เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

“เราควรเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ แต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมของตนเองด้วย”


วัฒนธรรมในแต่ละประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจซึ่งแสดงออกถึงการผสมผสานกลมกลืนของวิถีชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่ละประเทศ ชนชาติจะมีการปรับให้เหมาะกับตัวเอง แต่ละชนชาติมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาเป็นระยะ

                 วัฒนธรรมในแต่ละประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจซึ่งแสดงออกถึงการผสมผสานกลมกลืนของวิถีชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นอย่างดี  แต่ละประเทศ ชนชาติจะมีการปรับให้เหมาะกับตัวเอง แต่ละชนชาติมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาเป็นระยะ อย่างของหวานไทย เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ที่เราคิดว่าเป็นของไทยแต่แท้จริงแล้วเรารับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้มาจากประเทศโปตุเกตุ  ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเจริญด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร ทำให้การไหลถ่ายเทวัฒนธรรมมีมากขึ้น แต่ก่อนอาจจะใช้เวลานาน แต่เดี๋ยวนี้ปีเดียวการถ่ายเทในเรื่องวัฒนธรรมก็เร็วขึ้น อาหารบางอย่างเป็นแฟชั่น ถ้าหมดความนิยมก็จะหายไป จะเหลือแต่อาหารที่ปรับตัวได้ ถูกรสนิยม และได้รับการยอมรับในท้องถิ่น
                        เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคมดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปอบรมหลักสูตรสำหรับข้าราชไทยผู้มีศักยภาพสูง (Talentnetwork : policy management for leadership training program) ซึ่งเป็นทุนของรัฐบาล ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ.  ดิฉันต้องใช้ชีวิตอยู่ ณ  กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาประมาณ ๑๖ วัน ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับข้าราชการไทยในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ถือว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดอย่างดิฉันที่ได้รับ

      ทุนเข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้

                   ขอเล่าให้ฟังก่อนว่าทุนนี้สำนักงาน ก.พ. จะจัดให้ทุกปี บุคคลที่เข้าร่วมสมัครเพื่อรับการคัดเลือกแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ด้วยกัน คือ  ๑.  กลุ่มข้าราชการไทยที่ผ่านการอบรมโครงการพัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทยอย่างดิฉัน เรียกสั้น ๆ ว่า New Wave (New Wave Leadership Development)  ๒. กลุ่มผู้บริหารระดับกลางคือพวกซี ๘ ที่เป็นข้าราชการพลเรือน ทุกกระทรวง และ ๓.  กลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงเรียกง่าย ๆ ว่า HiPPS (High Performance and Potentials ) สำหรับรุ่นนี้มีสมาชิกไปร่วมอบรม ทั้งหมด ๒๑ คน คือกลุ่มละ ๗ คนพอดี แต่ต้องไปนั่งอบรมทั้งภาคทฤษฎี ภาคสนาม รวมทั้งการทำWorkshop ด้วยกัน นี่เป็นอีกสิ่งที่ประทับใจว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาจากหลากหลายกระทรวงมากเลย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานกันอย่างสนุกสนานทีเดียว บางกระทรวงมา ๒ ๓ คน แต่ดิฉันมาจากกระทรวงวัฒนธรรมคนเดียวไป   ดิฉันมองว่าเราได้เปรียบคนอื่นนะเพราะเราเป็นคนทำงานด้านวัฒนธรรม เราจะมองดู หรือศึกษาสิ่งที่พบเห็นด้วยเลนส์ของวัฒนธรรมทำให้เราได้ข้อคิด หรือแบบอย่างดีและไม่ดีมาจากประเทศญี่ปุ่นมาพอสมควร

         ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างมาก  เสน่ห์ของ อาหารญี่ปุ่นคือทำจากวัตถุดิบ ธรรมชาติ วัตถุดิบที่สด ใหม่ สะอาด มาปรุงอาหาร และเอกลักษณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ อาหารทุกจานจะได้รับการตกแต่งอย่างปราณีต ที่นับว่าเป็นศิลปะของอาหารญี่ปุ่นที่ทำให้ผู้กินได้อาหารตาและอิ่มท้องไปพร้อมๆ กันด้วย
                คุณเซกิ ( เจ้าหน้าที่ของสถาบัน GRIPS ) ที่คอยดูแลพวกเราตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นจะชอบอธิบายเรื่องอาหารการกินของชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งดิฉันก็จดจำได้บ้างเช่น 
มารยาทการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ถือเป็นเสน่ห์และศิลปะอีกอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่น เช่น - ชิมน้ำซุปก่อน ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นก่อนรับประทานอาหาร ให้ตักน้ำซุปทานก่อน 1 คำ จากนั้นจึงทานข้าวและกับข้าวตามปกติ การซดน้ำซุปนอกจากจะได้ทานข้าวง่ายและคล่องคอแล้ว ยังทำให้ผู้ทานได้รู้รสชาติอาหารอื่นๆ ในมื้อนั้นด้วย เพราะคนญี่ปุ่นจะใช้น้ำซุป (น้ำซุปปลาแห้งหรือที่เรียกว่าดาชิ) เป็นเครื่องปรุงพื้นฐานในการทำอาหาร

      

 

      เล่าเรื่องอาหารมามากแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจพอ ๆ กับวัฒนธรรมการกินของชาวญี่ปุ่นคือ ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศเช่นกัน เด็กไทยบางคนดูภาพยนตร์ญี่ปุ่น ฟังเพลงญี่ปุ่น หลงใหลคลั่งไคล้ดาราญี่ปุ่น บางคนชอบเกมของญี่ปุ่นถึงขนาดลงทุนจะหัดเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเลยก็มี  !!! โอ้โฮ อะไรจะขนาดนั้น !! นี่ก็เป็นอิทธิพลการไหลบ่าทางวัฒนธรรมต่างชาติที่ดิฉันมองว่าเด็กไทยบางกลุ่มขาดภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม คนญี่ปุ่นเขาน่ารักน่าชมเชยเรื่องการอนุรักษ์ภาษาของตัวเอง ชาวบ้านทั่วไปจะไม่เรียนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาราชการหรือไว้สื่อสารกับนักท่องเที่ยว ตามท้องถนนไม่ต้องไปพูดภาษาอังกฤษกับเขาซะให้ยากเลย ส่วนมากจะพูดไม่ได้ คือพูดง่าย ๆว่า  ถ้าออกนอกรั้วสถาบันฝึกอบรมที่มีอาจารย์ หรือ ศาสตราจารย์ที่ให้ความรู้พวกเราผ่านภาษาอังกฤษแล้วเราจะสื่อสารกับชาวญี่ปุ่นได้ลำบากพอดูทีเดียว นี่ก็เป็นการแสดงออกถึงการรักในภาษาตนเองของชาวญี่ปุ่นที่น่ายกย่อง   เพราะดิฉันเห็นคนไทยบางคนพูดไทยคำอังกฤษคำ ฟังดูแปลก ๆ เหมือนกัน

                ประเด็นที่น่าสังเกตและอยากเล่าสู่กันฟังอีกอย่างคือ วัฒนธรรมการทำงาน ของชาวญี่ปุ่น เราสัมผัสได้ถึงความเอาจริงเอาจังของชาวญี่ปุ่น เขาจะจริงจังมาก ๆ ต้องบอกว่า      น่าเอาอย่างโดยเฉพาะข้าราชการ เพราะตลอด ๑๖ วันที่ไปอบรมอยู่นั้นอาจารย์ หรือข้าราชการชาวญี่ปุ่นจะมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้พวกเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ เกินเวลาพัก กลับบ้านเย็นถือเป็นเรื่องปกติของชาวญี่ปุ่น ดิฉันถามศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นว่าทำไมพวกเขากลับบ้านค่ำจัง กว่าจะปล่อยพวกเด็กไทยกลับที่พักได้ก็ประมาณ ๒ ทุ่มเกือบทุกวัน (อึดจริง ๆ) เขาตอบว่าคนญี่ปุ่นตั้งใจทำงานเพื่อรัฐบาลเพื่อประเทศชาติ เขาไม่รู้สึกว่าลำบาก อาจเป็นเพราะปฏิบัติจนเคยชินก็ได้ ไม่มีใครนั่งรอว่าเมื่อไรจะหมดเวลาทำงานแล้วจะรีบกลับบ้านไปพักผ่อนเลย แต่พวกเขาจะตั้งใจทำงานจนเสร็จแล้วจึงพักผ่อนด้วยการดื่ม และร้องเพลงสังสรรค์ คนญี่ปุ่นนี่เวลาทำงานก็ทำจริง ๆ แต่พอถึงเวลาพักก็เต็มที่เหมือนกันนะ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยอย่างเราควรให้ความสนใจในวัฒนธรรมของตนเองและร่วมอนุรักษ์สืบทอดให้อยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป และที่สำคัญดิฉันจะนำประสบการณ์ดี ๆ มาปรับใช้กับการทำงานวัฒนธรรม และปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการไทยที่ดีภายใต้บารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทยให้สมกับที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน สุดท้ายนี้ขอขอบคุณสำนักงาน ก.พ. ที่จัดโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาข้าราชการไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่านานาอารยประเทศอื่น ๆ  ซึ่งในอนาคตบุคคลเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญสืบต่อไป

 

                          

  

                                ภาพหมู่  :  สมาชิก Talentnetwork บริเวณหน้ารัฐสภาของประเทศญี่ปุ่น

 

                                                                                    เรียบเรียง โดย สุชาดา ปุญปัน

                                                                                                                                                  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

หมายเลขบันทึก: 270562เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2009 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณประสบการณ์ของคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟัง

มีประโยชน์มากคะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วัฒนธรรมการทำงาน” ของชาวญี่ปุ่น

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท