เรียนรู้จริงด้วยตลาดนัดนักเรียน


ตลาดนัด

     
      การจัดการเรียนการสอนทั้ง 8 กลุ่มสาระ โดยมากนักเรียนมักได้รับประประการณ์จากการเรียนรู้ในชั้นเรียน หรือจำลองสถานการณ์ขึ้นในห้องเรียนหรือในโรงเรียน  การเรียนรู้ถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมและกฏเกณฑ์ต่างๆ การเรียนรู้จึงไม่สามารถจะเชื่อมโยงชีวิตจริงเข้ากับการเรียนรู้ได้อย่างแนบเนียน

      โรงเรียนบ้านหลุมข้าวได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมในชุมชน  พบว่า บ้านหลุมข้าวมีวัดเป็นแหล่งชุมชนที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะต้องออกไปซื้ออาหารและเครื่องใช้ต่างๆในครัวเรือนทุกเช้าและเย็น โรงเรียนน่าจะนำเอาสิ่งที่กล่าวมานี้ไปจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้จากชีวิตจริงในชุมชนโดยที่โรงเรียนไม่ต้องไปสร้างสถานการณ์จำลองใดๆ ทั้งสิ้น

     ตลาดนัดนักเรียนจึงเกิดขึ้นเพื่อการจัดการเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงชีวิตจริงเข้ากับการเรียนรู้และสามารถบูรณาการการเรียนรู้ให้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ กระบวนการตลาดนัดนักเรียนมีดังนี้
     1. ประชุมสภานักเรียนเพื่อวางแผนการจัดตลาดนัดนักเรียน
          -  กำหนดวันจัดตลาดนัดนักเรียน
          -  แบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายต่างๆ รับผิดชอบการทำงาน เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดสถานที่ ฝ่ายการเงิน เป็นต้น
     2.  ประชาสัมพันธ์นักเรียนหน้าเสาธงให้เตรียมของไปขายที่ตลาดนัดนักเรียน สิ่งของที่จะนำไปขายอาจจัดทำขึ้นเองหรือรวมกลุ่มกันทำ นำสิ่งของที่มีอยู่ที่บ้านแล้วไปขาย เช่น ผัก ผลไม้ ปลา หรือไปหาตามท้องทุ่ง คือ บ้านใครมีอะไรให้นำไปขายได้ทั้งหมด(ไม่ได้สอนให้ขายของหรือไปเป็นแม่ค้า)
     3.  นักเรียนจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำไปขาย เตรียมฝึกการพูดให้ขายของได้ ฝึกมารยาทเมื่อขายของได้ นักเรียนที่ไม่มีของไปขายอาจไปขายแรงงามเป็นคนที่ไปช่วยยกโต๊ะ กวาดพื้น เก็บขยะ (ฝึกการจัดการตลาด)
     5.  วันขายของตลาดนัดนักเรียน เริ่มตั้งแต่เวลา 5.00 น. ถึง 6.30 น. วันนี้จะเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง นักเรียนที่นำของมาขายแล้วยืนอยู่เฉลยอาจขายของไม่ได้ต้องขนของกลับบ้าน นักเรียนที่นำของมาขายแล้วรู้จักเรียกลูกค้า พูดจาน่าเข้าไปซื้อ มีมารยาทดีลูกค้าใจอ่อนซื้อของจนหมด สิ่งนี้นักเรียนจะได้เห็นของจริงการเรียนรู้จะเกิดขึ้น จากครั้งที่ 1 สู่ครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆ ไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ครูสอนได้แต่นักเรียนไม่เข้าใจ แต่การปฏิบัติจะทำให้นักเรียนรู้และเข้าใจจากชีวิตจริง
         นักเรียนที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์จะได้ฝึกการพูดในที่สาธารณะในการพูดเรียกลูกค้า พูดชักจูงลูกค้า พูดถึงสิ่งต่างๆ ทีเป็นประโยชน์ต่อชุมชน บทเรียนภาษาไทยในการพูดเช่นนี้หาไม่ได้ในชั้นเรียน
         นักเรียนจะรู้จักการคิดเงิน  ทอนเงินด้วยตนเอง บทเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มขึ้น การขอร้องเพื่อนให้ช่วยหากคิดเงินไม่ถูกความสัมพันธ์ การช่วยเหลือกันเป็นอีกหนึ่งบทเรียนในสาระการเรียนรู้ต่างๆที่บูรณาการจากชีวิตจริง
     6.  กิจกรรมเช้าปกติในโรงเรียน หน้าเสาธงครูสอบถามการจัดตลาดนัดนักเรียน ใครขายของได้เท่าไร ใครขายได้หมด ใครขายไม่ได้เลย ให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขในครั้งต่อไป
     7.  ชั่วโมงแรกในชั้นเรียนของทุกห้องให้สอนโดยบูรณาการจากตลาดนัดนักเรียนเข้าสู่สาระการเรียนรู้นั้นๆ

 

หมายเลขบันทึก: 269030เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท