แผนที่ชีวิต : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10(12)


      วันนี้หยิบหนังสือที่ได้รับแจกตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเข้าร่วมโครงการฯ ขึ้นมาอ่าน  เป็นหนังสือ คู่มือการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ที่ปกด้านในมี หลักการปฏิบัติตนของผู้สูงอายุเพื่อการมีสุขภาพดี ด้วย 5อ  คือ

          1. อาหาร “กินอาหารให้หลากหลาย ได้สัดส่วนเพียงพออิ่ม”

          2. ออกกำลังกาย “ออกกำลังกายทุกส่วนสัด กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ”

          3. อารมณ์ “อารมณ์รื่นเริงยินดี ชีวีสดใสด้วยรอยยิ้ม”

          4. อดิเรก “สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มคุณค่า เกื้อกูลสังคม”

          5. อนามัย “อนามัยดี ชีวีมีสุข นำพาอายุยืนยาว”

 

          นี่แค่ปกในเท่านั้นก็ได้ประโยชน์มากแล้ว ก็ทำให้รู้ว่า จาก 3อ ที่มีการประชาสัมพันธ์กันมากในช่วงนี้ สำหรับผู้สูงอายุควรต้องเน้นเพื่ออีก 2อ รวมเป็น 5อ  ดูรูป อ ที่ 4 ที่เขียนว่า สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มคุณค่า เกื้อกูลสังคม โดยเป็นรูปคุณลุงกำลังดูแลต้นไม้ เราก็มาถูกทางแล้วนิ ที่บ้านมีต้นไม้เยอะพอสมควร โดยเฉพาะช่วงนี้ต้องทำหน้าที่ คนสวน นึกต่อไปว่า การเล่นเน็ตเขียนบล็อก เป็นงานอดิเรกได้อะเปล่าหน้อ….อิอิ…ชาวลานปัญญามีความเห็นจะใดเจ้า

        พลิกอ่านไปแป๊บเดียวถึงหน้าสุดท้าย ก็ไปชอบใจและประทับใจ ปกหลังด้านใน ที่จั่วหัวว่า “แผนที่ชีวิต สู่วัยร่มเย็น” ที่ท่านพุทธทาส บรรยายไว้ตั้งแต่เมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ที่หน้ากุฏิสวนโมกข์ ไชยา แก่นักศึกษาและผู้สูงอายุ โอ้โฮปีนี้ 2552  เกือบ 18  ปีแล้ว เราไปอยู่หลังเขาที่ไหนมา  ไม่เคยได้รู้เลย…..555

 

ท่านพุทธทาส กำหนดชีวิตมนุษย์ เป็น 4 วัยคือ วัยเรียน วัยรัก วัยรวย และวัยร่มเย็น

        มนุษย์วัยเรียน ต้องเรียน พุทธิศึกษา วิทยาการทันโลก เรียนจริยศึกษา ปฏิบัติ มนุษยธรรม คุณธรรม วัฒนธรรมและศาสนา เรียนพลศึกษา ปฏิบัติเพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการอยู่ในสังคมด้วยความสงบเย็น และเรียนอาชีวศึกษา เพื่อการดำรงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ

        มนุษย์วัยรัก ต้องรักตนเอง และปฏิบัติตนให้ถูกต้องโดยธรรม ต้องรักครอบครัว ดำรงครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง และก้าวหน้า ต้องรักชุมชน จรรโลงสังคม ไม่เป็นคนรกโลก และต้องรักทุชีวิตในโลก เขาเหล่านั้นคือเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย

        มนุษย์วัยรวย ต้องสร้างตนเอง ทำความดีความงามให้ปรากฏ ต้องสร้างครอบครัว นำครอบครัว ลูก หลาน ให้ชีวิตอยู่ในธรรม ต้องสร้างสั่งสมบารมี คุณความดี มีบทบาทในสังคม และต้องสร้างสิ่งดีงามไว้ในโลก คือตอบแทนบุญคุณโลก

        มนุษย์วัยร่มเย็น  พอ พอใจ เพื่อจักเป็นอิสระชน พ้นแล้วโว้ย เพื่อจักได้กินบุญ (กรรม) ที่ได้สั่งสมมา เพื่อจักได้เกื้อกูลสังคม ด้วยพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และที่สุดคือ ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้โลก ให้ลูก ให้หลาน นิรันดรฯ”

         อ่านแล้วอึ้งกิมกี่ครับ(ยืมสำนวนพ่อครูบาฯ มา) …..ทำไมอันตัวเรานี้เพิ่งมาได้รู้จัก สุดยอดแผนที่ชีวิต เมื่อยามนี้หนอ…..จึงอยากจะนำมาฝากครับ  แผนชีวิตนี้ ตามความคิดที่มีอันน้อยนิด คิดว่าใช้ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าท่านจะมีอายุเท่าไหร่  อายุไม่ใช่เป็นตัวบ่งบอกว่าท่านกำลังอยู่ในวัยไหนตามแผนชีวิตข้างบนนะครับ  เพียงแต่มีความสัมพันธ์กันบ้างเท่านั้นตามวัยของทางร่างกาย ที่ทั่วไปแบ่งกันเป็น วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และ วัยชรา

ถ้าท่านเรียนรู้และปฏิบัติจากวัยเรียน วัยรัก วัยรวย จนเข้าสู่วัยร่มเย็นได้ ก็เชื่อได้ว่า ท่านจักเป็น “อิสระชน พ้นแล้วโว้ย” อย่างที่ท่านพุทธทาสบอกไว้อย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 269397เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะ

สวนอาจารย์ คงมีอาหารเยอะแยะนะคะ

  • ที่จริงเป็นสนาม(เดิม)ที่บ้านนะครับ แต่เดี๋ยวนี้ใกล้จะเป็นสวน (ไม้ดอกไม้ประดับ) ไปแล้ว....อิอิ....มีแต่ไม้ดอก บ่ค่อยมีไม้แด.....ก...ครับ

ขอบคุณคะสำหรับหลักธรรมท่านพุทธทาส เป็นข้อคิดที่ดีมากเลย

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงนะคะ

ขอบคุณ  น้ำหนึ่ง ที่แวะมาครับ

คงเตรียมตัวไปร่วม UKM และ MiniUKM กันแล้วนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท