เทคโนโลยีช่วยการเดินทางในอนาคตกับ PND


การรับข้อมูลจราจร Real-Time

เทคโนโลยีช่วยการเดินทางในอนาคตกับ PND
โดย ภาสกร ประถมบุตร

 

traffic_jam

หลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งติดอันดับปัญหาการจราจรคับคั่งประเทศหนึ่ง ไม่แพ้ประเทศใดในโลก โดยเฉพาะอย่างในเมืองหลวง ที่เป็นจุดศูนย์รวมความเจริญแทบจะทุกแขนง ไม่ว่าจะใช้เส้นทางไหน เราก็จะเผชิญกับปัญหารถติด ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาจะออกไปไหนทีก็ต้องพยายามหาเส้นทางที่เลี่ยงรถติด บางครั้งคิดแล้วว่าเส้นทางนี้รถน่าจะว่าง แต่คาดการณ์ผิดก็มีไม่น้อย ทำอย่างไรเราถึงจะทราบล่วงหน้าว่าเส้นทางที่เราจะไปมีอะไรอยู่ข้างหน้า จะมีเครื่องมือเครื่องใช้อะไรช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางสัญจรในท้องถนนบ้าง ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้เราก็ต้องมองไปที่ไอทีตัวช่วยแสนรู้ ที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตการเดินทางให้ราบเรียบขึ้น เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือการเดินทาง จึงเป็นเสมือนผู้นำทางบนท้องถนนเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย หรือช่วยบริการเส้นทางการเดินทาง การรายงานสถานการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง หากพบเห็นจุดไม่ปลอดภัยหรือเกิดความเสี่ยงด้วยความฉับไว สามารถคำนวณเส้นทางเมื่อมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางใกล้เคียงเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของคุณ

ความคิดในการนำอุปกรณ์เพื่อช่วยในการนำทาง PND (Personal Navigation Device) จึงเป็นจุดเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอีกไม่นานนี้ ในบ้านเราจะเห็นการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นลักษณะเติบโตอย่างป็นก้าวกระโดด เนื่องจากมีความขีดความสามารถซึ่งบ่งบอกถึงความแม่นยำทางด้านเทคโนโลยีในระบบเนวิเกเตอร์ที่ทันสมัย และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PND อุปกรณ์ช่วยนำทาง
จากการคาดการณ์ของบริษัทอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์ช่วยนำทางหรือ PND ที่คาดการณ์ว่าจะขาย PNDได้ถึงแสนเครื่องหรือประมาณ 500 ล้านบาทในปี 2551 นี้ และในอีก 5-10 ปี PND จะเข้าไปอยู่ในรถถึง 50% ของจำนวนรถทั้งหมดในประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่าตลาด PND ในบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็วและยังมีอนาคตอีกไกล สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะราคาที่ถูกลง ความแม่นยำที่สูงขึ้นตามเทคโนโลยี กอรปกับมีการนำ GPS (Global Positioning System)ไปผนวกกับโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยนำทางและค้นหาจุดสนใจในแผนที่ได้ แล้วยังมีผลทำให้ช่องทางจำหน่ายมีเพิ่มมากขึ้น ตลาดจึงโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามที่เราเห็นนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ตลาด PND ในเมืองไทยจะก้าวกระโดดอย่างเร็วในไม่อีกไม่นาน จุดเปลี่ยนคือการนำข้อมูลจราจรและเหตุการณ์ Real-Time ส่งตรงไปยัง PND ทำให้ผู้ใช้ได้รับรายงานจราจรและเหตุการณ์สดๆ เพื่อช่วยคำนวณเส้นทางหลบหลีกการจราจรที่คับคลั่ง แทนที่จะดูแต่แผนที่ที่ติดมากับ PND อย่างเดียว นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถล่วงรู้จุดที่เกิดอุบัติเหตุ จุดที่ปิดถนน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเข้ามาใน PND ตลอดเวลา และสามารถเรียกดูได้ทันที ต่างจากการเปิดฟังรายงานจราจรทางสถานีวิทยุจราจรที่คุ้นเคยกัน เพราะบางครั้งเราต้องการข้อมูลเฉพาะเส้นทางที่เราจะไปในทันทีและต่อเนื่อง ซึ่งสถานีวิทยุจราจรคงจะให้บริการในภาพรวมมากกว่าที่จะเป็นความต้องการของแต่ละบุคคล

tmc1

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าจุดเปลี่ยนของวงการ PND คือการรับข้อมูล Real-Time ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่นก็มีบริการแบบนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากโฆษณาอุปกรณ์ PND ที่ขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุจุดขายว่ามีรายงานสภาพจราจร Real-Time

ท่านผู้อ่านคงจะข้องใจว่าทำไมบริการดีๆ แบบนี้ไม่มีในเมืองไทย โดยเฉพาะมหานครอย่างกรุงเทพฯที่มีปัญหารถติดไม่แพ้ชาติใดในโลก จริงๆ แล้วหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานก็มีการเก็บข้อมูลจราจร Real-Time ไม่ว่าจะเป็น กทม.ที่มีป้ายจราจรอัจฉริยะทั่วกรุงเทพฯ การทางพิเศษฯ ที่มี IMAP แสดงสภาพจราจรบนทางด่วนผ่านแผนที่บนเว็บสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่มีข้อมูลจราจรรอบวงแหวนรัชดาแสดงอยู่ในเว็บ ตำรวจที่มีข้อมูลจราจรจาก CCTV ตามแยกต่างๆ และข้อมูลจากสถานีวิทยุข่าวสารจราจรอีกหลายแห่งก็มีข้อมูลจราจร หากแต่ว่ายังไม่มีหน่วยงานใดที่จะกระจายข้อมูลเข้าไปใน PND โดยตรง เพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทยได้ริเริ่มนำร่องโครงการ Traffic Information Center หรือ TIC โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ข้างต้นเพื่อจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลจราจร Real-Time แล้วส่งให้ผู้ให้บริการเพื่อกระจายข้อมูลเข้าไปยัง PND โทรศัพท์มือถือและเว็บทางอินเทอร์เน็ต โครงการนำร่อง TIC นี้จะนำเสนอเป็น show case ในงาน ITS AP 2009 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 (http://ITS-AP2009.in.th) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

trf2

ผมจะขอเล่าถึงเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มใช้ในขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลจราจร Real-Time ของ TIC ผ่านคลื่นวิทยุไปยัง PND ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากมีการรวบรวมข้อมูลจากตำแหน่งต่างๆ ข้างต้น นำมาประมวลผลแล้วจัดรูปแบบให้เหมาะสมต่อการเผยแพร่

รูปการกระจายข้อมูลไปยัง PND ที่มาภาพ www.navigadget.com

 

วิธีที่การกระจายข้อมูลจราจร Real-Time ที่เป็นสากลมีอยู่อย่างน้อยสามวิธีได้แก่ TMC, VICS และ TPEG

TMC

trf3

สำหรับ TMC หรือ (Traffic Message Channel) นั้นเป็นมาตรฐานที่ใช้ในยุโรป แต่ปัจจุบันก็มีใช้ในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและในประเทศจีน สาเหตุที่ประเทศจีนใช้ TMC ก็เนื่องมาจากการเป็นเจ้าภาพกี่ฬาโอลิมปิคทึ่มหานครปักกิ่ง เพื่อแก้ปัญหาจราจร จีนต้องการเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ได้ทันงานโอลิมปิคจึงเลือกใช้ TMC ซึ่งก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้แพร่หลายและเป็นมาตรฐานสากล ISO 14819 สามารถหาอุปกรณ์ทั้งตัวรับตัวส่งได้ง่าย มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ TMC นั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้ให้ข้อมูลจราจร Real-time และสภาพอากาศโดยการกระจายข้อมูลผ่าน RDS (Radio Data System) เข้าไปยังอุปกรณ์ในยานพาหนะเพื่อช่วยค้นหาเส้นทางที่สภาพจราจรคล่องตัว นอกจากนี้ยังมีข้อความที่แจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณที่เราอยู่เช่น อุบัติเหตุ ถนนที่ปิดซ่อมบำรุง เป็นต้น

VICS

trf7-1a

VICS (Vehicle Information and Communication System) เป็นระบบรายงานข้อมูลแก่ผู้เดินทางทางถนนของประเทศญี่ปุ่น VICS เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 17 ล้านคน VICS มีหลักการคล้ายๆ กันกับ TMC คือมีหน่วยงานที่รับข้อมูล ประมวลผล และกระจายข้อมูลเข้ามาในยานพาหนะ แต่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นมีลูกเล่นแพรวพราวกว่า TMC มากเพราะใช้อัตราการส่งหรือ Bit rate ที่สูงกว่า แต่ VICS ก็มีใช้ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จนกระทั่งมหกรรมโอลิมปิคที่ปักกิ่งที่ผ่านมา VICS ได้เริ่มนำมาใช้ในประเทศจีนเพราะมีลูกค้าระดับบนที่ต้องการความหรูหราและฟังก์ชันที่เหนือกว่า TMC โดยที่ส่วนใหญ่อุปกรณ์แสดงผล VICS จะติดมากับรถหรูของญี่ปุ่นที่นำเข้ามาอยู่แล้ว ทำให้ประเทศจีนเป็นชาติแรกที่ใช้ทั้งสองระบบคือ TMC และ VICS ร่วมกัน

TPEG

สำหรับ TPEG (Traffic Protocol Expert's Group) เป็นมาตรฐานใหม่ของ ISO (ISO 14819 และ ISO 24530) ที่คิดขึ้นมาในปีค.ศ. 1997 โดย EBU (European Broadcasting Union) เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของ TMC และรองรับการใช้งานในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานจริง ข้อจำกัดของ TMC คือการออกแบบเพื่อใช้กับ RDS (Radio Data System) อย่างเดียว ทำให้ทีมีแบรน์วิธที่จำกัด ข้อมูลที่ส่งต้องใช้วิธีเข้ารหัสโดยกำหนดความหมายไว้ล่วงหน้าตายตัวอีกทั้งมีขนาดและจำนวนที่จำกัด เช่นประเภทของเหตุการณ์มีได้เพียง 2,048 ประเภท ตำแหน่งต่างๆ บนแผนที่ก็ต้องทำการกำหนดรหัสไว้ใน Location Table ล่วงหน้า ไม่คล่องตัวที่จะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ แต่แนวคิดของ TPEG ต้องการส่งข้อความที่มนุษย์เข้าใจได้ และไม่ได้สร้างมาเพื่อ RDS อย่างเดียว จึงส่งข้อความเป็น Byte-oriented stream ใช้ได้ทั้ง RDS และสื่อรูปแบบอื่นอย่าง DVB DARC 3G หรือ WiMAX ในอนาคตได้ โครงสร้างของ TPEG ตาม OSI Layer แสดงในรูปที่ 9 ซึ่งจะเห็นได้ใน Data Link Layer ว่า TPEG ใช้ได้กับสื่อหลายประเภท

บทสรุป

จุดเปลี่ยนของ PND ในบ้านเราคือความสามารถในการรับข้อมูลจราจรและเหตุการณ์แบบ Real-Time เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เดินทาง เสริมจากการฟังรายงานผ่านวิทยุจราจรที่มีอยู่ จุดเด่นของการรายงานจราจรและเหตุการณ์ผ่าน PND คือการเรียกดูได้ทันทีที่ต้องการ และสามารถค้นหาเส้นทางใหม่ได้อัตโนมัติหากมีเหตุการณ์หรือการจราจรติดขัดบนเส้นทางเดิม ตัว PND เองคงจะติดตลาดได้ไม่ยาก สิ่งที่ยากคือทำอย่างไรที่จะให้มีข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ป้อนให้ PND ตลอดเวลา งานนี้ต้องการความร่วมมือกันหลายหน่วยงานรวมทั้งนักวิจัยเพื่อประมวลผลข้อมุลที่ได้รับ จัดรูปแบบให้เหมาะสมก่อนจะส่งต่อให้ provider นำไปกระจายให้ผู้ใช้ แนวคิดนี้ได้เริ่มนำร่องโดยสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทยที่รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ร่วมนำร่อง TIC ในกทม. เพื่อให้ TMC VICS และ TPEG Providers มีข้อมูลไปกระจายให้ผู้ใช้ โครงการนี้จะเห็นผลในเดือนกรกฎาคม 2552 และจะขยายผลเป็นหน่วยงาน TIC ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบมูลนิธิคล้ายกับ VICS Center ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทางไม่เฉพาะแค่กรุงเทพฯ แต่ทุกถนนทั่วไทย

 


ที่มา วารสารเนคเทค ปีที่ 15 ฉบับที่ 80 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551

คำสำคัญ (Tags): #ทองล้วน
หมายเลขบันทึก: 271806เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2009 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็น Map ของ Google หรือปล่าวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท