เกือบจะต้องเสียขา


เกือบจะต้องเสียขา

          กลางแดดบ่ายอันร้อนจ้า  พยาบาลห้องคลอดวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามา  เหงื่อโทรมบริเวณใบหน้า  เส้นผมตกมา  2-3  เส้น  เธอพูดพร้อมปาดเหงื่อที่หน้าผาก  ขณะที่ฉันสาละวนอยู่กับงานมากมายที่วางกองอยู่บนโต๊ะ  ฉันเงยหน้าขึ้นยิ้มพร้อมกับบอกว่า  หนูนั่งกินน้ำให้ใจเย็นก่อน  เธอไม่ได้ทำตามที่ฉันบอก  เธอเล่าว่า  หนูไปเยี่ยมบ้านไปเห็นบ้านคนไข้มา  หนูอยากจะรื้อบ้านจริง 

          สนองชายวัยกลางคนเป็นเบาหวานมาประมาณ  5-6  ปี  มารับการรักษาไม่ต่อเนื่องงานผู้ป่วยนอก  ได้ส่งปัญหานี้ให้กับทีมงานเยี่ยมบ้าน  เพื่อให้สนองได้รับการดูแลตามเกณฑ์  โดยการไปเจาะเลือด         นำยาไปให้ที่บ้าน  ขาข้างขวาเริ่มลีบ  และเริ่มมีแผล  พยาบาลช่วยเหลือโดยการใช้ไม้ค้ำยัน  และแนะนำให้ไปรับยาโรงพยาบาล  แต่สนองก็ไม่ได้ไปตรวจตามนัด  จนกระทั่งวันหนึ่ง  สนองมาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนเพลียมาก  ตรวจพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง  350 mg/dl  มีแผลที่ขาข้างขวายาวตั้งแต่ข้อเท้าถึงเข่า  ลักษณะแผลมีน้ำเหลืองไหลเป็นทางยาว  เปรอะเปื้อนขา  มีกลิ่นเน่าเหม็นออกมาจนพยาบาลต้องใส่ผ้าปิดจมูก  เมื่อสัมผัสปรากฏว่า  ตัวสนองร้อนจี๋  พยาบาลคนหนึ่งบอกว่าตัวร้อนมากให้นำปรอทไป   วัดไข้  พบว่าอุณหภูมิ  40 oC  เมื่อประเมินสภาพแล้ว  พยาบาลรายงานแพทย์  เมื่อแพทย์ตรวจดูอาการให้การวินิจฉัยว่า Hyperglycemia ê Sepsis  (ภาวะน้ำตาลต่ำและการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง)  ต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทั่วไป  และอาจต้องตัดขา  สนองน้ำตาไหลพราก  คิ้วขมวดเข้าหากัน  และพูดว่า  ผมไม่ไปรักษาโรงพยาบาลไหนทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลบ้านลาด  หรือโรงพยาบาลทั่วไป  ผมไม่มีญาติดูแล พยาบาลได้อธิบายถึงความจำเป็นจะต้องนอนโรงพยาบาลจนสนองยอมนอนที่          โรงพยาบาลบ้านลาด  สนองนอนพักรักษาตัวได้  3  วัน  จึงขอกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน  เราไม่ได้ข่าวคราวของสนองอีกเลย

วันหนึ่งพยาบาลห้องคลอดได้ออกเยี่ยมบ้านคนไข้หลังคลอดในละแวกบ้านที่สนองอาศัยอยู่  พร้อมกับทีมเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลที่ไปเยี่ยมบ้านสนอง  คำพูดที่สะดุดในใจฉันจากพยาบาลห้องคลอด     นั่นคือ  หนูอยากจะรื้อบ้านจริง    และผู้ป่วยมีแผลเน่าเหม็นซึ่งเป็นแผลเบาหวาน  ฉันในฐานะเลขาทีมดูแลผู้ป่วย  ฉันทิ้งงานบนโต๊ะไปชวนหมอซึ่งมาอยู่ได้ประมาณ  6  เดือน  หัวหน้างานผู้ป่วยใน  หัวหน้างานอุบัติเหตุฉุกเฉิน  หัวหน้างานกายภาพบำบัด  งานเยี่ยมบ้าน  และพยาบาลห้องคลอด  พร้อมคนขับรถ  ในใจที่ชวนคนอื่น    ไป  อยากให้เขาได้เห็นสภาพจริง  บ้านของสนองห่างจากโรงพยาบาลเพียง  3  กิโลเมตร   เมื่อถึงบ้านสนอง  สภาพบ้าน  มันน่ารื้อจริง    สมดังที่น้องพยาบาลบอก   สภาพเป็นหลังคามุงจากแซมด้วยสังกะสี  มองเห็นรอยสนิมและน้ำหยด  มีแคร่ไม้ไผ่อยู่ริมห้อง  มีฟูกเก่า    กลิ่นเหม็นสาบ  ลักษณะสีดำสกปรกไม่เคยผ่านการทำความสะอาด  พื้นบ้านเป็นพื้นดินสีดำ  สภาพอับชื้น  มีก้นบุหรี่ทิ้งเรี่ยราด  ฝาบ้านบุด้วยกระดานอัด  ป้ายโฆษณาและกระดาษแข็งกรุผนัง  สนองนั่งอยู่บนแคร่เล็ก          ผิวดำแดง  สกปรก  ผมยาว  มีหนวดเครายาวเหมือนแขกอินเดีย  ความรู้สึกขณะนั้นบ้านเรายังมีคนอยู่สภาพแบบนี้อีกหรือ  ฉันนึกถึงรายการวงเวียนชีวิต  และอยากจะรื้อปัดกวาดบ้านใหม่เสียเดี๋ยวนั้น  สนองมีสีหน้าตกใจเล็กน้อย  ต่อมาก็ปรับเป็นยิ้มแย้มแจ่มใส  ทีมงานของเราพูดคุยกับสนองถามถึงทุกข์สุข    บ้างก็เดินไปคุยกับข้างบ้าน  บ้างก็เดินดูรอบบ้าน  ฉันมองสีหน้าทุกคน  คิ้วขมวด  เงียบ  ส่วนหมอที่พาไปด้วย  ได้ตรวจและสั่งการรักษา  พยาบาลหัวหน้า ER ทำแผล  งานกายภาพบำบัดแนะนำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ  การเดิน  เราอยู่ที่นั่นประมาณ  1  ชั่วโมงกว่า  จึงขึ้นรถ กลับ  ทุกคนเงียบ  ฉันไม่รู้ว่าเขาเหนื่อย...หรือเงียบงันเมื่อได้เห็นสภาพของสนองก็มิอาจรู้ได้...

วันรุ่งขึ้นการประชุมทีมงานดูแลผู้ป่วยได้เกิดขึ้น  ปัญหาที่พบจากการสอบถามข้างบ้านซึ่งเป็นพ่อตา  ไม่ถูกกันกับสนอง  เพราะแต่ก่อนสนองเคยขับรถบรรทุกสิบล้อ  เมื่อป่วยเป็นเบาหวาน  และมีแผลที่เท้า    ไม่สามารถทำงานได้  ต้องนั่ง    นอน    อยู่กับบ้าน  ภรรยารับจ้างวันละ  150  บาท  ถ้าไม่ได้ไปทำงานก็ไม่ได้เงิน  ส่วนลูกสาว  2  คน  กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่  6  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  ภรรยาเล่าว่า  เมื่อต้องพาสนองมาโรงพยาบาลต้องงดรับค่าจ้าง  150  บาท  ซึ่งเป็นเงินเลี้ยงครอบครัว  ทีมงานมองตากัน  นิ่งนานและแล้วแสงสว่างในใจของก็เกิดขึ้น  จึงได้ข้อสรุปว่าเราจะไปทำแผลที่บ้าน  ในช่วง  1  เดือนแรก  เราจะไปทำแผลวันละ  2  ครั้ง  เช้า-เย็น  และเมื่อแผลดีขึ้น  เราจะไปทำแผลเดือนละ  1  ครั้ง  เมื่อแผลแคบลงได้สอนภรรยาและลูกทำแผลเองทุกวัน  โดยมารับชุดทำแผลที่โรงพยาบาล  ส่วนเรื่องของการรับยาให้มารับยานอกเวลาราชการ  การทำงานเพื่อสนองไม่หยุดอยู่แค่นั้น  ยังมีการประสานกับสถานีอนามัยเพื่อให้มาทำแผลและดูแลต่อ  ในส่วนที่อยู่อาศัยเราได้ไปประสานกับ  สอ.  อบต.  และพ่อตา  เนื่องจากต้องการไล่ลูกเขย  เราคุยอยู่  และความฝันของสนองก็เป็นความจริง  เมื่อพ่อตาให้ที่ปลูกบ้านทางด้านหลัง  และอบต.ช่วยสมทบเงิน  30,000  บาท  โดยคนงานโรงพยาบาลไปช่วยกันสร้าง  สนองได้บ้านใหม่  พร้อมกับขาขวาที่หายเกือบสนิท  ซึ่งครั้งหนึ่งหมอบอกว่า  อาจต้องตัดขา  สนองควบคุมระดับน้ำตาลได้ใกล้เคียงปกติ  ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ  และการดูแลหัวใจของความเป็นมนุษย์  จากทีมสุขภาพ  ครอบครัว  ญาติ  และ  อบต.  ทุกวันนี้สนองอยู่อย่างมีความสุข  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ฉันได้นำเรื่องไปเล่าในการประชุมกลุ่มการพยาบาล  ในเวทีแห่งการเรียนรู้...ในปีต่อ    มา  ดอกไม้แห่งความดีเริ่มออกดอกและบานสะพรั่งไปทั่วโรงพยาบาลของฉัน  และมันจะบานมากขึ้น    จนเต็มโรงพยาบาลของเรา...

หมายเลขบันทึก: 268702เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2009 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

มาให้กำลังใจ ค่ะ บันทึกได้แล้ว เก่งจัง ค่ะ

ทำตัวหนังสือใหญ่ๆ นะคะ

สวัสดีคะ

มาเชียร์ อีกคนนะคะ

เอาตัวโตๆกว่านี้คะ

อิอิ สาวน้อยก็งี้แหละคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท