เด็กต้องการ “เสรีภาพ” และ “ความปลอดภัย”


การดูแลเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นได้อย่างเข้มแข็งนั้น เราต้องมีพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลระแวดระวังภัยให้กับชีวิตน้อย ๆ ที่อ่อนแอนั้นด้วย ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหมือนเป็นคู่ตรงกันข้ามที่ต้องปรับสมดุลให้ดี

บรรยากาศของลานธรรมวัดชลประทานรังสฤษฎ์ในช่วงสายวันเสาร์สงบและร่มรื่น แต่น่าหวาดหวั่นไม่น้อยเมื่อเห็นเจ้าโมกข์ลูกชายวัยขวบครึ่งเดินบ้างวิ่งบ้างลัดเลาะไปตามเก้าอี้และโต๊ะหินขัดที่เรียงรายกันอยู่ พื้นปูตัวหนอนที่บางช่วงก็ชุ่มชื้นและลื่นเพราะมีตะไคร่น้ำปกคลุม หวุดหวิดจะชนเข้ากับขอบโต๊ะ มุมเก้าอี้อยู่หลายครั้ง แต่ดูเขาจะไม่เดือดร้อนอะไร สักพักก็ไปเดินลอดรากไทรที่ห้อยย้อยลงเป็นม่าน ราวกับกำลังผจญภัยอยู่ในถ้ำลึกลับ เลยไปหน่อยก็แวะริมแอ่งน้ำแล้วร้องเรียก “ปลา ปลา” มือก็ชี้ไปที่กลางน้ำ ทีแรกผมก็ไม่คิดว่าจะมีอะไร เพราะเริ่มชินกับคำว่า “ปลา” ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คำแรก ๆ ที่เขาพูดได้ และมักจะร้องเรียกปลาเวลาเห็นน้ำ ไม่ว่าจะในแอ่ง ในอ่าง ในบึงหรือในแม่น้ำ แต่สักพักพอตั้งใจมอง ผมก็เริ่มสังเกตเห็นฝูงลูกปลานับร้อยตัว อยู่ที่กลางน้ำห่างออกไปราวห้าเมตร...แหมพ่อนี่ตาถั่วเสียจริง

                วันนี้แม่เจ้าโมกข์ชวนแต่เช้าว่าพาลูกไปวัดกันเถอะ เพราะตั้งใจกันมานานแต่ไม่ได้ไปสักทีด้วยเหตุต่าง ๆ นาน ก็ถือเอาว่าวันนี้เป็นฤกษ์ดีก็แล้วกัน ตามธรรมเนียมการถือฤกษ์สะดวก แม้จะออกจากบ้านได้ตอนแปดโมงกว่าก็ไม่เป็นไร ถือเอาว่าแม้ไม่ได้ไปถวายอาหารพระ ก็ให้แค่ได้ไปไหว้พระที่วัด หย่อนเงินทำบุญใส่กล่องก็พอใจแล้ว

                ... แม้จะผ่านไปเกือบ 8 ปี แต่บรรยากาศก็ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ผมกับภรรยาทำพิธีแต่งงานกันที่วัดชลประทานนี้เองโดยมีท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นประธานสงฆ์ โอวาทของท่านที่เทศนาสั่งสอนเราในวันนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ได้นำพาให้ชีวิตเราใกล้ชิดกับพุทธศาสนาตลอดมา วันนี้แม้ท่านมรณภาพไปแล้ว แต่หลักธรรมคำสอนทั้งหลายของท่านยังคงอยู่ในบรรยากาศของวัดแห่งนี้ ลานธรรมยังคงความเป็นธรรมชาติที่สงบร่มรื่น ชวนให้นึกถึงลานหินโค้งอันร่มรื่นที่สวนโมกขพลาราม สถานที่เผยแผ่ธรรมของสหายธรรมของท่าน... “ด.ช.โมกข์” ลูกชายของเราก็ตั้งชื่อขึ้นตามวัดของท่านพุทธทาส ที่สุราษฎร์ธานีแห่งนั้น ...

                แม้จะหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อยว่าจะล้มหรือจะชนเข้ากับอะไรสักอย่างเข้า ผมก็พยายามไม่เข้าไปแทรกแซงการสำรวจโลกใหม่ของเขา แต่คอยระแวดระวังไม่ให้คลาดสายตาและตามติดอยู่ในระยะที่เข้าช่วยเหลือได้ทันทีหากมีเหตุอะไรเกิดขึ้น หลายครั้งที่เขาโอนเอนเหมือนจะล้มแต่ก็พยามยามทรงตัวได้ด้วยตัวเองหรือชนเข้ากับอะไรบางอย่างแต่ก็นิ่งเฉยไปเองโดยไม่หันมาขอความช่วยเหลือ ยิ่งเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดโดยทิ้งระยะไม่เข้าไปแทรกแซง ผมก็เห็นการพัฒนาบางอย่างได้อย่างชัดเจน เช่น เห็นได้ชัดว่าเขาระมัดระวังเวลาเดินผ่านแนวของโต๊ะเก้าอี้ที่มีเหลี่ยมมุมยื่น หรือเวลาก้าวขึ้นลงพื้นต่างระดับ

                สิ่งที่เห็นในตอนนั้นทำให้คิดไปถึงหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพวาดที่สวยมากเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “The Boy Who Drew Cats” เป็นตำนานของเด็กคนหนึ่งในญี่ปุ่นที่ชอบวาดรูปแมวมาก ถึงขนาดเมื่อพ่อแม่พาไปอยู่วัดก็ไปวาดรูปแมวตามผนังและในกระดาษที่หลวงพ่อให้คัดลอกพระธรรม จนถูกไล่ออกจากวัด ต้องเร่ร่อนไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่เขามักถูกห้ามไม่ให้วาดรูปแมว จุดสำคัญอีกอย่างของเรื่องคือ เด็กคนนี้เชื่อฟังคำที่แม่สั่งสอนว่าให้พยายามอยู่ในที่แคบอย่าออกไปที่กว้าง ทำให้เขารอดพ้นจากปีศาจที่มาทำลายวัด และที่ต่าง ๆ ที่เขาไปอยู่ได้ สุดท้ายเขาไปพบกับบ้านร้างแห่งหนึ่งที่ไม่มีใครมาคอยห้ามไม่ให้วาดรูปแมว ตื่นเช้าเขาออกมาจากตู้แคบ ๆ ที่หลบนอนอยู่ ก็ได้พบว่าเจ้าปีศาจได้ตามมาที่บ้านหลังนั้น แต่ที่ปากและเล็บของแมวที่เขาวาดไว้ตามผนังนั้นเต็มไปด้วยรอยเลือด  และเจ้าปีศาจที่คอยทำร้ายชาวบ้านแท้จริงแล้วคือปีศาจหนูยักษ์ตอนนี้นอนตายจมกองเลือดด้วยฝีมือของแมวที่เขาวาดไว้นั่นเอง... แม้จะตีความหนังสัญลักษณ์เรื่องนี้ได้มากมาย แต่พี่โกมาตร (นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์) ก็สรุปไว้น่าสนใจว่า เรื่องนี้สื่อให้เห็นว่า “สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการคือเสรีภาพและความปลอดภัย”

                  วันนี้ผมใคร่ครวญกับประโยคนี้อยู่นาน และรู้สึกได้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญและจริงจังไม่น้อย เพราะการดูแลเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นได้อย่างเข้มแข็งนั้น เราต้องมีพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลระแวดระวังภัยให้กับชีวิตน้อย ๆ ที่อ่อนแอนั้นด้วย ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหมือนเป็นคู่ตรงกันข้ามที่ต้องปรับสมดุลให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ไม่แปลกที่พ่อแม่หลายคนทำการบ้านแทนลูกเพราะกลัวลูกถูกคุณครูลงโทษ หรือบางคนตีลูกที่หนีไปเล่นน้ำฝนเพราะกลัวจะเป็นหวัด... ความสงบของลานธรรม ทำให้จิตใจผมสงบพอที่จะเฝ้าดูอย่างระมัดระวังแต่ไม่ตื่นตระหนกจนรีบวิ่งเข้าไปประคองเมื่อเจ้าโมกข์มีทีท่าว่าจะล้มลง จึงเป็นโอกาสให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการทรงตัวด้วยตัวเอง... ผมจึงรู้สึกได้ชัดขึ้นว่าส่วนประกอบที่สำคัญในการรักษาสมดุลนี้คือ “สติ” ของผู้ที่ดูแลเด็กอยู่นั่นเอง

                หลักการนี้คงไม่ได้ใช้ได้เฉพาะ “เด็ก” เท่านั้น แต่ “ผู้ใหญ่” เอง ก็ต้องการสิ่งเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกศิษย์หรือลูกน้องของเรา เขาเหล่านั้นก็ต้องการ “เสรีภาพ” ควบคู่กับ “ความปลอดภัย” เช่นกัน เพื่อที่จะเรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคง

                ผมกราบรูปเหมือนท่านหลวงพ่อปัญญาฯ ก่อนกลับบ้าน ... ขอบคุณท่านที่ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ซึ่งนอกจากผมจะได้พักผ่อนจิตใจที่เหนื่อยล้ามาทั้งสัปดาห์แล้ว การมาวัดครั้งนี้ผมก็ได้หลักคิดบางอย่างกลับไปอีกด้วย  

หมายเลขบันทึก: 267995เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท