สภากาแฟของคนยาลอ


สภากาแฟ วิถีคนใต้ ฤ พื้นที่สื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรม

14 พฤษภาคม 2552 (14-16 พ.ค.52 ทริปยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)

....พวกเราทีมงานสถาบันรามจิตติ ตามรอยเด็กๆ ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามไปดูเด็กๆ เก็บงานวิจัยกัน งานนี้ทีมสารคดีวางแผนเตรียมงานหนัก เพราะต้องตามรอยเจาะลึกไปถึง 3 จังหวัดตั้งแต่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

   ทริปนี้ เราจึงเริ่มต้นที่จังหวัดยะลา ...  ที่มีกลุ่มยุววิจัยฯ หลายกลุ่มศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ โดยมีเรื่องน่าสนใจมากมาย เริ่มจากเรื่องสนุกๆ สภากาแฟ

"สภากาแฟ : ชาวสภาชา คอกาแฟ"

      เรื่องของสภากาแฟ เป็นหัวข้อที่กลุ่มเด็กๆ ผู้ชายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา เด็กๆ เก็บเรื่องวัฒนธรรมของสภากาแฟ ศึกษาตั้งแต่ประวัติศาสตร์มาสภากาแฟในท้องถิ่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ได้รับความนิยมอย่างไร จนปัจจุบันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวใต้อย่างไร แล้วตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีบทบาทสำคัญหรือมีความหมายต่อคนท้องถิ่นอย่างไร ...

     เด็กๆ สนใจทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดื่มชากาแฟในร้านน้ำชา

     หลังจากที่เด็กๆ ได้ตระเวณสำรวจพื้นที่ร้านกาแฟ (ทุกแห่งในอ.เมืองจังหวัดยะลาและรอบๆ ขอบเมือง) ก็ได้รู้ได้เห็นวิถีชีวิตของคนในจังหวัดยะลาที่ผูกพันกับวัฒนธรรมการดื่มชากาแฟ การไปตามรอยและเรื่องเล่าของเด็กๆ ครั้งนี้ ก็กลายเป็นนักเรียนที่ได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านเมืองยะลาที่น่าสนใจ ...

     เริ่มจากเรื่องเล่าพื้นๆ ทางกายภาพ เช่น เด็กๆ เล่าว่า "โดยหลักๆ ร้านกาแฟ ก็จะขายกาแฟ แต่ก็จะมีองค์ประกอบอื่นๆ อยู่ด้วย คือ อยู่ในที่ชุมนุมชน มีกรงนกเขาแขวนไว้ มีกาแฟ ชา ขนม บางร้านก็ขายอาหารด้วย (อาหารอาจปรับเปลี่ยนไปตามมื้อ) โดยหลักๆ ที่สำคัญคือต้องมีลูกค้า ซึ่งก็มักเป็นขาประจำ"...

      พอรู้บริบทคร่าวๆ แล้ว เด็กๆ พาไปดูสภากาแฟที่อยู่ชานเมืองก่อน เป็นร้านของมุสลิม กินอยู่เรียบง่าย ร้านนี้มีการขายอาหารกลางด้วย

      ทีมเราก็เก็บร่องรอยกระบวนการทำงานของเด็กๆ ที่สัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ และคนในร้าน เก็บเรื่องราวและเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่เมื่อนึกถึงร้านกาแฟครั้งเก่าก่อนและสิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน...

      ผู้เฒ่าผู้แก่และลูกค้าของร้าน เล่าเรื่องต่างๆ มากๆ ตั้งแต่ความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป เรื่องทำมาหากิน จนถึงเรื่องลูกเรื่องหลาน แต่หลายๆ เรื่องก็ยังมีการเล่าเทียบความถึงครั้งอดีตว่า สมัยก่อนโน้นเป็นอยู่อย่างไร ต่างจากสมัยนี้อย่างไร หลายเรื่องเป็นเรื่องเก่าก่อน ที่เด็กรุ่นใหม่คงเข้าใจได้ยาก แต่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้และทำความเข้าใจ ...โดยเฉพาะเรื่องราวความทรงจำของการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร....ซึ่งเคยเป็นมาช้านานแต่ได้จางหายไปเพียงช่วงไม่กี่ปีมานี้ เป็นเรื่องสะท้อนใจของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงมีความหวังว่ามันจะกลับคืนกลับมาให้เห็นอีกครั้งก่อนสิ้นลมหายใจ...

จบจากร้านนี้ บางคนก็อิ่มกาแฟ บางคนก็อิ่มข้าว (แต่บางคนก็เก็บท้องไว้ก่อน ทยอยแบ่งท้องไปที่ร้านกาแฟอีกแห่งหนึ่ง)

 


   

          ร้านกาแฟร้านที่สองที่เด็กๆ พาไป เป็นร้านกาแฟในเมือง เป็นร้านคนไทยเชื้อสายจีน เหตุผลที่เด็กๆ พาไปร้านนี้ก็เพราะบอกว่าอยากให้เห็นความแตกต่างระหว่างร้านกาแฟของชาวมุสลิมซึ่งพบเห็นได้มาก กับร้านกาแฟของมุสลิม ดังนั้นที่นี่จึงมีบรรยากาศแบบร้านกาแฟจีนโบราณไปด้วย ลูกค้าขาประจำก็มีหลายวัย แต่วันที่เราไปนั้นพบว่าเป็นลูกค้าวัยรุ่น ท่าทางก็เหมือนเด็กเทคนิค/อาชีวะศึกษาและดูอายุแก่กว่ากลุ่มยุววิจัยฯ ลูกค้ากลุ่มนี้ก็มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม แต่ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เรื่องที่เด็กๆ ได้คุยกันนั้นก็ตั้งแต่ทำไมชอบมาร้านกาแฟนี้ เป็นขาประจำกันตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้สึกอย่างไรต่อสภากาแฟ รวมถึงสื่อสารหรือมาแล้วนั่งคุยอะไรกัน คุยๆ กันไป สุดท้ายเด็กๆ ก็ยังมีกันถามถึงความรู้สึกนึกคิดต่อความรู้สึกและความสัมพันธ์ของคนที่มาในร้าน ซึ่งลูกค้าเองก็ยังบอกว่า เมื่อก่อนดีกว่านี้ ไม่แบ่งแยกกันนัก เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป

       แต่ทุกคนก็ยังหวังคล้ายๆ กันว่า สภากาแฟก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้มาพบปะ และไม่แบ่งแยกกลุ่มคนชนชั้น และหวังว่าความสงบสุขจะเกิดขึ้นโดยเร็ววัน ....

        เช่นเดียวกับเด็กสาวสองคนที่วิ่งเล่นอยู่ในร้านกาแฟแห่งนี้ แม้ต่างเชื้อชาติศาสนา แต่ก็เป็นเพื่อนเล่นกันมาตลอด ...

      การไปเยือนร้านกาแฟสองร้าน แม้จะมีความแตกต่างในบริบทเล็กๆ แต่ก็ยังเห็นความเหมือนที่มีอยู่ร่วมกัน นั่นคือบทบาทของร้านกาแฟในฐานนะสภากาแฟของชุมชน ที่ที่ทุกคนจะมาพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ และมาเพิ่มพูนข้อมูลข่าวสารรอบๆ ตัวใหม่ๆ หากแต่วันเวลาเปลี่ยนไป โลกาภิวัตน์นำพาเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เข้ามา รวดเร็วฉับไว ทุกคนอาจสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องมาร้านกาแฟ แต่สำหรับท้องถิ่นนี้แล้ว สภากาแฟเองแม้จะเปลี่ยนไปตามกระแสให้ทันยุคทันสมัย แต่โดยพื้นฐานก็ยังคงตอบสนองความต้องการของวิถีชนคนภาคใต้ นั่นคือ การเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้ออกมาพบปะกัน สังสรรค์ดื่มชากาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องรายวัน และยังเป็นพื้นที่ว่างของคนหลายวัยและใครหลายคนจะได้รู้จักและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีแก่กันและกันโดยไม่ต้องจำกัดด้วยเวลา ราคาค่างวดแบบนาทีต่อนาทีแต่อย่างใด ข้อนี้แน่นอนว่าโลกเทคโนโลยีก็ยังต้องยอมเปิดพื้นที่ให้สภากาแฟ.... เพราะสภากาแฟเป็นมากกว่าร้านน้ำชา หรือโมบายโฟน....5555


(ใครอยากรู้บทสรุปของงานนี้ต้องติดตามตอนต่อไป....)


จบจากสภากาแฟแล้วเราเดินทางต่อไปพบกับกลุ่มสาวๆ ยุววิจัย “ตามรอยเมืองบุเก๊ะยาลอ”

Mchula_RJ เก็บมาเล่าต่อ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 270074เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท