ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ
ทพญ. ฉลอง ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ เอื้องสุวรรณ

การสื่อสารอย่างสันติ


การสื่อสารอย่างสันติ

การสื่อสารอย่างสันติ

 

               เมื่อพูดถึงเรื่องนี้มีความรู้สึกว่า อาจจะเป็นที่ต้องการของคนไทยหลายคนที่อยากให้บ้านเมืองของเราสงบสุขสันติ ไม่มีขั้ว มีความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะดั้งเดิมของคนไทยมาก่อน ที่มีความรักต่อกัน ยิ้มให้กัน ที่ใคร ๆ ก็เรียกเราว่าเป็น สยามเมืองยิ้ม เอ๊ะและสิ่งดี ๆ เหล่านี้ได้ค่อยๆลบเลือนไปจากหัวใจของคนไทยบางคนได้อย่างไร

               ดร.มาร์แชล โรเซนเบอร์ก ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการสื่อสารอย่างสันติขึ้นมา เนื่องจากพบว่าการสื่อสารมีส่วนในการทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้อย่างมาก

               ดร.มาร์แชล โรเซนเบอร์ก เป็นชาวยิว แต่เติบโตในอเมริกา และต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติและถูกทำร้ายมาตั้งแต่เด็กด้วยประสบการณ์เช่นนี้ ทำให้เขาใคร่ครวญถึงคำถาม 2 ข้อ อยู่เสมอว่าเพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงถูกตัดขาดจากความกรุณา ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ แล้วหันไปใช้ความรุนแรงกดขี่ผู้อื่น แต่ทว่าในขณะเดียวกันเพราะเหตุใดมนุษย์บางคนจึงยังคงไว้ซึ่งความกรุณาแม้ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใดก็ตาม เพื่อหาคำตอบเขาจึงตัดสินใจเรียนด้านจิตวิทยาจนจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาคลินิก แต่ก็ค้นพบว่าพื้นฐานการรักษานั้นมองว่าผู้ป่วยเป็นโรค โดยไม่เข้าถึงความกรุณาอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์

                ดร.มาร์แชล โรเซนเบอร์ก  พบว่าภาษาที่เราใช้นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เขาจึงพัฒนาวิธีการสื่อสารที่สามารถใช้ทั้งการพูดและการฟังขึ้นมา ซึ่งวิธีการนี้ช่วยให้เราเข้าใจกันและกันได้อย่างลึกซึ้ง และเปิดโอกาสให้ความกรุณาอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ได้ผลิบานขึ้นมา

               ดร.มาร์แชล โรเซนเบอร์ก  เรียกวิธีการสื่อสารแบบนี้ว่า การสื่อสารโดยไร้ความรุนแรง (Non violent communication)  ซึ่งคำว่า “ไร้ความรุนแรงนั้น ได้รับแนวความคิดจากท่านมหาตมะคานธี ผู้นำด้านสันติวิธีของโลก

    ดร.มาร์แชล โรเซนเบอร์ก  ได้ก่อตั้งศูนย์การสื่อสารไร้ความรุนแรงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2527 ปัจจุบันนี้มีผู้ผ่านการอบรมที่ได้รับรองจากศูนย์อย่างเป็นทางการมากกว่า 180 คน ซึ่งทำงานใน 35 ประเทศทั่วโลก

    การสื่อสารแห่งสันติ หรือภาษาแห่งความกรุณา ในการสื่อสารเช่นนี้ ผู้พูดจะรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง  โดยเชื่อมโยงความรู้สึกนั้นเกิดจากความต้องการใดที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ผู้พูดจะปล่อยวางการตัดสิน การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นลง รวมทั้งพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งด้วยว่า เขารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร

   การสื่อสารเช่นนี้ ก่อให้เกิดคุณลักษณะของการสื่อสารที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความกรุณา ความสัมพันธ์อันดีและความคิดสร้างสรรค์ที่จะหาหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน

   พื้นฐานหลักของการสื่อสารอย่างสันติ คือเบื้องหลังการกระทำของมนุษย์นั้น ล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง เมื่อเรามีความเข้าใจและรับรู้ความต้องการในสันติภาพทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะในระดับลึกแล้ว มนุษย์เรามีความเหมือนกันมากกว่าความแตกต่างกัน การตระหนักว่าทุกคนต่างมีความต้องการคล้ายคลึงกัน ทำให้มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเราใส่ใจความต้องการ โดยปล่อยวางการตัดสินใจวิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวโทษผู้อื่น จะทำให้เราละวางการเป็นศัตรู และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และเมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ความขัดแย้งและความเข้าใจผิดทั้งหลายย่อมคลี่คลายลงในที่สุด

    ตอนนี้ได้มีโอกาสเข้าอบรมครั้งแรกโดยวิทยากรจากเสมสิขาลัย โดยอาจารย์ไพรินทร์  โชติสกุลรัตน์ และคณะ ก็รู้สึกว่าเป็นภาษาที่พูดยากและน่าจะยากที่จะพูดด้วย เพราะรู้สึกว่าเป็นภาษาที่สลวยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษายีราฟ ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าผิดปกติไป รู้สึกอาย หรืออาจจะตลกสำหรับผู้ฟัง...หรือเปล่า...แต่เมื่อได้เปิดใจยอมรับสิ่งดี ๆ เข้ามาและหมั่นฝึกฝนอย่างมีมติ ก็พบว่าประหลาดใจมาก เราสามารถพูดได้แม้ว่าจะฝึกฝืนก็ตาม และก็พบว่ามีการหลุดหลายครั้ง  แม้กระทั่งได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติอย่างมีสติก็ตาม

    ก็เลยเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานว่าทำไมถึงหลุด...เป็นภาษาหมาป่า...ประการสำคัญคือการตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ และการเท่าทันตัวเอง ซึ่งใคร ๆ ก็ทำได้ยากอยู่แล้ว จึงต้องหันมาฝึกการเจริญสติ ด้วยวิธีการของสติปัฏฐาน 4 ก็พบว่า เราสามารถเท่าทันความคิด ความจำ ความรู้สึก และความอยากของเรามากขึ้น เราจึงมีเวลาคิดใคร่ครวญก่อนที่จะสื่อสารออกไป ซึ่งก็ได้ฝึกฝนมาจนถึงวันนี้รวมปีครึ่ง ก็ยังคิดว่ายังเป็นประถมหรือมัธยมอยู่ และคงเป็นเพราะธรรมจัดสรร ให้ได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นกระบวนการในการอบรมการสื่อสารอย่างสันติ ให้กับบุคลากรในคณะแพทย์ ซึ่งต้องฝึกฝนทั้งเนื้อหาสาระของการสื่อสารอย่างสันติ และฝึกปฏิบัติไปด้วยในชีวิตประจำวัน อย่างต่อ  เนื่อง                ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองได้มีการพัฒนาด้านการสื่อสารอย่างสันติได้ระดับหนึ่งพอที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้อง gotoknow ทุกท่านได้บ้าง อยากจะกล่าวขอโทษเพื่อน ๆ ชาว gotoknow ทุกท่าน ที่ข้าพเจ้าได้หลบดำดินไปหนึ่งปีครึ่ง เพราะมัวไปค้นหาและฝึกปฏิบัติจนได้เป็น tacit knowledge ขึ้นมา และคิดว่าถึงเวลาที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่านต่อไป เผื่ออย่างน้อยจะได้เป็นกำลังใจให้กับคนไทยให้เข้าถึงเข้าใจและพัฒนาการสื่อสารอย่างสันติขึ้นมา ทั้งในระดับครอบครัว ที่ทำงานและสังคมโลกทั่วไป

    ข้าพเจ้าได้มองเห็นความรุนแรงในระดับครอบครัวและที่ทำงานและสังคมไทย อย่างต่อเนื่องมาช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวการกระทำความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกระดับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเสียหายได้เกิดขึ้นกับประเทศชาติเราอย่างมหาศาล แต่ข้าพเจ้าก็ได้พบความดี ความงาม ของท่านนายกอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ที่นำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้โดยเกิดความรุนแรงน้อยที่สุดได้อย่างน่าชื่นชม ข้าพเจ้าสังเกตการใช้ภาษาของท่าน ในยามที่ออกมาแถลงการณ์แต่ละฉบับ คำพูดของท่านเป็นภาษายีราฟทิ้งสิ้น คือท่านได้กล่าวถึงความรู้สึกและความต้องการของท่านเอง และของคนไทยทั้งประเทศ สุดท้ายท่านก็จะขอร้องและขอบคุณคนไทยทุกท่านที่ได้ร่วมมือใจกันช่วยนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตให้จงได้ ท่านไม่มีแต้แต่การตำหนิต่อว่าผู้กระทำความผิด เพียงแต่ขอร้องให้ยุติความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ มาช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ข้าพเจ้าชื่นชมท่านมากและก็ได้คำตอบว่าการใช้ภาษายีราฟจะช่วยให้เกิดสันติขึ้นมาได้ในสังคมจริง ๆ ด้วย

     ข้าพเจ้าได้ฝึกอบรมการสื่อสารอย่างสันติให้กับ  เจ้าหน้าที่ธุรการ  และบุคลากรหลายระดับของคณะแพทย์กับพยาบาล และล่าสุด ได้จัดอบรมให้กับแพทย์ประจำบ้านของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของข้าพเจ้ามาก ๆ กับสองกลุ่มนี้ เนื่องจากว่าในการดูแลผู้ป่วยเราต้องใช้ความรักและความเข้าใจ เพื่อเยียวยาให้เขาได้ผ่านพ้นวิกฤตแห่งความทุกข์ โดยเร็วที่สุด ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถ้าหากได้ฝึกฝนการใช้ภาษาแห่งความกรุณาแล้วจะช่วยให้ผู้ป่วยหายทุกข์ได้เร็วยิ่งขึ้น และเป็นการไม่ไปเพิ่มความทุกข์ให้กับเขาด้วย และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  

 

การฟังอย่างลึกซึ้งคือบันไดสู่สันติ

 

   กิจกรรมเริ่มต้นจากกิจกรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง โดยให้ผู้เข้าร่วมได้จับคู่กัน และเล่าเรื่องราวของการสื่อสารที่เราประทับใจ หรือค้างคาใจในอดีตที่ผ่านมาให้เพื่อนฟัง โดยมีหลักการว่าผู้ฟังต้องฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรก ไม่ตัดสิน เมื่อคนแรกเล่าเสร็จแล้ว ก็ให้คนฟังคนที่สองสะท้อนกลับ โดยคนที่หนึ่งก็จะฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่โต้แย้งถ้าหากเขาเล่าผิด

   ต่อไปก็ให้คนที่สองเล่าให้คนที่ 1 ฟัง โดยใช้หลักการเดิมคือฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน และไม่พูดแทรก จบแล้วก็ให้คนฟังเล่าสะท้อนกลับ

    จากนั้นก็มีการให้จับกลุ่ม 3 คน โดยไม่ให้ซ้ำคนเดิม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รู้จักกันมากขึ้นให้พูดกันในเรื่องการสื่อสารที่ได้รับฟังมาจากเพื่อน ๆ และมาเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง โดยเน้นกติกาเดิม คือฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน  ไม่พูดแทรก และให้พยายามแบ่งเวลาพูดให้เฉลี่ยใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้พูดคุยกันทุกคน

      เราก็หมุนให้พูดอีกกลุ่มละ 3 คน โดยเพิ่ม....................ว่า 

-          การฟังในอดีตและการฟังในขณะที่ทำกิจกรรมในห้องนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง

-          รู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนฟังเรา

                  สรุปกิจกรรมนี้กับผู้อบรมกลุ่มนี้พบว่า ผู้ร่วมอบรมได้พยายามรักษากติกาของการฟังดีมาก

แต่ก็มีบางท่าน บางเวลาที่พูดแทรกบ้าง

-          กิจกรรมนี้ยังมีประโยชน์คือว่าทำให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกันมากขึ้น และมีการผ่อนคลายความ

ตึงเครียด มีการไว้วางใจในการทำกิจกรรมมากขึ้น เห็นรอยยิ้มของน้อง ๆ โผล่ปรากฏมากขึ้น

-          เสียดายว่าเรายังไม่ได้สรุปเรื่อง 4 ระดับของการฟังไว้คือ

1.  การฟังข้อมูลเดิม ๆ เก่า ๆ มาใช้ข้อมูลในการตัดสิน ตีความ ทำให้การฟังถูกปิดกั้นตั้งแต่ต้น

2.  การฟังอย่างแยกแยะ ถูกผิด เช่น เขาคิดเหมือนเรา หรือต่างจากเราอย่างไร

3.  การฟังอย่างเปิดใจคือ การละวางข้อมูลเก่า ๆ และทำใจให้ว่างจากเรื่องนั้น แล้วค่อย ๆ เปิด

ให้ข้อมูลไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

                  4.  การฟังที่เข้าถึงความหมายที่แท้จริง รู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไรด้วยความรู้สึกอย่างไรและต้องการทำอะไร เราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง

 

กิจกรรมที่สอง การใช้ภาษาในการสื่อสาร

                  มนุษย์แท้จริงแล้วประกอบด้วยอะไร มนุษย์มีส่วนที่เป็นรูปและเป็นนาม ซึ่งในศาสนาพุทธจะเรียกว่าขันธ์ 5

                   รูป  =  ส่วนที่เป็นร่างกายของเรา

                   นาม  =  ประกอบด้วย  ความจำ, ความรู้สึก, ความคิด

              และมีส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ความรู้สึกตัว (conciousness) ซึ่งจะสำคัญมาก  ซึ่งเป็นส่วนที่บอกเราว่าเรายังมีชีวิตอยู่ และจะเป็นเสมือนทวารใจของเรา

              การสื่อสารจะสื่อสารจากโลกภายนอกสู่โลกภายใน หรือโลกภายในสู่โลกภายนอก โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น หู คอ จมูก ลิ้น กาย และที่สำคัญคือทวารใจ เช่น เมื่อตาเราเห็นดอกไม้ เราก็จะจำได้ หมายรู้ว่านี่คือดอกไม้ หรือดอกอะไร ต่อมามักจะมีความรู้สึกตามมาว่ารู้สึกชอบ/ไม่ชอบ จากนั้นเราก็อาจจะคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นา ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจจะเกิดอยากได้ขึ้นมา แล้วก็ต้องการครอบครองมาเป็นของเราเอง หรือเรียกว่าอุปาทาน ซึ่งเมื่อดำเนินมากถึงขั้นนี้นั้นก็คือกรรมได้เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งการรู้เรื่องราวกลไกการทำงานของโลกภายนอก และโลกภายใน เพื่อให้ทันต่อความคิด ความจำ ความรู้สึก และความต้องการ หรือความอยากต่าง ๆ ภายในใจของเรา

              ในการสื่อสารนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การเข้าใจตัวเอง ว่าเมื่อเราสังเกตเห็นสิ่งนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร เราต้องการอะไร เราจะขอร้องให้ใครทำอะไรให้เรา เพราะเบื้องหลังความรู้สึกต่าง ๆ คือ ความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนองนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถทำให้การสื่อสารอย่างสันติเกิดขึ้นได้คือ การรู้เท่าทันตัวเอง เพราะบางครั้งเราไม่เท่ากัน จะทำให้การตอบสนองของเราเร็วเกินไป เช่น พูดไปโดยไม่ได้คิดไตร่ตรองให้รอบครอบ ทำให้คำพูดนั้นไปกระแทกความรู้สึกของบุคคลอื่น หากเขาทนไม่ได้ก็จะทำให้การขัดแย้งเกิดขึ้นได้ง่าย

                  ภาษาของการสื่อสารอย่างสันติ แบ่งเป็นสองส่วน คือการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้อย่างจริงใจ และการฟังผู้อื่นด้วยความเข้าใจ ทั้งสองส่วนมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ การสังเกต ความรู้สึก ความต้องการ และการขอร้อง ซึ่งในการปฏิบัติเราจะเรียนรู้การแยกแยะองค์ประกอบทั้ง 4 ประการที่ออกจากการตัดสิน การตีความ และคำสั่ง

                  เริ่มต้นด้วยการสังเกต   ในการสื่อสารอย่างสันติ การสังเกตหมายถึง การพูดถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เราต้องการสื่อสารให้ผู้อื่นทราบ โดยพยายามบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปแบบ เฉพาะเจาะจงและเป็นกลาง เหมือนกับการบันทึกเหตุการณ์ด้วยกล้องวิดิโอ เราจะบรรยายถึงสิ่งที่เราเห็นอย่างตรงไปตรงมา หรือถ้าได้ยินดีเราก็พูดไปตามนั้น โดยไม่เสริมเติมแต่ง

                   หัวใจของการสังเกตคือ การแยกแยะคำตัดสิน การประเมิน การตีความ หรืออคติของเราออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ

                    นอกจากการสังเกตโลกภายนอกแล้ว ก็ต้องสังเกตโลกภายในคือ ภายในใจของเรามีอะไรเกิดขึ้นบ้างให้สังเกตด้วย

                     การสังเกตสำคัญมากเพราะ  ในการสื่อสารทั่วไปเรามักจะรวมกันระหว่างสิ่งที่เราสังเกตเห็นกับสิ่งที่เป็นความคิดเห็น อคติ หรือการตัดสินคำพูดที่เกิดจากสองส่วนนี้รวมกัน อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขยายตัวกว้างขึ้น และกลายเป็นความรุนแรงในเวลาต่อมา

                     การบรรยายสิ่งที่สังเกตอย่างตรงไปตรงมาราวกับกล้องวิดิโอ บันทึกภาพ, เสียง จะเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจิตรับรู้ของตัวเราเอง คือทำให้เรารู้เท่าทันและปล่อยวางการตัดสินว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกผิด ช่วยให้เรารับผิดชอบต่อปฏิกิริยาของเรา แทนที่จะกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งช่วยให้อีกฝ่ายยินดีรับฟังสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร โดยไม่ต้องโต้เถียง

             กิจกรรมที่ทำคือ ให้ผู้เข้าอบรมสังเกตแบบที่ 1  คือเมื่อเห็นภาพคนที่เราฉายให้ดู ให้เขียนออกมาตามที่ใจเราคิดเห็นและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

              การสังเกต แบบที่ 2  คือ ให้สังเกตแบบมองผ่านกล้องวิดิโอ ซึ่งไม่มีความคิด ความจำ หรืออคติ ต่าง ๆ เกี่ยวกับภาพที่เห็น แล้วเขียนลงในกระดาษอีกฟากหนึ่ง หลายคนบอกว่าบางภาพนั้นลบความทรงจำหรืออคติไม่ออก  จากนั้นให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวง 3 คน ว่าการสังเกตแบบที่ 1 และ 2 ต่างกันอย่างไร แบบไหนยากกว่ากัน โดยสรุปคือ การสังเกต แบบที่ 2 เป็นการสังเกตแบบสื่อสารอย่างสันติ ซึ่งยากกว่าแบบแรกมาก

              สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสังเกตแบบที่ 2 คือการรู้สึกตัวและการเท่าทันตัวเอง เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน แล้วรีบปล่อยวางคำตัดสิน รีบเชื่อมโยงการสังเกตมาที่ใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง...สังเกต...สังเกต...สังเกต...ให้ชัดว่า...เห็นอะไร...คิดอะไร...รู้สึกอะไร...ต้องการอะไร...จะขอร้องอะไร...ให้ชัดในใจซะก่อน ก่อนจะโต้ตอบการสื่อสารต่อไป นี่คือการสังเกตโลกภายนอกและโลกภายในไปอย่างพร้อม ๆ กัน จริง ๆ แล้ว โลกภายนอกกับโลกภายในไม่ใช่ของสองสิ่ง แต่เป็นสิ่งเดียวกัน การปรับโลกภายนอกเป็นสิ่งที่ยาก การปรับโลกภายใน จึงเป็นสิ่งที่ง่ายและสมควรทำมากกว่า

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 268583เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบตอนน้องหมอบอกว่า

"มาร์แชล บอกว่า..."

มาขอบคุณแทนน้องๆนะครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ ไม่ต่อยมีเวลาร้อยเรียงเท่าไรค่ะ จะพยามเขียนออกมาเรื่อยๆค่ะ

ดีใจจังที่จะได้อ่านอะไรดีๆอีกแล้ว คุณหมอหลองมาเขียนเล่ากันบ่อยๆนะคะ

ขอบคุณค่ะหี่โอ๋ ที่ยังรอคอยหมออยู่

เข้ามาเรียนรู้ด้วยครับ ผมไปรับการอบรมมาสองวัน คิดว่ายังไม่พอครับ ยังต้องพัฒนาอีกมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท