สำนักวิปัสนาเพี้ยน


สำนักวิปัสนาเพี้ยน

สำนักวิปัสนาเพี้ยน

                                โดย ผศ.ดร.สมบูรณ์ บุญโท

                                เมื่อวานนี้ 30 พฤษภาคม 2552 สรยุทธ์ สุทรรศนจินดา นำเสนอข่าวนักเรียนระดับมัธยมศึกษาพร้อมผู้ปกครองเกี่ยวกับสำนักแห่งหนึ่งให้นักเรียนเข้าไปฝึกสมาธิกับงูเหลือมขนาดใหญ่ ทำให้นักเรียนบางคนถึงกับสติแตก หมอต้องให้การดูแลเร่งด่วน ฝ่ายเจ้าสำนักซึ่งเป็นพระบอกว่า วิธีนี้เขาค้นพบเองจากการเดินธุดงค์ จึงนำมาทดลองกับนักเรียนที่ทางโรงเรียนส่งเข้าไปปฏิบัติธรรม เมื่อเรื่องราวการฝึกสมาธิแบบพิสดารถูกตีแผ่ เจ้าสำนักออกมาแก้ตัวพัลวัน

 

ประเด็นว่าทางโรงเรียนเห็นดีเห็นชอบได้อย่างไร

 

                                การนำนักเรียนหรือนักศึกษาไปปฏิบัติสมาธิตามสถานที่และสำนักต่างๆ ผู้บริหารโรงเรียนรวมทั้งครูผู้รับผิดชอบน่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ครูที่รับผิดชอบต้องมีความรู้ทางพระพุทธศาสนา มิใช่ให้ครูคนใดก็ได้นำเด็กไปยังสำนักต่างๆเพียงเพราะตนเองศรัทธาเลื่อมใส แต่ขาดพื้นฐานความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ในสังคม เรามักจะพบฆราวาสที่เข้าฝึกสมาธิเพียงไม่กี่ครั้ง ก็นึกว่าตนสำเร็จมรรคผลต่างๆต้องการให้คนอื่นทำแบบตนบ้าง หากไม่ทำแบบที่ตนทำ ก็จะตำหนิผู้อื่นว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ

                                การนำนักเรียนไปฝึกสมาธิ ต้องดูความเหมาะสมเรื่องวัย นักเรียนม.ต้นหรือม.ปลาย คงยังไม่ต้องการหลุดพ้นแค่ต้องการฝึกใจให้สงบ แต่อยู่ๆ ทางสำนักเสมือนหนึ่งบังคับให้นักเรียนนั่งสมาธิ แล้วปล่อยให้งูขนาดใหญ่พันเลื้อยกาย อย่าว่าแต่เด็กเลยขนาดผู้ใหญ่ก็ยากที่จะคุมสติอยู่ โดยธรรมชาติมนุษย์กลัวงูอยู่แล้ว ไม่ว่างูเล็กงูใหญ่เป็นการเสี่ยงเกินไปควรได้รับการตำหนิอย่างมาก

 

ประเด็นเจ้าสำนักใช้วิธีนี้ได้อย่างไร

 

                                การฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนาสามารถกระทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าการเจริญสติตามหลักอานาปานสติ คือ กำหนดลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก หรือการกำหนดอาการพอง-ยุบของหน้าท้อง หรือด้วยวิธีการเพ่งกสิณคือ เพ่งมองของที่มีสีต่างๆ กำหนดให้เป็นนิมิตเครื่องหมายจนติดตาติดใจ หรือฝึกสมาธิด้วยการเดินจงกรม คือเดินกลับไปกลับมาอย่างมีสติ ที่นิยมฝึกกันอยู่จะเห็นว่าวิธีเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ยอมรับและปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป แต่สำนักวิปัสสนาเพี้ยนแห่งนี้ กลับใช้วิธีการประหลาดทำให้พระพุทธศาสนาโดยรวมเสียหาย ยังดีที่เจ้าสำนักยอมรับว่าเป็นวิธีที่ตนเองค้นพบนำใช้เองแต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในฐานะที่พระคุณเจ้าเป็นพระในพระพุทธศาสนา ต้องระมัดระวังการนำวิธีที่ไม่ใช่วิธีการของพระพุทธศาสนามาใช้ อาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ แท้จริงควรนำวิธีการที่ปรากฏหรือใช้กันอยู่มากกว่า หากใช้ไม่ได้ผลจึงหาวิธีอื่น แค่คำว่าใช้ไม่ได้ผล ต้องวงการคณะสงฆ์ยืนยันจริงๆ และเป็นทางราชการด้วย หากนำวิธีการเพี้ยนมาใช้กันมากขึ้น สุดท้ายจะเกิดคำสอนเทียม หรือสัทธรรมปฏิรูปขึ้นทั่วแผ่นดิน เมื่อถึงวันนั้นใครคือผู้รับผิดชอบคณะสงฆ์รับหรือพุทธบริษัท

 

ประเด็นว่าด้วยบทบาทของคณะสงฆ์

 

                                สำนักวิปัสสนาหรือสำนักที่เกี่ยวข้องกับการสอนสมาธิในประเทศไทยมีมากมายนับไม่ถ้วน และไม่แน่ใจว่ามีใครเคยทำสำรวจทำเป็นสถิติไว้หรือไม่และแต่ละสำนักใช้วิธีการอย่างไรถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หน่วยงานไหนต้องเข้ามารับผิดชอบ มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรสูงสุดได้ทำหน้าที่ตรวจส่องอย่างครอบคลุมทั่วถึงเพียงไร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ตระหนักถึงภารกิจและพันธกิจนี้อย่างจริงจังเพียงใด ผู้เขียนต้องการให้คณะสงฆ์แสดงบทบาทนี้ ชี้นำพุทธบริษัทและเข้าไปตรวจสอบแต่ละสำนักว่าสอนกันอย่างไร สอนผิดหรือสอนถูก สำนักไหนสอนไม่ตรงตามหลักธรรม ซึ่งมีวิธีการและเกณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว ต้องหาวิธียับยั้ง แต่ละสำนักที่เปิดสอนต้องแสดงรายละเอียดวิธีสอน และสอนโดยชนิดเปิดเผยหากไม่ยึดตามพุทธพจน์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องหามาตรการเพื่อมิให้มีการเผยแผ่ที่ผิดๆ ออกไปสู่สังคม

                                หวังว่าผู้รับผิดชอบจะเร่งรัดให้มีการตรวจสอบและกวดขันให้มีการสอนที่ถูกต้องเหมาะสม โดยไม่มีการปล่อยปละละเลย เช่นที่เกิดขึ้นกับสำนักวิปัสนาเพี้ยน ที่ถูกทางจังหวัดสั่งปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา

คำสำคัญ (Tags): #คติเตือนใจ
หมายเลขบันทึก: 264961เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท