บทคัดย่อ


สรุปสังลวมจากวิทยานิพนธ์

 

         ปัจจุบัน มีคนลาวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีหลายสถานะที่แตกต่างกันไปมีทั้งคนลาวเข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย คนลาวที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และคนลาวที่ไม่ได้เข้าเมืองเพราะเกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะบิดา มารดาเป็นคนลาว กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนมากเข้ามาเพื่อหางานทำและเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่เพื่อทำงาน ซึ่งมีมาอย่างช้านาน บางคนก็มีนิติสัมพันธ์ทางครอบครัวกับรัฐไทย ฉะนั้นจึงเป็นการยากในการจัดการประชากรในปัญหาดังกล่าว เนื่องจากหลายกรณี มีหลายปัจจัย มีหลายสถานะของบุคคลที่แตกต่างกัน รัฐไทยจึงได้มีนโยบายออกกฎหมาย มีการผ่อนผันให้คนลาวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและแรงงานลาวที่ผิดกฎหมาย ที่อยู่ในระหว่างรอการส่งกลับ ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และสามารถทำงานได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามที่กฎหมายไทยกำหนด กฎหมายไทยได้มีการกำหนดกระบวนการ วิธีและขั้นตอนในการเข้าสู่กระบวนการสถานะทางกฎหมาย ทั้งคนลาวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย คนลาวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและคนลาวที่ไม่ได้เข้าเมืองไว้แตกต่างกันไปตามลักษณะ สถานะและเหตุผลในการพิจารณาให้ทางสถานะตามกฎหมาย

     ในปัจจุบันมีกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับซึ่งมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไว้เช่นกัน ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองนี้ก็เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของประเทศไทยเอง แต่ความมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรในแต่ละรัฐ ทำให้สิทธิและสถานะทางกฎหมายของคนที่มิใช่คนชาติของรัฐนั้นมิใช่สิทธิเด็ดขาด แต่เป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข คือรัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิทางด้านต่างๆได้ เช่น การให้สิทธิอาศัย การรักษาพยาบาล การถือครองทรัพย์ และสิทธิในการทำงานแก่คนที่มิใช่คนชาติของตนได้

         ด้วยคนลาวที่เข้ามาอาศัยยู่ในประเทศไทย มีด้วยกันหลายประเภทที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไว้ไม่แตกต่างกันก็ตาม แต่สถานะดังกล่าวนั้นก็อาจถูกจำกัดไว้ด้วยเหตุผลที่ว่า บุคคลดังกล่าวนั้นอยู่ในรัฐอื่นที่มิใช่รัฐเจ้าของสัญชาติของตนหรือเรียกว่าเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไขโดยอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันคนลาวได้ปรากฏตัวในรัฐไทย 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1. คนที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย 2. กลุ่มคนที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ 3. กลุ่มคนที่มิได้เข้าเมืองเพราะเกิดในประเทศไทยแต่ถูกถือว่าเป็นคนที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

       ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ปรากฏคือ เมื่อปฏิเสธไม่ได้ถึงการมีอยู่ของคนต่างด้าวในประเทศตนโดยเฉพาะคนลาวในประเทศไทย ในระหว่างที่กระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะของบุคคลเหล่านี้ยังไม่บรรลุผลอย่างเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าทั้งสองรัฐบาลระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลลาวจะมีบทบันทึกความเข้าใจร่วมกันก็ตาม คนเหล่านี้ย่อมที่จะต้องดำรงชีวิตในประเทศไทยต่อไปโดยเลี่ยงไม่ได้ การที่เขาเหล่านี้จะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระแก่รัฐไทยมากนัก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวก็ได้อนุญาตให้คนที่อยู่ในสถานะเช่นนี้ทำงานได้แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอนุญาต แต่ปัญหาที่ปรากฏคือ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทั้งๆที่มีสิทธิขอใบอนุญาตทำงานได้ตามกฎหมาย แต่ในบางพื้นที่สามารถทำงานได้ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และในขณะเดียวกันบางพื้นที่ก็มีการจับกุมด้วยเหตุที่คนเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งข้อเท็จจริงก่อให้เกิดข้อกังขาว่า เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพหรือเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้นหากไม่มีการศึกษาถึงปัญหานี้อย่างรอบด้าน ผลก็คือมีการละเมิดสิทธิของบุคคล โดยสาเหตุจากการที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ คนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำงานได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่มีสถานะทางกฎหมายได้

            ฉะนั้นผู้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้  จึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพต่อการกำหนดสิทธิในสถานะทางกฎหมายของคนลาวในประเทศไทยให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพในสังคมปัจจุบัน  ทั้งสถานการณ์ในประเทศและระหว่างประเทศ โดยกำหนดแนวทางการศึกษาไว้ดังนี้ สถานการณ์ด้านสถานะบุคคลตามกฎหมายของบุคคลลาวในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถานะทางกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย           ข้อจำกัดสิทธิของคนลาวในประเทศไทย  และองค์กรของรัฐไทยในการจัดการสถานะทางกฎหมายของคนลาวในประเทศไทย    

             ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าคนลาวบุคคลใดหนึ่งนั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะมีสถานะทางกฎหมายย่อมต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยไม่ว่าจะเป็นคนลาวที่เมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดในประเทศไทยก็ตาม

        จากปัญหาในกรณีต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการประชากรที่เกี่ยวกับปัญหาสถานะตามกฎหมายของคนลาวในประเทศไทยต่อกับกระบวนการในการเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะได้รับเป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรมแก่คนลาวในประเทศไทยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคมและกระบวนการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศก็คือไทยและลาว ดังนั้นผู้เขียน จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะบางประการ ดังต่อไปนี้

        ควรมีการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองฝ่าย เช่น พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาว ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไปทั้งสองประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ความเข้าใจถึงสิทธิหน้าที่ของแต่ละฝ่ายหน่วยงาน และการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยในสังคมทั้ง 2 ประเทศ

         ควรมีการเร่งรัดในในความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวและในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้า-ออกเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  บนพื้นฐานความตกลงสองฝ่าย และปฏิบัติตามหลักการต่างตอบแทน ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

          รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไทย-ลาว ควรมีการสร้างฐานข้อมูลทางระบบการประชากรทางทะ เบียนราษฏรแบบออนไลน์หากันได้ในทางระหว่างประเทศเพื่อความสะดวกในการคุ้มครองประชากรของตน

         หน่วยงานหรือองค์การที่ทำหน้าที่ในด้านความยุติธรรม เช่น ในระดับกระทรวงยุติธรรม หรือในระดับศาลยุติธรรมทั้งสองประเทศ ควรมีบทบันทึกความเข้าใจในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านความยุติธรรม ในกรณีที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิในด้างต่างๆและควรมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนต่อกรณีนายจ้างที่ยึดบัตรประจำตัวของแรงงานลาว และควรมีองค์ของเอกชนในทางระหว่างประเทศเพื่อคอยให้บริการความช่วยเหลือในการดูแลแก่แรงงานลาวในประเทศไทยและให้ความรู้ข้อมูลทางกฎหมายแก่คนลาวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 264169เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท