บันทึกความจำเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด : บันทึกประวัติศาสตร์ของภาคประชาชน


ปัญหายาเสพติด กว่า ๙๐ % เริ่มต้นมาจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา

 

ยาเสพติดมิได้หมดไป

และปัญหานี้นับวันยิ่งซับซ้อนและยากแก่การแก้ไข

พลังในการจัดการเริ่มอ่อนล้าลง ?

นี่คำถามและความจริงที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของสังคม

ลำพังเพียงวิธีคิดและการจัดการที่มีอยู่ยังไม่มีพลังเพียงพอในการจัดการปัญหาที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

บทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา

สรุปได้ชัดเจนว่า พลังความร่วมมือ ของภาคส่วนต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

และกลไกสำคัญคือ กลไกของครอบครัวและชุมชน

นี่คือจุดสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

วิธีคิดและเจตจำนงนี้นำไปสู่การสร้างนโยบายและปฏิบัติการหนุนเสริมภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง

....................................................

เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการและบันทึกความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดน่าน

เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดน่าน ๑๙ เครือข่าย ภาคีภาคราชการ ภาคท้องถิ่น และมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยสาขาภาคเหนือตอนบน สำนักงานป.ป.ส.ภาค ๕

เวทีวันนี้(๙ มิถุนายน ๒๕๕๒) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงกรอบนโยบายของรัฐบาลและการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชน และเป็นการทำบันทึกช่วยจำเพื่อความร่วมมือในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป มีภาคีเครือข่ายภาคราชการ ท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมเวทีราว ๑๒๐ คน

....................................................

 

พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวเปิดปฐมบทกระบวนการเรียนรู้ตอนหนึ่งว่า ....ปัญหายาเสพติด ยังคงอยู่ และจะอยู่ต่อไป ตราบที่คนเรายังมีกิเลสและตัณหา ....การรู้ เข้าใจ และไม่นิ่งดูดายกับปัญหา การร่วมมือกันของเครือข่ายชาวบ้านที่จะไปเป็นแรงหนุนเสริมพลังของรัฐที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะลำพังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่และภารกิจที่ต้องรับผิดชอบยังดูแลได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง....

 

ผู้บังคับการเรือนจำจังหวัดน่าน สะท้อนปัญหาจากผู้ต้องขังตอนหนึ่งว่า ...เราหวังว่าให้ปัญหายาเสพติดหมดไปนั้นเป็นไปยาก แต่ทำอย่างไรจะให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จากข้อมูลเชิงลึกของผู้ต้องขังพบว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเลียนผ่านสื่อต่างๆ เช่นหนัง ละคร โฆษณา และกว่า ๙๐ % เริ่มต้นมาจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ส่วนหนึ่งอ้างว่าเป็นเพราะปัญหาครอบครัว....กระบวนการกำหนดมาตรการลดการดื่มเหล้าในเทศกาลสำคัญเช่น เข้าพรรษา งานเทศกาลแข่งเรือ งานของดีเมืองน่าน เป็นเรื่องที่ดี จากการเก็บสถิติของผู้ต้องพบว่าลดลง...ปัญหาหนึ่งที่พบว่า ผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว ก่อนที่จะพ้นโทษเขาได้รับการดูแลปับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่พอกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคม พบว่า ครอบครัว และคนในชุมชนไม่เข้าใจ ยังมีการรังเกียจและหวาดระแวง ไม่ยอมรับ ทำให้หลายคนอยากกลับไปอยู่ในเรือนอีกอีก เพราะในเอนจำเขาอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี แต่อยู่ข้างนอกเขากลับมีค่า ไม่มีศักดิ์ศรี....สิ่งสำคัญยิ่งที่ชุมชนจะช่วยได้คือ การให้โอกาส ให้อภัย ให้การยอมรับ ให้ความเอาใจใส่ อันจะช่วยให้เขากลับไปเป็นคนดีได้อย่างเต็มภาคภูมิ...นอกจากนี้ทางเรือนจำยังมีโครงการสมานฉันท์ระหว่างผู้เสียหายและผู้ต้องขัง มีกรณีตัวอย่างดีดีที่ทำได้สำเร็จเป็นที่น่าดีใจที่ผู้เสียหายและผู้ต้องขังได้มาพบปะและให้กันและกัน...

 

และที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ประเด็นสำคัญ

  • ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหายาเสพติดยังคงมีอยู่จริง และนับวันปัญหาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และจะยังมีคงอยู่ต่อไปหาก ไม่ผนึกกำลังกันจัดการกับปัญหา
  • มีบทเรียนและตัวอย่างดีดีขอชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องดูแลคนในชุมชนอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมดูแลปัญหายาเสพติดได้ เช่น ชุมชนบ้านน้ำล้อม เป็นต้น
  • ข้อห่วงใยในกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะที่กลุ่มเข้ามาในเรียนหนังสือในเมือง หรือกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในหอพัก

 

....................................................

สาระสำคัญของบันทึกประวัติศาสตร์ความร่วมมือภาคประชาชน

 

บันทึกช่วยจำ (MOU) เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ระหว่าง

มูลนิธิฮักเมืองน่าน

เครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดน่าน

ร่วมกับ

มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยสาขาภาคเหนือตอนบน

.........................................................

บันทึกช่วยจำฉบับนี้ เป็นการบันทึกเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฮักเมืองน่าน และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน ๑๙ เครือข่าย ๔๐๘ หมู่บ้าน/ชุมชน กับ มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยสาขาภาคเหนือตอนบน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ(ป.ป.ส.)

ด้วยมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในศักยภาพของภาคประชาชนในการเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยกันปกป้อง คุ้มครอง ดูแล คนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้มีความผาสุก และห่างไกลจากสิ่งเสพติด รวมถึงการหนุนเสริมกลไกของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้นมูลนิธิฮักเมืองน่าน และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน ๑๙ เครือข่าย ๔๐๘ หมู่บ้าน/ชุมชน มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยสาขาภาคเหนือตอนบน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงมีเจตจำนงร่วมกันในการจัดทำบันทึกช่วยจำฉบับนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนากลไกและกระบวนการของภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อลดปัจจัยลบ เสริมปัจจัยบวก ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของยาเสพติด อันจะนำไปสู่การขจัดปัญหายาเสพติดหมดสิ้นไป โดยมีสาระสำคัญร่วมกันดังนี้

     ๑. จะมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางไปสู่การคิดและการปฏิบัติ

     ๒. จะร่วมกันการพัฒนาเสริมสร้างแกนนำ ขยายพื้นที่ และเครือข่ายการทำงานออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่และเป้าหมายให้มากขึ้น ในการที่จะช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และปัญหาอื่นๆ เพื่อนำมาซึ่งความผาสุกของชุมชน

     ๓. จะร่วมกันพัฒนาระบบเฝ้าระวังชุมชน ทั้งในพื้นที่ชายแดน หมู่บ้าน และในชุมชนเขตเมือง ให้มีระบบกลไกที่สามารถสอดส่องดูแลและปกป้องคนในครอบครัว ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

     ๔. จะร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่บุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้มีทักษะชีวิต สามารถรู้เท่าทันกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลง

     ๕. จะร่วมมือกันให้โอกาสแก่ผู้เสพ ผู้ติด ได้เข้ารับการบำบัดเยียวยา โดยถือว่าผู้เสพ ผู้ติดคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา และช่วยกันดูแลคืนคนดีกลับไปสู่อ้อมกอดของครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข

     ๖. จะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงปัญหาอื่นๆ ในชุมชน สังคมทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาค และระดับชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

     ๗. จะร่วมกันสนับสนุนกระบวนการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และส่งเสริมกระบวนการสร้างความดีให้เป็นที่รับรู้และขยายคุณค่าความดีงามเหล่านี้ออกไปอย่างกว้างขวาง

     ๘. จะร่วมกันผลักดันประเด็นที่สำคัญต่างๆ ให้เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนไปสู่การปฏิบัติอย่างรูปธรรม

     ๙. จะร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล

     ทั้งนี้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจในสาระ แนวคิด และวิธีปฏิบัติร่วมกันแล้ว จึงได้ลงบันทึกช่วยจำไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ ศาลาการเปรียญวัดอรัญญาวาส ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน

 

ลงชื่อ

มูลนิธิฮักเมืองน่าน

เครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดน่าน ๑๙ เครือข่าย

ผู้ประสานงานมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยสาขาภาคเหนือตอนบน

.................................................

บันทึกนี้มิได้เป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งของกระบวนการทางสังคมเท่านั้น

หากแต่เป็นเจตนารมย์ร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาชนในการมุ่งมั่นเสริมสร้างพลังของชุมชนให้เข้มแข็งให้สามารถควบคุมจัดการกับปัญหายาเสพติดได้

จากวันนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ปฏิบัติการภาคประชาชนจากความคิด อุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติการ.................................................

ว่าจะนำไปสู่ความจริงเพียงไร

 

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒

ศาลาการเปรียญวัดอรัญญาวาส

หมายเลขบันทึก: 267071เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท