nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

พุทธศาสนาคือคำตอบสำหรับเป้าหมายข้อที่ ๓ ของการศึกษา


โจทย์ที่ต้องคิดคือ การแปลงหลักธรรมคำสอนให้เป็นรูปธรรมของการปฏิบัติ ที่ไม่ใช่ยกหลักธรรมไปสอนตามตัวหนังสือ การสอนต้องไปถึงระดับ การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

          เพิ่งอ่านบทความ “การศึกษาของเราสอนให้ก้าวร้าวเห็นแก่ตัว” ของคุณหมอประสาน ต่างใจ คอลัมม์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชนวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ มีประเด็นทางการศึกษาน่าสนใจที่ผู้เขียนตั้งคำถามไว้รอนักการศึกษาตอบ

          คุณหมอประสานเป็นนักคิดอีกคนหนึ่งที่สนใจมิติจิตวิญญาณ มิติการศึกษา และมิติทางสังคม  ข้อเขียนหลายๆ เรื่องเสนอทางออกใน ๓ มิติดังกล่าว คุณหมอเป็นนักอ่านทั้งตำราของโลกตะวันตกและตะวันออก ทำให้สามารถนำแนวคิดดีๆ ของทั้งสองขั้วมาผสมผสานได้อย่างเหมาะเจาะ

          ฉันคิดว่า ผู้ใฝ่รู้ควรเก็บเกี่ยวสาระความคิดต่างๆ ที่ปราชญ์อาวุโสท่านนี้เสนอต่อสังคมมาใช้ให้เกิดประโยชน์

          คุณหมอเริ่มบทความด้วยคำถาม ๓ ข้อที่เป็นเป้าหมายการศึกษาของโลกและของเรา  ได้แก่  ๑.สติปัญญาและความฉลาด ๒.ทักษะพรสวรรค์ที่มีไม่เท่ากันในเด็กแต่ละคน และ ๓.การเป็นคนดีมีคุณธรรม  ว่า  เราควรให้น้ำหนักเป้าหมายข้อใดมากกว่ากัน 

คำตอบของท่านคือ  “เท่าๆ กัน” แต่ทุกวันนี้ เราทำ ๒ ข้อแรกมากกว่า เพราะทำง่ายกว่า และละเลยข้อ ๓ ซึ่งทำยากและไม่รู้วิธี

การศึกษาแบบตะวันตก (ที่เราไปถ่ายสำเนาเขามา) ตั้งอยู่บนพื้นฐาน “กาย-วัตถุนิยม และแยกส่วน”  เป็นกระบวนทัศน์เก่าที่มนุษย์ให้คุณค่ากับสิ่งที่มนุษย์เอามาใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น  กาลเวลาที่ผ่านไปได้พิสูจน์แล้วว่า  การศึกษาตามกระบวนทัศน์เก่าทำให้เด็กเกิด “การแข่งขัน  ความเห็นแก่ตัว และ ความรุนแรงก้าวร้าว”

คุณหมอบอกว่า  ระบบการศึกษาของเรา และของโลกผิดธรรมชาติอยู่ ๔ ประการ คือ ๑. มีศูนย์กลางที่มนุษย์ (Anthropocentric)  ๒. ขาดความพอเพียง  พอดี และยั่งยืน (Unsustainable)  ๓. มีวัตถุประสงค์เพื่อเงิน ไม่ใช่เพื่อความรู้แม้จริง (money-based education) ซึ่งเงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งสร้างความเห็นแก่ตัวและผิดธรรมชาติยิ่งกว่าระบบการศึกษาเสียอีก  ๔. ส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ผิดทาง

คุณหมอสรุปว่า  “เป้าหมายของการศึกษาส่วนหนึ่งคือสนับสนุนความรุนแรง เห็นแก่ตัว หรือเอาตัวรอดโดยไม่รู้ตัว”

 ในปี ๒๕๓๘ เมื่อนักจิตวิทยาจากฮาวาร์ดชื่อ แดเนียล โกลด์แมน เขียนหนังสือชื่อ ความฉลาดทางอารมณ์ ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก  โกลด์แมนบอกว่า  ครูและโรงเรียนสามารถสอนให้เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ได้ และได้ดีเสียด้วย ซึ่งเมื่อเด็กเติบโต เขาจะเป็นผู้ที่สามารถเผชิญภยันตรายต่างๆ เช่น ความรุนแรง กระทั่งวิกฤติต่างๆ ได้  คือสามารถมีสติได้ในทุกเวลา  สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา  มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และมีมนุษยสัมพันธ์กับใครต่อใครในสังคมได้ดี

          บทความนี้พูดถึงพุทธศาสนาเพียงเล็กน้อยในท้ายบทความ  แต่มันได้ช่วยให้ฉันคิดต่อยอดต่อไปได้

 ความคิดที่ต่อยอดจากบทความ

          จากสภาพการณ์ปัจจุบันดูเหมือนทั้งโลกจะเห็นพ้องกันว่า  เป้าหมาย ๓ ประการควรมีสัดส่วนเท่าๆ กัน  แปลว่า  โลกเห็นความสำคัญของเป้าหมายข้อ ๓ มากขึ้น  และคำตอบของโลกตะวันตกคือ  การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์  และเราก็เดินไปในทางนั้นด้วย  ซึ่งไม่ได้มาผิดทาง แต่เรามีสิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือ ปรัชญาหรือคำสอนของพุทธศาสนา

ฉันเชื่อว่า พุทธศาสนา คือคำตอบสำหรับเป้าหมายข้อ ๓

ผู้เขียนอ้างอิงที่แดเนียล โกลด์แมน บอกว่า  เด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณธรรม  แต่  ยังฉันยังเห็นภาพไม่ชัดนักว่า  เราจะสอนเด็กๆ ให้มี ความฉลาดทางอารมณ์จริงๆ ได้อย่างไร

คำตอบเบื้องต้นที่ได้จากการวิจัยคือ  เด็กที่ได้ฝึกสมาธิ จะมีความฉลาดทางอารมณ์ดีกว่า  และมีการเสนอให้เด็กๆ ได้ฝึกสมาธิ เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

นักการศึกษาทางตะวันตกไม่รู้จักพุทธศาสนา แต่รู้จักสมาธิ  และสรุปว่า  การฝึกสมาธิช่วยสร้างความฉลาดทางอารมณ์  ซึ่งมาถูกทางแต่ยังไม่ครบถ้วน

การฝึกสมาธิคือการฝึกจิตให้สงบ  จิตที่สงบมีพลังมาก  เอาไปใช้ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย  เช่น  จิตที่สงบเอาไปรับรู้กายว่า  ขณะนี้กาย (ของตัวเรา)กำลังทำอะไร  เช่น  กำลังเดิน  ละเอียดลงไปถึงว่ากำลังยกเท้าซ้ายขึ้น  วางเท้าซ้ายลง  ยกเท้าขวาขึ้น วางเท้าขวาลง  จิตที่ฝึกดีมากแล้วสามารถรู้ทันกายได้ตลอดเวลา 

จิตที่สงบสามารถเข้าไปจับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างว่องไว  ซึ่งภาวะปกติเราทำไม่ได้  คนที่ฝึกจิตมาอย่างดีจึงรู้ทันความคิด อารมณ์ของตัวเอง  เมื่อโกรธจิตก็จะรับรู้ได้ตั้งแต่เริ่มโกรธ  เมื่อมีอารมณ์ใดเข้ามา  จิตจะสามารถจับไว้ได้ทันท่วงที 

การฝึกจิตให้เป็นสมาธิและรู้เท่าทันกายและอารมณ์ต่างๆ เรียกว่าการฝึกสมาธิวิปัสสนา   คนที่ผ่านการฝึกมาจะควบคุมอารมณ์ด้านลบได้  เพราะอารมณ์ด้านลบเป็นภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 

ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ   คนที่จิตสงบสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า

อาจเทียบเคียงการฝึกสมาธิวิปัสสนาว่าเป็นการเรียนรู้ “ภาคปฏิบัติ”  ซึ่งยังไม่ครบถ้วน  เด็กควรได้เรียนรู้  “ภาคทฤษฎี”  ด้วย คือเรียนรู้หลักธรรมคำสอน

เด็กๆ ชาวพุทธทุกคนควรรู้จักศีล ๕ ข้อและถือปฏิบัติสม่ำเสมอ  ศีล ๕ เป็นวินัยเบื้องต้นเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน  ทำร้ายกันทั้งกาย วาจา ใจ  สังคมสงบสุขได้เพราะศีล ๕

สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมายต่อการใช้ชีวิตที่ “พอเพียง

พอดี และยั่งยืน  แค่มงคลสูตร  (มงคลแห่งชีวิต 38 ประการ)  หากเอาไปสอนเด็กๆ ให้รู้จริง-ปฏิบัติจริงได้จะเกิดประโยชน์มากต่อชีวิต

          ปัญหาเรื่องหลักสูตรไม่ใช่เรื่องวิธีคิด  แต่อยู่ที่วิธีปฏิบัติ  คือ  การแปลงหลังสูตรเป็นการสอน  มาตรฐานการศึกษาเปิดทางให้โรงเรียนนำหลักธรรมไปสอนอยู่แล้ว

โจทย์ที่ต้องคิดคือ การแปลงหลักธรรมคำสอนให้เป็นรูปธรรมของการปฏิบัติ  ที่ไม่ใช่ยกหลักธรรมไปสอนตามตัวหนังสือ  การสอนต้องไปถึงระดับ  การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

มีรายละเอียดต้องคิดต่อมากมาย  แต่หากได้เริ่มด้วยการคิดที่จะทำ  สิ่งอื่นๆ ก็ตามมาโดยง่าย

มีหลักฐานเป็นบทความ เป็นหนังสือ  มากมายของนักคิด นักเขียนจากฟากตะวันตก  ที่ยอมรับว่า  พุทธศาสนา  มีคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผลมาก  มีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก  หากเราได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริงๆ จะพบว่าพุทธศาสนามีสิ่งที่เกื้อกูลโลกอย่างมาก 

          ไอน์สไตน์ได้เคยพูดถึงศาสนาพุทธไว้ว่า ศาสนาแห่งอนาคตจะเป็นศาสนาสากลซึ่งวางรากฐานอยู่บนเหตุผลและประสบการณ์(ตรง)  ปฏิเสธความเชื่องมงามไร้เหตุผล  ซึ่งถ้าหากจะเสาะหาศาสนาที่มีความสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว  ศาสนานั้นก็น่าจะได้แก่พุทธศาสนา

                                                                                                    ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒

อ่านบทความเต็มๆ ที่นี่ค่ะ

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act02200652&sectionid=0130&day=2009-06-20

หมายเลขบันทึก: 270485เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับ
  • นี่สิครับประเด็นถูกใจครับ
  • การแปลงหลักธรรมคำสอนให้เป็นรูปธรรมของการปฏิบัติ  ที่ไม่ใช่ยกหลักธรรมไปสอนตามตัวหนังสือ  การสอนต้องไปถึงระดับ  การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
  • สุขกายสบายใจนะครับ

 

ไม่ได้เจอกันนานงานยุ่งมากมั๊ยคะ

"สุขกายสบายใจ" เช่นกันค่ะ

  • งานก้อพอไหวครับพี่
  • แต่โสดนี่สิ ไม่ไหวแล้ว 555
  • นอนก่อนแล้วล่ะครับ
  • ราตรีสวัสดิ์ครับ
  • การสอนคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียน หรือสอนให้เป็นคนดี โรงเรียนสอนน้อยลงกว่าเมื่อก่อน
  • ปัจจัยน่าจะหลายอย่าง...
  • ตั้งแต่สภาพสังคมที่แข่งขันสูงมาก จนอาจถึงกับทำให้ละเลยความเป็นธรรม ความยุติธรรมในการแข่งขัน (อย่างไรก็ได้ ถูกหรือผิด โกงหรือไม่โกง..ขอให้ตนเองชนะไว้ก่อน ได้ประโยชน์ไว้ก่อน)เริ่มต้นด้วยสังคมรู้สึกอย่างนี้ พ่อแม่ก็รู้สึกอย่างนี้ ครูก็รู้สึกอย่างนี้ นักเรียนคงไม่ไปไหนเสีย ไปในแนวทางนี้แน่นอน
  • ความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ หรือการทำงาน สำหรับบ้านเราแล้ว มักวัดกันด้วยการสอบ ที่เน้นเนื้อหาสาระวิชาแทบทั้งสิ้น คุณงามความดีแทบจะเอาไปทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากอิ่มใจ สุขใจ
  • ผลการสำรวจ(โพลล์)ระยะหลังๆ คนรุ่นใหม่ เยาวชน จึงเห็นว่า โกงบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้..ซึ่งน่าจะอันตรายต่อบ้านเมืองเราอย่างมหันต์ในอนาคต
  • หลักสูตรก็สำคัญเช่นกัน หลักสูตรจะพูดแต่เรื่องรู้เนื้อหาสาระ แก้ปัญหาได้ ทำได้ แต่กับคุณธรรมแล้ว จะเอ่ยถึงน้อยมาก เมื่อก่อนมีคะแนนคุณธรรมจริยธรรมชัดเจน(จิตพิสัย) แต่เดี๋ยวนี้แค่ปนๆอยู่บ้างในมาตรฐานความรู้เท่านั้น
  • สังคมเปลี่ยนแปลง สื่อยั่วยุ สื่อไม่ดี สื่อชักนำไปในทางที่เสียหาย ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านมากมาย เป็นโทษ ทั้งต่อตนเองและสังคม หาง่าย เสพง่าย ประกอบกับผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ เพราะจิตใจก็ไม่เข้มแข็งพอเช่นกัน
  • เคยคิดและพูดให้นักเรียนฟังเช่นกันครับ ว่าสังคมสงบได้ทันที น่าอยู่ทันที ใครทุกคนคงปรารถนาเช่นนั้น แค่คนเราเคร่งครัดในศีล 5 ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น..มิใช่หรือ?
  • ทุกคนตระหนัก เริ่มต้นแก้ ร่วมกันเปลี่ยนแปลง มีผู้นำ มีนักการเมืองที่ดี คอยกระตุ้น คอยติดตาม และต้องเริ่มต้นเร็วๆ และทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคงบรรเทา
  • ขอบคุณความรู้ดีๆ ที่มีประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะสังคมครับ
  • เรียนอาจารย์ธนิตย์ที่นับถือ ขอบคุณความเห็นยาวๆ ที่เป็นประโยชน์ให้คิดต่อ
  • "โกงบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้.." แค่นี้ยังน่าห่วงมากแล้ว  แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้นคือ ค่านิยมความรุนแรง ที่กำลังซึมลึกในคนรุ่นใหม่ ผ่านทางสื่อ  
  • ที่อาจารย์พูดมาถูกทั้งหมดค่ะ "ศีล ๕ ข้อ" นั้นเป็นพื้นฐานของความสงบสุขของโลกแท้ๆ เชียวค่ะ  แต่ เราต้องขยายความให้ชัด ทำความเข้าใจให้กระจ่าง ก่อนสอนเด็กๆ  
  • ดิฉันขออนุญาตยกตัวอย่างศิลข้อ มุสาวาทา ข้อเดียวนี้ถ้าเราทำความเข้าใจให้กระจ่าง  เราจะยับยั้งความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ อารมณ์ ที่เปลี่ยนออกมาเป็นวาจา "ยุยง ส่อเสียด โกหก เหน็บแนม ประชด นินทา ว่าร้าย ฯลฯ" ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท