ประโยชน์ของจินตภาพ


ประโยชน์ของจินตภาพมีหลากหลายมาก สามารถกล่าวได้ว่า เป็น “แก้วสารพัดนึก” ประเภทหนึ่ง  ท่านที่อ่านบล็อกนี้มาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า จินตภาพใช้ในการบำบัดโรคได้  จินตภาพใช้ในการพัฒนาทักษะทางกีฬาได้  จินตภาพใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้  ฯลฯ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของจินตภาพในรูปแบบของงานวิชาการ  ผมขอยกตัวอย่างประโยชน์ของจินตภาพ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงไว้ดังนี้

ไวน์เบิร์กและกูล (Weinberg and Gould,  1999 : 266-273) อธิบายว่า จินตภาพเป็นการเกี่ยวโยงไปถึงจินตนาการ/ภาพภายในจิตใจ การเคลื่อนไหว การทรงตัว การได้ยิน ระบบ สัมผัส และการรับรู้เรื่องกลิ่น ประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซึ่งจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ 4 ประการ ดังนี้
   1) เพื่อเป็นการปรับปรุงสมาธิหรือช่วยให้มีสมาธิที่ดี (Improve concentration)
   2) เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น (Build confidence)
   3) เพื่อเป็นการควบคุมการตอบสนองของอารมณ์ (Control emotional responses)
   4) เพื่อเป็นการเรียนรู้และการฝึกทักษะกีฬา (Acquire and practice skills)

ชิมอนตัน (Simonton, 1980 อ้างถึงใน ฉัตรแก้ว  สุทธิพิทักษ์, 2535 : 48-49) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการฝึกการจินตนาการภาพและการฝึกผ่อนคลายไว้ว่า
   1) เป็นเครื่องมือในการลดความตึงเครียด และความวิตกกังวลต่างๆ
   2) ช่วยในการลดความหวาดกลัว ความหวาดกลัวส่วนมากจะเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกที่อยู่ภายนอกอำนาจการควบคุมของจิตใจ การฝึกจินตนาการภาพและการฝึกผ่อนคลายจะช่วยให้บุคคลสามารถควบคุมตนเองได้
   3) ช่วยในการเปลี่ยนแปลงเจตคติและเป็นพลังในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
   4) สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในร่างกาย คือ ร่างกายจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคและช่วยในการป้องกันสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ เนื่องจากขบวนการทางจิตมีอิทธิพลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันและการรักษาระดับฮอร์โมนของร่างกาย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย จึงมีผลโดยตรงต่อระบบความคิดด้วยเช่นกัน
   5) สามารถที่จะใช้เป็นวิธีการในการประเมินความเชื่อในขณะปัจจุบันและแก้ไขความเชื่อเหล่านั้นได้ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสัญลักษณ์และภาพพจน์ต่างๆ นี้สามารถจะใช้เป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพได้
   6) เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับระดับจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งเป็นระดับที่ความเชื่อต่างๆ ได้ถูกเก็บไว้
   7) ช่วยในการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกผิดหวัง และความรู้สึกสิ้นหวังให้กลับมีความรู้สึกมั่นคง และมองโลกในแง่ดี

นอกจากประโยชน์ของจินตภาพที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว จากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่า มีงานวิจัยในประเทศที่ศึกษาเพื่อนำประโยชน์ของจินตภาพไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ในด้านการรักษาพยาบาล พรทิพย์ จุลเหลา (2548) พบว่า จินตภาพลดความเครียดของผู้ป่วยโรควิตกกังวลได้  ปริญญา สนิกะวาที (2542) พบว่า จินตภาพสามารถลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดได้ ในการศึกษาเกี่ยวกับความเครียดของนักเรียนของ สุกัญญา ไชยคุณ (2543) พบว่า การฝึกจินตภาพลดความเครียดของนักเรียนได้

สำหรับเกี่ยวกับการเรียนโดยตรง ทวีพร สุขแสง (2545) พบว่า จินตภาพส่งเสริมความสามารถในการอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษ และเจตคติของนักเรียนได้  ในด้านผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนจินตภาพก็สามารถพัฒนาได้เช่นกัน จากงานวิจัยของ ยอดกัลยาณี ลับแล (2546) พบว่า จินตภาพสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทักษะยิมนาสติกได้ และมนต์ชัย  สิทธิจันทร์ (2547) ก็ยังพบว่า จินตภาพสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์และความสามารถในการจินตนาการเกี่ยวกับความรู้ฟิสิกส์ได้  นอกจากนั้นแล้ว วรรณภา  พงษ์ดี (2545) พบว่า  จินตภาพสามารถพัฒนาการส่งการบ้านของนักเรียนได้

การฝึกจินตภาพกับการกีฬามีการศึกษากันมากเช่นเดียวกัน เช่น สุกัญญา ลิ้มสุนันท์ (2543) พบว่า จินตภาพพัฒนาความสามารถในการเสิร์ฟลูกสั้นและลูกยาวในกีฬาแบดมินตันได้ อวยพร  คล่องณรงค์ (2547) พบว่า การฝึกจินตภาพพัฒนาความแม่นยำในการเสิร์ฟวอลเลย์บอล ได้ ในการศึกษาล่าสุด เกรียงไกร นาคเทวัญ (2550); ณฐพล มาฬมงคล (2550) พบว่า การฝึกจินตภาพพัฒนาความสามารถในการยิงประตูฟุตบอลได้

โดยสรุป จินตภาพหรือการสร้างภาพในใจเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่สามารถทำได้ เป็นหลักการที่สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ดังเช่นสาขาวิชาทั้งหลายที่จัดให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้กัน  ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยาก หรือลึกลับซับซ้อน ดังเช่น ไสยศาสตร์ หรือโหราศาสตร์

การใช้ประโยชน์ของจินตภาพนั้น เมื่อแรกเริ่มนักจิตวิทยานำมาใช้เพื่อลดความเครียดของผู้ป่วย  แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำผลของการฝึกจินตภาพไปใช้ในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางขึ้น

การฝึกจินตภาพดังที่ได้กล่าวมานั้น มีขั้นตอนการฝึกและผลที่ได้รับคล้ายๆ การสอนปฏิบัติธรรมของวิชชาธรรมกายมาก จนสามารถกล่าวได้ว่า การฝึกวิชชาธรรมกายเบื้องต้นกับการฝึกจินตภาพมีลักษณะทางพื้นฐานหลายประการร่วมกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ในเมื่อการฝึกจินตภาพเป็นที่ยอมรับกันในทางวิทยาศาสตร์และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก  การฝึกวิชชาธรรมกายก็ควรเป็นที่ยอมรับกันในทางวิทยาศาสตร์และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากเช่นเดียวกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกาย

หมายเลขบันทึก: 264983เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท