บทความพิเศษเรื่อง...........“1 วันประทับใจที่หาดใหญ่และสงขลา”


หาดใหญ่-สงขลา(ในมุมมองของฉัน)

บทความพิเศษเรื่อง...........“1 วันประทับใจที่หาดใหญ่และสงขลา”

                 ณ  อรุณรุ่งของเช้าวันอันใสสด ดอกไม้เริ่มผลิดอกออกใบและชูช่อเบ่งบานรับไออุ่นจากรัศมีของดวงตาวันอันเดินย่างอยู่ในห้วงแห่งปกติวิถี กลิ่นน้ำค้างยังไม่จางหายไปเท่าใดนัก ณ  ห้วงเวลานี้ยังเช้าอยู่
                 เช้านี้ผมต้องรีบตื่นให้เร็วกว่าปกติเนื่องด้วยได้รับการไหว้วานจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันให้มาเป็นไกด์(จำเป็น)ให้กับรุ่นน้องของท่าน ที่เดินทางท่องเที่ยวมาจากจังหวัดทางภาคอีสานสักราว 10 คนโดยผมมีเวลา 1วันเต็มๆที่จะทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวหาดใหญ่และสงขลา ราว 6 ชั่วโมงครึ่ง รถตู้นำเที่ยวก็แล่นมาจอดตรงหน้าบ้านผมจากนั้นจึงเป็นการแนะนำตัวกันเล็กน้อยพอเป็นพิธีและเริ่มออกเดินทางกัน สถานที่แรกเป็นร้านน้ำชาเล็กๆไม่มีชื่อ ตั้งอยู่ริมทางถนนสายหาดใหญ่-สงขลา บริเวณบ้านน้ำน้อย มื้อเช้าครับ เพราะผมสอบถามน้องๆเค้าดูแล้วทราบว่ายังไม่มีใครทานอะไรมาเลยผมจึงเลือกเอาร้านน้ำชาเล็กๆร้านนี้เป็นมื้อเช้าของพวกเรา ร้านนี้มีจุดเด่นก็คือขายน้ำชาควบคู่ไปกับก๋วยเตี๋ยว เรียกว่าใครอยากกินแบบเบาๆหรือหนักๆก็ว่ากันไปได้เลย มีบริการพร้อม เรื่องสนนราคาก็ไม่แพง จ่ายสบายกระเป๋า มื้อนี้ผมเลยเลือกทานก๋วยเตี๋ยวเพื่อจะได้มีแรงเอาไว้สำหรับเป็นไกด์ตลอดครึ่งวันแรก ส่วนน้องๆเค้าเลือกทาน “โกปี้” กับ “จาโก๊ย” ครับ “โกปี้” คือ กาแฟชงกับน้ำตาลให้รสชาติขมเจือหวาน ส่วน “จาโก๊ย” หรือ ปาท่องโก๋ ครับ เป็นภาษาถิ่นของที่นี่ที่คนจากต่างถิ่นฟังแล้วงงเป็นไก่ตาแตก แต่พออธิบายให้ฟังแล้วหัวเราะกันท้องแข็ง ขณะที่นั่งทานมื้อเช้าอยู่นั้นเองก็มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งถามผมว่า “ ทำไมเรียกที่นี่ว่า บ้านน้ำน้อย เพราะมองดูน้ำในแม่น้ำของที่นี่ก็มากอยู่” ผมจึงอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านนี้ว่า แต่เดิมในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลักษณะของหินผาและเนินสูง ที่หินผานี้เองมีน้ำไหลย้อยออกมาตลอดเวลา ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “บ้านหินน้ำย้อย” ต่อมานานเข้านานเข้าชาวบ้านจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “บ้านน้ำน้อย” ดังปัจจุบัน  เมื่อครั้งยังเด็กผมเคยไปปีนเขาเล่นกับเพื่อนๆที่บริเวณบ้านน้ำน้อย บริเวณเนินเขาจะเป็นสวนทุเรียนกับสวนเงาะ ส่วนข้างบนจะเป็นสวนยางพาราขนาดใหญ่ หากเดินไปเรื่อยๆจนเกือบจะถึงยอดเขาจะมีหินย้อยตามผาลักษณะสวยงามและมีน้ำไหลย้อยออกมาตลอดเวลาลงสู่แอ่งน้ำใสเล็กๆข้างล่าง ช่วงหน้าร้อนเพื่อนๆที่มีบ้านอยู่แถวๆนี้มักนิยมมาลงเล่นน้ำที่แอ่งแห่งนี้กันเพราะสะอาดและเย็นสบายดี คาดว่าตอนนี้แอ่งดังกล่าวก็น่าที่จะยังมีอยู่ ทานมื้อเช้าเสร็จแล้วผมจึงพาพวกน้องๆเค้าดินชมสะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับร้านน้ำชานี่เองซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานเล่าขานว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารไทย กับ ทหารญี่ปุ่นได้รบกันในบริเวณสะพานดังกล่าว ทหารไทยและชาวบ้านน้ำน้อย ช่วยกันดักยิงทหารญี่ปุ่นถึงแก่ความตายราว 400 ศพ หลังการสู้รบกันยาวนานทั้งวันสงบลงจึงมีการเคลื่อนย้ายศพของทหารญี่ปุ่นราว 400 ศพ ไปเผาที่เมรุวัดสระเกษ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ชาวบ้านมักเรียกสะพานรถไฟดังกล่าวว่า “สะพานสายมรณะ” บางคนก็เรียกว่า “สะพาน 400 ศพ”  บ้างก็มี
หลังจากเดินยืดเส้นยืดสายให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆกระปรี้กระเปร่าแล้ว คณะของพวกเราจึงเดินทางไปยังจุดหมายจุดต่อไป คือ “วัดมหัตตมังคลาราม” วัดนี้เป็นวัดหลวงครับ แต่ถ้าไปถามชาวบ้านแถวละแวกนี้ว่า ทางไปวัดมหัตตมังคลารามไปทางไหน? แทบจะไม่มีใครตอบได้เลยครับ เพราะชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดหาดใหญ่ใน” ซะจนชิน วัดหาดใหญ่ในนี้มีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่มาก ตั้งอยู่เลขที่ 134 บ้านหาดใหญ่ใน ถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ สงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ วัดนี้มีพระพุทธรูปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกประดิษฐานอยู่ภายในวัด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร สร้างราวปี พ.ศ. 2515-2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธหัตตมงคล” เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2519
                 ส่วนประวัติของพระพุทธหัตตมงคลโดยย่อที่อ่านเอาจากซุ้มบอกประวัติของทางวัดพอที่จะสรุปได้ดังนี้คือ การสร้างพระพุทธหัตตมงคล วางศิลาฤกษ์ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 โดยมี ม.จ. ทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา(ในขณะนั้น)เป็นประธานในพิธี องค์พระยาว 35 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอดพระเกตุ 15 เมตร ทำพิธีหล่อพระเกตุมาลา พระหฤทัย พระปัปผาสะ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นราธิวาส พัทลุง และมีนายกเทศมนตรีเมืองหาดใหญ่ เป็นประธานเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯพระบรมราชินินารถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์เสด็จมาประกอบพิธียกพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเยี่ยมและทรงประกอบพิธีประดิษฐานแผ่นศิลาจารึกไว้ที่พระเขนยของพระพุทธหัตตมงคล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระวรชายาเสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ดำเนินการก่อสร้างวิหารพระพุทธหัตตมงคล เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ต่อมาพระวิสุทธิวงศาจารย์ ประกอบพิธียกช่อฟ้าพระพุทธหัตตมงคล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เป็นอันเสร็จพิธี  คณะของพวกเราเดิมชมพระพุทธรูปองค์ใหญ่(ใหญ่จริงๆ)ภายในวัดแล้วหลายๆคนอดไม่ได้ที่จะต้องขอถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก
จากนั้นคณะของเราจึงเดินทางไปยังจุดต่อไปคือ “ตลาดสันติสุขรวมกันค้า” คนที่นี่มักเรียกตลาดแห่งนี้สั้นๆว่า “สันติสุข” รถของคณะเราเดินทางมาถึงตลาดสันติสุขราว 9 โมงครึ่ง แต่ละคนก็แยกย้ายกันออกไปเดินช็อปปิ้งกันตามใจชอบ โดยนัดรวมกันอีกทีก็คือเวลา 11 โมงครึ่งบริเวณหน้าห้างโอเดี้ยน เดินนำเที่ยวในตลาดสันติสุขอยู่พักใหญ่ๆจะสังเกตได้ว่าตลาดของที่นี่ส่วนใหญ่จะขายสินค้าหนีภาษีเป็นหลัก คล้ายๆกับห้างดิวตี้ฟรี(duty free)ในประเทศมาเลเซีย แต่ที่นี่มีสินค้าให้เลือกชมและซื้อมากกว่าเยอะ นาฬิกาข้อมือราคาเรือนละหลายพันบาทท่านอาจสามารถซื้อได้ในราคาแค่ไม่กี่ร้อยบาทที่นี่ แต่ก็ต้องอาศัยตาดีได้ตาร้ายเสียและความสามารถในการต่อรองราคากันหน่อย ยังจำได้แม่นยำว่าครั้งหนึ่งผมเคยไปเดินเที่ยวกับคุณพี่ท่านหนึ่งที่นี่ แล้วท่านต่อราคากระเป๋าหนังจากราคา 1750 บาท เหลือแค่เพียง 700 บาทถ้วนเท่านั้น(ฝีมือครับฝีมือ) นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆอีก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม รองเท้า เสื้อผ้า อาหารแห้ง เป็นต้น ส่วนการจัดโซนในการเดินเลือกชมสินค้าของที่นี่ยังมีการแบ่งออกเป็น 4 โซนใหญ่ๆครับ คือ 1.โซนสันติสุข 2โซนยงดี 3.โซนเอเชีย และ 4.โซนแผงทอง โดยของที่ขายอยู่ในทั้ง 4 โซนจะคล้ายๆกันแต่สนนราคาอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผมคิดว่าของที่ขายอยู่ในโซนเอเซีย ยงดี และแผงทอง จะมีราคาที่ค่อนข้างแพงกว่า โซนสันติสุข อยู่เล็กน้อย
                 หลังจากเดินช็อปปิ้งกันจนเหนื่อยได้ที่แล้ว ผมจึงพาชาวคณะของเราเดินทางไปลิ้มรสชาติของข้าวมันไก่ที่กล่าวขานกันในหมู่นักชิมว่า “อร่อยที่สุดในหาดใหญ่”  ร้านนี้มีชื่อว่า “ร้านมุ่ยกี่โอชา” เปิดขายมานานหลายสิบปีแล้วครับโดยขายทั้งไก่ดำและไก่ขาว(สนนราคาก็แตกต่างกันออกไป ปกติไก่ดำจะแพงกว่าไก่ขาวอยู่พอสมควร) ร้านมุ่งกี่โอชาเป็นร้านเล็กๆหากขับรถมาจากทางหน้าห้างโอเดี้ยนให้เลี้ยวซ้ายไปทางโรงเรียนแสงทองวิทยาร้านข้าวมันไก่ร้านนี้จะตั้งอยู่ทางซ้ายมือของท่านครับ สังเกตให้ดีครับร้านนี้จะตั้งอยู่ตรงข้ามกับ “บ้านหมอกระสวย” ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นร้านขายอาหารแทนแล้ว(ถามคนแถวๆนี้ก็รู้) การที่จะมาทานข้าวมันไก่ที่ร้านแห่งนี้ได้นี่ผมต้องเสียเวลาในการจองโต๊ะข้ามวันเลยทีเดียว เพราะที่ร้านมุ่ยกี่โอชาแห่งนี้มีโต๊ะเอาไว้บริการเพียงแค่ไม่ถึง 10 ตัวโดยแต่ล่ะตัวก็จะมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาใช้บริการกันอย่างไม่ขาดสาย(โดยเฉพาะลูกค้าชาวมาเลเซีย) ผมเคยพยายามจะมานั่งทานข้าวมันไก่ที่ร้านแห่งนี้อยู่ 2-3 ครั้งแต่เป็นเพราะลูกค้าแน่นร้านมากเลยจำต้องสั่งไก่ข้าวมันไปทานที่บ้านแทนซึ่งก็เสียเวลาในการรอคอยกว่าครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว และหากใครจะแวะเวียนมาชิมข้าวมันไก่ในเวลาหลังบ่ายโมงไปแล้วนี้ขอบอกว่าคิดผิดถนัดครับ เพราะของร้านนี้มักขายหมดก่อนเวลาบ่ายโมงทุกครั้งไป!  เหตุที่ข้าวมันไก่ของที่นี่มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่นนี่อาจจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการเลือกไก่ที่จะนำมาทำไก่ข้าวมัน เพราะเจ้าของร้านที่เป็นหญิงในวัยกลางคน(จำชื่อไม่ได้แล้ว)บอกเคล็ดลับให้ฟังว่า จะต้องเป็นไก่ที่มีขนาดโตได้พอเหมาะพอเจาะ อายุไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปนัก ส่วนน้ำซุปก็ต้องเป็นสูตรลับเฉพาะของทางร้านที่ถ่ายทอดมาจากเมืองจีนเท่านั้น อย่างนี้นี่เองที่ข้าวมันไก่ของที่นี่จึงมีรสชาติที่หอมมัน บวกกับไก่เนื้อนุ่มรสหวานจึงพาเข้ากันได้เป็นอย่างดี ทานเสร็จแล้วล้างคอด้วยน้ำซุปกระดูกไก่ต้มกับเครื่องยาจีนแล้วทำให้ชุ่มคอดีแท้
หนังท้องหนา หนังตามันก็เริ่มหย่อน พวกเราและชาวคณะเดินขึ้นรถตู้ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำไว้รอท่า ไม่นานก็ม่อยหลับไประหว่างทางที่กว่าจะถึงจุดมุ่งหมายต่อไป ประมาณว่านอนพักผ่อนเอาแรงไว้นี่ก็คงไม่ผิด ราวบ่ายโมงครึ่งรถของทางคณะเราก็เดินทางมาถึง “เขาตังกวน” ขณะที่คณะของเรามาถึงนี้เองเป็นเวลาที่เขาตังกวนกำลังซ่อมแซมและปรับปรุงองค์พระเจดีย์หลวงอยู่ แต่ก็ยังดีที่ยังเปิดให้บริการในบางจุด ตอนนี้การจะขึ้นลงเขาตังกวนมีลิฟต์ให้ได้ใช้แล้วครับ นี่เลยไม่ต้องเหนื่อยมากเหมือนเมื่อสมัย 4 ปีก่อนที่ผมต้องเดินขึ้นบันไดพญานาค 400 ขั้นเพื่อขึ้นมาถึงยอดสุดของที่นี่(ยังจำได้ว่าครั้งนั้นเล่นเอาลิ้นห้อยเหมือนกัน) มองสำรวดดูชั้นล่างของลิฟต์นี่จะเป็นที่สำหรับขายบัตรคิวเพื่อขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นบน นอกจากนี้ยังมีร้านขายของที่ระลึกร้านหนึ่ง(ใหญ่พอควร)ของทางราชการ ซึ่งมีสินค้าที่ระลึกที่เกี่ยวกับจังหวัดสงขลานำมาวางขายให้แก่นักท่องเที่ยวมากมาย แต่ที่เห็นหลายๆคนซื้อกันก็คือ ตุ๊กตาจำลองรูปนางเงือกประทับตราชื่อจังหวัดสงขลา ราคาแค่ตัวละ 25 บาท เลยซื้อกันคนละ 3-4 ตัว สอบถามได้ความว่าจะเอาไปฝากเพื่อนๆที่บ้าน ส่วนรอบนอกร้านนี่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจครับ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เล่นน้ำของบรรดาลิงที่นี่ พร้อมป้ายเตือนว่า “สำหรับลิงเท่านั้น” อากาศร้อนๆแบบนี้บอกตามตรงว่าอิจฉามันครับมี“สไลด์เดอร์”ให้เล่นด้วย หลังจากซื้อบัตรเสร็จคณะของพวกเราก็ขึ้นลิฟต์มุ่งสู่ยอดบนของเขาตังกวนอันเป็นสถานที่ตั้งขององค์พระเจดีย์หลวง ซึ่งในครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ชาวจังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาชาวจังหวัดสงขลาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ในองค์พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2539 พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวนจึงถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมถึงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจอันเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวจังหวัดสงขลาจวบจนทุกวันนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอที่จะสันนิษฐานได้ว่าองค์พระเจดีย์หลวงน่าที่จะสร้างขึ้นราวสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช และเป็นศิลปะในแบบทวารวดี คณะของเราเดินเล่นและพักผ่อนกินลมรับอากาศบริสุทธิ์อย่างสบายปอดบนยอดเขาตังกวนอยู่นาน มองไปทิศทางไหนก็เห็นแต่ทะเลไกลสุดลูกหูลูกตา ครั้งนาฬิกาบอกเวลาว่า 3 โมงเย็นแล้วคณะของเราจึงเดินทางต่อไปยังอีกสถานที่หนึ่งอันตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากเขาตังกวนมากนักแหลมสมิหลา”...........จุดมุ่งหมายต่อไปของคณะเรา แหลมสมิหลาเป็นหาดทรายขาวนวลอบอวลไปด้วยกลิ่นสรรพชีวิตในท้องทะเล..................ทะเลอันไม่เคยหลับใหล ทะเลอันสวยงามทุกกาลกำหนด(ยกเว้นตอน ซึนามิ) หลายๆคนวิ่งไล่จับปูลม หลายๆคนลงไปเล่นน้ำเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่ามันเค็มเหมือนที่เคยได้ยินมารึเปล่า?  หลายๆคนรีบวิ่งไปถ่ายรูปกับนางเงือกทองสัญลักษณ์ของที่นี่ บ้างก็ไปถ่ายรูปคู่กับเกาะหนูและเกาะแมว อันตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทะเล เกาะอันมีตำนานเล่าขานว่า  หนู แมว และหมา สัตว์ทั้งสามนี้ต่างอาศัยอยู่ในเรือลำหนึ่งซึ่งเจ้าของเรือมีลูกแก้ววิเศษที่หากใครถือเอาไว้จะสามารถเดินเล่นบนผิวน้ำได้อย่างสบาย เหล่าสัตว์ทั้งสามสหายหาวิธีการขโมยลูกแก้ววิเศษมาจนได้แล้วหนีออกมาจากเรือดังกล่าวเนื่องด้วยมีความเบื่อหน่ายในวิถีการดำรงชีพในเรือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในขณะที่หนีออกมานั้นสัตว์ทั้งสามสหายเกิดทะเลาะกัน หนูทำลูกแก้วตกน้ำไป หนูและแมวต่างจมน้ำตายไปตรงนั้นกลายเป็นเกาะหนู เกาะแมว ส่วนหมาอาศัยเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มีอยู่ว่ายน้ำเข้าสู่ฝั่งได้สำเร็จก็ขาดใจตายและกลายเป็นเขาตังกวน ส่วนลูกแก้ววิเศษนั้นถูกกระแสน้ำทะเลพัดพาไปตกที่ฝั่งเขตอำเภอสิงหนคร กลายเป็นหาดทรายแก้วที่แสนสวยงาม ดังปัจจุบัน
                 หลังจากเล่นน้ำทะเลกันจนเหน็ดเหนื่อยแล้ว คณะของเราจึงเดินทางไปทานอาหารมื้อเย็นกันที่ร้าน “อีสานรสแซ่บคอหมูย่าง” ซึ่งเป็นร้านอาหารอีสานที่ตั้งอยู่ริมทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกเกาะยอไม่มากนักสังเกตได้ว่าหน้าร้านแห่งนี้จะมีรถยนต์ของลูกค้าจอดจนล้นถนนแทบทุกวัน และร้านนี้เองที่มีลูกค้ามาใช้บริการกันมากที่สุดร้านหนึ่งของอำเภอเมืองสงขลา สืบเนื่องมาจากอาหารของที่นี่มีรสชาติดี สะอาด และราคาไม่แพง ส่วนเมนูเด็ด(speciality) ของที่นี่ต้องขอยกให้กับ “ปลาดุกฟู” กับ “คอหมูย่าง” ครับ มาที่นี่แล้วบอกกันตามตรงว่า “ต้องสั่ง” 2 อย่างนี้เพราะถือเป็นเมนูเด็ดของที่นี่โดยแท้จริง ปลาดุกฟูของที่นี่จะกรอบไปหมดทั้งตัว(ขนาดก้างยังทานได้เลย)และหอมด้วยเครื่องปรุงรสโดยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์กับถั่วคั่ว ส่วนคอหมูย่างของที่นี่จะนุ่มและหวานไม่ต้องเคี้ยวมากก็กลืนลงคอได้สบายบวกกับน้ำจิ้มรสเด็ดที่หวานเจือเปรี้ยวแต่เผ็ดนิดๆแล้วทำให้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย เสร็จจากมื้อเย็นคณะของพวกเราก็เดินทางกลับสู่ที่พักที่หาดใหญ่อย่างปลอดภัย พร้อมด้วยรอยยิ้มของกลุ่มผู้มาเยือนที่จะจดจำความประทับใจครั้งนี้ไว้อีกนาน

ปล.       บันทึกเอาไว้ ณ  1 วันประทับใจที่หาดใหญ่และสงขลา ไม่ขอกำหนดด้วยห้วงของเวลาแต่ขอกำหนดด้วยห้วงแห่งความประทับใจ
เขียน,เรียบเรียง   คุณาพร ไชย โรจน์ - กิตติพร ไชย โรจน์
http://www.siamsouth.com/smf/index.php/board,11.0.html

หมายเลขบันทึก: 271942เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท