เป่า ยิ้ง ฉุบ


เป่า ยิ้ง ฉุบ

วันก่อนเห็นเด็กเค้าเล่น เป่ายิ้งฉุบ กันก็ขำดีนะครับ ถ้ายังจำกันได้ คนออกค้อนจะแพ้กระดาษ คนออกกระดาษจะแพ้กรรไกร คนที่ออกกรรไกรจะแพ้ค้อน ก็ขำดีครับ แต่มองในมุมที่เป็นธรรมะก็ได้นะครับ ลองคิดดูเล่นๆนะครับ คนที่ออกค้อนจะทำมือเป็นก้อนกลมๆ มองเล่นๆคล้ายๆเลขศูนย์ เปรียบไปก็เหมือนกับความว่าง หรือจิตเดิมแท้นั่นเอง แต่ไอ้ความว่างหรือจิตเดิมแท้กลับพ่ายแพ้ต่ออวิชชาที่มาห่อหุ้ม อวิชชาที่มาห่อหุ้มก็เหมือนเราแบมือจะมาหุ้มมือที่กำเป็นก้อนกลมๆ มองง่ายๆคิด ออกค้อนจะแพ้ต่อกระดาษ พอมีอวิชชาเราก็ต้องมีสติมีปัญญามาแหวกทำลายสิ่งที่ห่อหุ้มนั้นออกไป การแหวกทำลายนั้นก็คือมีสติมีปัญญานั่นเอง แต่การมีสตินั้นเราต้องไม่ไปเพ่งไปกดไปจงใจ ดูเป็นกลางๆ ไม่ไปปรุงแต่งหรือให้ค่ากับมัน การตั้งใจจงใจก็ไม่อาจจะเทียบได้กับจิตเดิมแท้ที่ไม่มีการปรุงแต่ง ก็คือการออกกรรไกร สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อค้อนหรือจิตเดิมแท้อยู่ดี

 

น่าขำดีนะครับ การเป่ายิ้งฉุบก็สอนธรรมะเราได้ จิตเดิมนั้นมักจะถูกปรุงแต่งด้วยอวิชชา อวิชชาถูกทำลายด้วยสติ แต่สติที่ตั้งใจจงใจไม่เป็นกลางก็ไม่อาจจะเทียบกับจิตเดิมแท้ พูดง่ายๆว่า สภาวะนิพพานอยู่ต่อหน้า แต่เรากลับไปปรุงแต่งจนมองไม่เห็นและคิดว่ายากและห่างไกล จนต้อ

พยายามตัดกิเลส หาวิธีพ้นทุกข์ แต่สุดท้ายทางออกก็คือ การไม่ปรุงแต่งนั่นเอง

 

ที่ผมเกริ่นมาอาจจะดูงงหน่อยนะครับ ผมแค่หาเรื่องมาเปรียบเทียบให้พวกเราเลิกบูชาธรรมะกันซะที เลิกกราบไว้ธรรมะราวกับว่าเป็นของสูงส่งจับต้องไม่ได้ พูดง่ายๆว่าเรามาเอาธรรมะออกจากหิ้งกันเถอะครับ ที่บอกว่าเลิกบูชาธรรมะนี่ผมหมายความว่าให้เลิกบูชาแบบงมงายนะครับ กราบไปไหว้ไป ใจเคารพทั้งๆที่ไม่รู้ว่าธรรมะของพระพุทธองค์นั้นสอนอะไร รู้แค่ว่ากราบแล้วดี ยกไว้อยู่สูงแล้วดี ก็ทำตามๆเขาไป เลิกนะครับ อย่าไปกราบไหว้พระธรรมของพระพุทธองค์แบบนั้นเลย ไม่มีประโยชน์ ประโยชน์ของธรรมะของพระพุทธองค์จะเกิดก็ต่อเมื่อ เราศึกษาและน้อมมาปฏิบัติ การน้อมมาปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจด้วยตนเอง นี่แหละครับถึงจะเป็นคุณวิเศษของพระธรรมที่แท้จริง แล้วเราก็จะกราบพระธรรมด้วยความเคารพและศรัทธาจากก้นบึ้งของหัวใจอย่างแท้จริง

 

ผมอยากให้ทุกคนเห็นธรรมะเป็นของใกล้ตัว ไม่ใช่อยู่สูงจนต้องทำกันร้อยชาติหมื่นชาติ หรือมาคิดว่าเราไม่สามารถจะไปถึงได้ อย่าลืมนะครับ ถ้าเริ่มเสียแต่วันนี้ เราก็จะเข้าใกล้ธรรมะขึ้นทีละนิด ถ้าไม่เริ่มก็มีแต่จะถอยห่างออกไป หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนไว้ว่า คนที่ขี้เกียจในวันนี้ แล้วจะรอไปเอธรรมมะในวันหน้า หรือจะรอไปพบพระศรีอารย์นั้น จิตใจก็มีแต่จะพอกพูนความขี้เกียจต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดต่อเองว่าหากเขาได้เจอกับพระศรีอารย์จริงตามที่เขาตั้งใจไว้ เขาก็คงจะเป็นคนที่ขี้เกียจมากๆๆๆ จนไม่อาจจะปฏิบัติธรรมใดๆแล้วก็เป็นไปได้ เริ่มวันนี้ก็เข้าใกล้มากขึ้นนะครับ อย่าไปเทียบกับคนอื่นเลยว่าทำไมคนนั้นเร็ว คนนี้เก่ง ก่อนที่เขาจะง่ายอย่างนี้ เขาก็ต้องผ่านความยากมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ถ้าวันนี้เราเริ่ม วันหน้าคนอื่นก็จะมาดูเรา โอ้โห คนนี้ทำแล้วง่ายดีเนอะ ทำไมเรายากจัง แต่ถ้าเราไม่เริ่ม วันหน้า เราก็ต้องบ่นว่ายากและดูคนอื่นง่ายอยู่เรื่อยไป

 

ธรรมะไม่ใช่เรื่องอยู่สูงเลยนะครับ อยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี่แหละ ทุกอย่างถ้าเรารู้จักมองมันก็คือธรรมะทั้งนั้น แต่ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ธรรมะนั้น หลักก็คือ ทุกสิ่งเป็นอนิจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เป็นทุกข์ ไม่คงอยู่ถาวร และบังคับอะไรไม่ได้ นี่แหละครับหลักของธรรมะจริงๆ ผมเห็นบางท่านนำหลักอริยสัจสี่ไปอธิบายเป็นคุ้งเป็นแควว่า เวลาทำงานเราต้องรู้ปัญหา รู้เหตุของปัญหา รู้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และหาทางแก้ อันนั้นมันเป็นการเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์ไปบิดเบือนให้เข้ากับเรื่องทางโลกเท่านั้น ไม่ใช่หลักธรรมของพระพุทธองค์แท้ๆ หลักธรรมของพระพุทธองค์แท้ๆนั้น ลึกซึ้งอย่างที่สุดเลยนะครับ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อกำจัดอวิชชาทั้งหลาย ให้เห็นว่าอุปทานขันธ์คือตัวทุกข์ มีสติปัญญามุ่งไปที่การพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

 

เริ่มง่ายๆครับ มีสติรู้สึกตัว รู้ตามจริง สั้นๆง่ายๆแค่นี้แหละครับ ดูง่ายดีนะครับ ไม่น่าเชื่อว่าธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นง่ายๆแค่นี้เอง แต่ต้องบอกก่อนนะครับ เรื่องการมีสติรู้สึกตัว ทุกๆคนอาจจะคิดว่า เราเองก็มีสติรู้สึกตัวอยู่แล้วนี่นา ต้องบอกก่อนว่า จริงๆแล้วเราหลงต่างหาก หลงคิดด้วยว่าเรารู้สึกตัว การรู้สึกตัวที่แท้นั้น ต้องรู้ว่าจิตเราขณะนั้นมีอารมณ์ใด เช่น เวลาที่เรากำลังคิดว่าพรุ่งนี้จะไปไหนดี เราก็คิดวางแผนต่างๆนานา คุณอาจจะบอกผมว่าคุณรู้ไงว่าเมื่อสักครู่นั้นคิด แต่ความจริงแล้วคุณกำลังหลงอยู่ต่างหาก คุณกำลังหลงไปอยู่ในเรื่องที่คิด คุณลืมเนื้อลืมตัวลืมกายลืมใจหลงไปคิดเรื่องจะไปเที่ยวพรุ่งนี้ตลอดเวลา คิดอย่างเมามันสนุกสนานเลย แต่คุณไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเลยสักนิดว่า จิตมันกำลังคิด จิตมันกำลังยินดีพอใจกับเรื่องที่คิด จิตมันสนุก คุณไม่รู้เลย

 

ลองสังเกตตัวเองดูสิครับ ไม่ว่าจะกินข้าว อาบน้ำ ขับรถ กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำ คุณมักจะหลงไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา คุณแทบจะไม่ได้ย้อนกลับมาดูจิตตัวเองเลยว่า กำลัง ยินดีพอใจ โกรธโมโห เผลอลืมสติ หงุดหงิดรำคาญ อิ่มอกอิ่มใจ ฯลฯ นี่แหละครับ การไม่มีสติ การไม่อยู่กับปัจจุบัน ลองหัดดูนะครับ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ไม่ยากครับ เวลาเรารู้สึกว่ายาก เราก็รู้ไปว่าเราท้อ เวลาเรางงว่าถูกหรือผิด เราก็รู้ไปว่าเราสงสัย เท่านี้เองครับ ลองหาครูบาอาจารย์ช่วยแนะนำก็ได้ พระอาจารย์ปราโมทย์ หลองพ่อคำเขียน อาจารย์กำพล (ทองบุญนุ่ม) หลวงพ่อมนตรี พระอาจารย์คึกฤทธิ์ หรือ อาจารย์สุรวัฒน์ ก็ได้ครับ มีตั้งหลายแนวทางหลายวิธีให้เราเลือกปฏิบัติให้ตรงกับจริตของเรา สำคัญคือเริ่มเลยนะครับ อย่าปล่อยธรรมะไว้บนหิ้ง

 

หมายเหตุ ผมไปอ่านเจอว่าที่ดนตรีไทยไม่ได้พัฒนาหรือไม่แพร่หลายนั้น เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าดนตรีไทยเป็นของสูงส่ง ไม่ได้เอาไว้เล่นกันเล่นๆ ดูเป็นพิธีการ ดนตรีไทยเลยจำกัดอยู่แค่คนบางกลุ่ม ไม่แพร่หลายในวงกว้าง พอมันอยู่ในวงแคบๆ คนที่มีความรู้ความสามารถไม่รู้จัก ดนตรีเลยไม่อาจจะพัฒนาและแพร่หลายต่อไป อย่าปล่อยให้ธรรมะเป็นแบบนั้นนะครับ ธรรมะไม่ได้อยู่บนหิ้งเอาไว้กราบไหว้บูชาอย่างงมงาย ธรรมะมีไว้น้อมเข้ามาสู่ตัว มีเอาไว้ปฏิบัติให้เห็นแจ้งด้วยตนเอง ธรรมะก็เรื่องธรรมดานี่เองแหละครับ

คำสำคัญ (Tags): #เป่า ยิ้ง ฉุบ
หมายเลขบันทึก: 269767เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2009 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท