HR Champion : สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร


สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร

HR Champion :  สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร

                จากการที่ได้ศึกษาบทความของคุณจารุนันท์  อิทธิวัชรกุล  ที่ลงไว้ใน ที่มา : bangkokbiznews.com เห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้าน HR จึงนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันค่ะ

                 ความเจริญของโลกวิทยาการในยุคสังคมฐานความรู้เช่นในยุคปัจจุบัน ทำให้องค์กรต่างๆ ตื่นตัวในการพัฒนา คน ให้เป็นผู้มีความรู้และมีปัญญาปฏิบัติ เพื่อให้เป็นพลังแห่งความสามารถขององค์กรใน       การเผชิญความท้าทายใหม่ๆ และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

                ด้วยเหตุนี้หลายองค์กรจึงมีแนวคิดในการสร้างคลังความรู้หรือการจัดการความรู้ (KM) กันอย่างกว้างขวาง เมื่อมีระบบ KM ที่ดีแล้ว ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างที่ควรจะเป็นโดยอัตโนมัติ เราจำเป็นต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย  โดยกระตุ้นให้พนักงานมีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้วงจรชีวิตของ KM มีการพัฒนาเติบโต เพราะมีผู้พร้อมให้ความรู้และมีผู้ใฝ่เรียนรู้จำนวนมากมาศึกษา และนำความรู้ไปใช้จนเกิดปัญญาอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติจริง  และนำความรู้จากปัญญาปฏิบัตินั้นเข้าไปทบทวีในระบบคลังความรู้ KM ต่อเนื่องต่อไป

                การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เป็นวิถีคิด วิถีปฏิบัติของคนในองค์กรโดยหลักๆ แล้วมีวิธีการดังนี้

                1.  ส่งเสริมให้มีชุมชนนักปฏิบัติและชุมชนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีการจัดการและบริหารทรัพยากรความรู้ที่อยู่ในสมองของคนในองค์กร โดยให้มีรูปแบบและกิจกรรมหลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างไม่ขาดสาย

2.  ให้ผู้นำเป็น Role Model เรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่ผู้นำมีบทบาทที่ทำให้เกิดผลได้มากที่สุด ดังนั้นเราต้องเชิดชูบทบาทของผู้นำขององค์กรให้แสดงความเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ และเป็นผู้พร้อมแบ่งปันความรู้ให้พนักงานเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้โดยให้ผู้นำบอกเล่าประสบการณ์โดยตรงของท่านในการแสวงหาความรู้ วิธีการเรียนรู้ และประโยชน์ที่ท่านได้จากการเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น

ในที่ทำงานของเราอาจจัดให้มีผู้บริหารระดับสูงมาเป็นวิทยากรในหลักสูตรสำหรับผู้จัดการระดับต้น และระดับกลางด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง การพูดและการกระทำที่สอดคล้องกันของผู้นำองค์กรในลักษณะคล้ายๆ นี้ จะจูงใจให้พนักงานทุกระดับเต็มใจและตั้งใจเป็นผู้พร้อมให้ความรู้ เพราะแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงยังให้ความสำคัญของการแบ่งปันความรู้และที่สำคัญในขณะที่ให้ความรู้ผู้อื่น ตัวผู้ให้ย่อมยิ่งมีความรู้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ขึ้น เท่ากับเป็นการพัฒนาตนเองให้มีภูมิความรู้สูงขึ้น และยังได้ความรู้จากการพูดคุยเพิ่มเติมจากผู้มาเรียนรู้อีกต่างหาก

3.   ส่งเสริมให้มีการเสวนาแบ่งปันความรู้  โดยจัด Shared Forum ให้เป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้รู้ในองค์กรหรือบางโอกาสอาจจะเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาแลกเปลี่ยนขยายมุมมองเพิ่มเติมในเนื้อหาที่เกี่ยวกับกลยุทธ์สำคัญขององค์กรก็ได้

การจัด Book Briefing โดยให้นักอ่านหรือหนอนหนังสือเป็นผู้ช่วยอ่านและนำมาสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ฟัง รวมทั้งมีการอภิปรายเชื่อมโยงจากแนวคิดของหนังสือนั้นกับการทำงานก็จะทำให้เกิดบรรยากาศของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และกระตุ้นให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น

4.  งาน HRD ควรจัดให้ความรู้และพัฒนาทักษะ ในการเป็นผู้ถ่ายทอดสอนงานเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้ผู้พร้อมให้ความรู้นั้นสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด นอกจากนี้ยังสามารถจัดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learn how to learn) สำหรับพนักงานทุกคน เพื่อให้ผู้ใฝ่เรียนรู้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและได้อย่างมีประสิทธิผลสูง

5.  ส่งเสริมค่านิยม เรื่องการเปิดใจกว้างและรับฟังความคิดเห็น เพราะค่านิยมนี้จะช่วยกำหนดพฤติกรรมที่เอื้อต่อการเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ได้อย่างมาก สามารถจัดการสื่อสารหรือืจัดกิจกรรมรณรงค์ให้พนักงานทุกคนเห็นความสำคัญของการเปิดใจรับฟังนั้นว่า เป็นประตูแห่งโอกาสของการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความคิดให้แหลมคมและกว้างไกล

เรื่องการเปิดใจกว้างและรับฟังความคิดเห็น ผู้บริหารคงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี โดยจัดหาโอกาสต่างๆ ที่ไปรับฟังความคิดเห็นของพนักงานหรือเปิดโอกาสให้มีช่องทางแก่พนักงานในการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งองค์กร

ในเรื่องนี้ อาจารย์จำเนียร จวงตระกูล ท่านมีคติประจำใจว่า เกิดเป็นคนโง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก คือ ไม่มีใครฉลาด ที่สุดได้ตลอดเวลา เราจึงเสาะแสวงหาความรู้ใส่ตัวเสมอ เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี คือ เราจะต้องโง่บ้างและฟังให้มาก

6.  จัดให้มีระบบการยกย่องเชิดชู หรือชื่นชมยินดีกับผู้ให้ความรู้และผู้แสดงออกถึงการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ขยายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ในระบบประเมินศักยภาพความสามารถของพนักงานที่พร้อมจะเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ควรจะประเมินด้านความสามารถในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองไว้ด้วย เพื่อให้พฤติกรรมดังกล่าวมีผลในการปฏิบัติอย่างจริงจังกับพนักงานทุกคนทุกระดับ

วิธีการดังกล่าวข้างต้นนั้น จะช่วยส่งเสริมให้คนในองค์กรมีวัฒนธรรมในการเรียนรู้ตลอดชีวิตการทำงาน และแน่นอนว่า พนักงานที่มีการเรียนรู้เหล่านั้นย่อมทำให้องค์กรดำรงขีดความสามารถขององค์กรให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกยุคใหม่นี้

 

ที่มา : bangkokbiznews.com

 

คำสำคัญ (Tags): #km ในองค์กร
หมายเลขบันทึก: 269520เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"ผู้บริหารคงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี" ชอบส่วนนี้ครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท