จากหนังสือคนไร้รัฐไร้สัญชาติใน...แม่อายสู่แนวคิดเครือข่ายกัลยาณมิตร


                                                

เพิ่งได้มีโอกาสอ่านหนังสือ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน...แม่อาย ที่ อ.เตือนหรือคุณบงกช นภาอัมพรเป็นบรรณาธิการเมื่อวานนี้  หลังจากสองอาทิตย์ก่อนหน้านี้ได้รับหนังสือหลายเล่มทางไปรษณีย์จากคุณสถาพร เจ้าของสำนักพิมพ์โรงพิมพ์เดือนตุลา ต้องขอขอบพระคุณความใจดีของพี่สถาพรมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

เมื่อเปิดอ่านแล้วก็วางไม่ลง หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยายขายดีที่ไหนแต่อย่างไร จัดพิมพ์เพียงแค่ 1,000 เล่ม แต่ด้วยความที่ทุกตัวอักษรและคำพูดล้วนมาจากประสบการณ์จริง ประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือเหล่านี้ มาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านแม่อายและจากคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อ่านแล้วสะท้อนหลายแง่มุม ความเป็นไทยของคนแม่อายในปัจจุบันนี้มีเรื่องเล่าที่ปนไปด้วยความเศร้า ความสุขอย่างที่ อ. เตือนกล่าวไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ

คนแม่อายคงยังไม่ได้สัญชาติหากไม่ผนึกกำลังกัน ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง แต่ก็จะเป็นไปโดยยากลำบากหรือแทบจะไม่เห็นทางเลยถ้าไม่มีกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เป็นกำลังสำคัญอยู่เบื้องหลัง เติมเต็มในส่วนที่ชาวบ้านไม่รู้ ไม่เข้าใจ เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต้องเติมเต็มซึ่งกันและกัน เมื่อนำมารวมกันก็จะได้ภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน จนเห็นความคืบหน้ามาเป็นคนไทยที่แม่อายในที่สุด

หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติความเป็นมาของของคนที่อาศัยอยู่ในแม่อายรวมถึงบทความทางวิชาการโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ชาวแม่อายถูกถอนชื่อในทะเบียนบ้าน (ทร.14) ในปี 2545 จนถึงวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตัดสินเมื่อปี 2548 ตลอดจนหลังจากการได้รับการใส่ชื่อกลับคืนในทะเบียนราษฎร์ พออ่านไปก็นั่งนึกถึงตัวเองไปว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เราอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ บางครั้งเหตุการณ์ต่างๆก็เกิดขึ้นรอบตัวเราโดยที่เราไม่ได้ใส่ใจ ช่วงนั้นตั้งแต่เรายังอยู่มัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย คิดย้อนไปหากเราทำประโยชน์บ้างคงดี อย่างกลุ่มคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ บุคคลเหล่านี้ต้องคงต้องทำงานหนัก อย่างนักวิชาการ นักกฎหมายที่มองเห็นขั้นตอน วิธี และกระบวนการในการแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ใช่คนบังคับใช้ ต้องรอกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายที่คนใช้กฎหมายใช้อย่างผิดบ้างถูกบ้าง แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ช่วยกันผลักดันก็กลายเป็นจริง พวกเขาคงตื้นตันและภูมิใจในสิ่งที่ทำ เราอ่านเรายังภูมิใจเลยเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั้นมีอยู่มากในประเทศไทย ในนั้นรวมถึงคนที่เป็นคนไทย เกิดในไทย พูดภาษาไทยแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คนเหล่านี้พึงได้รับ อีกทั้งหากละเลย เพิกเฉยคงยังจะเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศอีกด้วย การดำเนินงานจัดการกับปัญหาเหล่านี้ยังคงต้องอาศัย ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งตัวคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติเอง และที่ขาดไม่ได้เลยคือองค์กรภาครัฐภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่รัฐที่นำกฎหมายไปบังคับใช้เพื่อบ้านเมืองจะได้เดินไปด้วยความสงบสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แต่ข้อสังเกตที่เราได้เรียนรู้จากคนแม่อายคือ ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจ แม้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ปัญหา พวกเขาจึงเป็นคนสัญชาติไทยอย่างในทุกวันนี้ ยังคงมีปัญหาอีกมากที่พวกต้องแก้ปัญหา แต่เมื่อมีก้าวแรกก็ต้องมีก้าวต่อไป ชีวิตในแม่อายยังต้องดำเนินต่อ วันนี้พวกเขาได้รับการปลูกฝังและสร้างแนวทางของเขาเองแล้ว โดยกลุ่มคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ขอยกย่องความดีของทั้งสองฝ่าย

อาจารย์แหวว (รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร) ท่านเปรียบเสมือนผู้พิพากษาเสียเอง แต่คงไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่แต่เพียงในศาลเพราะท่านลงไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหา แต่อาจารย์เป็นดั่งผู้พิพากษาที่มอบความเป็นธรรม มอบความเป็นไทยให้แก่คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เรารู้ว่าอาจารย์คงเหนื่อยแต่อาจารย์ไม่เคยหยุดช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ ขอเป็นกำลังใจให้แก่อาจารย์ค่ะ

อีกเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากอาจารย์แหววคือเครือข่ายกัลยาณมิตร อาจารย์ได้ปลูกฝังความคิดในเรื่องการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตร การมีเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญเพราะเราไม่สามารถทำงานเพียงลำพังในสังคมได้ เครือข่ายกัลยาณมิตรคือมวลมิตรที่ร่วมกันทำงาน สร้างสรรค์สังคม ถ้าเธอจริงใจและตั้งใจทำงาน เธอก็จะมีมวลมิตรร่วมกันทำงานมากมาย แต่ถ้าเธอไม่ดี เธอก็จะอยู่ไม่ได้ไปเองเป็นคำพูดที่อาจารย์แหววพูดกับลูกศิษย์และเราที่ร่วมประชุมเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทที่มีจุดเกาะเกี่ยวเรื่องประเทศลาวในวันนั้น  ทุกวันนี้อาจารย์แหววได้สร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรให้แก่ลูกศิษย์มากมายเพื่อวันข้างหน้าลูกศิษย์จะได้เดินอย่างมั่นคง อาจารย์แหววเป็นเหมือนจุดศูนย์รวมเครือข่าย คอยเป็นมันสมอง แจกจ่าย กระจายงานเหมือนกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “Put the right person to the right job.” อาจารย์จะรู้ว่าใครเหมาะกับงานประเภทใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตัวผู้ทำงานเองและแก่มวลมิตร กลุ่มคนทำงานด้วยกัน ก้าวหน้าทั้งคนและผลงาน และในวันนั้นอาจารย์ยังได้ให้สูตรแก่ลูกศิษย์ทั้งหลายด้วยว่า วินัย คิดเป็น รับผิดชอบ ฉันขอแค่นี้แหละ 

หมายเลขบันทึก: 266104เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2009 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกเรื่องไปสถานทูตซิคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท