วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี


            (28 เม.ย. 49) ได้รับเชิญไปเป็นผู้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อกระบวนการสันติวิธี” ใน “งานวันมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ” (ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี ดร.อำนาจ เย็นสบาย ผู้ดูแล “งานยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม” โทร. 0-1170-2063) ในภาคค่ำ ซึ่งจัดที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ถนนสุขุมวิท
            ได้อาศัยสาระสำคัญดังต่อไปนี้ เป็นแนวในการปาฐกถา
            1.“วิกฤตการเมืองไทย” อาจเรียกว่าเป็น “ปรากฎการณ์” “พัฒนาการ” และ “นวพัฒนาการ” พร้อมๆกันไป และถือเป็นบทเรียนทางรัฐศาสตร์ที่มีความลึกซึ้ง ซับซ้อน และอ่อนไหว ชนิดที่หาได้ยากในโลก เป็น “บทเรียน” ที่มี “ค่าเล่าเรียน” ซึ่งสูงมิใช้น้อยสำหรับสังคมไทย หรือเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่ค่อนข้างสูงแต่น่าจะคุ้มค่าสำหรับการพัฒนาทางการเมืองของคนไทยและสังคมไทย
            2. “สันติวิธี” เป็นหลักการและวิธีการที่มีความสำคัญ มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในสถานการณ์วิกฤตและในสถานการณ์ปกติของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยได้
            ในสถานการณ์ปกติ จะเป็น “สันติวิธีเชิงป้องกันความขัดแย้ง” หรือ “สันติวิธีเชิงสร้างความสมานฉันท์” เป็นหลัก
            ส่วนในสถานการณ์วิกฤต หรือสถานการณ์ความขัดแย้ง จะเป็น “สันติวิธีเชิงแก้ไขความขัดแย้ง” หรือ “การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี”
            “สันติวิธี” ยังมี “แบบชั้นเดียว” (ไม่ใช้ความรุนแรง แต่มุ่งให้ได้ชัยชนะเหนือคู่ขัดแย้ง และอาจมีการใช้ความรุนแรงทางวาจา) กับ “แบบสองชั้น” (ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและทางวาจาและมุ่งให้บรรลุความตกลงที่พอใจหรือยอมรับร่วมกัน หรือให้ได้ “ฉันทามติ” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง)
            3.“บทบาทของสถาบันการศึกษา” (มหาวิทยาลัย) สามารถและควรจะนำ “หลักการและวิธีการสันติวิธี”ไปเสริมแทรกใน (1) การเรียนการสอน (2) การศึกษาวิจัย และ(3) การบริการสังคม ซึ่ง “หลักการและวิธีการสันติวิธี” นี้ เป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ซึ่งมหาวิทยาลัยเองควรสร้างสมทั้งองค์ความรู้และความชำนาญให้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
            ในการมีบทบาทเช่นนี้ มหาวิทยาลัยอาจพิจารณาจัดตั้ง “หน่วยดำเนินการเฉพาะ” ขึ้นมา โดยมีบุคลากรประจำและมีงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสมทำนองเดียวกับที่บางมหาวิทยาลัยและบางหน่วยงานได้จัดตั้งขึ้นล้ว เช่น 1.มหาวิทยาลัยขอนแก่น (“สถาบันสันติศึกษา”) 2.สถาบันพระปกเกล้า (ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล”) 3.สภาความมั่นคงแห่งชาติ (“คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี”)      4.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (โครงการสันติศึกษา) 5.มหาวิทยาลัยมหิดล (“ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี”) 6.กระทรวงสาธารณสุข (“ศูนย์สันติวิธีกระทรวงสาธารณสุข”) 7.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (“โครงการศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง”)

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
2 พ.ค. 49

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 26435เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท