เรื่องของสมอง


สมองนั้นมีงานมากล้นตัวทีเดียว ทั้งเรื่องของการควบคุมอวัยวะหลาย ๆ ส่วนในร่างกายตลอดเวลา จนถึงงานที่เราเองก็รู้คืองานคิด สมองยุ่งสมองเครียด สมองจึงต้องมีวิธีรับศึกกับงานหนัก ๆ กลไกอย่างหนึ่งของสมองนั้นคือการใช้ อคติ

          หากจะถามว่าคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่ไหน แนะนำว่าไม่ต้องถ่อไปถึงพันทิพย์ให้เมื่อย เพราะคอมพิวเตอร์ที่ดีสุดอยู่ในหัวของทุกท่านนี่เอง สมองนั้นเป็นอวัยวะที่น่าทึ่ง เพราะที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคอมพิวเตอร์หรือสิ่งประดิษฐ์อะไรคิดเรื่องซับซ้อนได้มากเท่าสมอง

        แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างในโลกมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย สมองมีจุดด้อยกว่าคอมพิวเตอร์ตรงเรื่องความแม่นยำ คงนึกออกเวลาคิดเลขผิด แม้เป็นแค่การบวกเลขเราก็มีโอกาสทำผิด แต่คอมพิวเตอร์หรือเครื่องคิดเลข(ที่ยังไม่เสีย)นั้นโอกาสคิดผิดมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามเรื่องที่เราจะพูดถึงวันนี้ไม่ใช่ความผิดแบบนั้น เรากำลังพูดถึงความผิดพลาดที่สมองตั้งใจ

       สมองนั้นมีงานมากล้นตัวทีเดียว ทั้งเรื่องของการควบคุมอวัยวะหลาย ๆ ส่วนในร่างกายตลอดเวลา จนถึงงานที่เราเองก็รู้คืองานคิด สมองยุ่งสมองเครียด สมองจึงต้องมีวิธีรับศึกกับงานหนัก ๆ กลไกอย่างหนึ่งของสมองนั้นคือการใช้ อคติ

        อคติหมายถึงการที่เราแอบเอนเอียง เข้าข้างฝ่ายหรือคำตอบใดคำตอบหนึ่งโดวิธีในการเลือกฝ่ายหรือคำตอบของเรานั้นผิดหลักการเหตุผล เช่น ถ้ามีเพื่อนสนิทของเราไปประกวดนางสาวไทย เราก็จะเข้าข้างและรู้สึกว่าเพื่อนคนนั้นคู่ควรกับตำแหน่งขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่คนอื่นสวยกว่า  ถึงจะเป็นคำตอบที่ผิดหลักการ แต่สมองมีเหตุผล และอคตินี้เองเกิดจากการให้เหตุผลของสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่เหตุผลที่สมองใช้ผิดกับหลักเหตุผลของความเป็นจริง

         อคติมีหลายแบบ แบ่งตามลักษณะของเหตุผลที่สมองใช้การตอบคำถาม อคติที่เราพบเห็นง่าย ๆ คือ เรามักจะคิดว่าอะไรที่เราเห็นบ่อย ๆ เป็นข้อมูลที่มีน้ำหนัก เช่น ถ้าวันหนึ่งมีคนถามเราว่าราดหน้ากับข้าวมันไก่ อาหารอะไรเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากกว่ากัน ถ้าแถวบ้านเรามีร้านราดหน้า 3 ร้าน ร้านข้าวมันไก่ 1 ร้าน เราก็มักจะรู้สึกว่าคำตอบคือราดหน้า ซึ่งความจริง ทั้งประเทศอาจมีร้านข้าวมันไก่มากกว่าก็ได้ การระลึกถึงร้านอาหารแถวบ้านเป็นเหตุผล แต่เป็นเหตุผลที่ไม่ครอบคลุม

        ยังมีการใช้เหตุผลของสมองที่ไม่เที่ยงตรงมากกว่านั้น เช่น ในหนังสือวิทยาศาสตร์ของเรากล่าวถึงธาตุโซเดียมมากเป็นพิเศษ เมื่อเราเข้าห้องสอบ ไม่ว่าโจทย์ถามอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร และถ้าในตัวเลือกมีโซเดียม เราก็มักจะคลับคล้ายคลับคลาว่าควรตอบโซเดียม โดยที่เราไม่รู้ว่าเพราะอะไรเสียด้วยซ้ำ เห็นได้ว่าสมองมักจะหยิบฉวยข้อมูลใกล้ตัวที่หาง่ายในการให้เหตุผล

         อคติในรูปแบบนี้นั้นจะว่าสมองใช้ไม่ได้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว กลไกนี้แม้ว่าจะไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็ไม่ผิดทั้งหมด การเลือกข้อมูลที่พบเห็นบ่อยเป็นคำตอบเป็นการลดความเสี่ยงกว่าการใช้ข้อมูลที่ไม่รู้จักมาก่อนมากทีเดียว จากตัวอย่างของโซเดียมที่กล่าว ถ้าในหนังสือพูดถึงโซเดียมบ่อยครั้ง มันก็มีความเป็นไปได้มากกว่าธาตุตัวอื่นที่แทบไม่เคยพูดถึงเลยว่าจะเป็นคำตอบ

         อคติอีกอย่างที่พบบ่อยคือการเข้าข้างตัวเอง และพวกของตัวเอง อคติแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่จะเกิดแบบที่เรารู้ตัว  ถ้าวันหนึ่งเราหรือเพื่อนที่เดินมากับเราไปเตะกระถางต้นไม้ข้างถนนล้ม เรามักจะคิดไว้ก่อนว่า เจ้าของกระถางทำไมเอามาวางเกะกะแบบนี้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นในเหตุการณ์แบบเดียวกันเราอาจจะมองว่าซุ่มซ่าม เดินไม่ดูทาง  การแข่งขันกีฬานั้นเกิดอคติแบบนี้บ่อยทั้งคนเล่นและคนดู นึกถึงเวลาทีมฝ่ายเราได้ใบแดงก็จะรู้ว่าไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ส่วนท่าทีมฝ่ายตรงข้ามได้ใบแดงก็จะรู้สึกว่ามันสมเหตุสมผล

      การประกวดนางสาวไทยที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นลักษณะใกล้เคียงกัน แม้ว่าเราจะเป็นกลางขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เราก็มักจะไม่คิดว่าตัวเอง หรือกลุ่มของเราว่าผิด

       อคติแบบนี้ผิดหลักเหตุผล แต่มันเกิดขึ้นจากกลไกของวิวัฒนาการคือความอยู่รอด การเข้าข้างฝ่ายตนเองนำไปสู่การช่วยเหลือกันในเผ่าพันธุ์ ซึ่งถ้าเราเข้าข้างกันเป็นมิตรกับคนรอบตัวหรือคนสนิท ก็ทำให้เราอยู่รอดในสังคมได้มากกว่า ลองนึกถึงว่าถ้าเราอยู่ ๆ ไปเข้าข้างทีมกีฬาของอีกโรงเรียน แค่คิดก็นำมาซึ่งความแตกแยก และอันตรายของเราแล้ว

       นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอคติ ซึ่งความจริงมีอยู่มากมาย และเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา

       ถึงอคติจะทำให้เราพบคำตอบที่ผิดพลาด หรือไม่สมเหตุผลสมผล แต่อคติเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของสมองเลยทีเดียว เพราะจากที่กล่าวไว้แล้ว สมองมีงานมากมายที่ต้องทำ ในบางเรื่องสมองจึงใช้วิธีลัด หรือวิธีคิดง่าย ๆ ซึ่งก็คืออคติในการให้คำตอบ

       อย่างไรก็ตามอคติจะเกิดขึ้นในกรณีที่ว่าเราไม่รู้คำตอบอย่างแน่ชัดว่าควรจะเลือกหรือตอบอะไร ในกรณีที่มีคำตอบที่เรามีเหตุผลที่ชัดเจนพอที่จะตอบได้ เช่น ถ้าถามว่ากินขนมอะไรแล้วอ้วนกว่า ถ้าข้างซองขนมบอกปริมาณแครอลี่แล้ว เราก็คงไม่ใช้อคติในการเลือกขนมที่เราชอบ ดังนั้นถ้าต้องตัดสินใจอะไรที่สำคัญ ควรหาข้อมูลให้แน่ชัดก็จะช่วยได้ ถ้าสมองได้รับข้อมูลที่เพียงพอที่จะหยิบฉวยมาใช้ได้ง่าย ความแม่นยำของสมองก็มีมากขึ้น

       สมองคิดผิดพลาดได้ แต่ก็ควรเห็นใจ สมองเหนื่อยสมองทำงานหนัก จะหยุดพักวันแรงงานก็ไม่ได้

       เพราะถ้าพักที ก็คงจะหยุดยาวไปเลย.

 ที่มา :  http://www.psychola.com/wordpress/article-by-psychola/biascannothelp/

Tags: psychology, อคติ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #kmanw3
หมายเลขบันทึก: 268937เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท