ใครผิด


บทบาทครูผู้ปกครอง

โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ภาพ ของเด็กนักเรียนหญิงชาย 78 คน ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายหนีโรงเรียนไปเที่ยวสวนสัตว์ถูกจับได้ สื่อมวลชนนำเสนอข่าวนักเรียนเอากระเป๋าหนีบปิดป้องหลบหนีไม่ให้เห็นหน้า หลายคนบอกว่าไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง แฟนบ้าง จับกันเป็นคู่ขาสั้น คอซอง บางคนบอกเบื่อครู เรียนทั้งวัน เครียดกดดันเนื้อหาไม่น่าสนใจ และอื่นๆ ผู้บริหารโรงเรียนมารับเด็กแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ บอกว่าโรงเรียนทำได้อย่างมากแค่ว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษเฆี่ยนตีไม่ได้เพราะเป็นเรื่องสิทธิเด็ก

วันต่อๆ มาก็มีการไปจับเด็กตามสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านเกม ซึ่งก็พบเด็กหนีโรงเรียนจำนวนมากแทบทุกแห่งทั่วไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนเพิ่งเปิดได้เพียง 2-3 สัปดาห์ เด็กน่าจะยังต้องการไปโรงเรียนหลังปิดเทอมมายาวนาน อยากมาพบเพื่อนเก่าใหม่ ครูประจำชั้น มาเรียนวิชาที่สนใจ กิจกรรมที่รวมตัวกัน เป็นต้น

ทำไม เด็กไม่ชอบโรงเรียน หนีเรียน ไม่มีความสุขในโรงเรียน น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันทีเดียว มุมมองในอดีต เรามักจะโทษการหนีโรงเรียนไปเที่ยวข้างนอกว่า เป็นเด็กเกเร ไม่รักดี ขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่เที่ยวเตร่ เป็นปัญหาพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก

ในปี พ.ศ.2551 โครงการไชลด์วอทช์ (Child Watch) ค้นพบว่าสถานการณ์และปัญหาเด็กและเยาวชน 5 เรื่องใหญ่

คือ 1.เด็กขาดความสุขไม่ชอบไปโรงเรียน 2.การตั้งครรภ์ของเด็กวัยรุ่นหญิง 3.คุกเด็กสถานพินิจล้น 4.เด็กอ้วน 5.เด็กติดเกม อินเตอร์เน็ต มือถือ

ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจมากเด็กมีอาการเบื่อเรียนเร็วมาก โรงเรียนเพิ่งเปิดหมาดๆ เด็กก็เริ่มหนีเรียนกันแล้ว

ใน ชีวิตที่ต้องลงภาคสนาม คลุกคลีกับเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ผู้เขียนพบว่าในแต่ละวันอย่างน้อยจะพบเด็กหนีเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกวันตาม แหล่งมั่วสุมต่างๆ ภาพเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาใส่ชุดนักเรียนชายหญิง เดินจับมือถือแขนกันเป็นคู่ๆ แทนภาพนิสิตนักศึกษามากยิ่งขึ้น

เห็น นัยน์ตาหื่นๆ ของเด็กชายที่พยายามลวนลามนักเรียนหญิงที่ยังเอียงอาย เอามือปิดป้องอวัยวะของตัวเองก็มีไม่น้อยกว่า 2-3 คู่ ในแต่ละวัน

เกิด อะไรขึ้นจากสภาพสังคมไทย โรงเรียนมิใช่คำตอบ สถาบันที่เตรียมสร้างและหล่อหลอมเด็กไทยให้มีคุณภาพต่อไปใช่หรือไม่ ครูดูแลเด็กเพิ่มมากขึ้น ลดลง หรือทำภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า เด็กทำผิดเกิดจากเรียกร้องสิทธิเด็กมากเกินไปหรือเปล่า ผู้เขียนจะพยายามอธิบายปรากฏการณ์เด็กหนีโรงเรียนตามข้อค้นพบจากงานวิจัยดัง ต่อไปนี้

1.นิสัยและทัศนคติต่อการเรียนของเด็กไม่ชัดเจน เด็กไม่ทราบว่าตัวเองชอบอะไร ต้องการประกอบอาชีพอะไรในอนาคต ค่อนข้างเลื่อนลอย ขาดเป้าหมายและความมุ่งมั่นของการเรียนรู้เพื่ออะไร เด็กจึงสักแต่เรียนไปวันๆ ไม่มีชีวิตชีวา เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มสนใจสังคมเพื่อน การเข้าสู่เรื่องเพศจากสื่อต่างๆ การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อพูดคุย ดูภาพโป๊ ความบันเทิงและอื่นๆ เมื่อเพื่อนชักชวนโดดเรียนจึงแทบไม่รีรอเพราะพ้นจากรั้วโรงเรียนคือความ อิสระ ทำอะไรที่ตัวเองต้องการได้อย่างเต็มที่ มีเพื่อนต่างเพศ คู่รัก สังคมที่พูดภาษาเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน รสนิยมเหมือนกัน มีความสุขในสังคมเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ทำอะไรก็ได้

สวน สัตว์ สวนสาธารณะจึงเป็นที่เดินเที่ยวจูงมือกัน มีมุมธรรมชาติไว้พลอดรัก พูดคุยสนุกสนานได้ ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า เดินดูของ เล่นเกม ดูภาพยนตร์ สำรวจมือถือ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพลิดเพลินเจริญตา ไม่น่าเบื่อหน่าย เป็นต้น

2.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเปลี่ยนบทบาทไป ครูทุ่มเท เอาใจใส่ ช่วยติดตามแก้ไขปัญหา ตักเตือนดุด่าว่ากล่าว เฆี่ยนตีลดลง

ครู ถอยมาก้าวหนึ่งของวิชาชีพ ดูแลเด็กตามบทบาทหน้าที่ (Function) ที่ได้รับกำหนดมา คือ สอนหนังสือให้ครบตามคาบเวลา ตักเตือนเด็กให้ตั้งใจเรียน มีความประพฤติเหมาะสม ถ้าต้องลงโทษเฆี่ยนตีทำไม่ได้ เมื่อเตือนแล้วไม่เชื่อฟังก็ต้องเป็นเรื่องของเด็กและครอบครัวจัดการกันเอง ความสัมพันธ์ในเชิงกัลยาณมิตรกับศิษย์จึงลดลง

ยิ่งปัจจุบันครูไม่ น้อยมาทำงานเอกสารด้านวิชาการรายงานการวิจัยกันมากเพื่อเพิ่มวิทยฐานะความ ก้าวหน้าของตนเอง การทุ่มเทเพื่อศิษย์จึงลดลงไปเป็นอันมาก ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมัวแต่ทำงานหาเงินกันตลอดเวลา มีเวลาน้อยจึงปรนเปรอลูกด้วยวัตถุนิยม เมื่อลูกทำผิด ถูกครูทำโทษจึงมักปกป้องสิทธิลูกเกินกว่าเหตุ กล่าวโทษครูจนปรากฏเป็นข่าว สุดท้ายเด็กนักเรียนจึงถูกทอดทิ้งทั้งจากครูและพ่อแม่ไปโดยไม่รู้ตัว และค่อยๆ ถูกผลัก หนีเรียน ข้ามรั้วโรงเรียนสู่สังคมที่เต็มไปด้วยพื้นที่เสี่ยงมากมาย สื่อลามกอนาจาร ยาเสพติด ร้านเกม ตู้ม้า เหล้าปั่นและอื่นๆ การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานเป็นที่สุด สังคมภายนอกโรงเรียนจึงสนุกกว่า เร้าใจกว่า ไร้ระเบียบ ไม่มีใครดุด่าว่ากล่าว เป็นสังคมที่ทำอะไรได้ตามใจหรือตามความต้องการของตัวเองและสังคมเพื่อนอย่าง มีความสุขที่สุดก็เป็นได้

3.กระบวนการสอนของครูตามระบบหลักสูตรการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2251 ครูยังสอนเน้นการบรรยาย เน้นความจำตามหนังสือ 8 กลุ่มสาระ 67 มาตรฐาน อัดแน่นเชิงเนื้อหาวิชาตลอดทั้งวัน วันละ 6-7 คาบ ในเนื้อหา 8 กลุ่มพบว่า เนื้อหาทางด้านสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยีตกยุคและล้าสมัยเป็นอย่างยิ่ง ขาดความน่าสนใจเป็นที่สุด

เด็กหนีเที่ยวเพราะต้องการสถานที่แปลกใหม่ ทัศนศึกษา ต้องการโครงงาน กิจกรรมที่ทำร่วมกัน

ทำไม ไม่คิดตั้งโจทย์คำถาม กำหนดโครงการกิจกรรมให้ตรงกับความสนใจร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เด็กจำนวนไม่น้อยบอกว่าเรียนมากจนสมองบวมแล้ว อาการเบื่อหน่ายเพิ่มมากขึ้น ครูเสื้อเหลือง เสื้อแดง เลือกฝ่ายตนเองกว่าจะสอนได้ต้องวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามจนเกือบหมดเวลา กว่าจะได้สอนจริงๆ จังๆ ไม่นานนัก

นี่คือหลุมใหญ่ของภาควิชาการที่ยิ่งเน้นเนื้อหามากยิ่งน่าเบื่อหน่ายและทำให้เด็กหนีโรงเรียนง่ายขึ้นด้วย

4. การกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตายของนักเรียน ค่านิยมของเด็กและผู้ปกครองต้องการให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้ การกวดวิชาแทบทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ยังไม่เว้น เพื่อเรียนเทคนิคการทำข้อสอบ ทำให้เด็กไม่ได้พักผ่อน สนุกสนาน ทำกิจกรรมตามวัยที่ควรจะเป็น ถูกบังคับให้เรียนตาม 8 กลุ่มสาระ มีคะแนนเฉลี่ย GPAX สูงไว้เพื่อได้เปรียบผู้อื่นๆ

เด็กรู้ว่าจะสอบ เข้ามหาวิทยาลัยได้มาหาเทคนิคที่โรงเรียนกวดวิชาดีกว่าที่โรงเรียน ที่โรงเรียนเรียนบ้าง โดดบ้าง โรงเรียนก็ปล่อยเกรดอยู่แล้ว

การโดด เรียน หนีเรียนจึงเป็นปฏิกิริยาต่อต้านระบบบังคับชีวิตนักเรียนจนเกินไป หาพื้นที่เพื่อนเพื่อปลดปล่อยตนเองบ้าง ทำชีวิตให้ผ่อนคลายขึ้น เพราะแบกค่านิยมและความต้องการของคนอื่นมาโดยตลอด

การหนีเรียนยังมี สาเหตุอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีปัญหากับเพื่อน ครูบางคน ผู้บริหารที่เข้มงวดจนเกินไป และอื่นๆ การแก้ไข คือ โรงเรียนต้องมีบรรยากาศที่ร่มรื่น ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ผู้บริหารกล้าคิดนอกกรอบเปิดโรงเรียนให้ระบบหลักสูตรเกิดความเชื่อมโยงกับ การเรียนรู้ภายนอกมากยิ่งขึ้น มีโครงงาน กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายตามความสนใจ ครูกับพ่อแม่พูดคุยปรึกษาหารือกัน แก้ปัญหาและให้คำแนะนำเป็นรายบุคคลได้ สอนเด็กให้รู้จักสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และจิตสำนึก เติมเต็มในเรื่องทักษะชีวิตและภูมิต้านทาน

พ่อ แม่ควรลดเวลาการทำงานลง ทุกวันมีกิจกรรมร่วมกัน เวลาคุณภาพ 20-30 นาทีพูดคุยกับลูก การสร้างอัตลักษณ์ อนาคตที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น เสริมแกร่งความมุ่งมั่น หัดให้เด็กช่วยงานบ้าน รู้จักการทำงานและอดทน หมั่นกอดลูกทุกวัน รู้จักสังคมเพื่อนของลูกทุกคน

นี่คือการเยียวยาโรคเด็กหนีเรียนได้ผลอย่างแน่นอน

อยาก ฝากเด็กหนีเรียนเป็นโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ที่ป่านนี้ยังงุ่ม ง่าม หลงทาง และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนได้



ที่มา - มติชนรายวัน หน้า 6 - วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11414

หมายเลขบันทึก: 268833เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • อ่านแล้วรู้สึกว่า เรื่องแบบนี้เกิดซ้ำซาก น่าห่วงที่คุณภาพของคนไทยในรุ่นที่เด็กๆ ปัจจุบันโตเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาติค่ะ
  •  ใครจะเป็นคนแก้ปัญหาพวกนี้ละคะ???? 
  • หรือจะยกความรับผิดชอบไปให้ ครู...พ่อแม่....???
  • เรียนถามกลับไปที่อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ในฐานะเป็นครูของครูว่า  คณะครุศาสตร์ พอจะหาทางออกให้ปัญหาใหญ่ของชาติได้อย่างไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท