ตอ่บทความที๑


         2. การจำแนกคนลาวในประเทศไทย

             ผลจากการศึกษา ผู้เขียนพบว่าคนลาวในประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันกล่าวคือ คนลาวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย คนลาวที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และคนลาวที่ไม่ได้เข้าเมือง ซึ่งผู้เขียนจะได้ศึกษาดังต่อไปนี้    

       คนลาวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย[1] หมายถึงบุคคลที่เข้าเมืองตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่ตามกำหนดเวลาโดยได้รับอานุญาติจากทางรัฐการของฝ่ายลาว และได้มีการยอมรับอย่างถูกต้องจากฝ่ายทางรัฐบาลแห่งราชอาณาจักไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2522[2] ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่ถือหนังสือ PASSPORT หรือ หนังสือผ่านแดนซึ่งอาจมีวีซ่าหรือไม่มีวีซ่าแล้วตามแต่ละของกรณี เช่น นักการทูต นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ คนที่เข้ามาทำงานตามองค์กรเอกชน (โครงการหรือ NGO) นักศึกษาและพวกที่เข้ามาทัศนะศึกษา เป็นต้น ตัวอย่าง ในกรณีของ นางไหม สีดาวง มีสัญชาติลาว เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1979 อายุ 28 ปี  ปัจจุบันอยู่บ้าน สามักคีไช เมือง สามักคีไช แขวงอัตตะปือ (ATTAPEU) ประเทศลาว ได้เข้ามาทำงานในบริษัท อุตสาหกรรมการผลิตจำกัด ในประเทศไทย โดยได้ทำสัญญาการจ้างงานผ่านบริษัทลาวจัดหางานเป็นผู้ส่ง ซึ่งนางไหมได้เข้ามาทำงานกับบริษัทดังกล่าว แต่วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2006 จนถึง วันที่ 8 มกราคม ค.ศ.2008 นางไหมได้ดำรงชีวิตในการทำงานในบริษัทดังกล่าว เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม

           คนลาวที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย คนลาวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น หมายถึงบุคคลที่ได้เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีหนังสือใดๆ เช่น PASSPORT หนังสือผ่านแดน หรือมีหนังสือแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ[3] ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวกลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ได้แก่พวกที่หลบหนีเสี่ยงภัยความตาย และพวกที่เข้ามาหางาน เป็นต้น ตัวอย่าง  นาง กาวีพร วิไลวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2523 สถานที่เกิดบ้านบึงวะ อำเภอ(เมือง)ไกสรพรมวิหาร จังหวัด(แขวง)สะหวันนะเขตที่ประเทศลาว เป็นบุตรของนายธง วิไลวรรณ และนางณี วิไลวรรณ  นางกาวีพร ได้เข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๕๓๗ โดยผ่านเข้ามาทางด่านจังหวัดมุกดาหารประเทศไทย ซึ่งมีนายหน้านำพามาชื่อว่าป้าหนิงอยู่ที่บ้านชอก แขวงสะหวันนะเขต มาด้วยกัน 4 คน ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ป้าหนิงบอกว่าจะให้มาขายน้ำเต้าหู้ที่กรุงเทพฯแต่พอมาถึงกรุงเทพฯก็ไม่มีน้ำเต้าหู้ขาย จึงได้ไปขายปลาแทนและได้รับค่าตอบแทนเดือนละ ๑,๔๐๐ บาท ในขณะที่ทำงานในกรุงเทพฯนางกาวีพร ก็ได้พบกับนายยุง แสนสุข ที่เป็นชาวพม่า ซึ่งได้เกิดมีความรักชอบกันจึงตกลงปลงใจกันอยู่แบบสามีภรรยาแต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส และได้โยกย้ายมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 98/1 บ้านร่มไทย หมู่ 14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 

            นายยุงกับนางกาวีพร ได้มีบุตรด้วยกันสองคนคือ ชื่อ เด็กชาย ชลชาติ แสนสุข เกิดที่โรงพยาบาลปทุมธานี(สัญชาติลาวระบุไว้ในสูติบัตร) และเด็กหญิง ชติดา แสนสุข เกิดเมื่อวันที่ 14พฤศจิกายน พ.ศ.2550 เกิดที่ โรงพยาบาลฝาง(สัญชาติพม่า ระบุไว้ในสูติบัตร)

            ปัญหาก็คือว่า นางกาวีพร วิไลวรรณ สัญชาติ พม่า ซึ่งระบุไว้ตามแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

            ถ้าดูตามหลักฐานทางเอกสารแล้ว นางกาวีพร มีสัญชาติพม่า และนายยุงก็มีสัญชาติพม่าทั้งคู่ และบุตรทั้งสองคน คนหนึ่งระบุสัญชาติลาว และอีกคนระบุสัญชาติพม่า ในกรณีนี้ก็เป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้หรือให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า กาวีพรเป็นคนลาวจริงหรือไม่ ถ้าเข้าสู่กระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติลาวก็ไม่รู้ว่าจะผ่านหรือไม่ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

๑.     แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติคนต่างด้าวของนางกาวีพร วิไลวรรณ ได้ระบุสัญชาติพม่า

๒.     ไม่มีบุคคลที่จะรับรองและยืนยันว่า กาวีพร เป็นคนลาว

๓.     นางกาวีพร ไม่สามารถอ่าน เขียนภาษาลาวได้ และการพูด ฟังภาษาลาวได้ แต่ไม่ชัด

๔.     นับแต่เข้ามาไทย นางกาวีพรไม่เคยกลับไปประเทศลาวเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว[4]

            จากการรวบรวมทางข้อมูล พยานและหลักฐานที่มีอยู่พบว่า ถึงแม้นางกาวีพร จะไม่เคยได้กลับประเทศในบ้านเกิดของตนก็ตาม แต่นางกาวีพรก็ได้ส่งเงินเสียภาษีให้กับลาวโดยตลอดมา ซึ่งในมาตรา 2 แห่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาวได้บัญญัติว่า “ สัญชาติลาวเป็นสายเกี่ยวพันธ์อย่างใกล้ชิดทางด้านการเมือง และกฎหมายระหว่างบุคคลกับรัฐของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว ซึ่งแสดงออกถึงสิทธิและพันธะกรณีของพลเมืองลาวต่อรัฐ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว สิทธิและความรับผิดชอบของ รัฐสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว ต่อพลเมืองลาว ผู้ที่มีสัญชาติลาวถือว่าเป็นพลเมืองลาว[5] มาตรา 20 ได้บัญญัติไว้ว่า “ บุคคลผู้ใดที่ได้ไปอยู่ต่างประเทศเกิน 7 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไปอยู่ต่างประเทศทีได้รับอนุญาตแต่หากเกินกำหนดและไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของสถานทูต หรือกงสุลลาวที่ประจำในประเทศนั้น และขาดความสัมพันธ์ทางกฎหมายกับรัฐสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว เกิน 10 ปีก็จะเสียสัญชาติลาว” และตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ.2003 ได้บัญญัติไว้ว่า “ พลเมืองลาวทุกคนมีพันธะเสียภาษีและศุลกากรตามระเบียบกฎหมาย” ที่กำหนด

            จากการอ่านตามมาตรา 1 วรรค 1 มาตรา 20 วรรค 2 แห่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาวและมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวเห็นว่านางกาวีพร ยังมีนิติสัมพันธ์กับรัฐสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวอยู่ ดังนั้นนางกาวีพรจึงถือได้ว่าเป็นคนลาวโดยข้อเท็จจริงตามกฎหมายลาว

          คนลาวที่ไม่ได้เข้าเมือง ในประเภทที่นี้เป็นบุคคลที่ไม่ได้เข้าเมืองแต่เขาได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งบิดา มารดา หรือบิดาหรือมารดาที่เป็นคนลาวได้เข้ามาในประเทศไทยแต่ได้คลอดลูกหรือเกิดในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นแรงงานลาวในประเทศไทย หรือบิดา มารดาที่เป็นคนไทยมีสัญชาติไทย ซึ่งบางคนก็มีสัญชาติไทย บางคนก็ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถูกหาว่าเป็นคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและบางคนก็ถูกถือว่าเป็นคนลาวอพยพ ทั้งๆที่พวกนี้ไม่ได้เดินทางเข้าเมืองมาด้วยตัวเขาเอง

               ตัวอย่าง  ในกรณีของ พระวันวิวาห์ ไชยปัญหา เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2527 ที่บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นบุตรของนายลำพวน ไชยปัญหาและนางวิไล พระชัยยะวงศ์ ซึ่งเป็นชาวลาวที่เข้าเมืองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งคู่ พระวันวิวาห์ มีพี่น้องร่วมท้องแม่เดียวกัน 2 คน ซึ่งพระวันวิวาห์ เป็นบุตรคนที่ 1 ปัจจุบันอยู่วัดป่าอุดมสันติธรรม บ้านม่วง ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระวันวิวาห์ ถือบัตรลาวอพยพ ถือสัญชาติลาวที่ระบุไว้(ตามแบบพิมพ์บุคคลบนพื้นที่สูง)[6]

                 จากการศึกษาผู้เขียนพบว่า คนลาวที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ คนลาวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย คนลาวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และคนลาวที่ไม่ได้เข้าเมืองเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีลักษณะคุณสมบัติและเหตุในการพิจารณาการกำหนดให้สถานะทางกฎหมายของแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกันไป โดยคำนึงถึงประโยชน์และความมั่นคงของประเทศเป็นหลักสำคัญ ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายเป็นแต่ละกรณีของคนลาวในประเทศไทย กล่าวคือ สถานะทางกฎหมายของคนลาวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย สถานะทางกฎหมายของคนลาวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และคนลาวที่เกิดในประเทศไทย กลุ่มคนดังกล่าวได้ถูกจำกัดสิทธิที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะมีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ เช่น ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆที่มนุษย์ทุกคนที่ควรจะได้รับและเอาใจใส่แต่กลับตรงกันข้ามไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร แม้ว่ากฎหมายจะให้สิทธิด้านต่างๆก็ตาม แต่สิทธิดังกล่าวนั้นก็ได้ถูกจำกัดโดยการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บางคน

         จากการศึกษาทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของรัฐไทยในการปฏิบัติต่อคนลาวใน

ประเทศไทย พบว่ากฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บัญญัติรับรองให้รัฐไทยต้องยอมรับให้สถานะทางกฎหมายแก่คนลาวในประเทศไทยในทุกเรื่องโดยเด็ดขาด กฎหมายระหว่างประเทศเพียงแต่บัญญัติให้รัฐไทยต้องยอมรับสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและในการเลือกถิ่นที่อยู่หากบุคคลนั้นได้อาศัยได้อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายและจะไม่ถูกเนรเทศโดยพลการ เว้นแต่จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

         ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าสถานะทางกฎหมายมิใช่สิทธิเด็ดขาดที่บุคคลทุกคนพึงได้รับ แต่เป็นสิทธิที่มีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประเทศไทยที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีสถานะทางกฎหมาย ย่อมต้องพิจารณาตามกฎหมายไทย เพราะกฎหมายระหว่างประเทศปล่อยให้เป็นอำนาจดุลพินิจของรัฐเจ้าของดินแดนที่จะให้หรือไม่ให้สถานะทางกฎหมายแก่บุคคลใดก็ได้

         อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บัญญัติรับรองให้รัฐไทยต้องยอมรับให้สถานะทางกฎมายของคนลาวในประเทศไทยก็ตาม แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ไม่ว่าจะเป็นปกิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุยชน พ.ศ.2491(ค.ศ.1948) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ.2509(ค.ศ.1966) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม พ.ศ.2509(ค.ศ.1966) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื่อชาติในทุกรูปแบบ ค.ศ.1961 ต่างได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไว้ เช่น ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน สิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการสัญจรไปมา รวมทั้งในการเข้าออกนอกประเทศและกลับประเทศของตนด้วย สิทธิในการรักษาพยาบาล อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่บุคคลพึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐทุกรัฐ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงคนลาวในประเทศไทยด้วยในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะเข้าเมืองชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีสิทธิอาศัยหรือไม่มีสิทธิอาศัยก็ตาม ในขณะที่เป็นการรอส่งกลับประเทศ และสิทธิดังกล่าวนี้ก็ได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นกัน อันเป็นการบ่งบอกถึงท่าทีของประเทศไทยอย่างชัดเจนว่าจะไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

          ฉะนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของมนุษย์ การให้สถานะทางกฎหมายแก่บุคคลใดหนึ่งที่เป็นคนต่างด้าวหรือคนลาวต่างๆเหล่านี้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่จะลดปัญหาผลกระทบจากการไม่มีสถานะของกลุ่มคนที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าคนลาวบุคคลใดหนึ่งนั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะมีสถานะทางกฎหมายย่อมต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยไม่ว่าจะเป็นคนลาวที่เมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดในประเทศไทยก็ตาม

        จากปัญหาในกรณีต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการประชากรที่เกี่ยวกับปัญหาสถานะตามกฎหมายของคนลาวในประเทศไทยต่อกับกระบวนการในการเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะได้รับเป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรมแก่คนลาวในประเทศไทยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคมและกระบวนการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศก็คือไทยและลาว ดังนั้นผู้เขียน จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะบางประการ ดังต่อไปนี้

   ประการแรก  ควรมีการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองฝ่าย เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาว ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปทั้งสองประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ความเข้าใจถึงสิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่ายหน่วยงาน และการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยในสังคมทั้ง 2 ประเทศ

   ประการที่สอง ควรมีการเร่งรัดในในความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวและในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้า-ออกเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  บนพื้นฐานความตกลงสองฝ่าย และปฏิบัติตามหลักการต่างตอบแทน ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

   ประการที่สาม รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไทย-ลาว ควรมีการสร้างฐานข้อมูลทางระบบการประชากรทางทะ เบียนราษฏรแบบออนไลน์หากันได้ในทางระหว่างประเทศเพื่อความสะดวกในการคุ้มครองประชากรของตน

   ประการที่สี่ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไทย-ลาว หรือ องค์กรที่รับผิดชอบในการคุ้มครองแรงงาน หรือจัดหางาน และแรงงานที่ขึ้นทะเบียนแรงงานแล้ว ควรส่งต่อหรือแจ้งให้ทางสถานทูตหรือกงสุลของประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะดวกในการคุ้มครองและติดตามในขั้นต่อไป

   ประการที่ห้า หน่วยงานหรือองค์การที่ทำหน้าที่ในด้านความยุติธรรม เช่น ในระดับกระทรวงยุติธรรม หรือในระดับศาลยุติธรรมทั้งสองประเทศ ควรมีบทบันทึกความเข้าใจในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านความยุติธรรม ในกรณีที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิในด้างต่างๆและควรมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนต่อกรณีนายจ้างที่ยึดบัตรประจำตัวของแรงงานลาว

   ประการที่หก ควรมีการจัดระบบประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานลาว และกฎหมายควรเปิดช่องให้แรงงานลาวหรือสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ตามเหตุที่เหมาะสมและหากมีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แรงงานลาวควรจะมีเวลาในการหานายจ้างใหม่อย่างน้อย 1 เดือนตามสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน

   ประการที่เจ็ด ควรมีบทบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงป้องกันความสงบของลาวและกระทรวงมหาตไทย

    ประการที่แปด ควรมีองค์ของเอกชนในทางระหว่างประเทศเพื่อคอยให้บริการความช่วยเหลือในการดูแลแก่แรงงานลาวในประเทศไทยและให้ความรู้ข้อมูลทางกฎหมายแก่คนลาวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยและ

   ประการสุดท้าย ในเรื่องของการพิสูจน์สัญชาติ ในกรณีบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไว้กับกระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรจะมีสิทธิในการที่จะเข้าพิสูจน์สัญชาติได้ ถ้ามีเอกสารหรือพยานที่สามารถชื่อถือได้ว่าเป็นคนลาวจริง เพราะในระยะที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าพิสูจน์สัญชาติได้



[1] มาตร4,วรรค 7, แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522. ได้บัญญัติไว้ว่า คนเข้าเมือง  หมายความว่า คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร

[2] มาตร11, แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522.   บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้าหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา    

[3] มาตรา 12,แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522.

[4] มาตรา ๒๐ กฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาว ค.ศ.2504.

[5] มาตรา2, กฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาว, ค.ศ. 2004.

[6] โปรดอ่านต่อในวิทยานิพนธ์ “สถานะทางกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย”บทที่ 3

หมายเลขบันทึก: 264182เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท