระ ถือเป็น1 ใน “ไตรภาคี” แห่งพระผู้ดลบันดาลโชคลาภและความมั่งมีศรีสุขให้แก่ผู้นับถือและเคารพบูชา อันประกอบไปด้วย พระสีวะลี พระบัวเข็ม หรือพระอุปคต และพระสังกัจจาย นอกจากนี้พระสีวะลียังถือเป็นเลิศในทางมีลาภ อันเป็น 1 ใน 46 แบบแห่งความเป็นเลิศของพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา  พระสีวลี เป็นโอรสของ “พระนางสุปปวาสา” ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ครั้งท่านจุติลงมาในครรภ์ของพระมารดาก่อให้เกิดมหาลาภเป็นอย่างมากต่อพระนางสุปปวาสาและเหล่าพระประยูรญาติ พระนางสุปปวาสารทรงอุ้มครรภ์อยู่นานถึง 7 ปี 7 เดือน
 7 วัน ก็ได้รับพรจากพระบรมศาสดาว่า “ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะนครจงเป็นหญิงมีความสุขปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด” ครั้งถึงวันประสูติพระโอรสก็ปรากฏเหตุอัศจรรย์ว่าง่ายดายดุจสายน้ำไหลรินออกมาจากหม้อน้ำ พระนางสุปปวาสาและเหล่าพระประยูรญาติจึงขนานนามพระราชโอรสว่า “สีวะลีกุมาร” ครั้งกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปไม่นานนักพระนางสุปปวาสามีพระวรกายแข็งแรงดีจึงจัดให้มีพิธีถวายมหาทานในพระราชนิเวสน์ติดต่อกัน 7 วัน โดยนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับมหาทานอาหารบิณฑบาต โดยในวันถวายมหาทานในวันที่ 7 สีวะลีกุมารได้รับการชักชวนจากพระสารีบุตรเถระให้เข้ามาบวช เนื่องด้วยสีวะลีกุมารในขณะนั้นมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพอได้รับการชักชวนจากพระสารีบุตรเถระจึงเกิดความมั่นใจว่าหนทางแห่งพระพุทธศาสนาเป็นหนทางที่เหมาะกับตน สีวะลีกุมารจึงกราบทูลขออนุญาตพระบิดาและพระมารดาออกบวช ซึ่งก็ได้รับการอนุญาตด้วยดี โดยในครั้งนั้นพระสารีบุตรเถระเป็นผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ระหว่างที่กำลังจะเข้าสู่พิธีพระสารีบุตรได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้นให้แก่สีวะลีกุมาร และก็ปรากฏสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ
                   
                   จรดมีดโกนลงครั้งแรก         ท่านบรรลุเป็น “พระโสดาบัน”
                   จรดมีดโกนลงครั้งที่สอง      ท่านบรรลุเป็น “พระสกทาคามี”
                   จรดมีดโกนลงครั้งที่สาม      ท่านบรรลุเป็น “พระอนาคามี”
                   จรดมีดโกนลงครั้งที่สี่           ท่านบรรลุเป็น “พระอรหันต์”

                        เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าก่อให้เกิดลาภอย่างใหญ่หลวงในพระพุทธศาสนา เนื่องด้วยอำนาจและบุญบารมีของท่านที่สั่งสมมาจากชาติภพที่แล้ว ดังความปรากฏในเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า ครั้งพระบรมศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จออกเดินทางไปยังป่าไม้ตะเคียนเพื่อเยี่ยมเยือนพระเรวดะ อันเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ระหว่างเส้นทางของการเดินทางเต็มไปด้วยอมนุษย์ และป่าเขา ไร้ซึ่งบ้านเรือนของประชาชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเกิดความเป็นกังวลในหมู่ภิกษุสงฆ์ผู้ติดตามรวมทั้งพระสารีบุตรเถระว่าจะหาที

คำสำคัญ (Tags): #วัดคลองเรียน
หมายเลขบันทึก: 271943เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ดีน่าสนใจ อ่านเพลินดี เสียดานเวลาน้อย อ่านได้ไม่หมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท