ลมหายใจ


เสียงพูดของลูกชายคนโตดูเหมือนจะทำให้ลม หายใจที่รวยระรินในแต่ละเฮือก ....ละเฮือกของผู้ป่วยจะสัมผัสรับรู้การมาของลูก ๆ และภรรยาสีหน้าที่เคยเศร้าหมอง คิ้วที่ขมวด ดูจะค่อย ๆ คลายเหมือนจะหมดห่วง และสิ้นลมอย่างสงบ

              ลมหายใจสุดท้าย

                                                         โดย  sha-oravan

เช้าวันหนึ่งหลังการส่งเวรผู้ป่วยที่โต๊ะทำงานเสร็จ  น้องเวรดึกได้เดินราว์นผู้ป่วยไปตามเตียงอีกครั้ง  โดยเริ่มส่งอาการผู้ป่วยตั้งแต่เตียงเด็ก 1 ,เด็ก 2, เด็ก 3 ,......มาเรื่อย ๆ จนกระทั้งถึงเตียงเด็ก 10   น้องพูดขึ้นว่า  พี่  คนไข้รายนี้เป็นผู้ใหญ่  ญาติปฏิเสธการส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลศูนย์  ขอให้แพทย์รักษาให้เต็มที่ที่โรงพยาบาล  เตียงฝ่ายผู้ใหญ่เต็มจึงให้ผู้ป่วยนอนอยู่เตียงเด็ก 10 ซึ่งเป็นล็อคด้านใน  ไม่มีญาติพลุกพล่าน  ผู้ป่วยจะได้นอนพักผ่อนเต็มที่   ฉันจึงหันกลับไปมองผู้ป่วยอย่างพิจารณาอีกครั้ง  พบชายหนุ่มอายุ ประมาณ  30  ปี  แต่งกายด้วยชุดโรงพยาบาล  นอนอยู่บนตียงมีผ้าห่มสีน้ำเงินคลุมไว้ค่อนตัว  มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ  ต้องใช้ออกซิเจนช่วย  แขนด้านซ้ายมีสายน้ำเกลือเสียบอยู่  ข้าง ๆ เตียงผู้ป่วยมีคนเฝ้าเดินไปมาอยู่ห่าง    ทำให้ฉันรู้สึกสงสัยว่า  ผู้ป่วยอาการหนักขนาดนี้  ทำไมถึงไม่มีใครนั่งหรือดูแลผู้ป่วยอยู่ใกล้  ๆ ที่จะคอยปลอบโยนให้กำลังใจ

จากการสอบถามอาการของผู้ป่วยจากพยาบาลเจ้าของไข้  ทำให้ทราบว่า  ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติเป็นโรคเอดส์มา  5  ปี  รักษาโรงพยาบาลตลอด  รับยาต้านไวรัสแต่รักษาไม่ได้ผล  3  วันก่อนมาโรงพยาบาลมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ  มีไข้  รับประทานอาหารไม่ได้  ซึมลง  ญาติจึงนำมาส่งโรงพยาบาล  แต่ที่ผ่านมาหนูยังไม่เคยเห็นภรรยาและลูกของคนไข้เลยนะพี่ เห็นแต่พ่อ  แม่และญาติของผู้ป่วยมาเฝ้า  หลังเดินราว์น ผู้ป่วยเตียงอื่น ๆ เสร็จฉันจึงเดินกลับไปที่เตียงอีกครั้ง  โดยถามคนเฝ้าว่า 

พยาบาล    :  ป้าเป็นอะไรกับผู้ป่วยค่ะ

ญาติ         :  เป็นแม่

พยาบาล    :  เช้านี้ ผู้ป่วยได้เช็ดตัว  เปลี่ยนเสื้อผ้าหรือยังค่ะ

            ญาติ         :  เช็ดตัว  เปลี่ยนผ้าแล้วจ๊ะ

       พยาบาล    :  ป้าทราบอาการของลูกหรือยังค่ะ

       ญาติ         :  รู้แล้ว  หมอบอกเมื่อวานว่า  ลูกของป้าอาการหนักมากแล้ว  ให้ทำใจ  ป้าไม่อยากให้เค้าทรมานอีกจึงไม่ขอไปรักษา  รพ.ศูนย์  อยากให้เค้าไปสบาย ๆ

       พยาบาล   :  ป้าค่ะสำหรับวันนี้หมอยังให้น้ำเกลือต่ออีกนค่ะ  ส่วนอาการเหนื่อยหอบก็ให้ออกซิเจนไว้ก่อน  แต่เอ๊ะ  ป้าทำไมหนูไม่เห็นแฟนเค้ามาเฝ้าเลยละค่ะ  ป้าชะงักไปชั่วขณะ  สีหน้าดูเจื่อน ๆ พยายามหลบสายตา  ก่อนจะตอบว่า  ไม่ได้มา  ไม่ว่าง  ต้องคอยดูแลแม่ที่ไม่สบายอยู่ที่บ้าน  ฉันยังคงถามต่อ  ไม่สบายเป็นโรคอะไรหรือป้า  ป่วยหนักหรือเปล่า  ฝากใครดูแลก่อนได้มั้ย

ญาติ    :  ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ต้องคอยดูแลเรื่องอาหาร

คำตอบของแม่  ทำให้ฉันรู้สึกอึ้งและก็สงสัยว่า  เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวนี้  ทำไมสามีป่วยขนาดนี้  ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดถึงวันนี้หรือเปล่า  ทำไมถึงไม่มาดูแล  มาดูใจหรือพาลูก ๆมาเยี่ยมพ่อบ้างเลย  สภาพผู้ป่วยดูกระสับกระส่าย  สับสนมากขึ้น  แววตามีกังวล  เหมือนจะรอใคร.......

ฉันจึงเข้าไปรบเร้ามารดาของผู้ป่วยอีกครั้ง  ป้าลองโทรศัพท์ตามแฟนและลูก ๆ เค้ามาเยี่ยมเถอะ  ยังพอมีเวลา  บางทีลูกของป้า  เค้าอาจจะอยากเห็นหน้าลูกและภรรยาเค้านะ  ป้าโทรศัพท์ไปเถอะ  อำเภอพระแสงนะอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลหรอก  นั่งรถประมาณ  20  นาทีก็ถึงแล้ว  ขณะที่รอภรรยาเดินทางมาถึง  ผู้ป่วยมีอาการหายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น  ความดันโลหิตเริ่มลดลง  ชีพจรเต้นเบา  หายใจเริ่มช้าลง  ฉันจึงได้แต่อธิบายอาการของผู้ป่วยให้ญาติรับทราบเป็นระยะ ๆ เวลาผ่านไปประมาณ  2  ชั่วโมง  บิดาและมารดาของผู้ป่วยมาบอกว่า  จะขอพาผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้านมหาราช  (ซึ่งอยู่ในอำเภอเวียงสระ)  ฉันจึงบอกไปว่า  ขอให้รอภรรยาและลูกของผู้ป่วยก่อนเถอะ... ป้า   ดูเหมือนญาติ ๆ จะหันกลับไปปรึกษากันก่อนที่จะเดินมาพูดกับฉัน  โดยมีป้าของผู้ป่วยพูดด้วยน้ำเสียงห้วน ๆ ขอพาหลานกลับบ้านช่วยไปบอกหมอที   ฉันก็เลยต้องทำตามความต้องการของญาติ  โดยเดินไปบอกแพทย์เวรที่ตึกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน  เรื่องญาติขอพาผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน  แพทย์รับทราบและอนุญาตตามที่ญาติขอ  ขณะที่ฉันเดินมาถึงเตียงผู้ป่วยเพื่อจะบอกญาติ  พบว่า  มีหญิงสาวรูปร่างอวบ  ใส่เสื้อยืดสีขาวสายเขียว  นุ่งผ้าถุงสีน้ำเงิน  ผมเผ้าดูยุ่งเหยิงมากับเด็กชาย  2  คน คนโตอายุประมาณ  12  ปี รูปร่างอ้วนเตี้ยไว้ผมบ๊อป  ผิวคล้ำ ใส่เสื้อยืดสีแดง  กางเกงสามส่วน  คนเล็กอายุประมาณ  5  ปี ใส่เสื้อยืดลายการ์ตูน  กางเกงขาสั้นเก่า ๆเข้ามายืนข้างเตียงด้วยสีหน้าตื่นตระหนกเหมือนจะช๊อคกับภาพตรงหน้า  ยืนนึ่งมองไปที่ผู้ป่วย  น้ำตาค่อย ๆ ไหลอาบแก้มผู้เป็นภรรยา  ฉันจึงเดินเข้าไปใกล้ ๆ และกระซิบบอกภรรยาและลูก ๆ ให้เข้าไปบอกพ่อให้ทราบว่า  ลูก ๆ และแม่มาหาพ่อแล้ว  ภรรยาจึงเดินพาลูก ๆทั้งสองคนเข้าไปจับมือด้านขวาของผู้ป่วย  โดยลูกชายคนโตก้มลงพูดข้าง ๆ หู  พ่อๆ...ผมมาหาพ่อแล้ว  พ่อไม่ต้องเป็นห่วงนะผมจะดูแลแม่และน้องเอง  พ่อหลับให้สบายนะ   เสียงพูดของลูกชายคนโตดูเหมือนจะทำให้ลม หายใจที่รวยระรินในแต่ละเฮือก ....ละเฮือกของผู้ป่วยจะสัมผัสรับรู้การมาของลูก ๆ และภรรยาสีหน้าที่เคยเศร้าหมอง  คิ้วที่ขมวด  ดูจะค่อย ๆ คลายเหมือนจะหมดห่วง และสิ้นลมอย่างสงบ  คงได้ยินเพียงเสียงสะอื้นของภรรยาและเสียงร่ำให้ของลูก ๆ เรียก  พ่อ  พ่อ  พ่อ  ..........

สำหรับฉันแล้วก็ได้แต่รู้สึกเศร้าใจกับภาพที่เห็นแต่ลึก ๆ ก็ยังรู้สึกดีใจ  ที่อย่างน้อย ที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยรายนี้  ฉันก็ได้มีโอกาสช่วยให้เค้าได้สมหวังกับการคอยที่จะพบลูกและภรรยาและได้จากไปอย่างสงบ

หมายเลขบันทึก: 270805เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2009 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถึงพี่ วรรณ

ผมอ่านข้อความแล้วครับพี่ เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าประทับใจมากเลยครับ เพราะผมคิดว่าผู้มารับบริการไม่ได้มารักษาเฉพาะร่างกายที่ป่วยไข้ครับ ถ้าพวกเราในฐานะผู้ให้บริการให้บริการผู้ป่วยทุกรายด้วยใจ อย่างที่พี่ทำผมว่าอนาคตโรงพยาบาลของเราผ่าน TQA แน่นอนครับ ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ คิดถึงพี่ๆทุกคนครับ มีอะไรเกี่ยวกับโรงพยาบาลเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับว่างๆจะเข้ามาอ่านอีกนะครับ

น้องเล็ก เศรษฐพร

รู้สึกหดหู่มากเลย จากเรื่องที่ได้อ่าน มีอีกหลายๆกรณี หลายๆรูปแบบ ที่เราผู้ให้บริการจะต้องเจอ

นี่คือ บททดสอบบทหนึ่ง กับ ......การบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์.... ที่เราต้องทำ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนทำงาน......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท