nobita
นาย ชัยพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รักที่จะแนะนำ ดีกว่าทำเฉยแล้วองค์กรแย่


อยากนำเสนอในสิ่งที่พบเจอมาจากประสบการณ์ตรง เพื่อแบ่งปันให้รับทราบ หากมีผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเรื่อง จะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นก็จะเกิดผลดีกับอีกหลาย ๆ คน แต่ถ้าทราบปัญหาแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ก็สุดแท้แต่

วันนี้ไปติดต่อรับบัตรสมาชิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล โครงการผู้ป่วยนอก เบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลางของพ่อและแม่ ที่ศูนย์ประสานสิทธิค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลวชิระ ซึ่งยื่นเรื่องไว้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเขานัดให้มารับบัตรเมื่อกลางเดือน พ.ค. (ใช้เวลารอประมาณ 1 เดือนเต็ม ๆ) แต่ไม่ได้มารับตามกำหนด

มาติดต่อเจ้าหน้าที่ขอรับบัตร เขาก็ดำเนินการคีย์ชื่อ - สกุล แล้วเอาบัตรสีเขียว ๆ มาเขียน รายละเอียดประกอบด้วย ชื่อผู้มีสิทธิ  เลขที่ HN  สังกัด  และลงวันที่  แค่ 4 บรรทัด เจ้าหน้าที่ใช้เวลาจัดการประมาณกว่า 10 นาที จึงจะเรียบร้อย  ผมไม่รู้หรอกว่าเวลาคอยจะนานหรือไม่สำหรับผม แต่ ผมได้ยินผู้มาใช้บริการดังกล่าวก่อนหน้าผม เขาบ่นว่า "นี่ขนาดคนไม่เยอะยังนั่งงมกันทำงาน (ช้า) นี่ถ้าคนเยอะกว่านี้จะทำงัยเนี่ยะ"

ในฐานะคน กทม. เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินคำติจากประชาชน / ผู้มารับบริการ ก็อยากจะปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงระบบการให้บริการของหน่วยงานสังกัด กทม. ให้ดียิ่งขึ้น ...

ผมเคยได้ยินนโยบายการบริหาร / การบริการของ กทม. ที่บอกว่าข้าราชการ / หน่วยงานของ กทม. ต้องทำงานเชิงรุก ต้องคิดวางแผนและเตรียมการล่วงหน้าก่อนที่เหตุการณ์หรือปัญหาจะเกิด  เมื่อลองย้อนมาดูแค่กิจกรรมการสมัครโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลที่ดำเนินการโดยศูนย์ประสานสิทธิค่ารักษาพยาบาล วพบ. นั้น ผมบอกได้เลยว่า มิได้ทำงานในเชิงรุกในการให้บริการแก่ประชาชน / ผู้ป่วยที่เข้ามาขอรับบริการ 

ผมขอเล่าในสิ่งที่ผมเจอมาเป็นกรณีศึกษาครับ

  • การสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรง ต้องใช้เวลารอ 1 เดือน จึงจะใช้สิทธิได้  ทั้ง ๆ ที่มี รพ.บางแห่งสามารถใช้สิทธิได้ทันที ณ วันที่สมัคร   (เช่น รพ.ศิริราช)
  • ผู้สมัครต้องทำบัตรเพิ่มอีก 1 ใบ (ถ้าเป็นบัตรแข็ง มีบาร์โคด ต้องจ่าย  100 บาท  ถ้าเป็นบัตรอ่อน เขียนด้วยลายมือเจ้าหน้าที่ ไม่จ่ายเงิน แต่จะยื่นสิทธิผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองไม่ได้)  ในขณะที่ รพ.ศิริราช สามารถใช้บัตรประจำตัวผู้ป่วยใบเดียวกันก็ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงได้ ไม่ต้องทำบัตรใหม่ ไม่ยุ่งยาก
  • ผมกำลังคิดว่า ณ วันที่สมัคร  เจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว ทำให้ทราบแล้วว่าตัวข้าราชการ  บิดา  มารดา  ภรรยา  บุตร  เป็นผู้มีสิทธิในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลแล้ว  แต่ทำไมจึงใช้สิทธิไม่ได้จนกว่าจะได้รับบัตร (เรื่องนี้งงมาก ๆ ครับ) และทำไมบัตรแค่ใบเดียวจึงต้องใช้เวลาดำเนินการเป็นเดือน ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมสังเกตว่า ผู้มาใช้บริการก้ไม่ได้มากมายแต่อย่างใด
  • ในวันที่ครบกำหนดนัดให้มารับบัตรเบิกจ่ายตรง  เมื่อมาติดต่อขอรับบัตร ถ้าต้องการบัตรแข็งมีบาร์โคด ก็ต้องไปจ่ายเงินที่การเงิน  100  บาท  เจ้าหน้าที่จึงจะพิมพ์บัตรออกมาให้ แล้วเจ้าของบัตรก็เซนต์ชื่อรับไป  แต่ถ้าเป็นบัตรอ่อน เจ้าหน้าที่จะต้องเปิดดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แล้วหยิบบัตรมานั่งเขียนด้วยลายมือ   อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ข้อมูลไม่กีบรรทัดใช้เวลาตั้งเกือบ  10 นาที ทำไมไม่เตรียมพิมพ์บัตรออกมาไว้เลย ตามกำหนดวัน  เมื่อมีผู้มารับก็จะได้หยิบให้เขาได้ทันที ไม่ต้องมาเสียเวลารอ  เท่าที่สังเกต จะมารับตรงวันนัด หรือ เลยวันนัดมาก็ยังไม่เตรียมไว้อยู่ดี  อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าทำงานเชิงรุกแน่ ๆ ก็สมควรได้รับคำบ่นจากประชาชนว่าทำงานช้า ขนาดคนน้อย ๆ ก็ยังช้าเลย ถ้าคนมาก ๆ จะไม่เลยรึ...
  • อีกประเด็นที่อยากนำเสนอ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก คือ การให้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานสิทธิ  วันนั้นผมพาพ่อ - แม่ ไปหาหมอ และต้องการสมัครสิทธิจ่ายตรงเลย  ผมก็ไปถึงก่อน 08.00 น. เห็นเจ้าหน้าที่นั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์พูดคุยกันอยู่  เวลาก้ประมาณ 07.57 น.  ผมก็เข้าไปติดต่อ  เจ้าหน้าที่บอกว่า ขอตรวจสอบสิทธิก่อน เขาก็กดคอมพิวเตอร์ดู แล้วบอกว่ามีสิทธิ แต่ให้ผมออกไปรอข้างนอกก่อนแล้วค่อยเข้ามาใหม่เวลา 08.00 น.  ผมก็อึ้งกิมกี่เลยครับ ไม่คิดว่าจะได้ยินการพูดแบบนี้จากเจ้าหน้าที่คนนั้น กะเวลาอีกแค่ 1-2 นาที ถ้าทำให้ผมวะมันก็จะจบ นี่ต้องให้ออกไปรอจน 08.00 น. แล้วค่อยเข้ามาใหม่  ผมมีความรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่เกินไปมาก แย่มาก ๆ  แล้วพอเวลา 08.00 น. ผมเข้าไปติดต่อใหม่ กลับบอกผมว่า ข้อมูลไม่เรียบร้อย ให้ไปติดต่อห้องบัตรผู้ป่วยก่อนแล้วค่อยมายื่นใหม่  (เวรกรรมจริง ๆ ) นี่ถ้าบอกซะตั้งแต่แรกก็จะได้ไปติดต่อในช่วงเวลาที่ต้องคอย 1-2 นาทีนั้น แต่กลับไม่บอก  แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ขาดความเอาใจใส่และขาดการบริการที่ดีอย่างสิ้นเชิง...

ผมในฐานะเป็นสมาชิกใน กทม. เป็นทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการในเวลาเดียวกัน สิ่งที่นำเสนอมาข้างต้น มิได้มีเจตนาจะทำให้เกิดความเสียหายกับใคร / หน่วยงานใด  แต่อยากนำเสนอในสิ่งที่พบเจอมาจากประสบการณ์ตรง เพื่อแบ่งปันให้รับทราบ หากมีผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเรื่อง จะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นก็จะเกิดผลดีกับอีกหลาย ๆ คน แต่ถ้าทราบปัญหาแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ก็สุดแท้แต่  หรือเรื่องราวที่เล่ามาอาจเป็อุทาหรณ์เป็นกรณีศึกษาให้องค์กรอื่น / หน่วยงานอื่น ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะดีไม่น้อยครับ

หมายเลขบันทึก: 266752เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งรู้จากบันทึกนี้ว่า วิธีการ เบิกจ่ายตรง ของแต่ละโรงพยาบาล แตกต่างกัน ตั้งแต่ กระบวนการทำบัตร ถึง วิธีการใช้สิทธิแต่ละครั้ง

ของโรงพยาบาลผม มีสแกนนิ้วมือครั้งแรกด้วย แต่เวลาใช้สิทธิสะดวกดีครับ ออกจากห้องตรวจต่างๆ ก็ตรงไปเอายาได้เลย ไม่ต้องติดต่อการเงินอีก

คุณหมอครับ ที่ผมเล่ามา ขั้นตอนที่ยุ่งยากจะเป็นตอนสมัคร และกว่าจะได้ใช้สิทธิก็นานครับ แต่หลังจากได้รับบัตรแล้ว ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากแล้วครับ ทุกอย่างผ่านฉลุยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท