อนุทินรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กโต ตอนที่ ๑


บรรยากาศในการประชุมพิจารณาโครงการเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะกรรมการ และ ผู้ส่งผลงาน เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานไปด้วยกัน ขอเรียกแบบที่หลายๆคนเรียกกันว่า “สุนทรียสนทนา” การพิจารณารายการแบบนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดรายการที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วันนี้ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการคัดเลือกรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของการคัดเลือกรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ที่ทางแผนงานการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม อีกทั้ง สสย ของ สสส ได้เป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ผลิตในการจัดอบรมและให้ส่งผลงานเพื่อร่วมคัดเลือก เพื่อสนับสนุนผลงานที่ได้รับการคัดเลือกทั้งในเรื่องงบประมาณในการผลิต และ ร่วมมือกับทีวีไทยในการนำรายการเหล่านี้ไปออกอากาศ

บรรยากาศในการประชุมพิจารณาโครงการเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะกรรมการ และ ผู้ส่งผลงาน เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานไปด้วยกัน ขอเรียกแบบที่หลายๆคนเรียกกันว่า “สุนทรียสนทนา” การพิจารณารายการแบบนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดรายการที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากประชุมร่วมกันทั้งวัน เพื่อคัดเลือกรายการทั้งหมด ๒๕ รายการ พบข้อสังเกตหลักในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กโต  (เพราะเนื้อหารายการส่วนใหญ่เน้นกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็กโตในช่วงอายุระหว่าง ๖ ถึง ๑๔ ปี) ที่น่าสนใจ ๓ ประเด็นใหญ่ๆ

ประเด็นแรก ก็คือ เรื่องของเนื้อหาทั้ง การสร้างเนื้อหา การเรียบเรียงเนื้อหาในรายการ ประเด็นนี้เองที่พบว่าเป็นปัญหาของผู้ผลิตเกือบทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กโต การพัฒนารายการเด็กอาจจะต้องคำนึงถึงข้อสำคัญ ๑๒ เรื่อง แยกตามประเภทรายการ ก็คือ

รายการประเภทเรียลลิตี้  ข้อแรก รายการเด็กที่เน้นกระบวนการในการมีส่วนร่วมของเด็กกับชุมชนในการจัดทำภารกิจใดภารกิจหนึ่ง ต้องมีการนำเสนอโจทย์ในการทำงานที่ชัดเจน และเพื่อให้เนื้อเรื่องกระชับ ก็ต้องใช้เทคนิคในการตัดต่อเข้ามาช่วย (๒) นอกจากนั้น เครื่องมือช่วยหรือตัวช่วยที่มาจากชุมชน ก็จำเป็นที่จะต้องบอกเล่าที่มาที่ไป ความสัมพันธ์ ความสำคัญของเครื่องมือช่วยหรือตัวช่วยเหล่านั้น กับ ภารกิจที่เป็นโจทย์ของการทำงาน (๓) บทบาทของตัวช่วยหรือเครื่องมือช่วยกับการทำงานร่วมกับเด็กๆในรายการ ต้องมีความพอเหมาะพอดี

ประเภทสารคดี (๔) การผูกเรื่อง การเดินเรื่องในแต่ละตอนแต่ละเบรก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินเรื่องโดยมีแกนกลางของเรื่อง เช่น นำเสนอเรื่องไฟ ก็ต้องใช้ “ ไฟ” ในการเดินเรื่องผูกกันไปทุกตอน เพราะเด็กๆจะได้เรียนรู้ถึงการเชื่อมโยง (๕) การนำเสนอเรื่องราวของเด็กในมุมมองของเด็ก อาจจะต้องทำให้เห็นภาพรอบด้าน รอบตัวของเด็ก เช่น ถ้าหากนำเสนอภาพเด็กถูกกระทำ ถูกล้อเลียน ก็ควรนำเสนอในมุมมองทั้งเด็กที่ถูกกระทำ และ เด็กที่กระทำ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย

ประเภทแอนนิเมชั่น การสร้างโลกจิตนาการทำให้เข้าถึงเด็กๆได้เป็นอย่างดี แต่ต้อง (๖) รักษาความสมดุลย์ของภาพจินตนาการกับภาพของความจริงไว้ หากสร้างจินตนการมากไปจนลืมภาพความจริงอาจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

ประเภทละคร อันที่จริงแล้ว ละครจะสร้างความน่าสนใจให้กับเด็กๆได้ต้องมี (๗) ความสมจริงของการแสดง ที่เรียกว่า acting  

โดยทั้ง ๔ ประเภทรายการ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องหลักการพื้นฐานในรายการเด็กร่วมกัน ๒ ข้อ (๘) การสอดแทรกข้อคิดในรายการ ต้องไม่เป็นไปในลักษณะการ “ยัดเยียด” แต่ต้องมีกุศโลบายในการสอดแทรกแนวคิด เช่น การให้เห็นผลของการกระทำด้วยตนเอง การให้ทดลองทำแล้วมาสรุปผล หรือ มีเทคนิคที่ทำให้เห็นการสรุปผลที่มาใช่การนำเสนอว่า “เรื่องนี้สอนว่า ... เรื่องนี้ให้รู้ว่า .....” 

(๙) รายการเด็กกลุ่มนี้ควรเน้นการกระตุ้นจินตนาการ ให้เด็กคิดตามอยู่ตลอดเวลาที่นั่งชมรายการ จากช่วงหนึ่งไปอีกช่วงหนึ่ง เสน่ห์การดึงดูดรายการเด็กอยู่ที่การเผยให้เห็นคำตอบทีละนิด หรือ ทำให้ขบคิดเป็นระยะ รายการที่ถูกหยิบยกตัวอย่างในที่ประชุมของคณะกรรมการก็คือ  อิคคิวซัง เป็นต้น  หรือ การใช้เทคนิคที่ใช้เพื่อนำเสนอเนื้อหาในรายการ ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการใช้เทคนิคอื่นๆมาช่วยนำเสนอ เช่น การใช้เทคนิคสีน้ำในรายการเพื่อนำเสนอการวาดภาพ หรือ เทคนิค Video Paper Work จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคอื่นๆมาประกอบ ต่อยอด เพื่อทำให้เด็กๆสนุกที่จะคิดตาม ทำตาม สรรหา ประยุกต์ต่อยอดในชีวิตจริงได้  หรือ การสร้างกิจกรรมในพื้นที่เดียวกันแต่มีความหลากหลายของกิจกรรม ไม่ได้มีเพียงแค่เทคนิคการตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีเทคนิค การใช้อุปกรณ์ในสถานที่นั้นๆมาช่วยเหลือ

(๑๐) รายการเด็กที่มุ่งไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ความคิดในเชิงบวก เช่น การปรับทัศนคติของคนในสังคมต่อเด็กกลุ่มต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึง การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสถานที่ในชุมชน การใช้พื้นที่ในชุมชน ที่เป็นไปได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนจริง (ยกตัวอย่างเรื่องนี้ อยากใหเห็นถึงการผูกโยงไปกับกระแสสังคม เรื่องพื้นที่สร้างสรรค์)

(๑๑) การเน้นให้เด็กๆมีส่วนร่วม แสดงขั้นตอน รูปแบบของการมีส่วนร่วม โดยอาจมีภาพการแนะนำการ การกระตุ้นให้เด็กรู้จักการมีส่วนร่วมระหว่างกัน 

(๑๒) สัดส่วนของสาระ และบันเทิง ต้อง มีน้ำหนักพอๆกัน ต้องระวังว่าอย่าลืมธรรมชาติของรายการโทรทัศน์

(๑๓) โจทย์ที่ใช้ในการเดินเรื่อง ควรเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เด็กๆสามารถมีส่วนร่วมในการคิดถึงได้อย่างไม่ยากลำบาก หรือการเชื่อมข้อมูลระหว่างโลกของความรู้ กับ โลกของชีวิตจริงเชิงประยุกต์

ประเด็นที่สอง ประเด็นด้านเทคนิคในการผลิต พบว่ามีข้อสำคัญๆในเรื่องของ (๑) บุคลิกของรายการ เพราะการใช้เทคนิคที่ไม่สอดรับกันอย่างลงตัวอาจสร้างความ “ไม่เนียน” จนนำมาซึ่งความสะดุดของรายการได้ ยกตัวอย่างเช่น รายการประเภทหุ่นมือ กับ การเล่าเรื่องผ่านภาพแอนนิเมชั่นที่สมจริงมาก อาจทำให้เกิดความสะดุดของรายการได้ ดังนั้น ทางออกก็คือ (เช่น) การเล่าเรื่องโดยยังอาศัยหุ่นมือเป็นตัวเล่าเรื่องผ่านภาพการ์ตูนที่ ภาพในจอคงต้องปรากฎทั้งหุ่นมือและภาพ เพื่อทำให้เห็นว่าหุ่นมือกำลังเล่าเรื่องผ่านภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความเนียนของบุคลิกในรายการได้ (๒) ขนาดของภาพในเล่าเรื่อง ต้องมีขนาดใหญ่ การมีภาพขนาดเล็กเกินไปอาจส่งผลต่อความน่าสนใจของรายการ ดังนั้น อาจะใช้เทคนิคภาพเดี่ยวขนาดใหญ่ พอขยายภาพ คลี่ภาพออกเป็นภาพรวมให้องค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบมีขนาดเล็ก (ขอเรียกว่า เทคนิคแบบ Zoom Out)

ประเด็นสุดท้าย ข้อควรระวังในการผลิต มีข้อสำคัญอยู่ ๒ ข้อ (๑) การใช้บุคคลที่มีตัวตนจริงเป็นภาพตัวแทนในรายการ อาจจะต้องคำนึงถึง ภาพลักษณ์ แนวคิดที่ต้องมีความละมุนละไมในการทำงานกับตัวตนจริง (๒) กระบวนการในการทำงานกับเด็กๆในรายการ การจัดวางกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์หลักในรายการ ที่จะต้องพึงระวังในรายการที่ต้องทำงานกับเด็ก โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆในรายการ เช่น การถูกเกลียดชัง การถูกว่ากล่าว ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการในการวางแผนในการทำงานที่รัดกุม

หมายเลขบันทึก: 265821เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2009 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท