ห้องเรียนคุณภาพกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน 2


ห้องเรียนคุณภาพ

การยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนด้วยแนวทางห้องเรียนคุณภาพ(ต่อ)

            ก้าวที่  3  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 

            (บอกความเป็นนักบริหารจัดการห้องเรียนชั้นครู)

 

          เป็นขั้นของการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้  ครูได้แสดงบทบาทการเป็นนักบริหารจัดการอย่างเต็มที่  คือ  การใช้ทักษะผู้นำ (Leadership) และความรู้ความสามารถทุกอย่าง  ได้แก่  การบริหารชั้นเรียน  การบริหารเวลา  ทักษะการใช้สื่อ  การตัดสินใจ  การวัดและประเมินผลของครู เพื่อที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้คือ  การบันทึกร่องรอยผลการจัดการเรียนรู้  ให้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำงาน  สิ่งที่ครูควรมีการบันทึกผลหลังสอน ได้แก่

1)      ผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  โดยการตอบวัตถุประสงค์ของแผน  แต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร  ด้วยวิธีใด  จำนวนเท่าใด และมีค่าสถิติอย่างไร  มีข้อสังเกต  และข้อพิจารณานำไปปรับปรุงต่อและใช้ในครั้งต่อไปอย่างไร

2)      บันทึกบรรยากาศการเรียนรู้จริง  เช่น ความสนุกสนาน  ความสนใจร่วมมือ  เจตคติ  พฤติกรรม  สื่อ แบบวัดประเมิน  เหตุการณ์ที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ปัจจัยเสริม ข้อขัดข้องข้อสังเกตต่าง ๆ ควรเก็บบันทึกอย่างครบถ้วน 

          การบันทึกเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ครูจะเกิดทักษะและประสบการณ์ในการบันทึก ให้เป็นหมวดหมู่เป็นประเด็น  เป็นสมุดปูม (Log Book) บันทึกเหตุการณ์ประจำวันของชั้นเรียน 

 

          ในขั้นตอนนี้  ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าไปกำกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานะผู้นิเทศ  คือ การให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ (ละเว้นการตำหนิ การกล่าวโทษ)การสร้างแรงจูงใจ  การเสริมแรง  ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ครูได้รับความสำเร็จ  โรงเรียนควรจัดระบบนิเทศภายใน (Internal Supervisory System)  ผู้ทำหน้าที่นิเทศที่มีคุณค่าที่สุดก็คือผู้บริหารสถานศึกษา  อาจกำหนดคณะนิเทศภายในสถานศึกษาและแสวงหาความร่วมมือการนิเทศที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

 

 

           ก้าวที่ 4  การประเมินการสอนรายวิชา 

            (บอกความเป็นนักวิจัยชั้นครู)

 

          เป็นขั้นที่บอกความสำเร็จในการทำงานของครู  จากการจัดการเรียนรู้ตามแผนตั้งแต่แผนแรกจนถึงแผนสุดท้ายมาวิเคราะห์ประมวลผล  เพื่อตอบหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) และวัตถุประสงค์หน่วยการเรียนรู้ ว่าแต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร เท่าใด  มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะและการแก้ไขไว้อย่างไร  ทุกคำตอบหาได้จากบันทึกผลหลังแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้บันทึกไว้แล้ว

          สิ่งที่ควรดำเนินการในขั้นนี้ คือ 

          1)  การสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   โดยการจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาประจำวิชาและของสถานศึกษา

                   2)  สรุปรายงานผลการใช้หลักสูตรรายวิชา/หรือชั้น  ในรูปแบบรายงานการวิจัย 5 บท ซึ่งได้ข้อมูลจากผลการแผนการจัดการเรียนรู้  เป็นผลงานสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนาเพราะเป็นงานการวิจัยสูตรสถานศึกษา  จะพบองค์ความรู้ที่มีคุณค่าของครูอยู่ที่นี่  ต่อการพัฒนาหลักสูตรและการขอรับวิทยฐานะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

4.  มิติสัมพันธ์ 4 ก้าวเดินครูกับห้องเรียนคุณภาพ

          ก้าวเดินที่มีคุณภาพครูมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ  ช่วยให้เข้าถึงกรอบที่กำหนดไว้  5  ประการ  ดังนี้ 

4.1  การนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ 

ครูมีโอกาสได้รับการเร่งเร้า  ส่งเสริม  เพื่อกำหนดกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการทำงานใหม่ในห้องเรียน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบในการบริหารจัดการรายวิชาของครู  ที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการขจัดการเรียนรู้  เห็นศักยภาพของครูแต่ละคน  สามารถสืบค้นจากแหล่งความรู้และมองเห็นแนวทางปรับปรุงต่อยอดความคิดได้ชัดเจน    มีการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน  สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา 

4.2  การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน 

สามารถวัดได้จากการเป็นนักวางแผน  การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) จากหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด  เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

4.3  การวิจัยในชั้นเรียน (CAR-Classroom Action Research) 

การจัดการเรียนรู้  การบันทึกตามแผนการจัดการเรียนรู้  และนำผลมาประมวลเมื่อสิ้นปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  เป็นผลงานวิจัยชั้นเรียนที่มีคุณค่า  ครูทุกคนมีผลงานวิจัยของตน  เป็นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละปี สามารถใช้เป็นผลงานในการขอเพิ่มวิทยฐานะได้อย่างมีเกียรติ 

เป็นผลที่เกิดขึ้นในก้าวที่ 4 ครู  เป็นก้าวของการสรุปองค์ความรู้  ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่หรือนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเผยแพร่และการนำไปต่อยอดต่อไป หลักสูตรสถานศึกษาได้รับการวิจัยและการพัฒนาเป็นกระบวนการที่มีความยั่งยืน 

4.4  การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน 

อยู่ในทุกก้าวเดินของครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นก้าวของการแสวงหาความรู้และการสอน  ได้แก่การใช้สื่อสารสนเทศที่กว้างขวางเพื่อการสืบค้นและการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนสากล (Global Classroom)  หลายอย่างครูสามารถเรียนรู้แนวทางได้จากอินเตอร์เน็ต  เช่น การสอนที่ใช้พลังของเด็ก (Power Teaching) เป็นรูปแบบที่ให้นักเรียนสอนเพื่อนต่อในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้  มีความตื่นตัวสนุกสนานพัฒนาสมองและบุคลิกภาพเด็กได้ครบทุกส่วน และขณะเดียวกันเด็กก็สามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากต้นแบบในอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน เช่น การเล่นกีฬา  ดนตรีประเภทต่าง ๆ ที่ครูเลือกแนะนำให้เด็กได้แม้ไม่มีความชำนาญ   ทำให้สื่อใกล้ตัวครูและนักเรียนมากขึ้น  ชุมชนการเรียนรู้กว้างออกจากห้องเรียนไปสู่สากลด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e-mail)  การใช้สมุดปูมส่วนตัว หรือ บล็อก (Blog) ที่มีบริการแก่สมาชิก เช่น  www.gotoknow.org/ ; www.blogger.com เป็นต้น

5.  บทสรุป : 4  ก้าวคุณภาพครูชัยชนะของทุกฝ่าย (win-win solution)

 

              1) เด็ก ได้รับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน  มีแบบแผน  ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง เรียนเก่ง   เป็นคนดี  มีความสุข

              2)  ครู  ได้มีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับวิชาชีพ  ไม่ทิ้งชั้นเรียน  มีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยวิธีการของตน  สร้างผลงาน  พอกพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน  มีเกียรติได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ

              3) ผู้บริหาร  มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจากผลงานการวิจัยของครูทุกคน และต่อยอดความสมบูรณ์ของหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีคุณค่า แต่ละสถานศึกษาได้สร้างมีองค์ความรู้ที่หลากหลายตามบริบทที่มีอยู่

              4) โรงเรียน กล้าประกาศตนเป็นโรงเรียนคุณภาพ เป็นสถาบันที่มีคุณค่าของชุมชน ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ  

              5)  ชุมชนและผู้ปกครอง  ได้สถานศึกษาของชุมชนที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการ  มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง  มีความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษา

                  6) สำนักงานเขตพื้นที่  สามารถกำกับดูแลการจัดการศึกษาของสังกัดได้อย่างมีทิศทาง  สามารถควบคุมระดับคุณภาพและมาตรฐานได้  ลดความเสี่ยงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  สถานศึกษามีความหลากหลายในแนวทางปฏิบัติ (Best Practices) เป็นองค์ความรู้สู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดให้ยั่งยืนต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 263080เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท