งงกับคำว่าการจัดการความรู้


ความแตกต่างระหว่างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชุมกับKm
เป็นวันแรกที่บันทึกลงในบลอก  เพราะเพิ่งได้เรียนรู้วิธีการเขียนบลอกหลังจากที่หลงทางอยู่นานต้องขอกราบขอบพระคุณอ.นพ.วิจารณ์ที่เป็นผู้กระตุ้นให้ต้องลงมือปฏิบัติซักที     วันนี้ได้มีโอกาสร่วมประชุมการจัดการความรู้ 4 ยุคของชุมชนอาคารสงเคราะห์ จ.พระนครศรีอยุธยา  สิ่งหนึ่งซึ่งประทับใจมากนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้จากเวทีการประชุมแล้วคือการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมงานสคส.ที่สามารถถอดบทเรียนจากการที่วิทยากรทั้ง 3 ท่านมาเล่าการทำงานให้ฟังได้อย่างน่าทึ่ง รวมทั้งการได้รับความกรุณาจากน้องเก๋ที่ช่วยสอนวิธีการเขียนบลอกด้วย  ซาบซึ้งกับการเป็นผู้แบ่งปันความรู้ของทีมงานทุกท่านเป็นอย่างมาก

 

การเข้าร่วมประชุมกับทางสคส.เนื่องจากเป็นเพราะพยายามจะหาคำตอบของคำว่าการจัดการความรู้  ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะเข้าใจแต่พอไปอ่านตำราบางเล่มซึ่งมีกรอบกำหนดเลยเริ่มสับสนใหม่ว่าคืออะไรกันแน่   และแตกต่างกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนอย่างไร หรือเป็นการสร้างคำใหม่ให้เรียกดูโก้  เพราะนิยามของกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์สุนทร สุนันท์ชัย หมายถึงการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยขั้นตอน ต่อไปนี้     

 

 1. ตระหนักในปัญหาและเข้าใจว่าเรื่องใดที่ควรแก้ไข   ถ้าเทียบกับKM ก็น่าเป็นการกำหนดเป้าหมาย(KV)

 

2. หาวิธีการแก้ไขโดยการเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกัน  ร่วมมือกันดำเนินการและปรับปรุงแก้ไขจนปัญหาหมดไปก็เกิดเป็นความรู้ฝังลึกกลับเข้าไปในตัวคนใหม่ต่อไป  (น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชนโดยดึงTacit Knowledge ของแต่ละคนออกมาเป็น Explicit  เพื่อแก้ปัญหา)

 

และที่ยังหาไม่พบคือโดนคำถามมาว่า โมเดลหรือรูปแบบการจัดการความรู้ตามทฤษฎีมีอะไรบ้าง  ซึ่งจากที่พยายามศึกษาในเอกสารจะเขียนว่าการจัดการความรู้เป็นกระบวนการเพิ่มศักยภาพของคนในองค์กร  

 

หรือการจัดการความรู้  หมายถึง  กระบวนการที่เป็นเครื่องมือหรือวิธีการเพิ่มมูลค่าของกิจกรรมขององค์กร  กลุ่มบุคคล หรือเครือข่ายของกลุ่มบุคคลหรือองค์กร 
การจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมที่มีความหมายรวมถึง การรวบรวม การจัดระบบ การจัดเก็บและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถนำมาสร้างเป็นความรู้ การตีความ ทำความเข้าใจถึงที่มาและตรวจสอบแนวความรู้นั้น ๆ ตลอดจนการแบ่งปันความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ขบคิด ต่อยอดความรู้สำหรับนำไปใช้งาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเป็นกลไกสำคัญ โดยมี เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุน

 

และมีนิยามแตกต่างกันแต่ส่วนใหญ่จะใช้ว่าเป็นกระบวนการ...ดังเช่น

 

Marquardt  ได้กล่าวว่าการจัดการความรู้ประกอบด้วยกระบวนการ

 

1. การแสวงหาความรู้ (Acquisition) 
2. การสร้างความรู้ (Creation) 
3. การจัดเก็บข้อมูลและสืบค้นความรู้ (Transfer and Utilization )

 

4. การถ่ายโอนความรู้และการใช้ประโยชน์  (Storage)

 

 ถ้าศึกษาของโนนากะก็จะเน้นไปที่การสร้างความรู้ (Knowledge Creation) ซึ่งเป็นโมเดลที่เรียกว่า SECI  ทำให้สับสนว่าเป็น Subset ของการจัดการความรู้หรือเปล่า ?

 

เมื่ออ่านหนังสือของอ.ประพนธ์ก็พบโมเดลการจัดการความรู้ของบริบทไทยที่ใช้ชื่อว่าโมเดลปลาทู หรือปลาตะเพียนโดยใช้เครื่องมือธารปัญญาในการสร้างKV และค้นหา Core competency ขององค์กร  ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ารูปแบบการจัดการความรู้ของสคส. จะให้ความสำคัญกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในองค์กร/ชุมชน   ซึ่งอาจมีหลากหลายหรือแตกต่างกันมากมายในแต่ละแห่ง    แล้วสคส.ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดว่าชุมชนไหนมีการจัดการความรู้???

 


 

 

ขอความกรุณา อ.หมอวิจารณ์หรือท่านผู้รู้ช่วยให้ความกระจ่างด้วยค่ะ  ขอบพระคุณล่วงหน้า

 

พัชรี

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2654เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2005 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท