การประชุมระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้ที่ปัญหาสถานะบุคคล ครั้งที่ 3


เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมการประชุมระดมความเห็นต่อ (ร่าง) แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในกลุ่มภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ ครั้งที่ 3 จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องดารารัตน์ ชั้น 2 โรงแรมเฟิร์ส ถนนเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร

การประชุมครั้งนี้มีอาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุลเป็นผู้เสนอร่างแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและอาจารย์สุชาดา ทวีสิทธิ์เป็นผู้ดำเนินรายการ

เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 จึงไม่ได้ลงลึกในเนื้อหาและรายละเอียด เน้นไปยังเป้าหมายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการร่วมกันกำหนดรูปแบบการบริหารแผนงาน ดังนี้

เป้าหมายแผนงานระยะสั้น 18-24 เดือน

เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายของคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรข้ามชาติทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีแนวคิดและทิศทางการทำงานบนฐานเดียวกัน  คือ มีฐานคติต่อประชากรข้ามชาติทั้ง 4กลุ่มว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เหมือนคนทั่วๆไปคือ ต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ประชากรข้ามชาติต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ และมีความเข้มแข็งต่อแนวทางการทำงานเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรข้ามชาติ

เป้าหมายระยะยาว 5 ปี

ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนฐานคิดของสังคมไทยต่อประชากรข้ามชาติ จากเดิมที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ไปสู่การตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชากรข้ามชาติ และยอมรับการอยู่ร่วมกันกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ตลอดจนทำให้รรัฐไทยมีความชัดเจนในการมุ่งสร้างความเป็นธรรม ความมั่นคง และความปลอดภัยต่อแรงงานข้ามชาติ ชนกลุ่มน้อย ผู้ไร้รัฐ/ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร และผู้อพยพพลัดถิ่น เพื่อให้ประชากรข้ามชาติเหล่านี้ ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพทุกด้าน คือ กาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

มีคนถามอาจารย์กฤตยาในที่ประชุมว่าเท่าที่อ่านยุทธศาสตร์แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลมานั้น ทำไมถึงไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับตัวแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มีปัญหาสถานะโดยตรงเพราะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา พวกเขาจึงควรที่จะมีส่วนร่วม อาจารย์กฤตยาจึงได้ชี้แจงว่ายุทธศาสตร์ทั้ง 5 นั้นเป็นเป้าหมายระยะสั้น ยังไม่ลงไปแตะแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลโดยตรง แต่จะดำเนินแผนงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติและผู้ที่มีปัญหาสถานะ เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) อีกทั้งแผนดำเนินการของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) นั้นเป็นการให้ทุนสนับสนุนให้มีการผลักดัน ทำให้องค์กรที่ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการขับเคลื่อน ส่งผลกระทบ (impact) ต่อตัวแรงงาน ซึ่งไม่ใช่งานในระดับปฏิบัติโดยตรง

หลังจากอาจารย์กฤตยาและอาจารย์สุชาดาได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์แล้ว ทางที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นเชิงภาษาและกระบวนการการทำงาน มีการถกเถียงในภาษาที่ใช้เกี่ยวกับผลผลิตและผลลัพธ์ บางท่านเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกัน พี่ติ๊กทัศนัยได้เสนอให้เขียนให้ครอบคลุมในสิ่งที่ต้องมี ส่วนอาจารย์กฤตได้ชี้ให้เห็นว่าผลผลิต (output) นั้นเป็นสิ่งที่นับได้ เป็นผลผลิตในเชิงกระบวนการ อย่าไปสับสนกับ outcome หากแต่ผลลัพธ์นั้นจะเป็นนามธรรมเพื่อให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม ให้เกิดเครือข่าย

ครั้งนี้มี นายแพทย์โมลี วนิชสุวรรณและคุณขนิษฐา ปานรักษาจากโรงพยาบาลสมุทรสาครมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทางคุณหมอโมลีกล่าวว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาตินั้นจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจ ปรับฐานคติแก่ตัวนายจ้างด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นเป้าหมายที่สำคัญ

ในยุทธศาสตร์ที่ 4: สร้างและจัดองค์ความรู้นั้นมีการกล่าวถึงโมเดลของอาจารย์พันธุ์ทิพย์ที่ต้องเพิ่มความรู้ต่อตัวเจ้าของปัญหาเองเพื่อเขาจะได้เข้าใจปัญหา เรียนรู้ และนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาของตนเองเพื่อพัฒนาสถานะทางบุคคลของตนและผู้อื่นต่อไป ทฤษฎี 5x6 สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย ห้าคูณหก ว่า ห้า นั้นหมายถึง การจำแนกประชากรที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม โดยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพื่อที่จะคูณด้วย หก อันหมายถึง 6 ขั้นตอนในการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะของบุคคล กล่าวคือ มันเป็นแนวทางหรือขั้นตอนที่จะตรวจสอบเพื่อพัฒนาสถานะของบุคคล ว่าต้องใช้ช่องทางใดที่อาจช่วยเหลือให้ คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลสามารถพัฒนาสถานะเป็น คนไม่มีปัญหาสถานะบุคคลหรือ คนไร้รัฐเป็น คนมีรัฐฯลฯ  ..มันถูกเรียกให้สั้นเพื่อง่ายต่อการจดจำว่า ห้าคูณหก (5 x 6)[i] ซึ่งอาจารย์กฤตจะนำมาใส่ในแผนสมบูรณ์เชิงสถานการณ์ต่อไป

ในส่วนของรูปแบบการบริหารแผนงาน คือ 1. ร่วมกันมอบหมายให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งของภาคีเป็นผู้บริหารแผนงาน ทั้งนี้ต้องไม่ให้มีผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) และ 2. เลือกคณะบุคคลจากภาคีมาเป็นผู้จัดการแผนและเลือกคณะบุคคลมาเป็นคณะทำงาน ร่วมกันบริหารแผนงาน

อาจารย์กฤตกล่าวว่าผู้จัดการแผนงานที่ดีนั้นควรเชี่ยวชาญในด้านเนื้อหาความรู้ (Content) และมีประสบการณ์ในกระบวนการวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้โครงการออกมาเป็บรูปเป็นร่าง มีการติดตามผลงานและทีมการเงินที่ดี จึงลงความเห็นได้มติที่ประชุมว่าผู้ที่เหมาะสมคือ พี่บอม อดิศร เกิดมงคล ทั้งนี้ พี่ติ๊ก ทัศนัยเสนอว่าควรให้มีองค์กรพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือด้านบริหาร (Administration) และการเงิน (Finance) ให้องค์กรเข้มแข็ง มีการบริหาร จัดการที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่แผนงาน

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรูปเพิ่มเติมได้ที่ http://cid-e511f9da71c0967a.photos.live.com/summary.aspx



[i] http://gotoknow.org/blog/build-new-idea-4-stateless/255547

หมายเลขบันทึก: 270623เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างเสริมศักยภาพคนทำงานทั้งในภาคีภาครัฐและภาคประชาสังคม

เป้าประสงค์

1. สนับสนุนให้คนทำงานได้มีโอกาสทบทวน ตรวจสอบ ถอดบทเรียนวิธีคิดและวิธีการทำงานของตน

2. สร้างเสริมการถักทอคนทำงานในเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมให้ประสานการทำงานเพื่อทำให้การขับเคลื่อน มีทิศทางเดียวกัน

แนวทางดำเนินกิจกรรมหลัก

1. จัดกระบวนการทบทวน ตรวจสอบ และตรวจตรา วิธีคิด และทัศนคติของคนทำงานกับแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ผ่านโครงการฝึกอบรม

2. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติ ที่มีเนื้อหาเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน

ผลผลิต

- จำนวนคนทำงานที่ผ่านกระบวนการ 200 คน

- จำนวนองค์กรที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย 50 องค์กร

- เกิดเครือข่ายแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และจัดการความรู้ร่วมกันมากกว่า 1 เครือข่าย

ผลลัพธ์

- ภาคีและคนทำงานร่วมสร้างแนวคิดในการทำงาน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ/ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

- มีการพัฒนาทักษะคนทำงานในการทำงาน ที่พร้อมสร้างความร่วมมือในเชิงเครือข่าย เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: สื่อสารสาธารณะด้วยรูปแบบต่างๆ

เป้าประสงค์

1. สนับสนุนรูปแบบการสื่อสารต่างๆกับสาธารณะ เพื่อปรับฐานคติต่อประชากรข้ามชาติทั้ง 4 กลุ่ม

2. ค้นหากระบวนการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยในการลบล้างมายาคติ

3. ผลิตสื่อสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในการสร้างทัศนคติที่ช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ/ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

แนวทางดำเนินกิจกรรมหลัก

1. จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

2. ส่งเสริมการผลิตและเผยแพร่สื่อรูปแบบต่างๆที่มีประสิทธิภาพในการลบล้างมายาคติและการเลือกปฏิบัติ

3. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนทำงานสื่อ

ผลผลิต

- จำนวนสื่อที่ผลิตอย่างต่ำ 5 ประเด็น

- จำนวนครั้งของการจัดรณรงค์เวทีสาธารณะ 5 ครั้ง

- จำนวนคนทำงานทั้งภาคราชการ องค์กรเอกชน องค์กรพัฒนา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ผ่านการอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนฐานคติ 200 คน

- จำนวนคนทำงานสื่อที่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 100 คน

ผลลัพธ์

เกิดการปรับเปลี่ยนฐานคติของคนทำงาน สื่อมวลชน ต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลว่า มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วๆไปคือต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง

ยุทธศาสตร์ที่ 3: มีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเลือกนโยบายสาธารณะและหรือผลักดันการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล

เป้าประสงค์

1. สร้างเสริมและหรือสนับสนุนกลไกที่ทำงานกำกับและติดตามความก้าวหน้าทางนโยบาย

2. เปิดพื้นที่ในการถกแถลงและแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการที่รัฐ และหรือหน่วยราชการที่มีต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

3. สนับสนุนการเข้าร่วมกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะและผลักดันมาตรการในระดับปฏิบัติทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล

แนวทางดำเนินกิจกรรมหลัก

1. จัดให้มีกลไกติดตามความก้าวหน้าทางนโยบายและผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

2. จัดเวทีนโยบายสาธารณะ

3. จัดให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะและระบบบริการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

4. สร้างให้เกิดกระบานการมีส่วนร่วมผลักดันการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล

ผลผลิต

- เกิดกลไกของภาคีในการติดตามความก้าวหน้าทางนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลอย่างน้อย 2 กลไก

- จำนวนเวทีนโยบายสาธารณะ อย่างน้อย 3 เวที

- จำนวนภาคีที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะและระบบบริการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล อย่างน้อย 10 ภาคี

ผลลัพธ์

สามารถผลักดันใก้เกิดนโยบายและหรือมาตรการที่ปกป้องและคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนกลางและในระดับท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 4: สร้างและจัดองค์ความรู้

เป้าประสงค์

1. เพิ่มชุดความรู้ที่ช่วยปรับฐานคติต่อสังคมไทยแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

2. เชื่อมโยงความรู้สู่การกำหนดทิศทางนโยบายและ/หรือการพัฒนาปฏิบัติการ (intervention) เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลทั้งเชิงกลุ่มและเชิงพื้นที่

แนวทางดำเนินกิจกรรมหลัก

- สนับสนุนการวิจัยที่รื้อล้างมายาคติและปรับฐานคติ

- สนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายที่เน้นการให้ข้อมูลและผลวิเคราะห์นโยบายเพื่อให้ภาคีเครือข่ายนำไปใช้ขับเคลื่อนงานภาคนโยบาย

- สนับสนุนการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เช่น นวัตกรรมในการจดการเกิด เป็นต้น

ผลผลิต

- จำนวนชุดโครงการวิจัยที่ครอบคลุมโจทย์หลักตามเป้าประสงค์ อย่างน้อย 1 ชุดโครงการ โดยมีโครงการย่อยอย่างน้อย 3 โครงการ

ผลลัพธ์

- เกิดชุดความรู้ที่ช่วยปรับฐานคติต่อสังคมไทยแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

- เกิดการเชื่อมโยงความรู้สู่การกำหนดทิศทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม

ยุทธศาสตร์ที่ 5: เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการในระดับภูมิภาค

เป้าประสงค์

1. กระตุ้นให้คนทำงานเข้าแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกับองค์กรที่ทำงานด้านเดียวกันในระดับภูมิภาค

แนวทางดำเนินกิจกรรมหลัก

- สนับสนุนให้ภาคีเชื่อมโยงการทำงานตามยุทธศาสตร์ของแผนงานเข้ากับเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาค

ผลผลิต

- เกิดการเชื่อมโยงการทำงานตามยุทธศาสตร์ของแผนงานระหว่างภาคีกับองค์กรที่เคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคและระดับสากล อย่างน้อย 1 เรื่อง

ผลลัพธ์

- เกิดฐานการทำงานร่วมมือในระดับภูมิภาคด้านต่างๆ

รายชื่อผู้เข้าร่วมงาน

รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

ผศ.ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

กุลวีณ์ สิริรัตน์มงคล:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

เอราดา ยาวิลาส:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

ทัศนัย ขันตยาภรณ์:องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH)

จารุณี สิริพันธุ์:องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH)

จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ:โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC)

ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง:คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยาว์

อดิศร เกิดมงคล:International Rescue Committee (IRC)

ธิติมา รัตนไชยพันธุ์:International Rescue Committee (IRC)

นายแพทย์โมลี วนิชสุวรรณ:โรงพยาบาลสมุทรสาคร

ขนิษฐา ปานรักษา:โรงพยาบาลสมุทรสาคร

พ.อ. บรรลุ เอี่ยมศรี:กอ.รมน.

สุพรรณี ชนะชัย:กอ.รมน.

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ:มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์:คณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์แรงงานไทย

เบญจมาศ รอดภัย:สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

สุธีรา บันลือสิทธุ์:International Organization for Migrant(IOM)

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว:สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

สุรภัทร อภิญญานนท์:สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

สุดารัตน์ เสรีวัฒน์:FACE

เปรมใจ วังศิริไพศาล:ศูนย์วิจัยเพื่อการย้ายถิ่นฐานแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิโรจน์ นิตตโย:คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ถูกคุมขัง

รัตรพร พวงพัฒน์:สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา

น่าเสียดายมากคะ

อยากเข้าร่วมประชุมแต่ติดภาระกิจสำคัญ

ได้มาอ่านก็ยังดีมีประโยชน์

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท