บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย


คนไร้สัญชาติในประเทศไทยสำหรับกลุ่มแรก คนที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศอื่นเลยที่จะทำให้ได้สัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทย ถ้าหากคนนั้นไม่สามารถพิสูจน์จนได้รับการรับรองว่ามีสัญชาติไทย คนนั้นก็ถือเป็นคนไร้สัญชาติ เป็นคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล สำหรับกลุ่มที่สองถึงห้านั้น พอจะเห็นได้ว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับสองประเทศคือประเทศต้นกำเนิดของพ่อแม่ของบุคคลนั้น (ในเรื่องของสัญชาติของพ่อหรือแม่) หรือต้นกำเนิดของตนเอง (กรณีที่เกิดนอกประเทศไทย) กับประเทศที่เค้าอพยพเข้ามาอยู่หรือประเทศที่บุคคลนั้นเกิด (กรณีที่เกิดในประเทศไทย) .......

บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย

 

เมื่อมีคนถามผมว่าคนที่มีสถานะบุคคลคือใคร คำตอบของผมก็คือ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติอะไรเลย (คนไร้สัญชาติ) หรือเป็นคนมีสัญชาติแต่ก็เหมือนไม่มีสัญชาติ (คนเสมือนไร้สัญชาติ)

 

 ก.       คนไร้สัญชาติในประเทศไทย

 

ถ้าจะว่ากันให้ละเอียดชัดขึ้นอีก “คนไร้สัญชาติในประเทศไทย” ก็คือ คนที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลย ไม่ใช่แค่ว่าไม่มีสัญชาติไทยนะ แต่หมายถึงไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลยในโลกนี้ อาจจะมีคนถามว่า “แล้วคนเหล่านี้มีอยู่ในประเทศไทยด้วยเหรอ” คำตอบก็คือมีแต่จะมีมากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่อาจรู้ได้ เอาเป็นว่าถ้าจะหา ก็คงพอจะเจอคนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

1)   คนไทยโดยข้อเท็จจริง  แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนสัญชาติไทย และไม่มีจุดเกาะเกี่ยวที่จะทำให้ได้สัญชาติอื่นเลย ซึ่งคนเหล่านี้ในปัจจุบันก็ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าว หรือแม้กระทั่งเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย

2)  คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรประเทศไทย (ไร้สัญชาติ ไม่ไร้รัฐ – มิสิทธิถาวร) คนพวกนี้ก็จะมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 8

3)       คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ไร้สัญชาติ ไม่ไร้รัฐ – มีสิทธิอาศัยชั่วคราว) คนพวกนี้ก็จะได้รับบัตรประจำตัว ที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6 , เลข 7, เลข 0 หรือเลข 00 เป็นต้น

4)       คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ทางราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้ว (ไร้สัญชาติ ไม่ไร้รัฐ – ไม่มีสิทธิอาศัย) เป็นพวกที่ทางราชการจัดทะเบียนประวัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการผ่อนผันตามกฎหมายให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

5)       คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย และทางราชการยังมิได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้ (ไร้สัญชาติ ไร้รัฐ – ไม่มีสิทธิอาศัย และไร้ตัวตนทางทะเบียนราษฎร)

 

สำหรับกลุ่มแรก คนที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศอื่นเลยที่จะทำให้ได้สัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทย ถ้าหากคนนั้นไม่สามารถพิสูจน์จนได้รับการรับรองว่ามีสัญชาติไทย คนนั้นก็ถือเป็นคนไร้สัญชาติ เป็นคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล

 

สำหรับกลุ่มที่สองถึงห้านั้น พอจะเห็นได้ว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับสองประเทศคือประเทศต้นกำเนิดของพ่อแม่ของบุคคลนั้น (ในเรื่องของสัญชาติของพ่อหรือแม่) หรือต้นกำเนิดของตนเอง (กรณีที่เกิดนอกประเทศไทย) กับประเทศที่เค้าอพยพเข้ามาอยู่หรือประเทศที่บุคคลนั้นเกิด (กรณีที่เกิดในประเทศไทย) ซึ่งกรณีจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้น ไม่ได้รับสัญชาติของประเทศใดในสองประเทศนั้นเลย ทำให้ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติ เป็นคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล เช่นบอกว่าเป็นคนอพยพจากลาวมาอยู่ในเมืองไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยก็บอกว่าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ไม่มีเอกสารเข้าเมืองถูกต้อง ก็ผิดกฎหมาย ครั้นจะให้อยู่ชั่วคราวซักปีสองปีแล้วส่งกลับ หรือว่าส่งกลับเลยให้กับทางลาว ทางเจ้าหน้าที่ลาวก็บอกไม่ใช่คนสัญชาติลาว รับกลับไม่ได้ ตกลงก็คือไม่ใช่ทั้งคนสัญชาติไทยและสัญชาติลาว และไม่มีสัญชาติอื่นๆ อีก ก็ไร้สัญชาติทันทีเลย

 

ทีนี้คงจะเห็นกันแล้วสิว่า การจะดูว่าคนไหนไร้สัญชาตินั้น มันต้องดูสองชั้น ชั้นแรกก็เป็นชั้นสันนิษฐานก่อน ก็คนในกลุ่ม 5 กลุ่มที่ว่ามานั่นแหละ สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าอาจจะเป็นคนไร้สัญชาติ อันนี้ก็เป็นคนมีปัญหาสถานะบุคคลแน่นอนเลย เพราะยังไม่แน่ชัดว่ามีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเลยต้องถือว่าเป็นคนมีปัญหาสถานะบุคคลไว้ก่อน แล้วก็หาทางให้บุคคลนั้นได้รับการพิสูจน์สถานะ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ต้องแก้ไขเยียวยาเบื้องต้นไปก่อน เช่นการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย เป็นต้น ดังเช่นที่ประเทศไทยได้ทำอยู่ ซึ่งก็เป็นคุณประโยชน์อย่างมากกับคนพวกนี้

 

หลังจากนั้นต้องมาดูชั้นที่สอง คือต้องมีการพิสูจน์สัญชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์สัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่นๆ ถ้าผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับการรับรองแล้ว เช่นทางรัฐบาลลาวยอมรับว่าบุคคลนั้นเป็นคนสัญชาติลาว นี่ก็โล่งใจ เพราะจากเดิมที่เป็นคนมีปัญหาสถานะบุคคล จากการที่เราสันนิษฐานว่าไร้สัญชาติ มากลายเป็นคนมีสัญชาติ ก็จะไม่มีปัญหาสถานะบุคคล ขั้นตอนก็คือทำอย่างไรให้เค้าได้รับเอกสารที่ถูกต้องจากประเทศลาวเช่นบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง เป็นต้น และเพื่อที่ทางประเทศไทยจะได้ถอนชื่อเค้าออกจากทะเบียนราษฎรของไทยต่อไป แต่ถ้าเจอคนที่พิสูจน์แล้ว ไม่มีสัญชาติอะไรเลย นั่นแหละคนไร้สัญชาติตัวจริงแท้ เป็นคนมีปัญหาสถานะบุคคลขั้นร้ายแรงที่สุด

 

 ข.       คนเสมือนไร้สัญชาติในประเทศไทย

 

นอกเหนือจากคนไร้สัญชาติแล้ว คนที่มีปัญหาสถานะอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “คนเสมือนไร้สัญชาติ” คำนี้อาจมีคนให้ความหมายหลากหลายกันไป ซึ่งก็จะไม่พูดถึงในตอนนี้ สำหรับในที่นี้ “คนเสมือนไร้สัญชาติ” หมายถึง คนที่มีสัญชาติ เช่นมีสัญชาติไทย สัญชาติพม่า สัญชาติอะไรก็ได้สัญชาติหนึ่ง แต่คนนั้นไม่สามารถใช้สิทธิที่ตนมีในฐานะที่เป็นบุคคลถือสัญชาติของรัฐนั้น เนื่องด้วยรัฐนั้นปฏิเสธการมีสัญชาติของบุคคลนั้น หรือรัฐนั้นไม่ประสงค์หรือไม่สามารถให้ความคุ้มครองบุคคลนั้นในฐานะที่เป็นคนถือสัญชาติของรัฐนั้นได้ หรือรัฐนั้นเป็นต้นเหตุแห่งการประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

ยกตัวอย่างเช่น คนสัญชาติพม่า ที่หนีภัยการประหัตประหารจากรัฐบาลพม่า มาหลบอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่บอกว่าแม้เป็นคนสัญชาติพม่า แต่ถ้าถูกส่งตัวกลับไปที่ประเทศพม่าก็จะถูกประหัตประหาร หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีสัญชาติพม่านั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐที่ตนมีสัญชาติอยู่คือรัฐบาลพม่า ดังนั้นการมีสัญชาติพม่า จึงไม่มีประโยชน์เหมือนกับไม่มีสัญชาติพม่า ก็เลยเรียกว่าเป็น “คนเสมือนไร้สัญชาติ”

 

คนพวกนี้ในประเทศไทย เท่าที่จะพอคิดออกได้ตอนนี้ก็มีอยู่หลายกลุ่มเหมือนกัน เช่น

·        ผู้หลบหนีภัยการสู้รบจากพม่า ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หลบหนีภัยการสู้รบ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรี กาญจนบุรี (ได้รับการจัดทะเบียนไว้แล้ว โดยมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 000)

·        ผู้อพยพชาวม้งที่ห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ (ไม่รู้ว่าได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติแล้วหรือไม่)

·        ชาวโรฮิงยา จากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า (ไม่รู้ว่าได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติแล้วหรือไม่)

·        ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ (ไม่รู้ว่าได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติแล้วหรือไม่)

 

ซึ่งคาดเดาได้ว่าคนเหล่านี้ก็ยังมีสัญชาติเดิมของเค้าอยู่ (เพราะไม่รู้ว่าการที่ออกนอกประเทศมาแบบนี้เป็นเหตุให้ถูกถอนสัญชาติได้หรือไม่) แต่เค้าไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐที่เค้ามีสัญชาติอยู่แต่อย่างใด (หรืออาจถูกลงโทษเมื่อถูกส่งกลับไป) สำหรับการอยู่ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทยในสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย และถ้าถูกจับได้ก็จะถูกกักกันไว้เพื่อรอการส่งกลับ (ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลไทยจะส่งกลับเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนจะไม่เกิดอันตรายกับคนเหล่านี้ และการกลับเป็นไปด้วยความสมัครใจ) แต่ก็มีตัวอย่างที่ดีเหมือนกันที่รัฐบาลยอมให้คนเหล่านั้นบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามได้

 

                หลายคนอาจสนใจว่า ในบรรดาคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย จะรู้ได้อย่างไรว่าเค้าเป็นคนเสมือนไร้สัญชาติ มันก็มีเครื่องมือหรือกลไกทำได้อยู่เหมือนกัน ถ้าจะลองยกตัวอย่างกลไกที่ทำกันในประเทศไทยอย่างย่อๆ มาเล่าสู่กันฟังก็พอจะมีอยู่บ้าง

·        กระบวนการตรวจสอบและรับรองผู้หลบหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งถ้าคนที่ผ่านการรับรองแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นคนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากประเทศพม่า (ไม่ว่าคนนั้นจะมีสัญชาติพม่า – กล่าวคือมีเอกสารรับรองความมีสัญชาติพม่า - หรือไม่ก็ตาม) เป็นคนเสมือนไร้สัญชาติ ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านี้จำนวนมากก็ยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากประเทศไทย และองค์การเอกชน รวมทั้งหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

·        กระบวนการกำหนดและพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัย (Refugee Status Determination) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเฮชซีอาร์) และการที่รัฐบาลไทยยอมให้บุคคลที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นเฮชซีอาร์ดังกล่าวซึ่งมีประเทศที่สามให้คำมั่นว่าจะรับบุคคลนั้นไปไปตั้งถิ่นฐานในประเทศของตนนั้น สามารถเดินทางออกจากประเทศไทยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามได้ ก็ถือได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบและรับรองสถานะของ “คนเสมือนไร้สัญชาติ” เพื่อช่วยให้บุคคลนั้นมีสัญชาติใหม่ได้

ที่พูดมาข้างต้นก็เป็นแค่ตัวอย่างจากสมองอันน้อยนิด จริงๆ แล้วอาจมีสถานการณ์หรือตัวอย่างอื่น ที่จะชี้ให้เห็นถึงสภาวะความ “เสมือนไร้สัญชาติ” แต่คงต้องอาศัยผู้รู้ท่านอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยนำเสนอ แต่อย่างน้อยวันนี้คงพอจะให้เห็นภาพได้บ้าง

 

สิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงเป็นการปิดท้ายก็คือ สำหรับประเทศไทย เรามีคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเยอะแยะมากมาย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายนั้น เท่าที่รู้ก็ประสบปัญหาการจัดเก็บข้อมูลประชากร หรือจะพูดว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรอยู่มาก มีคนจำนวนมากที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร การพิสูจน์สัญชาติเป็นเรื่องทำได้ยากลำบาก ดังนั้น การที่เราจะดูว่าบุคคลหนึ่งเป็น “คนไร้สัญชาติ” หรือเป็น “คนเสมือนไร้สัญชาติ” จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เราอาจเจอผู้ลี้ภัยจากพม่า ที่เราคิดว่าอยู่ในกลุ่ม “คนเสมือนไร้สัญชาติ” แต่อาจกลายเป็นว่า รัฐบาลพม่า ไม่รู้จัก ไม่รับรอง บุคคลนั้นในฐานะคนสัญชาติพม่าเลย ซึ่งทำให้บุคคลนั้นกลายเป็น “คนไร้สัญชาติ” ไปก็ได้

หมายเลขบันทึก: 264687เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรามี knowledge แล้วล่ะกานต์ แต่การปั้น know how ยังต้องเป็นงานของเรา

และเรื่องคนเสมือนไร้สัญชาตินั้น พี่ว่า มันมี ๒ ปรากฏการณ์ย่อย

๑. พวกที่รัฐเจ้าของสัญชาติไม่ยอมรับตัวตนและไม่ยอมให้ความคุ้มครอง อาทิ คนจากพม่าทั้งนอกหรือในค่าย

๒.พวกที่ไม่เอารัฐเจ้าของสัญชาติ อย่างครอบครัวสุขเสน่ห์ แม้รัฐอเมริกันจะยอมรับตัวตนของเขา และอาจให้ความคุ้มครองที่เขาร้องขอ แต่ "ความเป็น" ของพวกเขาไม่อาจพัฒนาบนแผ่นดินอเมริกา ดังนั้น อำนาจอธิปไตยของสหรัฐอเมริกาจึงไม่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนของเขา

มาถึงวันนี้ ภาคการเมืองและภาคราชการส่วนหนึ่งเข้าใจมาก มีคนยืนยันมาจากหลายสายค่ะ ในส่วนภาควิชาการ ก็ชัดเจนตรงกันมากขึ้น และที่ดีกว่าหลายปีก่อน ก็คือ practical มากขึ้น

เหลือเอนจีโอล่ะค่ะ ที่จะลุกขึ้นเอาเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเอาองค์ความรู้เป็นอาวุธในการจัดการ

คลินิกแม่อายจึงเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของเจ้าของปัญหาและชุมชนของเจ้าของปัญหา

ช่วยเล่าความเข้าใจของกงสุลอเมริกันเป็นบันทึกให้อ่านด้วยนะคะ

 

งั้นกรณีที่คนไทใหญ่หลายคนแม้จะมีบัตรหรือเอกสารแสดงตนว่าเป็นพม่า (ไม่ว่าจะได้มาแต่เกิด หรือเพิ่งไล่ให้กันไปหยก ๆ เพราะต้องหาคนมาลงประชามติรัฐธรรนูญก็ตามที) แล้ววันนี้พวกเขาก็บอกว่าไม่ไว้ใจรัฐพม่า ไม่สบายใจที่จะต้องอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐพม่า ก็ต้องถือว่าเป็นคนเสมือนไร้สัญชาตินะสิครับ (เอ ทำไมผมคิดถึงม้งลาวไม่รู้สิ)

งั้นตรงนี้ก็คงต้องพูดถึงเรื่องเจตจำนงค์ (will) ของเจ้าของปัญหาด้วยหรือเปล่าครับ ที่ผ่านมาเราดูเหมือนจะคิดแต่ will ของรัฐ (หรือผมเข้าใจผิด)

ที่บอมพูดมาก็น่าคิดมากครับ เพราะเท่าที่รู้ตามกฎหมายปัจจุบันทั้งของไทยและหลายๆ ประเทศ คนเลือกไม่ได้ว่าจะมีสัญชาติอะไร (เพราะกฎหมายกำหนดไว้) จะเลือกได้ก็ตอนที่มีสองสัญชาติขึ้นไป และต้องการที่จะสละสัญชาติหนึ่งจากสองสัญชาติที่ตนมี

ดังนั้นอย่างคนไทใหญ่ที่ตามกฎหมายพม่าถือว่าเป็นคนสัญชาติพม่า ซึ่งช่องทางที่อาจจะได้สัญชาติอื่นก็มีอยู่ เช่น 1) ตามกรอบผู้ลี้ภัย คือการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หรือได้รับการยอมรับให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ตนลี้ภัยอยู่ และต่อมาได้รับสัญชาติของประเทศนั้น หรือ 2) การขอสัญชาติอื่น เช่น การขอแปลงสัญชาติ เป็นต้น

ในกรอบผู้ลี้ภัย ตามที่ผมเข้าใจ จะมีการให้น้ำหนักทั้งเจตจำนงค์ของรัฐ (ที่อาจบอกว่ายินดีรับกลับ ไม่ทำอะไรหรอก) และเจตจำนงค์ของเจ้าของปัญหา (ที่บอกว่าไม่เชื่อหรอก ถ้ากลับไปแล้ว โดนทำร้ายแน่) ประเด็นอยู่ที่ว่าใครเป็นคนกลางที่จะมาตัดสินล่ะครับ เพราะถ้าเป็นยูเอ็นเฮชซีอาร์ ก็เข้าใจว่าพยายามให้น้ำหนักกับเจ้าของปัญหา แต่จะต้องมีเหตุอันน่าจะเชื่อได้ว่าจะถูกประหัตประหาร (ไม่ต้องถึงขั้นพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้ง) แต่ถ้าคนกลางเป็นรัฐบาลที่เป็นผู้ให้ที่พักพิง น้ำหนักที่ให้สำหรับเจตจำนงของเจ้าของปัญหาก็คงน้อยลงไป

ส่วนที่ว่าจะเป็นคนเสมือนไร้หรือเปล่า ก็พูดยากอีกเหมือนกันนะ การจะดูเรื่องเจตจำนง อย่างเดียวคงจะไม่พอ อาจต้องดูอย่างอื่นด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท