มิสโจ กับ บันทึก เสด็จพ่อ บรมคุรุแพทย์ ชีวกโกมารภัต ตอนที่ 1


ผมเคยบันทึก ถึง มิสโจ คุณเจือจันทร์ อัชพรรณ  เมื่อ สค 51  และเล่าถึง วิชา ชีวิตและสุขภาพ จาก บรมคุรุแพทย์ ซึ่งมิสโจ เรียกขานถึงท่านว่า เสด็จพ่อ

http://gotoknow.org/blog/9thai/120945 

มีผู้พิมพ์ บันทึก วิชา บางส่วน ของ พระบรมคุรุแพทย์ ชีวกโกมารภัต เผยแพร่     จากต้นฉบับซึ่งมิสโจ เป็นผู้บันทึกและ พิมพ์กันต่อๆมา

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ubasok_hist/ubasok-cheevaka-komarapaj-08.htm

ขออนุญาต คัดลอกต่อ  บางส่วน ดังนี้

คำสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหารสี่ของเสด็จพ่อ เสียดายที่ไม่สามารถถอดคำตามสำนวนของท่านได้.ท่านให้ยอมรับความเป็นจริงเสียก่อนว่า ในโลกมนุษย์หาความสงบสุขได้ยากเพราะธรรมชาติของโลกจักต้องวุ่นวายสับสน โกลาหลอลหม่านอยู่เช่นนี้ตลอดกาลผู้ใดต้องการความสุขกายสบายใจ ต้องเริ่มจากการตั้งตนอยู่ในพรหมวิหารสี่ คือ

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ธรรมที่ข้อนี้ จะต้องปฏิบัติภายในขอบเขตของสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม ไม่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ในท่ามกลางญาติมิตร ไม่ผิดกติกาในหมู่คณะ ไม่ผิดระเบียบวินัยในที่ทำงาน ไม่ผิดจารีตประเพณีนิยมในสังคม ไม่ผิดกฎหมายในประเทศ นอกประเทศ และไม่ฝืนใจตนเอง

เมตตา ความพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ที่ปรารถนาดี มีน้ำใจดีต่อผู้อื่น ครอบครัว ญาติมิตร สังคม ประเทศชาติ และชีวิตทั้งมวลในโลก โดยไม่จำนนต่อความรุนแรงของอธรรม ไม่สยบต่อความตาย เสียดายและเสียใจในความสูญเสีย อันเป็นส่วนของตนเอง

เมตตามิได้เกิดจากความรัก ความใคร่ ความสงสาร ความเห็นใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเสแสร้ง และความกดดันจากภายในและภายนอก เมตตาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ เข้าใจในสภาวธรรม เมตตาปิดกั้นกิเลสตัณหา จึงไม่มีความพยาบาท อภิชฌา หรืออคติใด ๆ แอบแฝงอยู่ จิตใจเยือกเย็น เป็นปัจจัยให้เกิด กรุณา

กรุณา การแสดงออกของเมตตาทางด้านรูปธรรม เป็นพฤติกรรมที่มุ่งให้เกิดผลดีต่อการขจัดปัญหาแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของใคร ที่ไหน เวลาใด โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ช่วยจนสุดหัวใจ เป็นธรรมที่ให้เปล่าด้วยใจจริง ไม่ตั้งเป้าหมายไว้รับการตอบแทน

กรุณามิได้ถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่รีรอมนการทำความดี ไม่ต้องการให้กราบไหว้อ้อนวอนเสียก่อน ไม่ได้ทำเพราะประจบประแจง ไม่ถูกหลอกให้ช่วยเพราะหลงเชื่อ ไม่ถูกยั่วยุให้ทำเพราะความหลงใหล กรุณาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันในสภาวธรรม ปิดกั้นความเห็นแก่ตัว มีแต่ความเสียสละอย่างแข็งขัน เป็นปัจจัยให้เกิด มุทิตา

มุทิตา การให้กำลังใจ ส่งเสริมผู้ประสบความสำเร็จ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ซ้ำเติมผู้ได้รับทุกข์ ไม่ลิงโลดในความล้มเหลวของผู้อื่น แม้ผู้นั้นจะเป็นศัตรูก็ตาม

มุทิตา มิได้หวังผลพลอยได้พลอยดีกับเขาด้วย จึงไม่ริษยา ไม่น้อยใจ ที่ตนเองไม่ได้ดีเช่นผู้อื่น ไม่ลำพองเมื่อผู้อื่นด้อยกว่า เป็นผู้ไม่มีผมด้อยและปมเขื่อง มุทิตาเกิดในขณะจิตที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้จริงตามสภาวธรรม ปิดกั้นความถือดี ทะนงในศักดิ์ศรี ไม่ถือพรรคถือพวก ไม่ดื้อรั้นจนไม่จำนนต่อเหตุผล ก่อให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์ มีความสงบสุขเพราะไม่มีศัตรู

อุเบกขา มีปัญญาเห็นโลกตามความเป็นจริง ตัดอัตตวิสัยออกจากตนเองได้หมดสิ้น เกิดความสมดุลทางใจ ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งด้วยความเป็นกลาง ไม่เกาะเกี่ยวด้วยสิ่งใดให้เกิดความผูกพัน ไม่เอนเอียงด้วยกิเลสตัณหาจนหวั่นไหว ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร เที่ยงตรง ยุติธรรม อยู่เหนือความรักความชัง ความสุขความทุกข์ ไม่ยึดมั่นในความเป็นมิตร หรือศัตรู ทำดีต่อทุกสิ่งด้วยความเสมอภาค ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใด ๆ ไม่ตีราคาในรูปธรรมใด ๆ ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่แยกคุณค่าในนามธรรมใด ๆ ให้เกิดความแตกต่าง สรรพสิ่งในโลกล้วนลงเอยเพียงศูนย์เท่ากันในที่สุด

ลมโชยเป็นที่ชื่นนักแล้ว                แต่น้ำใจในเมตตายังชื่นใจกว่า

ทะเลว่ากว้างนักแล้ว                     แต่น้ำใจในกรุณายังกว้างกว่า

อ้อยตาลว่าหวานนักแล้ว              แต่น้ำใจในมุทิตายังหวานกว่า

ขุนเขานั้นหนักนักแล้ว                  แต่น้ำใจในอุเบกขายังหนักแน่นกว่า

ธรรมสี่ประการนี้ ผู้ที่บรรลุความเป็นพรหมแล้ว ย่อมเกิดเป็นนิลัยประจำตนเป็นธรรมชาติของพรหม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หากมนุษย์สามารถถ่ายโอนความเห็นแก่ตัว และกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้บ้าง ผ่อนหนักเป็นเบา ขูดเกลาทุกเวลานาที ย่อมบรรเทาความรุ่มร้อนของจิตใจ ธาตุทั้งสี่จักไม่แปรปรวนบ่อยนัก หมอและพยาบาลจะไม่มีงานหนักดังทุกวันนี้ เพราะโรคที่ทำลายชีวิตมนุษย์ได้มากที่สุด คือ โรคทางใจ

 รองลงมาได้แก่การบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป การบริโภคอาหารที่เจือปนด้วยสารพิษสะสมอยู่ตามอวัยวะโดยไม่รู้ตัว

ความเยือกเย็นของจิตใจ เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพดีความดันโลหิตเป็นปกติ ไม่ปวดหรือเวียนศีรษะ หัวใจ ปอด ไม่อ่อนแอ ท้องไม่อืดกระเพาะอาหารไม่เป็นแผล ลำไส้ไม่อักเสบ ตับ ไต ม้าม น้ำดี ฯลฯ ตลอดจนการโคจรของลมปราณ ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วยเลย หากทำความรู้จักคุณโทษของอาหารได้ ควบคุมการบริโภคให้พอเหมาะพอควร รู้จักหยุดบริโภคเมื่อจวนจะอิ่ม ไม่บริโภคเมื่อไม่หิวทางกาย รู้จักระงับความหิวทางใจ ที่ทำให้ต้องบริโภคจุบจิบด้วยความอยากไม่บริโภคอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด รสจัดเกินไป ความเป็นพิษจักทำอะไรได้

เสด็จพ่อสงสารชาวอีสานที่อยู่ในที่กันดาร ไม่มีโอกาสเลือกบริโภคได้ เพราะความอดอยากแห้งแล้ง ท่านว่ามีแมลงบางชนิดมีพิษมาก บริโภคแล้วทำให้สมองเสื่อมความจำไม่ดี จิตใจซึมเซา ขาดความกระฉับกระเฉง นอนหลับได้ทุกเวลา โรคพยาธิรบกวน ไม่มีความสุขเลย

พระคุณของเสด็จพ่อ นอกจากทรงสอนให้รู้จักคุณค่าของอาหารแล้ว ยังทรงสอนให้รู้จักสังเกตความแปรปรวนของร่างกาย วิธีป้องกันไม่ให้เกิดความป่วยไข้ในโรคหลายอย่าง และวิธีชะลอความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเขียนได้หมดในระยะเวลาอันสั้นนี้

 มีต่อ   ในบันทึก  ตอนที่สอง http://gotoknow.org/blog/9thai/268886

ผู้เรียนรู้รุ่นหลัง

หมายเลขบันทึก: 268881เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท