เรียนรู้เพื่อเข้าใจเด็กจากหนังเรื่อง ”ดอกไม้แดง..แด่เด็กดี (Little Red Flower)”


อย่าเอาความคิดผู้ใหญ่ไปครอบงำความคิดเด็ก

ผมได้พบหนังเรื่องนี้โดยบังเอิญจาก Lotus Express  เมื่อประมาณปีที่แล้วนี้แล้วนี่เอง :ซึ่งเป็น VCD ราคาแค่ 29 บาทเท่านั้นเอง และไปเจอที่ร้าน GM ในห้าง Fashion Island DVD ในราคาเพียง 69 บาท จึงรีบซื้อเก็บไว้ทันที. เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหนูน้อย ฟางเซียงเซียง ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายอายุ 4 ขวบ ที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลกินนอน ในช่วงหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนปี 1949 เป็นหนังที่ได้รับรางวัล สร้างสรรค์เทคนิคยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเบอร์สิน ครั้งที่ 56 เมื่อปี 2006

ประเด็นที่ผมมองเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของรางวัลที่หนังได้มา แต่ผมประทับใจกับเนื้อเรื่องมากกว่า ซึ่งอยากแนะนำให้ผู้เป็นพ่อแม่ และครูได้ดูกัน เนื้อเรื่องของหนังสามารถทำให้เราได้ฉุกคิดและได้พบมุมมองอื่นๆ จากการสอนเด็ก  ผมเข้าใจว่าหนังพยายามจะสื่อว่าการสอนเด็กนั้น ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อน อย่าเอาความคิดผู้ใหญ่ไปครอบงำความคิดเด็ก อย่าไปสร้างกรอบให้เด็ก ในเนื้อเรื่องมีหลายฉากหลายตอนที่ครูพยายามยัดเยียดสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกให้กับเด็ก และพยายามให้เด็กทำตามกรอบที่วางไว้ เด็กต้องถูกฝึกให้อยู่ในระเบียบวินัยจนตึงเกินไป ครูไม่มีจิตวิทยาในการสร้างความรัก ความอบอุ่นเข้าใจให้แก่เด็ก ทำให้เด็กดูเหมือนหุ่นยนต์ ไม่มีความสดใส ขาดจินตนาการ  เนื้อเรื่องในบางตอนสื่อให้เห็นถึงความเป็นเผด็จการของผู้ใหญ่ ตัดสินความคิดเด็กโดยไม่หาข้อมูลสืบสวนหาเหตุผลให้ชัดเจน ทำให้เด็กไม่กล้าเข้าใจครู โกรธ เกลียด กลัวครู

เรื่องนี้ไม่ใช่ครูเท่านั้นทีมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก มีบางฉากของหนังเรื่องนี้ที่กล่าวถึงความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก ในมุมมองของผู้ใหญ่ ซึ่งผมคิดว่านี่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเครียด กลัว กังวลได้

การสอนไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องทำตามทุกอย่างที่เราอยากให้เป็น อยากให้ทำ ครูไปรับความรู้มา (ที่คิดว่า ดี ถูกต้อง) นำมาสอนต่อให้เด็กตามกรอบวิธีการที่ตนเองได้รับการถ่ายทอดมา เด็กต้องดำเนินตามขั้นตอนวิธีการที่ครูได้สร้างกรอบไว้ ผิดจากนี้ไม่ใช่ เปรียบเสมือนการหาอาหารมา แล้วย่อยจนละเอียด ไม่มีรสชาติสีสัน ให้น่ากิน จึงนำมาป้อนต่อให้ลูกศิษย์ ทำไมไม่บอกว่า นี้คืออาหารชนิดต่างๆ บอกประโยชน์ สรรพคุณ สร้างแรงจูงใจแล้วให้เด็กเลือกกินเอง หรือให้เด็กได้มีโอกาสทำอาหารกินเอง ผมเคยได้ยินเรื่องที่ขำไม่ออกในเรื่องการสอนวิชาคำนวณ โดยลูกศิษย์สามารถแก้โจทย์ได้ แต่ครูไม่ให้คะแนนเพียงเพราะว่าใช้วิธีที่ไม่เหมือนกับวิธีที่ครูสอน ผมยอมรับได้ ถ้าในเนื้อหานั้นครูได้ตั้งวัตถุประสงค์การสอนไว้ว่าหลังจากจบบทเรียนนี้แล้ว ผู้เรียนต้องสามารถแก้โจทย์ด้วยวิธีการนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามครูต้องมีจิตวิทยาในการพูดคุยให้กำลังใจกับเด็กว่าวิธีนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ครูว่าถ้าลองใช้วิธีที่ครูสอนน่าจะทำให้นักเรียนทำโจทย์ได้อย่างสนุกขึ้น และอาจจะเร็วและแม่นยำว่าก็ได้ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 268590เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากดูหนังเรื่องนี้มากค่ะ อยากดูมานานมากก ก.

จะต้องหาซื้อมาดูให้ได้เลยค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท