สถานะทางกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย


Legal Status of  Lao People in Thailand[1]

                                                                                                                                บุญมี ราชมีไชย

บทนำ

         “สถานะทางกฎหมาย” เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ประการในการดำรงชีวิต หากมนุษย์บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานแล้วบุคคลผู้นั้นจะสามารถดำรงชีวิตและอยู่ได้อย่างไร อย่างไรก็ดี แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม แต่ในการเดินทางสัญจรไปมา ในการเข้า-ออกนอกประเทศจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายภายในของแต่ละรัฐ ฉะนั้นการให้สถานะทางกฎหมายของบุคคลที่มิใช่คนชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติของตนเอง กล่าวคือการมีที่อยู่ในสถานะของการเป็นคนต่างด้าว(Alien)ในรัฐอื่น การมีสถานะทางกฎหมายของคนต่างด้าวย่อมถูกจำกัดในทุกรัฐ

         โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การส่งเสริมและการคุ้มครองเอกชนของรัฐหนึ่งในอีกรัฐหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงสัญชาตินั้น เป็นไปในเรื่องของสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป มิใช่สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะมีอย่างเท่าเทียมกับคนในชาติอย่างทุกกรณี ซึ่งในแง่พื้นฐานอาจเป็นสิทธิมนุษยชนที่ควรจะมีเพื่อความเป็นมนุษย์ในสังคม แต่การที่จะมีสถานะภาพทางกฎหมายในดินแดนซึ่งตนมิใช่คนในชาตินั้น แนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศยอมรับว่าเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข(Conditional) มิใช่สิทธิเด็ดขาด(Absolute Right)

         ฉะนั้นคนลาวที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย จึงไม่สามารถที่จะมีสถานะทางกฎหมายในด้านต่างๆได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนไทยได้ คนลาวในฐานะที่เป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยจะมีสถานะทางกฎหมายได้นั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายไทยมิใช่กฎหมายลาว ซึ่งกฎหมายหลายๆประเทศก็บัญญัติในทำนองนี้ โดยการที่จะให้คนต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่หรือมาทำงานและมานำใช้ทรัพยากรในประเทศนั้น รัฐก็จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และเหตุผลทางมนุษยธรรม แต่ในการจำกัดสิทธิและสถานะทางกฎหมายของคนต่างด้าวนั้น รัฐจะต้องพิจารณาถึงความสำคัญ ความจำเป็น ความเหมาะสมและสมดุลในทุกๆด้าน มิฉะนั้นอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในรัฐด้านต่างๆได้

         ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะได้ทำการศึกษาถึงสถานะทางด้านกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย ซึ่งจะกล่าวถึงสถานการณ์ด้านสถานะของบุคคลตามกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย การให้นิยามคำว่าคนลาวเพื่อจะได้นำไปสู่การจำแนกคำว่าคนลาวในประเทศไทย กฎหมายที่รับรองในสถานะทางกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของประเทศไทย ตลอดถึงระเบียบการต่างๆที่เกี่ยวข้องและกฎหมายลาวอีกจำนวนหนึ่ง สถานะของบุคคลลาวตามกฎหมาย และแนวทางในการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน และมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เขียนจะได้เริ่มจากในการให้คำนิยามในคำว่า คนลาว เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ ในคำว่าคนลาวหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มใดบ้างและมีความหมายไว้อย่างไร แล้วจะนำไปสู่การจำแนกคำว่าคนลาวในประเทศไทยนั้นมีสักกี่ประเภทและประเภทใดบ้าง ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิหรือมีสถานะตามกฎหมายของรัฐไทยได้หรือไม่ ดังต่อไปนี้

        1. ความหมายของคำว่า “คนลาว”

            หมายถึง “ สัญชาติลาวเป็นสายเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดทางด้านการเมืองและกฎหมายระหว่างบุคคลกับรัฐของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวซึ่งแสดงออกถึงสิทธิและพันธะกรณีของพลเมืองลาวต่อรัฐ สาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย ประชาชนลาว สิทธิและความรับผิดชอบของรัฐ สาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว ต่อพลเมืองลาว ผู้ที่มีสัญชาติลาวถือว่าเป็นพลเมืองลาว[2] นอกนั้นในมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว ยังได้บัญญัติไว้ว่า พลเมืองลาวหมายถึงผู้ที่มีสัญชาติลาวตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

             จากการศึกษาตามข้อเท็จจริงและตามตัวบทของกฎหมาย ผู้เขียนพบว่า คำว่า “คนลาว” นั้นมิใช่แต่บุคคลที่เกิดในดินแดนของสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว และบิดา มารดาที่มีสัญชาติลาวเชื้อสายลาว และมีภูมิลำเนาในสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย ประชาชนลาวเท่านั้น แต่คนลาวนั้นก็อาจเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายต่างประเทศ และอาจไม่ได้เกิดในดินแดนของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เคยมีสัญชาติอื่นมาก่อนหรือเป็นบุคคลที่เคยมีสัญชาติลาวแต่ถูกเสียสัญชาติลาวด้วยเหตุผลที่ว่าไปอยู่ต่างประเทศแล้วได้มีสัญชาติอื่น หรือเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในต่างประเทศ ที่ไปอยู่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตเกินกฎหมายลาวที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เสียสัญชาติลาวไป และอาจเป็นบุคคลที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แต่มีความผูกพัน หรือมีนิติสัมพันธ์กับรัฐ และมีที่อยู่มีภูมิลำเนาอย่างถาวรในสาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว ก็อาจมีสัญชาติลาวได้ตามมาตรา 9 ของกฎหมายว่าด้วย สัญซาติลาว ได้กำหนดถึงฟื้นฐานของการได้สัญชาติลาวอย่างเช่น การได้สัญซาติลาวโดยการเกิด การได้สัญซาติลาวโดยการการรับเข้าสัญชาติลาว การได้สัญชาติลาวคืน และการได้สัญซาติลาวโดยพื้นฐานอื่นๆที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา11 มาตรา12 มาตรา13 และมาตรา14ของกฎหมายของกฎหมายว่าด้วยสัญซาติลาว[3]

        ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คนลาวนั้นไม่มีเฉพาะแต่คนลาวที่มีสัญชาติลาว มีเชื้อสายลาวและต้องเป็นบุคคลที่เกิดในดินแดนของรัฐ สาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาวเท่านั้นบุคคลที่มีสัญชาติต่างประเทศ มีเชื้อสายต่างประเทศ หรือเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติและเกิดอยู่นอกดินแดนของ สาธารณรัฐ  ประชาธิปไตย  ประชาชนลาว ก็อาจเป็นคนลาวหรือได้สัญชาติลาวตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลาว

            จากการศึกษาตามข้อบทของกฎหมายและตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เขียนจึงสามารถพบว่า คำว่า“คนลาว” เป็นสามกรณีด้วยกันเช่น คนลาวโดยสัญชาติลาว คนลาวโดยเชื้อชาติลาว คนลาวโดยนโยบายของรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ทำวิทยานิพนธ์จะได้ทำการศึกษาเป็นแต่ละกรณีดังต่อไปนี้

               คนลาวโดยสัญชาติลาว[4] หมายถึงคนลาวที่มีเชื้อสายลาวหรือเชื้อสายต่างประเทศ ซึ่งบิดามารดาที่มีสัญชาติต่างประเทศหรือเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติหรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติลาวมาก่อน ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เกิดในดินแดนหรือนอกดินแดนของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้สัญชาติลาวหลังการเกิดหรือมีสัญชาติลาวโดยการแปลงสัญชาติ การได้รับสัญชาติลาวคืน ก็ถือว่าเป็นคนลาวโดยกฎหมายที่กำหนดตามมาตรา 14[5]  ของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาว[6]

            คนลาวโดยเชื้อชาติลาว หมายความว่า บุคคลที่มีเชื้อชาติลาว มีสัญชาติลาว เกิดอยู่ในสาธารณะรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวหรือเกิดนอกดินแดนสาธารณะรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาวก็ตาม ซึ่งบิดามารดา ปู่ ตา ย่าทวดที่เป็นคนลาว บุคคลที่เกิดขึ้นมาก็จะเป็นคนลาวโดยเชื้อชาติลาวอาจอยู่ในหรืออยู่นอกดินแดนของสาธารณะรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว ก็ได้

                  ตัวอย่าง  ในกรณีของนางสาววิไลวรรณ  เกิดเมื่อวันที่  13 กันยายน พ.ศ.2526  ที่เมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์  ประเทศลาว ครอบครัวประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา นางสาววิไลวรรณ ได้รับการศึกษาในสถาบันการศึกษาของประเทศลาว เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และไม่ได้ศึกษาต่อ เมื่ออายุครบ 20 ปี  นางสาววิไลวรรณ ได้รับการชักชวนจากเพื่อนที่มีพี่สาวมาทำงานอยู่เมืองไทย เพื่อหางานทำ วิไลวรรณได้เดินทางเข้ามาเมืองไทย ทางชายแดนจังหวัดหนองคาย  โดยได้เข้ามาทำงานอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ทำงานอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้านมาตลอด และได้อยู่แบบหลบๆซ่อนๆ เพราะเนื่องจากนางสาววิไลวรรณ ได้เข้ามาในประเทศไทยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

            ในปี พ.ศ.2547 นางสาววิไลวรรณ ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้มีเอกสารพิสูจน์ตน และได้ไปทำการพิสูจน์สัญชาติกับคณะทำงานพิสูจน์สัญชาติของทางการลาว โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547  ที่สำนักงานจัดหางานเขต 7  กรุงเทพฯ และได้รับการยอมรับเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติลาว เป็นประชาชนลาว นางสาววิไลวรรณ ให้การว่าเขามีฝันที่อยากจะเรียนสูงๆและมีความฝันที่อยากจะเรียนนิติศาสตร์และต้องการอยากเป็นนักกฎหมายแต่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าเรียนได้เพราะด้วยปัญหาความยากจน ถึงแม้นางสาววิไลวรรณ ที่คิดว่าอาจไม่มีโอกาสที่เข้าเรียนได้ก็ตาม แต่นางสาววิไลวรรณ ก็เป็นคนที่ชอบที่หาความรู้ ชอบอ่านหนังสือในเวลาที่ว่าง และในที่สุดนายจ้างก็อยากส่งเสริมให้เขาได้เรียนหนังสือตามที่เธอฝัน และนายจ้างที่แสนดีคนท่านนั้น ก็หาทุกวิธีที่จะทำให้เขามีโอกาสได้เข้าเรียน โดยยอมสละทุนที่เป็นเงินส่วนตัวในครอบครัวของเขา ทั้งครอบครัวของนายจ้างทั้งหมดยินดีที่จะส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือ และในที่สุดนายจ้างท่านนั้นก็ได้ติดต่อหาผู้เขียนทางอินเตอร์เน็ต และได้โทรศัพท์หาผู้เขียน นายจ้างบอกว่า มีปัจจัยที่สำคัญคือความต้องการอยากให้เขาได้รับการศึกษา ซึ่งในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2552 นางสาว วิไลวรรณ ก็ได้กลับไปเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมแห่งหนึ่งอยู่ที่แขวงเวียงจันทน์ และทางโรงเรียนก็รับเข้าเรียนหนังสือได้ปกติ ปัจจุบันเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 4

           คนลาวโดยนโยบายของรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีสัญชาติลาว ที่ได้เข้ามาในสาธารณะรัฐ ประชาธิปไตย ประชาชนลาว โดยถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายและกลุ่มคนอาจเป็นบุคคลที่เข้ามาอยู่นานหรือเป็นบุคคลที่หนีภัยความตายจากสภาวะที่มีสงคราม มีความขัดแย้งต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้ามและยังอนุญาตให้มีการลี้ภัยได้สำหรับกลุ่มคนชาวต่างประเทศที่ถูกปราบปรามด้วยเหตุผลที่ทำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อิสระภาพ ความเป็นธรรม สันติภาพ[7]เป็นต้น แม้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะเข้าเมืองมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ทางรัฐบาลลาวก็ไม่อาจที่ผลักดันเขาออกจากประเทศได้ในช่วงที่มีภาวะสงครามดังกล่าว ด้วยเหตุผลทางหลักสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นทางรัฐบาลลาวจึงได้ให้ที่พักพิงแก่กลุ่มคนดังกล่าวจนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติจึงจะสามารถส่งกลับคืนภูมิลำเนาเดิม ทางรัฐบาลลาวอาจให้พักพิงชั่วคราวหรือถาวรแก่กลุ่มคนดังกล่าวที่หลบเข้ามาในสภาวะเช่นนั้น เป็นไปตามกรณีซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายและตามกฎหมายของรัฐที่กำหนด ในระยะที่ผ่านมาส่วนมากก็อิงตามความสมัครใจของผู้อพยพเองว่าจะกลับคืนภูมิลำเนาเดิมหรือไม่ ตัวอย่างในสมัยสงครามเขมรแดง ในกัมพชูา ช่วงระยะปี ค.ศ.1975 ถึง 1978 หลังจากที่มีความสงบแล้ว บางส่วนก็กลับภูมิลำเนาเดิมและอีกส่วนหนึ่งไม่กลับภูมิลำเนาเดิมและได้อาศัยอยู่ในประเทศลาวจนถึงปัจจุบัน กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนมากก็จะมีสัญชาติลาวหมดแล้วตามนโยบายและตามกฎหมายลาวที่กำหนดในมาตรา 14 ของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติลาว

      

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 264174เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท