ดิฉันค่อนข้างกังวลเมื่อต้องคิดและเขียนโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ว่าโรคนี้เป็นแล้วจะเป็นอย่างไร หากแต่อยู่ที่ดิฉันจะทำอย่างไรจะใช้วิธีการใดที่จะทำให้ผู้หญิงในกลุ่มอายุเป้าหมายหรือไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายก็ได้ที่เป็นผู้หญิงมีทัศนะคติที่จะดีหรือไม่ดีก็ได้แต่พร้อมใจและเห็นความสำคัญต่อการตรวจมะเร็งปากมดลูก
สิ่งที่ทำให้ดิฉันเหนื่อยใจมากมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเริ่มต้นที่ดิฉันคุยเรื่องดังกล่าวกับพี่ดิฉันว่าทำอย่างไรดีที่ผู้หญิงในชุมชนของดิฉันจะมาตรวจมะเร็งปากมดลูก พี่ดิฉันทิ้งคำพูดที่น่าสนใจว่าเป็นตัวเขาเองเขาก็ไม่ตรวจเหตุผลเพราะเขาอายและเขาก็คิดเช่นดียวกันว่าเพราะความอายนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกหรือการทำแป็บสเมียร์ไม่ค่อยได้ผลทั้งๆที่มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่น่ากลัวหากแต่พบได้ในระยะแรกๆก็สามารถรักษาให้หายได้ตามที่วิทยาการของความรู้เอ่ยอ้างไว้ ซึ่งวิธีการที่ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่มากที่สามารถจะตรวจในเบื้องต้นได้ก็คือการทำแป็บสเมียร์
จากที่ผ่านมาจากประสบการณ์การทำงานในศูนย์สุขภาพชุมชนประมาณ ปีกว่าๆ ในปีที่ผ่านมาทำเช่นกันค่ะโครงการตรวจมะเร็งปากมดลูกเอารายชื่อกลุ่มเป้าหมายมาจากโปรแกรมข้อมูลพื้นฐานประสานงานอสม.แจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบ เหมือนจะไปได้ดีค่ะสุดท้ายเราก็ตกเกณฑ์ซึ่งตัวดิฉันเองไม่ได้เครียดมากมายนักนะค่ะเรื่องเกณฑ์แต่ไม่เข้าใจแค่นั้นเองว่าทำไมหนอทำไม ถึงได้มาตรวจกันน้อยมาก ไม่ใช่ไม่เคยอ่านนะค่ะจำพวกงานวิจัยที่หลายท่านอาจทำเพราะสงสัยในปรากฏการณ์ดังกลาวเช่นกันว่าเหตุอะไร ปัจจัยใดที่ทำให้มาตรวจแป็บสเมียร์กันน้อย ก็ทราบค่ะแล้วทราบปัจจัยแล้วอย่างไรละค่ะ ดิฉันจะเอาวิธีการใดและแบบไหนไปทำให้ได้ผล ความอึดอัดใจสะสมมาเรื่อยๆจนถึงวันที่ต้องเขียนโครงการคงไม่ใช่เขียนค่ะแก้โครงการเพื่อหาวิธีการมากกว่าจากปีที่ผ่านมาดิฉันได้ข้อสังเกตจากการทำโครงการดังกล่าวในหลายประเด็นค่ะ
1) มีประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลที่ดิฉันรับผิดชอบนี้แหละค่ะมากตรวจแป็บสเมียร์กันมากเลยค่ะทั้งที่อายุไม่ถึงเกณฑ์และเกินเกณฑ์ไปมากๆแล้ว เหตุผลเพราะอะไรทราบไหมค่ะเนื่องเพราะมีคุณน้าท่านหนึ่งในหมู่บ้านดังกล่าวเสียชีวิตลงเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกค่ะ
2)จากการพูดคุยกับพี่ป้าน้าอาในกลุ่มที่มาตรวจก็ถามนะค่ะว่าทำไมถึงกล้ามาตรวจได้หลายๆเหตุผลค่ะหลักๆเลยคือกลัวค่ะกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือพูดง่ายๆมากกว่านั้น"คือกลัวตาย เลยไม่อายถึงหมอจะเห็นก็คงเอาไปไม่ได้" (ขออธิบายนิดนะค่ะหมอในที่นี้คือพวกดิฉันพยาบาลนี้แหละค่ะคนในภาคอีสานของดิฉันมีวัฒนธรรมของการให้เกียติสูงมากๆ เพราะเท่าที่สังเกต ไม่ว่าใครๆที่ทำงานในโรงพยาบาลก็จะมีคำนำหน้าว่าหมอทั้งนั้น เช่นถ้าเป็นพี่เจ้าหน้าที่แม่ครัวก็จะถูกเรียกว่าหมอทำกับข้าว พี่เจ้าหน้าที่เวรเปลก็จะถูกเรียกว่าหมอเข็นเปล พยาบาลอย่างพวกดิฉันจะถูกเรียกว่าหมอน้อย ส่วนนายแพทย์ก็จะถูกเรียกว่าหมอใหญ่ค่ะ )
3) อายจึงไม่มาตรวจนี้คือเหตุผลของกลุ่มที่ไม่มาตรวจ
ดิฉันสามารถเก็บประเด็นเล็กน้อยๆดังกล่าวจากการไม่ประสบความสำเร็จจากปีที่แล้วได้ดังนั้น กระนั้นดิฉันก็ยังไม่กระจ่างแก่ใจค่ะจึงถามอีกนอกจากถามพี่ที่สร้างความท้อใจให้แล้วจึงย้ายไปถามแม่ อันนี้สร้างกำลังใจให้ค่ะว่าแม่ตรวจมะเร็งปากมดลูกไหม แม่ตอบเลยตรวจ แม่ตรวจทุกปี ดิฉันถามต่อทันทีค่ะแล้วไม่อายเหรอ แม่บอกว่าไม่อาย ไม่อายเพราะแม่บอกว่าแม่มีลูกมีเต้าแล้วตอนคลอดแม่ก็ต้องแสดงท่าทางคล้ายกับตอนตรวจแป็บสเมียร์ ยอมรับเลยค่ะว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดีแต่ก็จะทำนะค่ะจะทำอย่างที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ค่ะ
ดิฉันตัดสินใจแล้วและเขียนไปแล้วว่าจะทำโครงการ"แป็บสเมียร์ ดิลิเวอรรี่ ". (pap smear delivery) โครงการนี้ดิฉันขอออกตัวไว้ก่อนค่ะไม่ได้เริ่มคิดจากการเอาปรัชญาใดๆตั้งต้นค่ะรู้แต่ว่าเมื่อชาวบ้านไม่มาตรวจเราก็จะไปรอตรวจให้ถึงที่บ้าน ไปบอกเล่าถึงพิษภัยและความรุนแรงให้ถึงที่บ้านหวังเอาไว้ค่ะว่าคนในครอบครัวของพี่ป้าน้าอาผู้หญิงกลุ่มเหมายจะมาร่วมฟังและจะได้ร่วมผลักและดันให้มาตรวจเพิ่มมากขึ้นไปอีก ไม่ได้คิดแบบรอบด้านด้วยค่ะว่ามันเพราะสังคมวัฒนธรรมหรือการหลอ่หลอมจะมีผลหรือไม่มีผล อุปสรรคและปัญหาจะแก้กันที่ในหมู่บ้านเลยค่ะ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรดิฉันไม่พลาดแน่ๆค่ะที่จะกลับมาบันทึกเก็บเอาไว้อ่านในโอกาสต่อไป งานนี้ dare to fail ค่ะ
ปล.หากท่านใดที่พอจะแนะหรือบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของโครงการคุมกำเนิดที่รณรงค์ให้มีลูก 2 คนได้บ้างแนะนำให้ด้วยจะขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะค่ะซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นโครงการเดียวกับโครงการมีชัยหรือไม่เพราะออกหมู่บ้านแล้วยังเห็นแผ่นป้ายรณรงค์ให้มี ลูก 2 คน เข้าใจว่าคงนานมากแล้วเพราะแผ่นป้ายทำด้วยแผ่นป้ายรณรงค์ทำด้วยเหล็กเลยนะค่ะไม่เห็นในสมัยปัจจุบันนี้แล้ว เห็นว่าประสบความสำเร็จเลยอยากรู้ค่ะว่าโครงการดังกล่าวทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จค่ะ
ส่งมาได้นะค่ะที่ [email protected] ค่ะ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นก็ได้ค่ะ