ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

กลุ่มออมทรัพย์ : สร้างฐานการจัดการ สร้างฐานทุนสู่การสร้างคน


เห็นได้ว่า กลุ่มออมทรัพย์เป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งของชุมชน ในการสร้างทุน ของชุมชน และการสร้างกลุ่มให้เกิดการจัดการและความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมากกว่ากิจกรรม แต่นั่นหมายถึง เป็นภารกิจที่สำคัญของชุมชนอันจะนำไปสู่การสร้างฐานสู่ความยั่งยืน

กลุ่มออมทรัพย์ : สร้างฐานการจัดการ  สร้างฐานทุนสู่การสร้างคน

 

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว,  ประสิทธิ์ชัย หนูนวล, จินดา จิตตะนัง

 

สมาคมดับบ้าน ดับเมือง

๓๐/๑ หมู่บ้านราชพฤกษ์ ๒ ซอย ๒ ตำบลปากนคร

 อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐

โทรศัพท์ ๐-๗๕๓๑-๘๖๒๓  โทรสาร ๐-๗๕๓๑-๘๖๒๔ อีเมล์ [email protected] 

 


ตั้งหลักคิดให้ชัด การจัดการให้แน่น

                การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ก็คือ การเปลี่ยนฐานคิดจากการพึ่งพาทุนภายนอกมาสู่การพึ่งพาทุนที่เกิดขึ้นจากการจัดการของชุมชนเอง เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของชุมชนบ้านสระบัวจึงเริ่มต้นจากการไปศึกษาดูงานในชุมชนอื่นๆ เช่น ที่ จ.สตูล และจังหวัดสงขลา การเรียนรู้เหล่านี้นำมาซึ่งการเกิดความคิดในการที่จะทำให้กิจกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในชุมชนบ้านสระบัวด้วย ทั้งนี้จากการเรียนรู้ดังกล่าวชุมชนเริ่มเกิดแนวคิดที่จะตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จากการเพาะบ่มแนวคิดดังกล่าวจากกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาซึ่งเรียกว่า กลุ่มประมงออมทรัพย์มุสลิมมะห์ บ้านสระบัว 

ทำไมจึงได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มออมทรัพย์มุสลิมมะห์ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มออมทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่มุ่งหวังให้การดำเนินการหลักเป็นของผู้หญิงในชุมชน ทำไมจึงต้องเป็นผู้หญิงจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจทั้งนี้เพราะการที่ชุมชนต้องการให้ผู้หญิงเป็นผู้ดำเนินการหลักของชุมชนเนื่องมาจากว่าก่อนหน้านี้บทบาทหลักในการทำกิจกรรมของชุมชนนั้นเกิดขึ้นจากการดำเนินการของผู้ชาย ฝ่ายผู้หญิงเพียงเป็นฝ่ายเฝ้ามองดูหรือช่วยอยู่ห่างๆ บางทีก็มีคำถามว่าสามีไปทำอะไรที่ไหน เพื่อต้องการลดช่องว่างและให้บทบาทต่อการพัฒนาที่เท่าเทียมกันแกนนำชุมชนซึ่งก็คือแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์จึงมีมติให้การดำเนินการของกลุ่มออมทรัพย์เป็นการดำเนินการหลักโดยกลุ่มมุสลิมมะห์

                กลุ่มออมทรัพย์บ้านสระบัว ก่อตั้งขึ้นด้วยการอยากให้สมาชิกชาวประมง มีเงินออมมีเงินเก็บ เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่จะไม่ได้ไปธนาคาร เมื่อเก็บเงินไว้กับตัวจึงใช้จ่ายกันหมดนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งทุนสำหรับการพัฒนากิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ที่มีการทำกิจกรรมอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้ในกลุ่มอนุรักษ์เริ่มมีการเก็บเงินเป็นของกลุ่มบ้างแล้วเพราะต้องคอยขับไล่การทำการประมงที่ไม่เหมาะสมในอ่าว จึงต้องมีการเก็บเงินเรือประมงทุกลำ ลำละ ๑๐ บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าน้ำมันในการออกเรือไปขับไล่อวนลากอวนรุน

                เมื่อเกิดแนวคิดที่จะตั้งกลุ่มออมทรัพย์การเก็บเงินจึงใช้แนวเดิมเมื่อครั้งเก็บเงินเข้ากลุ่มอนุรักษ์จากการที่ต้องเดินเก็บในทุกเดือน  ในช่วงแรกคณะกรรมการแบ่งเป็นสี่โซนเพื่อเดินเก็บ ตั้งเป็นหุ้นละ ๒๐ บาท ไม่เกินหุ้น ๕ หุ้นต่อเดือน ครบรอบเดือนไปเก็บเงินออมครั้งหนึ่ง สาเหตุที่เดินเก็บเงินเนื่องมาจากเคยเดินเก็บเงินของกลุ่มอนุรักษ์ก็เลยเดินเก็บต่อ  เก็บเงินเพื่อออมอย่างเดียว  เริ่มแรกเริ่มสนุกในแต่ละบ้านฝากกันหลายคน จนครบหนึ่งปี ปีที่ ๒ คณะกรรมการอยากให้สมาชิกเข้าร่วมมากขึ้น เลยให้สมาชิกมาฝากที่บ้าน ใช้รูปแบบการจัดการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ใช้กฏระเบียบของกลุ่มในการควบคุมจัดการ

                ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น  พอเปลี่ยนมาจ่ายเองต้องมาฝากเองก็เลยไม่สะดวกลาออกกันไปบ้าง แต่กรรมการก็ยืนยันเพราะอยากส่งเสริมความมีระเบียบวินัย การมีส่วนร่วม และการทำกิจกรมร่วมกัน ปัญหาต่อมา คือเริ่มแรกประชุมกันกรรมการไม่ค่อยมา ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ  ไม่มีคนทำงานกลุ่ม  กลุ่มแกนนำเองก็ไม่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการมากนัก มีความสนใจเฉพาะกลุ่มเล็กๆ   สุดท้ายมีปัญหาเรืองระบบเอกสาร   เมื่อมีการแก้ปัญหาเรื่องระบบเอกสารทั้งหมด และระบบการทำงานกระบวนการทำงานและกระบวนการกลุ่มดีขึ้น ทุกคนสนุกกับการทำงาน

 

การจัดการทางบัญชี  ระเบียบวินัยทางการเงิน สู่ความเชื่อมั่น

                กลุ่มออมทรัพย์เป็นกลุ่มที่เน้นการจัดการทางด้านการเงิน ปัจจัยหลักๆ ในการดำเนินงาน คือ หนึ่งความน่าเชื่อถืออันจะนำไปสู่ความเชื่อมมั่นของสมาชิก สอง กฎระเบียบของกลุ่มและการบริหารจัดการ สาม การเปิดเผยข้อมูล ติดตามตรวจสอบได้  จากการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ที่นี่ เมื่อดำเนินการฝากถอนเสร็จ จะปิดบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในวันนั้น และจะนำเงินส่วนที่เหลือฝากธนาคาร แล้วสำเนาหน้าสมุดธนาคารมาติดไว้ในที่เปิดเผย  หรือหากติดเสาร์อาทิตย์ก็จะดำเนินการภายในเปิดราชการทันที 

                การจัดการที่ดี ย่อมนำมาสู่ความราบรื่น ความเชื่อใจ  และการไม่เป็นภาระ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกระเบียบวินัยไปในตัวด้วย  กล่าวคือ กลุ่มอออมทรัพย์จะดำเนินการเดือนละ ๑ ครั้ง ดังนั้นหากจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้นภายใน ๑ วันก็จะไม่เป็นภาระกับภารกิจครอบครัวหรืออื่นๆ  กลุ่มออมทรัพย์แม้จะมีเงินเยอะแต่หากขาดระเบียบวินัยทางการเงินและขาดความน่าเชื่อถือ จะปิดตัวลงได้ง่ายๆ  ดังนั้นความสม่ำเสมอ ความต่อเนื่องต้องเสมอต้นเสมอปลาย

 

สร้างออมทรัพย์ให้เป็นทั้งออม และที่พึ่ง

                ตอนเริ่มออมทรัพย์ปีแรกไม่มีใครกู้ อยากฝากอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีปัญหาทางการเงิน ประกอบกับยังไม่เข้าใจกฎระเบียบต่างๆ มากนัก  ในปีหลังสมาชิกเริ่มมีความต้องการเงิน  และหวังให้กลุ่มออมทรัพย์เป็นที่พึ่งทางการเงิน จึงมีการปล่อยกู้เงินฉุกเฉิน เนื่องจากมีความจำเป็น ในการซื้อตาชั่ง ในการซ่อมเรือ  เครื่องมือประมง เมื่อมีการกู้ได้ เริ่มมีคนรู้สึกว่าดี เลยเข้ามาเรื่อยๆ  เริ่มแรกหลายๆคนก็หวังออมเงินเพื่อการกู้ แต่คณะแกนนำอยากให้สมาชิกเน้นการออม  ดังนั้น จึงเอากลุ่มออมทรัพย์ไปผูกติดกลับกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น ร้านค้าชุมชน กองทุนประมง จะต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ก่อน จึงจะเป็นสมาชิกกลุ่มอื่นได้ 

                หลังจากมีการปล่อยกู้  สมาชิกที่ค้างจ่ายเกินเวลาที่กำหนดก็จะมีหนังสือจากกลุ่มไปทวง ในการสรุปรายปีก็มีรายชื่อติดไว้ตามร้านน้ำชา  เป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่ค่อยได้รับความพอใจจากสมาชิกมากนัก  ส่งผลให้ มีปัญหาโกรธกันบ้าง ลาออกกันไปบ้าง  แต่ก็เป้นกติการ่วมกันของคนในชุมชน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัวด้วย  เพราะเมื่อสิ้นปีจะติดประกาศทางบัญชี ว่าใครมีเงินเท่าไหร่ มีการกู้เท่าไหร่ ใครค้าง ใครกู้  และที่สำคัญ ระบบการเงินคืนกำไรสู่ชุมชนในเรื่องไหนบ้าง  เป็นการกระตุ้นสมาชิก และเชิญชวนสมาชิกใหม่ๆในชุมชนเข้าร่วมให้มากขึ้นไปอีกด้วย

ออมทรัพย์ คือฐานของชุมชนในการแก้ปัญหา

                ปัจจัย หลักที่ทำให้กลุ่มออมทรัพย์ตั้งขึ้นมาได้ ๕ ปีแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการและสมาชิกมีความตั้งใจ  มีความจริงจัง  มีการเสียสละ  จนสร้างความน่าเชื่อถือเชื่อมั่น ของคนในชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ไม่ได้หยุดนิ่งแค่การออมและการกู้  แต่ค่าธรรมเนียมยังตั้งเป็น กองทุนพัฒนากลุ่ม  กองทุนพัฒนาสังคม  และกองทุนสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมแล้วประมาณ ๑๐๐ ครัว มีสมาชิกร้อยกว่าคน  และมีสมาชิกที่มีการกู้เป็นครึ่งหนึ่งของคนฝากทั้งหมด

ตารางที่  ๑ แสดงการจัดสรรการเงินของกลุ่มออมทรัพย์

ที่

รายการ

อัตราปันผล

1

กองทุนพัฒนากลุ่ม

ร้อยละ 15

2

กองทุนพัฒนาสังคม

ร้อยละ 15

3

กองทุนสวัสดิการสมาชิก

ร้อยละ 40

4

กองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล

ร้อยละ 15

5

ค่าตอบแทนคณะกรรมการ

ร้อยละ 15

 

          จากการจัดสรรเงินของกลุ่มออมทรัพย์แสดงให้เห็นว่า กลุ่มออมทรัพย์นี้นอกจากประเด็นที่พึ่งทางการเงินแล้วยังเป็นแหล่งทุนสำหรับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันจ่าย อีกทั้งยังเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อรวบรวมเข้ากับกองทุนอื่นๆ

                จากการที่กลุ่มออมทรัพย์ไม่มีดอกเบี้ย แต่มีการหักค่าธรรมเนียมเพื่อการบริหารจัดการ  และนำค่าธรรมเนียมเหล่านี้คืนกำไรสู่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนกันเอง ดังนั้นส่งผลให้กลุ่มออมทรัพย์มีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือ การออมและเป็นฐานทุนพัฒนาชุมชน เป็นฐานทุนในการพัฒนาชุมชน พัฒนาคนอย่างมีส่วนร่วมชัดเจน เพราะผลของการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ คือ ไม่หวังผลกำไร แต่เป็นการหวังเรื่องคน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

                                กลุ่มออมทรัพย์ที่บ้านสระบัวก่อตัวและสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไรและอะไรเป็นจุดเด่นของกลุ่มออมทรัพย์ที่นี่? จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจ  ประการต่อมาหากเราถอดรหัสของกลุ่มออมทรัพย์บ้านสระบัวก็จะพบว่ามีการดำเนินการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาของชุมชนเป็นหลัก คำว่าแก้ปัญหานั้นก็หมายความถึงการเติมเต็มปัจจัยที่ยังขาดในการสร้างสุขชุมชนและการสร้างคนในชุมชนให้รู้จักการออมและมีวินัยในการดำเนินชีวิต 

 

ผูกออมทรัพย์ไว้กับกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชน

กลุ่มออมทรัพย์ที่บ้านสระบัวยังกลายเป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีฐานสมาชิกมากที่สุด ทั้งนี้เป็นความต้องการของแกนนำชุมชนที่ต้องการให้การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในชุมชนนั้นต้องผ่านการเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ก่อน ด้วยการดำเนินการดังกล่าวทำให้ระบบกลุ่มการทำกิจกรรมของชุมชนบ้านสระบัวเกิดการเชื่อมโยงกันหมดกลายเป็นลูกไก่ฝูงเดียวกัน ซึ่งมีปรัชญาการดำเนินการคล้ายกันรวมถึงกลุ่มคนที่ดำเนินการแต่ละกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มคนที่ผ่านการมีระบบคิดเดียวกันโดยมีแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์เป็นแกนหลักในการเป็นพี่เลี้ยงของกรรมการทุกกลุ่ม

                กลุ่มออมทรัพย์กลายเป็นกลุ่มหลักของชุมชนเพราะกลายเป็นเงื่อนไขว่า  ถ้าใครจะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มอื่นๆจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ก่อน  ทั้งนี้เนื่องจากการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์แท้ที่จริงคือกระบวนการพัฒนาคน เพราะฝึกให้คนรู้จักการออม ตรงต่อเวลา  มีวินัย เห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่อาจสอนกันได้ มีแต่ลงมือทำจึงเห็นผลที่แท้จริง  นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการตรวจสอบสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ผ่านกลุ่มออมทรัพย์อีกด้วย  การออกแบบในลักษณะนี้เป็นผลมาจากการที่ทุกกลุ่มล้วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งในเชิงงานและกลุ่มคน  กลุ่มออมทรัพย์จึงทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้ให้คนด้วยนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ  และหากดูกิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์จะทราบว่า กลุ่มของบ้านสระบัวได้หลีกพ้นไปจากมิติทางด้านเศรษฐกิจแต่ก้าวไปสู่การใช้กลุ่มออมทรัพย์จัดการทางสังคม ซึ่งการให้ซะกาต  กองทุนสวัสดิการสังคม กองทุนประมง เป็นต้น

 

ใช้ออมทรัพย์เป็นเครื่องมือขยายฐานการเรียนรู้และความร่วมมือแก่ชุมชนอื่น

                กลุ่มออมทรัพย์แม้จะเป็นเพียงกลุ่มกิจกรรมเล็กๆในชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่สร้างคน และมีความต่อเนื่องของกิจกรรมเป็นอย่างดี  จากการทำงานมาต่อเนื่องและตกผลึกทางความคิด แกนนำชุมชนจากบ้านสระบัว และบ้านในถุ้ง มีแนวคิดในการขยายฐานการเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆ จึงได้ดำเนินการขยายการเรียนรู้ในตำบลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ จนก่อเกิดเป็น เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา  สามารถสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการในระดับตำบล สร้างความร่วมมือกับ อบต. ในการยกระดับสู่กิจกรรมอื่นๆ

                นอกจากนี้ ยังขยายฐานไปยังตำบลอื่นๆ เพื่อสร้างฐานชุมชน ผ่านความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและภูมินิเวศวัฒนธรรมและอาชีพ  การขยายฐานการเรียนรู้นี้ นอกจากได้เพื่อนแล้ว ยังนำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ๆ ที่เป็นประเด็นร่วม เช่น ปัญหาประมงพาณิชย์  การแลกเปลี่ยนเรื่องความรู้ในการพัฒนาชุมชน

 

 

บทสรุปของกลุ่มออมทรัพย์ : สร้างฐานการจัดการ  สร้างฐานทุนสู่การสร้างคน

                เห็นได้ว่า กลุ่มออมทรัพย์เป็นกิจกรรมเล็กๆ  แต่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งของชุมชน ในการสร้างทุน ของชุมชน และการสร้างกลุ่มให้เกิดการจัดการและความต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นมากกว่ากิจกรรม แต่นั่นหมายถึง เป็นภารกิจที่สำคัญของชุมชนอันจะนำไปสู่การสร้างฐานสู่ความยั่งยืน 

                ดังนั้น คำถามที่สำคัญต่อกลุ่มออมทรัพย์หรือการพัฒนา คือ ให้กลุ่มออมทรัพย์เป็นประโยชน์อย่างไรต่อชุมชน เป็นฐานการพัฒนาได้อย่างไร  เพื่อจะต้องตอบให้ได้ว่า ออมทรัพย์ เป็นมากกว่าการกู้เงินหรือการออมเงินเพียงอย่างเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มประมงออมทรัพย์มุสลิมมะห์  บ้านสระบัว. ระเบียบเพื่อการบริหารจัดการและดำเนินงาน

 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๕ วันที่............... ๒๕๕๑

เครือข่ายทรัพยากรและการจัดการสิ่งแวดล้อม. เพื่อให้อยู่ดีที่บ้านเรา : บทเรียนของชุมชนเพื่อรักษา

ต้นธารแห่งชีวิต โครงการดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ

สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) . ๒๕๔๙

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว และคณะ. สร้างสุขด้วยยุทธการพอเพียง ว่าด้วยการสรีระชุมชนที่สระบัว. โครงการดับ

บ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) .

๒๕๕๑

วิจารณ์ พาณิช. การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ. สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.).

๒๕๔๘

 

 

ภาคผนวก

 

หมายเลขบันทึก: 268878เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท