จดหมายจากน้าถึงหลานฉบับที่ 3: 15 มิถุนายน 52 วันที่สามงานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


น้าได้มีโอกาสคุยกับทหารบางคน เขาบอกว่า " ชีวิตผมฆ่าคนในสนามรบมาแล้วนับไม่ถ้วน มันเป็นชีวิตที่เลือกไม่ได้ เพราะเราอยู่ระหว่างการทำสงคราม พวกเรามีหน้าที่กอบกู้ชาติบ้านเมืองให้สำเร็จให้ได้" จำได้ว่าหลายครั้งที่ได้ยินเรื่องแบบนี้ น้าต้องยกมือป้ายน้ำตาที่รื้นขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว น้ากำลังคิดถึงหลานชายวัยรุ่นที่บ้าน ที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานตามวัยวันของตัวเอง แต่เด็กหนุ่มเหล่านี้กลับต้องมีภาระกิจอันยิ่งใหญ่แบกรับอยู่ นั่นคือการกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้สำเร็จภายในเร็ววัน

จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล บินข้ามลวดหนามตอน 2 เชียงใหม่


จดหมายจากน้าถึงหลาน  ฉบับที่ 3: 15 มิถุนายน 52

วันที่สาม งานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


สงคราม ความขัดแย้ง และสันติภาพ

 

ยัยหนู เด็กหญิงธิ๋ง ธิ๋ง และเด็กชายป่าไม้ จ๋า


                เย็นย่ำวานนี้น้าเดินเปียกฝนมะล่อกมะแล่กอยู่ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง สักพักแดดส่องฟ้าลงมา น้าอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า อีกไม่นานรุ้งสีสวยก็จะทอพาดผ่านเป็นแนวยาวให้ชื่นชม และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำให้น้าอดคิดถึงบางเรื่องราวไม่ได้ ว่าเมื่อใดรุ้งสีสวยจะมีโอกาสปรากฏขึ้นบ้าง แต่คงเป็นเรื่องยากเย็นและอีกยาวไกล ตราบใดที่ไฟสงครามยังยืดเยื้อ ต่อเนื่อง ยาวนาน อยู่เช่นนี้


น้ากำลังพูดถึงชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ตอนนี้กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่างๆ ที่ต่างกระจายตัวอยู่ในประเทศพม่า เพื่อปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU - Karen National Union) กองกำลังพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP - Karenni National Progressive Party) หรือกองทัพรัฐฉาน (SSA - Shan State Army)

 


                ใครหลายคนมักบอกว่า ถ้าคนพวกนี้ยอมวางอาวุธ เข้าสู่ระบบการเมือง การเลือกตั้ง road map ที่รัฐบาลพม่าได้กำหนดไว้ ความขัดแย้งในประเทศพม่าก็จะจบสิ้นไป น้าคิดว่าคำพูดเหล่านี้มองปัญหาในพม่าง่ายเกินไป กลุ่มกองกำลังเหล่านี้เคยเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่ามานักต่อนักแล้ว ทำสัญญาสุภาพบุรุษ ร่างข้อตกลงเพื่อหยุดยิง แต่สุดท้ายรัฐบาลพม่าก็กลับเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลง และส่งทหารเข้ามาโจมตีในพื้นที่ทุกวี่วัน

 


ผู้นำคนหนึ่งในกองทัพ KNPP และ KNU เคยพูดกับน้าคล้ายคลึงกันว่า "ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่พม่าพูด พม่ายังยิงพวกเราอยู่ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและอพยพออกนอกประเทศอยู่ทุกวันนี้นับหมื่นนับแสนคน แล้วจะให้ผมเชื่อได้อย่างไรว่าพม่าจะทำตามที่ตกลงไว้ พอเราถามไป พม่าก็อ้างสาเหตุของความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ ว่ากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ไม่ยอมวางอาวุธเข้าร่วมพัฒนากับรัฐบาล ทั้งๆที่เราพึ่งเจรจาหยุดยิงกับพม่ายังไม่ถึงสามเดือนเลยด้วยซ้ำ

 


อย่างที่น้าเคยเล่าให้ฟังในจดหมาย 2 ฉบับแรกมาแล้วว่า ปัญหาในพม่าเป็นปัญหาของการไม่ยอมรับที่ทางของความแตกต่างในความเป็นมนุษย์ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ปัญหาทางการเมืองแค่เพียงการเลือกตั้ง หรือมีรัฐธรรมนูญ

 


แต่รัฐบาลพม่าต้องการให้ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า ทุกเพศ ทุกเผ่าพันธุ์ อยู่ภายใต้การปกครองและแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่รัฐบาลวางไว้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วพม่าประกอบไปด้วยชนเผ่าที่หลากหลาย มีวัฒนธรรม ประเพณี รากเหง้า ความเชื่อ ภาษาพูด ภาษาเขียน ระบบการปกครองเป็นของตนเองมาตั้งแต่ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง คะเรนนี มอญ ไทใหญ่ ปะโอ ฯลฯ แล้ววันหนึ่งรัฐบาลพม่าจะเข้าไปปกครองชนเผ่าเหล่านี้  ไปครอบครองกรรมสิทธิ์ ผืนดิน แผ่นฟ้า สายน้ำ ทรัพยากรทุกอย่างให้กลายเป็นของตนเอง ใครบ้างล่ะ ! จะยอม และไม่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

 


                นับตั้งแต่วันที่ การเคารพความแตกต่างเป็นคำพูดที่ดูไร้สาระ เลื่อนลอย และคงไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ กองทัพพม่าก็ยาตรากองกำลังไปทั่วทุกหัวระแหง กำลังนายทหารหลักหมื่นเข้าประจำการ ตรึงกำลัง ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน รัฐคะเรนนี รัฐมอญ เข้าโจมตี ทำลายหมู่บ้าน ยึดทรัพย์สิน เผาทำลายเรือกสวนไร่นา หรือแม้กระทั่งฆ่า ข่มขืน ชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อยก็เกิดขึ้นไม่เว้นวัน คลื่นขบวนชาวบ้านหลายหมื่นคน ต่างต้องอพยพหลบหนีภัยสงคราม โยกย้ายออกจากบ้านเกิด มุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ปลอดภัย เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเหมือนไม่เห็นวันสิ้นสุด โครงการพัฒนาต่างๆ การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เราเชื่อว่าจะนำความอยู่ดีกินดีมาสู่ประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของกองทัพพม่าในการประหัตประหารทำลายคนเล็กคนน้อยในพม่า เพื่อนำพื้นที่มาดำเนินโครงการต่าง ๆเหล่านี้  ทั้งโครงการสร้างเขื่อนในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง โครงการเหมืองแร่ในรัฐกะเรนนี โครงการท่อส่งก๊าฐในรัฐมอญ โครงการเกษตรเชิงพาณิชย์

 


 เด็ก ๆ รู้ไหมคะ วันนี้ปี 2552 โลกไร้พรมแดน แต่ประเทศพม่ากลับมีชาวบ้านต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง เพราะภัยสงคราม ภัยจากความขัดแย้ง มากกว่า 5 แสนคนเข้าไปแล้ว คนเหล่านี้ต่างกระจายหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเขาริมชายแดนใกล้ประเทศไทย การมีแค่ปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตก็ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นและไกลตัวพวกเขาเหลือเกิน

 


เช่นเดียวกับชีวิตทหารหาญของกองกำลังกู้ชาติเหล่านั้น ที่หลายคนเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยละอ่อนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางไฟสงครามคุกรุ่น เห็นแต่ภาพของทหารพม่าเข้าทำร้าย ข่มเหง รังแกประชาชนที่เห็นต่างจากตน ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนักหรอกค่ะ ถ้าไม่มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย ลี้ภัยหรือขายแรงงาน ก็ต้องจับปืน จับอาวุธ เข้าสู่ใต้ร่มกองทัพ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ครอบครัว และแอบหวังว่า วันหนึ่งบ้านเกิดจะสงบสุข ลูกได้เรียนหนังสือ ตนเองได้ทำไร่ ทำนา ล่าสัตว์ จับปลา หาของป่า ได้อย่างปลอดภัย 

 


น้าได้มีโอกาสคุยกับทหารบางคน เขาบอกว่า " ชีวิตผมฆ่าคนในสนามรบมาแล้วนับไม่ถ้วน มันเป็นชีวิตที่เลือกไม่ได้ เพราะเราอยู่ระหว่างการทำสงคราม พวกเรามีหน้าที่กอบกู้ชาติบ้านเมืองให้สำเร็จให้ได้" จำได้ว่าหลายครั้งที่ได้ยินเรื่องแบบนี้ น้าต้องยกมือป้ายน้ำตาที่รื้นขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว น้ากำลังคิดถึงหลานชายวัยรุ่นที่บ้าน ที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานตามวัยวันของตัวเอง แต่เด็กหนุ่มเหล่านี้กลับต้องมีภาระกิจอันยิ่งใหญ่แบกรับอยู่ นั่นคือการกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้สำเร็จภายในเร็ววัน


 

น้าป่าน

14 มิ.ย. 52

 

หมายเลขบันทึก: 268480เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2009 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท