นักชิมไผ่ก่อนให้หมีแพนด้า


แมกกาซีนแปลกฉบับวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552

นักชิมไผ่หมีแพนด้า

เป็นข่าวฮือฮากันอีกครั้งเมื่อเจ้าช่วงช่วงกับหลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน ได้มีทายาทภายหลังจากการผสมพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยลูกแพนด้านั้นเป็นเพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.39 น. และถือเป็นแพนด้าตัวแรกในโลกที่เกิดในปี ค.ศ. 2009

ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ยเป็นแพนด้ายักษ์ที่ทางศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์   เขตอนุรักษ์วู่หลง  เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน  สาธารณรัฐประชาชนจีน  ได้ให้ประเทศไทยยืมมาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 5 ที่จีนได้มอบแพนด้าให้ไปอยู่ตามโครงการวิจัยและจัดแสดง หลินฮุ่ย มีชื่อไทยว่า เทวี เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 ส่วน ช่วงช่วง เป็นแพนด้าเพศผู้ มาอยู่เมื่อไทยเมื่อเมื่อปี 2549 ซึ่งในขณะนั้นหลินฮุ่ยอายุครบ  5 ปี นับว่าเป็นแพนด้าโตเต็มที่ พร้อมผสมพันธุ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามกันเรียกว่าแทบจะทุกวิธีทาง ถึงขั้นมีการนำวีดิโอการผสมพันธุ์แพนด้าของประเทศจีนมาเปิดให้ดูเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ในฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. เพื่อให้ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติหรือแม้แต่ใช้วิธีการขัดจรวดเพื่อให้อวัยวะเพศของเจ้าช่วงช่วงมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่ความพยายามในการผสมพันธุ์เท่านั้น ยังรวมไปถึงการดูแลเรื่องการกินอยู่หลับนอนของเจ้าแพนด้าซึ่งก็ต้องก็ต้องพิเศษไม่แพ้กัน สถานที่อยู่ของเจ้าหมีแพนด้านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อมันโดยเฉพาะในห้องแอร์ติดกระจกอย่างดีราคาหลักล้านพร้อมกับทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่คอยดูแลประคบประหงม อย่างเต็มที่ กิจวัตรประจำวันในการดูแลหมีแพนด้าของเจ้าหน้าที่เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าของทุกวัน พี่เลี้ยง 3 คนต้องช่วยกันทำความสะอาดร่างกายของหมีแพนด้าก่อนนำออกสู่ส่วนจัดแสดง จากนั้นก็ทำการจัดเตรียมอาหาร  อาหารหลักของหมีแพนด้านั้นคือไผ่ นอกเหนือจากไผ่แล้วหมีแพนด้ายังได้รับอาหารเสริมเป็นผลไม้แครอทกับแอบเปิ้ล ซึ่งส่วนมากจะถูกใช้สำหรับให้เป็นรางวัลในการฝึกหมีแพนด้าทำตามคำสั่ง หรือใช้เรียกหมีแพนด้าให้ไปยังสถานที่ต่างๆ อาหารเสริมอีกประเภทหนึ่งคือเป็นขนมปังไผ่ เป็นอาหารเสริมพิเศษช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับหมีแพนด้า โดยมีส่วนผสมของไผ่บดละเอียด แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด แป้งถั่วเหลือง นมผง ไข่ไก่ และอื่นๆ นำมาตีให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปนึ่งให้สุก และอีกส่วนหนึ่งก็นำไปอบให้กลายเป็นขนมปังกรอบรสไผ่ ส่วนรสชาติจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบได้ แต่คงอร่อยถูกปากเจ้าหมีแพนด้าไม่น้อย

และเมื่อกินเสร็จแล้ว แม้แต่เศษไผ่ที่เหลือที่หมีแพนด้าไม่กินแล้ววางทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องนำมาตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจวิเคราะห์ฮอร์โมน โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าประเทศไทย เพื่อการดูแลสุขภาพและการผสมพันธุ์ โดยเศษไผ่จะถูกนำไปชั่งน้ำหนักทุกครั้งในทุกๆวัน เพื่อนำไปหักลบกับน้ำหนักของไผ่ทั้งหมดที่ให้ เพื่อหาปริมาณการกินที่แท้จริงของหมีแพนด้า แม้แต่อุจจาระก็ยังจะต้องน้ำไปชั่งน้ำหนักเพื่อหาปริมาณว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณการกินในระดับที่ปกติหรือไม่และตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศและความเครียด ส่วนปัสสาวะจะต้องเก็บวันละ 2 ครั้ง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน และยังมีการจดบันทึกพฤติกรรมของหมีแพนด้าในแต่ละวัน หมีแพนด้าจะถูกติดตามพฤติกรรมจากโทรทัศน์วงจรปิด และทีมนักวิจัยจะคอยบันทึกพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นของหมีแพนด้า เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการประเมินถึงสภาวะต่างๆของหมีแพนด้าควบคู่ไปกับวิธีการอื่นๆ เช่น เปรียบเทียบกับระดับของฮอร์โมน เป็นต้น และในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน จะมีการตรวจสุขภาพประจำวัน ต้องมีการตรวจเล็บและตรวจสุขภาพช่องปากและฝัน และยังมีการฝึกให้ใช้คำสั่งทั่วไป ได้แก่ ยืน นั่ง นอน โดยเจ้าหน้าที่จะใช้ภาษาไทยกับภาษามือ

ความพิธีพิถันในเรื่องอาหารของหมีแพนด้ายังไม่หมดแค่นี้ เนื่องจากอาหารหลักของหมีคือไผ่ ราว 90 เปอร์เซนต์ ทำให้ต้องมีการเตรียมการกันมาตั้งแต่ก่อนที่หมีแพนด้าจะเข้ามาเมืองไทย โดยก่อนหน้านี้ทางผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนได้เข้ามาร่วมศึกษาหาแหล่งไผ่กับทางทีมแพนด้าเมืองไทย ด้วยการสำรวจหาพันธุ์ไผ่พื้นเมืองของไทยในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าพันธุ์ไหนแพนด้ากินได้ ซึ่งถ้าไม่มีไผ่ที่แพนด้ากินได้อาจต้องนำเข้า แต่โชคดีที่ผลการสำรวจต้นไผ่พบว่าในไทยมีไผ่ที่แพนด้ากินได้หลายชนิด ได้แก่ ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง : มีการปลูกไผ่พันธุ์ต่างประเทศ เช่น ไผ่สี่เหลี่ยม ไผ่ดำ ไผ่ขนหรือไผ่เหมาจู๋ ไผ่หยกหรือไผ่ลิจู๋ และไผ่พันธุ์ไต้หวันเน้นพวก มาตินอย ลิโตเฟีย (หมีจะกินใบ ที่ใบมีโปรตีนสูงกว่าลำต้น) ซึ่งไผ่เหล่านี้ทางดอยอ่างขางปลูกไว้เพื่อค้ำยันไม้ดอกและไม้ผล ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่มีอยู่ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าอู่หลงที่อยู่ของหมีแพนด้าเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านนิยมปลูกไผ่ตงไว้กินหน่อ (หมีจะกินลำต้น) บางเจ้าปลูกเป็นสวนหลายสิบไร่เพื่อเก็บหน่อไม้ขายในหน้าฝน และบางแห่งปลูกไว้ขายทำบั้งไฟ ไผ่ตงเป็นไผ่ที่มีรสชาติหวานกว่าไผ่ชนิดอื่น และเป็นพืชที่ทางภาครัฐส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทางสวนสัตว์จึงนิยมหามาให้แพนด้า และยังมีพวก ไผ่ลวก ไผ่ไร่ ไผ่หวานเมืองเลย ไผ่เลี้ยง ส่วนไผ่บงใหญ่ ไผ่ตงดำ หมีกินได้ทั้งลำต้นและใบ

ตามปกติหมีแพนด้าหนึ่งตัวกินไผ่สูงถึง 14 กิโลกรัม ต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบแล้ว ไผ่ปกติ 1 ต้น น้ำหนัก 2 กก. เท่ากับว่าแพนด้ากินไผ่ประมาณ 7 ต้นต่อวัน แต่ถ้าเป็นไผ่ตงต้นใหญ่ 1 ต้น เกือบ 50-60 กก. ก็จะอยู่ได้หลายวันหน่อย ส่วนช่วงช่วงหลินฮุ่ยทางเจ้าหน้าที่บอกว่าการกินของมัน เมื่อตัดไผ่ตงมาครั้งละ 6 ต้นอยู่ได้ 3 วัน 1 อาทิตย์ก็ต้องออกไปตัด 2- 3 ครั้ง เฉลี่ยอาทิตย์ละ 12-15 ต้น

ในแต่ละวันพี่เลี้ยงหมีแพนด้าก็จะต้องจัดเตรียมไผ่ให้เพียงพอต่อความต้องการของหมีแพนด้า โดยเริ่มตั้งแต่การออกไปตัดไผ่จากสวนที่คัดเลือกไว้ ซึ่งการออกไปตัดไผ่แต่ละครั้งจะต้องออกไปด้วยกันถึง 4 คน เพราะไผ่ที่จะออกไปตัดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไผ่ตงซึ่งมีขนาดใหญ่ ต้องใช้แรงคนในการตัดและลำเลียงขึ้นรถ แต่ไม่ใช่ว่าจะไปตัดไผ่ที่ไหนมาให้เจ้าแพนด้ากินก็ได้ การที่จะตัดไผ่แต่ละลำนั้น พี่เลี้ยงจะต้องรู้ความต้องการของหมีแพนด้าว่าในช่วงนั้นหมีแพนด้าต้องการกินไผ่แบบไหน และต้องรู้เรื่องไผ่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของไผ่หรือแหล่งที่ปลูก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับรสชาติของไผ่ พี่เลี้ยงอาจจะต้องใช้การชิมไผ่ร่วมด้วยว่าไผ่มีรสชาติเป็นอย่างไร หากพบว่ามีรสหวาน แพนด้าก็จะชอบ

ขั้นตอนการตัดไผ่นั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงจุดที่จะตัดซึ่งเป็นจุดที่ทางทีมได้สำรวจมาก่อนหน้าแล้ว ก็จะทำการตรวจสอบไผ่ก่อนว่าเป็นไผ่ชนิดใด พื้นที่รอบๆเป็นอย่างไร เช่น ติดที่นาที่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของรสชาติที่ต้องออกหวาน เวลาไปตัดเจ้าหน้าที่จึงต้องชิมรสชาติของไผ่ก่อน วิธีการชิมคือ ใช้วิธีการเจาะเริ่มจากโคนต้นก่อน เจาะลงไปจนเกือบถึงเนื้อเยื่อข้างในไผ่ แล้วนำส่วนเนื้อนั้นมากัดดูดเหมือนเวลาเรากินอ้อย ถ้าตรงส่วนโคนต้นขมก็สรุปได้ทันทีว่าทั้งต้นจะขมตามไปด้วยนั่นคือใช้ไม่ได้ แต่ถ้าหวานก็ต้องชิมกลางต้นและส่วนบนต้นต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าเอาไปแล้วใช้ได้ทุกส่วน และถ้าเห็นว่าไผ่บริเวณนั้นใช้ได้แล้ว ก็จะถามเจ้าของต้นไผ่นั้นว่าในบริเวณใกล้เคียงนั้นมีต้นไผ่อีกไหม ถ้ามีเจ้าหน้าที่ก็จะไปสำรวจดูไว้ก่อนล่วงหน้าเพราะถ้าครั้งหน้าพอแหล่งนี้ไผ่หมดก็จะได้ไปตัดที่อื่นต่อได้ ส่วนสาเหตุที่ต้องชิมก่อนทุกครั้งเพราะไผ่ตงเป็นไผ่ที่มีรสชาติความหวานไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและอุณภูมิภายนอก และบางครั้งก็หวานโคน-กลาง-ปลาย สลับกัน ไปในบางเดือน ซึ่งการชิมจะทำให้เลือกตัดได้ถูกเพราะถ้าไม่หวานแพนด้าก็จะไม่กิน ส่วนราคาค่าไผ่นั้นตามปกติถ้าเป็นไผ่จากโครงการหลวงอ่างขาง จะตก กก.ละ 30 บาท (ส่งมาเป็นกิ่งกับใบและต้นเล็กๆ) แต่ถ้าเป็นไผ่ตงตามบ้านหรือสวน (ต้นใหญ่ 50-60 กก. ต่อต้น) จะรับซื้อในราคาต้นละ 100 บาท สาเหตุที่ราคาสูงเช่นนี้เพราะชาวบ้านที่ขายเขาเทียบราคากับเวลาที่เขาขายต้นไผ่ทำบั้งไฟเขาก็ได้อยู่ที่ต้นละ 100 บาทเช่นกัน เมื่อได้ไผ่แล้วจากนั้นจะนำไผ่ใส่ในรถห้องเย็นอุณหภูมิ 4 องศา ไม่ให้โดนความร้อน และเมื่อมาถึงสวนสัตว์ก็ใช้น้ำราดให้ใบฟื้น

ส่วนวิธีเตรียมอาหาร ไผ่ตงต้นใหญ่เมื่อนำมาเป็นลำแล้วจะถูกตัดเป็นปล้องๆตามข้อ แล้วนำมาตัดข้อไผ่ทิ้งให้เหลือแต่ไม้ส่วนกลาง จากนั้นนำมาผ่าออกเป็น 3-4 ซีก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางซีกละ  1-2 นิ้ว    เมื่อได้ไผ่ตามที่ต้องการแล้วก็นำกลับมาแช่ไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 % และเมื่อต้องการนำไปให้หมีแพนด้ากิน ก็จะนำออกมาจากห้องเย็นตามจำนวนที่ต้องการ ล้างทำความสะอาดแล้วผ่าเอาเปลือกนอกที่มีความคมออก ป้องกันหมีแพนด้าได้รับบาดเจ็บจากการถูกผิวไผ่บาด จากนั้นนำมาตัดเป็นท่อน ความยาวประมาณ 40 ซม. หนาประมาณ 1- 1.5 นิ้ว แล้วนำไปไว้ตามจุดต่างๆที่กำหนดไว้สำหรับให้หมีแพนด้าเดินหากิน

 

หมายเลขบันทึก: 269895เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท