เริ่มต้นการเป็นครูคุมกลุ่ม PBL


PBL

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 1

ประชุมสัมมนาอาจารย์ประจำกลุ่ม PBL วันที่ 1-6-2552

บทสรุปส่วนหนึ่งของปัญหาและแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับ PBL เชิงการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยคุม PBL การพูดคุยและอ่านปัญหาที่เขียนในกระดานข่าว รวมทั้งการประชุมกลุ่มวันนี้ที่ โนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่

1.      ผู้เรียน

-          นศพ.ก็มีความหลากหลาย และแตกต่างกันในกระบวนการเรียนรู้ บางคนชอบฟัง บางคนชอบอ่านเอง บางคนชอบพูด แต่ก็มีอีกหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองชอบแบบไหน และอีกหลายคนบอกไม่ชอบ PBL

                                                               i.      PBL เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำรงวิชาชีพแพทย์ ซึ่งแพทย์ทุกคนต้องมีและปฏิบัติให้เป็นปัจจุบันตลอดไป เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลผู้ป่วย

                                                             ii.      ทำความเข้าใจกับผู้เรียนเกี่ยวกับ PBL ว่าเป็นวิถีส่วนหนึ่งของการมีชีวิตเป็นแพทย์ ไม่ว่าตัวเองจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ทุกคนต้องมีหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้แบบนี้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ชีวิตความเป็นแพทย์ จะต้องเกี่ยวข้องกับการตั้งสมมติฐานโรค การทดสอบสมมติฐาน การให้การวินิจฉัยโรค การพิจารณาให้การรักษาแก่ผู้ป่วย และมีอีกหลายเรื่องที่แพทย์ก็ยังไม่รู้ แต่ละคนก็รู้ไม่เท่ากัน และเรื่องเดียวกันก็อาจจะรู้ไม่เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือทุกคนควรรู้ว่ามีกระบวนการอะไรที่แพทย์สามารถเปลี่ยนเรื่องที่ไม่รู้ มาเป็นเรื่องที่เข้าใจและรู้ได้

                                                            iii.      สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัย ในการกล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ตัวเองก็อาจจะไม่มีความรู้ดีเท่าผู้เรียนคนอื่น แต่ก็กล้าที่จะลองคิดออกมาดังๆให้เพื่อนได้ยิน

-          ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง

                                                               i.      ชี้แจงให้ทราบวัตถุประสงค์ของการเรียนแบบนี้ วิธีการเรียน บทบาทของผู้เรียนที่ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และต่อกลุ่ม

-          มองการทำ PBL เหมือนไปเล่นละครให้อาจารย์ดู ใครแสดงมาก พูดมากก็จะได้คะแนนดี

                                                               i.      ให้ผู้เรียนเข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองต่อการนำเสนอความคิดของตนเอง โดยการทำให้ให้คิดแบบมีเสียงดังผ่านการพูด เพื่อที่ผู้อื่นจะได้รู้ว่าเรื่องนี้มีแนวคิดที่เชื่อมโยงกับความรู้อะไรบ้าง ซึ่งกระบวนการตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อกลุ่ม

-          ไม่เข้าใจและไม่แน่ใจว่ากระบวนการ PBL จะดีต่อตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะจะทำให้สอบผ่านโดยกระบวนการวัดผลความรู้ (knowledge outcome) ได้หรือไม่

                                                               i.      ต้องมีกระบวนการทำให้ผู้เรียนค้นพบประโยชน์ของการบูรณาการสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ทั้งหมดในแต่ละ PBL และต่อยอดให้มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์เพิ่มความเข้าใจในเชิงลึก

                                                             ii.      เปลี่ยนความรู้จากการใช้สมองท่องจำ เป็นฝึกสมองให้คิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะจำ โดยตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ หัดลองตั้งสมมติฐานตามความรู้ที่เคยได้เรียนมา หรือตามความเป็นไปได้ที่จะคิดตั้งสมมติฐานแบบนี้ และจะต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมมาอธิบายสมมติฐานที่ตั้งขึ้น รวมทั้งควรมีการอภิปรายกับเพื่อนและอาจารย์ในกลุ่มเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน โดยใช้หลักความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย หลากหลาย รวมทั้งมีการประเมินแหล่งข้อมูลว่ามีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากเพียงใด

                                                            iii.      ประเด็นที่สำคัญคือ PBL เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำรงวิชาชีพแพทย์ ซึ่งแพทย์ทุกคนต้องมีและปฏิบัติให้เป็นปัจจุบันตลอดไป เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลผู้ป่วย

                                                           iv.      ทำความเข้าใจกับผู้เรียนเกี่ยวกับ PBL ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการมีชีวิตเป็นแพทย์ ไม่ว่าตัวเองจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ทุกคนต้องมีหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้แบบนี้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตความเป็นแพทย์ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการตั้งสมมติ ฐานโรค การให้การวินิจฉัยโรค การพิจารณาให้การรักษาแก่ผู้ป่วย สิ่งที่โชคดีใน PBL คือมีเพียงคะแนนตัดสินผู้เรียนว่าได้มากหรือน้อย แต่ชีวิตความเป็นแพทย์ ผลที่ได้ตัดสินกันบนชีวิตของผู้ป่วย ท่ามกลางความสูญเสียของญาติ

-          ไม่แน่ใจในมาตรฐานการให้คะแนนของอาจารย์ผู้คุม ว่าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน และมีความยุติธรรมทุกคนเหมือนกันหรือไม่ในการให้คะแนนผู้เรียนรายคน

                                                               i.      ปรับมาตรฐานการให้คะแนนของอาจารย์ทุกคนให้เข้าใจตรงกันว่าการเลือกให้คะแนนข้อนี้ มีความหมายอย่างไร

                                                             ii.      ปรับความหมายของการให้คะแนน เป็นสิ่งที่วัด และตรวจสอบได้ โดยพยายามลดการใช้ความรู้สึกมาเป็นส่วนประกอบของการให้คะแนนให้เหลือน้อยที่สุด

                                                            iii.      กำหนดสิ่งที่จะวัดให้ชัดเจน ทำความเข้าใจในกลุ่มอาจารย์ทั้งหมด ลองใช้และปรับปรุงก่อนนำไปใช้จริง

                                                           iv.      หลังจากมีการทำ PBL ไปแล้ว ควรต้องมีการประเมิน การให้คะแนน ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และจะปรับปรุงอย่างไร เพื่อทำให้วัดได้ตรง และแม่นยำมากที่สุด

                                                             v.      ปรับสัดส่วนของการให้คะแนน ที่อ้างอิงมาจากตัวบุคคลคือตัวอาจารย์ให้เหลือน้อยที่สุด และคะแนนส่วนที่ได้จากอาจารย์ควรเป็นคะแนนที่ได้จากอาจารย์หลายคน เพื่อมาเฉลี่ยให้ผู้เรียนไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำในตัวคะแนนที่ได้มาจากอาจารย์ผู้คุมเพียงท่านเดียว

                                                           vi.      เปลี่ยนการวัดกระบวนการทำ PBL 7 ขั้นตอน (ซึ่งได้แก่ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายคำ การคิดปัญหาและตั้งคำถามที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับ scenario พยายามตั้งสมมติฐานจากความรู้ที่เรียนมา และตามความเป็นไปได้อย่างมีเหตุผล รวมทั้งลองทดสอบสมมติฐานโดยการอภิปรายเป็นกลุ่มร่วมกับเพื่อน นำไปสู่วัตถุประสงค์การเรียนรู้ ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง และกลับมาอภิปราย วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อทดสอบสมมติฐาน และนำมาซึ่งข้อสรุปซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาของผู้ป่วยใน scenario) โดยอาจารย์ผู้คุมกลุ่มเป็นคนประเมิน เป็นการจัดสอบเพื่อวัดผลกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL รายบุคคล โดยการตั้งโจทย์ scenario แล้วให้ผู้สอบทำกระบวนการของ PBL ทั้ง 7 ขั้นตอน โดยการเขียนลงในกระดาษคล้าย MEQ หลังจากทำขั้นตอน 1-5 แล้วก็ให้แหล่งข้อมูล เพื่อผู้เรียนจะได้ค้นคว้าหาความรู้มาอธิบายในสิ่งที่ตัวเองคิดตั้งสมมติฐานไว้แล้วในช่วง- แรกว่าถูกหรือผิดและมีเหตุผลอะไรมาประกอบความคิด

                                                          vii.      การประเมินคะแนนอาจทำเป็นรายกลุ่ม แต่คะแนนรายบุคคลได้จากการสอบกระบวนการของ PBL ทั้ง 7 ขั้นตอนดังที่อธิบายไว้ข้างต้น

-          นิสัยและอารมณ์ที่หลากหลายของผู้เรียน บางคนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนดีซึ่งก็มีรายละเอียดของการให้คะแนนชี้แจงให้ผู้เรียนทราบก่อนเรียน (ร้อยละ 50 มาจากกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่ม) และอีกหลายคนรู้สึกไม่อยากเอากรอบของคะแนนมากระตุ้นให้ตัวเองได้คะแนนจากอาจารย์ โดยการแสดงออกด้วยการแย่งกันพูดหรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม

                                                               i.      ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ PBL ในมุมมองชีวิตจริงของการเป็นแพทย์ ซึ่งหลายครั้งต้องกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าอภิปราย คัดค้านในข้อเสนอแนะบางอันที่อาจจะมาจากความรู้ที่ไม่ถูกต้อง และขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ให้โอกาสเพื่อนแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลเป็น รวมทั้งต้องยอมรับต่อความผิดพลาดของตนเองและผู้อื่นด้วยใจที่ไม่ขุ่นมัว และกราดเกรี้ยว

 

คำสำคัญ (Tags): #pbl
หมายเลขบันทึก: 270627เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีต้อนรับอาจารย์เข้ามาสู่เครือข่าย KM นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท