พบ นศ.ในกลุ่มครั้งแรก


PBL

วันที่ 4 มิ.. 2552 นัด นศพ. ในกลุ่ม 10 คนมาพบที่ภาควิชา 15.00-16.30 . กลุ่มนี้มีผู้หญิง และผู้ชายอย่างละครึ่ง ชื่อ เจมส์ อุ๋ม แป๋ม ขิม ส้มโอ ปั๊ม เพชร ปอนด์ จ๋า ……………..จำไม่ได้อีกหนึ่งคน…..ซักถามเรื่องต่างๆหลายเรื่อง เช่น

1.      ความรู้สึกต่อการเรียนแบบ PBL …….ทุกคนตอบไม่ชอบ ไม่อยากเรียนวิธีแบบนี้ มีอาจารย์ผู้คุมมานั่งด้วยรู้สึกเกร็งไม่กล้าตั้งคำถาม เพราะไม่มีความรู้อะไรเลย……ทำให้ไม่รู้จะถามอะไร ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวผิด

o     พยายามให้ นศพ. คิดว่าเด็ก อายุ2-3 ขวบ ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความรู้แต่ทำไมจึงมีข้อสงสัย สามารถสร้างคำถามมากมาย คำถามหลายครั้งก็ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ผู้ใหญ่ซึ่งเราคิดว่าเป็นผู้ที่ความรู้ค่อนข้างมากแล้ว ก็ตอบไม่ค่อยได้………..จริงๆแล้วไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง หรือเก่งทุกเรื่อง แต่ถ้าเราคิดว่าเรารู้เท่านี้พอแล้ว เก่งแล้ว และไม่อยากรู้ต่อ หรือยอมรับว่าตัวเองไม่รู้แต่ก็ไม่อยากถามเพราะอายเพื่อน หรืออยากให้เพื่อนว่าเราเก่งเพราะไม่มีข้อสงสัยเลย เราก็จะทำให้ตัวเองเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ได้เชี่ยวชาญมากขึ้นในเรื่องนั้น หลายคนมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องไม่รู้มากมายในใจ แต่มีโอกาสแล้วไม่ได้หาคำตอบ ก็น่าเสียดาย เพราะถ้าเราเวียนอยู่แต่ในวังวนของความไม่รู้ ก็จะทำให้ไม่เคยได้หลุดพ้นเลย ดังนั้นการเรียน PBL ไม่มีกรอบของความไม่รู้ แต่มีเกณฑ์ขั้นต่ำว่าเราควรอยากรู้ และต้องเรียนอะไรบ้าง

o     การมีอาจารย์มานั่งด้วยไม่ได้มาตรวจสอบว่านศพ.คนไหนเก่ง หรือไม่เก่ง ไม่ได้มาจับผิด แต่อาจารย์เป็นผู้ที่จะคอยกระตุ้นเพื่อให้ นศพ. ลองหัดใช้กระบวนการคิด ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน ทดสอบสมมติฐาน แล้วใช้การสรุปกระบวนการคิดแบบรวบยอด นอกจากนั้นอาจารย์ก็ยังมีเรื่องไม่รู้อีกมาก ดังนั้นการมาช่วยกันคิดกับนักเรียนก็เป็นวิถีอันหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ได้ฝึกใช้สมอง หัดคิด หัดเรียน หัดรู้และฝึกความอดทนไปพร้อมกันกับนักเรียน

o     การเรียน PBL ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคนที่เป็นมนุษย์ต้องใช้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว การคิดตั้งคำถาม การมีข้อสงสัย หรือแม้แต่การตั้งวงนินทาเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น ก็ยังต้องมีประเด็นเรื่องที่เราอยากพูดคุยกันยิ่งเป็นเรื่องที่เราไม่รู้และตกข่าวก็ยิ่งมีประเด็นที่ทำให้ต้องพูดคุยกันนาน แถมแต่ละคนก็ตั้งสมมติฐานกันมากมายต่างๆนานา ทั้งที่มีและไม่มีหลักฐาน

o     การเรียน PBL ก็เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งในกลุ่มก็รู้จักชื่อนี้กันทุกคน แต่ไม่มีใครเลยในกลุ่มที่เข้าใจความหมายของ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งถ้ามองให้ดีและถี่ถ้วน ก็เป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ใช้ทำกันใน PBL

2.      การเรียน PBL ผ่านมาแล้ว 3 เรื่อง เรื่องแรกคือต้นดอกกระดุมทอง หลายคนบอกสนุกไม่ยาก มีหนึ่งคนบอกยากเพราะอาจารย์ผู้คุม พยายามตั้งคำถามให้ตอบ พอตอบได้ก็ตั้งคำถามใหม่เรื่อยๆ เลยเสร็จช้าเป็นกลุ่มสุดท้าย…………………พยายามถามให้นศพ.คิดเกี่ยวกับประเด็น

-          เหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้เรียนกลุ่มที่ยากรู้สึกแบบนั้น

-          คำถามใน PBL ไม่จำกัดจำนวนคำถาม ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไร เกี่ยวกับสิ่งนั้นก็ควรถาม ยิ่งถามมากก็ทำให้ต้องคิดมาก อ่านมาก วิเคราะห์มาก ก็จะทำให้รู้ และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น สงสัยน้อย ไม่ถามเลย ไม่ต้องอ่านมาก ไม่จำเป็นต้องคิดวิเคราะห์ ทำ PBL เสร็จเร็ว แต่จะได้อะไรบ้าง ใครกันแน่ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง

-          คุยเกี่ยวกับ PBL มาค่อนข้างนานเกือบ 30 นาที แล้ว สังเกตุ……..หลายคนในกลุ่มพยายามนั่งฟังและคิดตาม สังเกตได้จากพยักหน้าเหมือนจะสื่อให้อาจารย์รู้ว่า หนู ผม เข้าใจบ้างแล้ว แต่ก็มีอีก 2-3 คน เริ่มจะจับกลุ่มคุยกันเอง เลยเปลี่ยนเรื่องคุยก่อนดีกว่า

3.      คุยเกี่ยวกับเรื่องการรับน้อง การเข้าประชุมเชียร์ของน้อง ปี 1 ทุกคนบอกว่าวันนี้ต้องไปซื้อของ take น้องกัน ก็เลยถามว่าจะไปซื้ออะไร ราคาเท่าไหร่ และต้อง take บ่อยแค่ไหน………ช่วงประชุมเชียร์สมัยก่อนต้อง take ทุกวัน เพิ่งเปลี่ยนมาปีที่แล้ว ลดเหลือ สัปดาห์ละ 2 วัน จันทร์และพฤหัส…………ตั้งคำถามให้น้องคิดกันเล่นๆว่าเฉลี่ยแล้วทั้งปี ทั้งสายรหัสจะต้องมีค่าใช้จ่ายรวมสำหรบน้องหนึ่งคน เฉลี่ยแล้วเป็นเงินเท่าไร…………..ประมาณ 5,000 บาท มีทั้งหมด 200 รหัส ก็ตกเป็นเงินเกือบ 1 ล้านบาทต่อปี คิดแล้วอาจารย์รู้สึกตกใจ แต่นศพ. คนหนึ่งบอกเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการกระจายรายได้ให้สังคม ถึงตัวเค้าไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำกันอยู่ดีเพราะเป็นวัฒนธรรมของลูกศิษย์คณะแพทย์เราไปแล้ว นอกจากนั้นจะทำให้เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคณะแพทย์ด้วยเพราะคณะอื่นเค้าก็ take กันทั้งนั้น………………….เลยทำให้อยากรู้ว่าแล้วแต่ละคนได้รับเงินเดือนจากทางบ้านกันคนละเท่าไร………..เฉลี่ย 5,000-7,000 บาท ทุกคนไม่มีเงินเหลือเก็บเลย………………เลยให้ทุกคนทำบัญชีใช้จ่ายของตัวเองมาส่งสัปดาห์หน้า จันทร์ที่ 8 เวลา11.00 . เริ่มจากวันนี้เลย…………นักเรียนบ่นกันใหญ่ ไม่รู้อาจารย์จะให้ทำไปทำไม จะเกิดประโยชน์อะไรกับนักเรียน ชักเริ่มสงสัย ตั้งคำถามกับอาจารย์กันแล้ว ก็เลยต้องอธิบายกันสั้นๆว่า อาจารย์ต้องดูนักเรียนเหมือนลูก ถ้าลูกอาจารย์ใช้จ่ายเดือนละ 7,000 ไม่เหลือเลย อาจารย์ก็อยากรู้ว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของพ่อแม่ทั่วไป ปั๊มเป็นสมาชิกกลุ่มเด็กวันอาทิตย์ ที่ต้องทำกิจกรรมกับผู้ป่วยที่พักอยู่ที่วัดโคกนาว ได้เห็นความลำบากของผู้ป่วยที่มีเงินจำกัด คิดว่าน่าจะเข้าใจเรื่องคุณค่าของเงินบ้าง

4.      จะนัดพบนักเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ทุกคนบ่นกันใหญ่บอกว่าไม่มีเวลา ใกล้สอบแล้ว ประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือน แต่ดูตามตารางเรียน เริ่มเรียนกัน 9 โมง พัก 11.00 บางช่วงก็ 12.00 เลิกเรียนก็บ่ายสี่………………ตอนแรกขอนัด 8 โมง ทุกคนบอกตื่นไม่ทัน แต่ที่เสียงดังสุดเป็นเพชร ปอนด์ ก็เลยเปลี่ยนเป็น 8.30 ก็บอกว่ายังไม่ทันอีกอยู่ดี เลยขอนัดเป็น จันทร์ 11.00 ……..ทำให้ต้องบ่นเรื่องการใช้เวลาให้คุ้มค่า ทุกคนมี 24 ชม. เท่ากัน แต่ถ้ามัวแต่นอน โดดเรียน ถึงแม้จะเก่งอ่านหนังสือเองได้ สอบผ่าน แต่ก็ขาดโอกาส และเสียเวลา โดยเรียกเวลาที่เสียไปช่วงนอนอยู่หอ โดดเรียน กลับมาชดเชยให้กับตัวเองเพื่อทำอย่างอื่นไม่ได้เลย

5.      บ่นกันใหญ่ว่าสอบบ่อยเกือบทุก 2 สัปดาห์ แล้วต้องมาพบอาจารย์ทุกอาทิตย์ ทำให้ไม่มีเวลาเตรียมตัวอ่านหนังสือเลย  ทำให้อาจารย์ต้องเทศนาอีกครั้ง ว่าตัวนักเรียนน่ะโชคดีแล้ว สอบ 2 สัปดาห์ครั้ง รู้ว่าจะสอบวิชาอะไร โจทย์ที่ออกก็รู้ว่าอยู่ใน block ไหน คะแนนที่ออกมาถ้าตก ก็ซ่อมได้ แต่ชีวิตหมอ จบออกมาเป็นหมอเต็มตัวแล้ว ทุกคนต้องถูกสอบโดยคนไข้ตลอดเวลา และมีทุกเรื่อง คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเป็นเรื่องไหน บางคนที่เก่งก็ต้องถูกสอบโดยคนไข้ทุกแผนก เพราะเป็นแพทย์ทั่วไป ข้อสอบวันละ 100 ข้อ ได้ตกไม่มี ตัดสินกันบนโรค และสุขภาพของผู้ป่วย บางครั้งก็เกี่ยวกับความเป็นความตายของคนไข้ ฉะนั้นปี 2 จึงเป็นการฝึกตนให้พร้อม สำหรับชีวิตหมอต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #problem based learning
หมายเลขบันทึก: 270663เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ลูกศิษย์กลุ่มนี้นี่เฮี้ยวพอใช้เลยนะครับ

เฮี้ยวพอๆกับอาจารย์เลย ฮา....

โชคดีของเธอๆนะครับที่ได้พี่เป็นอาจารย์

ไว้มีโอกาส เรามาทำกลุ่มร่วมกัน ก็น่าจะมันส์ดีนะ จะได้รู้ว่า อ.แป๊ะ หรือลูกศิษ์พี่ใครเฮี้ยวกว่ากัน

น่าเป็นห่วงมากกับ attitude เรื่องการใช้เงินของเด็กรุ่นนี้ (แปลว่าตัวเองแก่มากแล้ว) อยากให้ทุกคนมองให้ลึกถึงแก่นการดูแลน้อง อย่าทำตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตพันธ์ใหม่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน ขณะนี้เด็กๆเริ่มจากเป็น พี่เลี้ยงน้องด้วยเงิน ก่อน อันตรายมากๆ อย่าเพิ่งมอมเมาน้องๆและตัวเองว่าต้องเลี้ยงน้อง step ต่อไป จะกลายเป็นเลี้ยงให้หรู .... ในอนาคตความสำคัญจริงๆของความเอื้ออาทร ความผูกพัน จะถูกวัดฉาบฉวยด้วยตัวเงิน อยากให้อาจารย์ทุกท่านได้ทราบปัญหานี้และเริ่มการแก้ปัญหาด้วยกัน

ขอบคุณค่ะอาจารย์

อีกคนที่อาจารย์จำไม่ได้อ่ะ ฟรีเองครับ T^T

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท