ทำไม "รักษาการนายกรัฐมนตรี" ?


        อ่านข่าวหนังสือพิมพ์  ดูโทรทัศน์  ฟังวิทยุ  จะได้เห็นและได้ยินบ่อยๆ ในการเรียกตำแหน่งของ พล.ต.อ.ชิตชัย  วรรณสถิตย์  ว่า รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรียุติธรรม  รักษาการนายกรัฐมนตรี
        ผมเลยอยากรู้ว่า  ทำไมเรียก รักษาการนายกรัฐมนตรี  ความอยากรู้ต้องพึ่งตำรา ครับ
        ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 พร้อมภาคผนวกฉบับแก้ไข พ.ศ. 2539  และคำอธิบาย  จัดพิมพ์โดย  สวัสดิการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ในภาคผนวก 3  การลงชื่อและตำแหน่ง  ข้อ 4  เขียนไว้ว่า
        การลงตำแหน่งของเจ้าของหนังสือ  ให้ลงตำแหน่งของเจ้าของหนังสือ  ถ้าผู้ลงชื่อมิใช่เจ้าของหนังสือโดยตรง  ให้ลงตำแหน่งของผู้ลงชื่อ
        ในกรณีที่มีการลงชื่อแทน  ให้ใช้คำว่าปฏิบัติหน้าที่แทน  รักษาราชการแทน  รักษาการแทน  ปฏิบัติราชการแทน  รักษาการในตำแหน่ง  หรือทำการแทน  แล้วแต่กรณีตามที่กฎหมายกำหนด  ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ใช้คำว่า แทน  แล้วให้ลงตำแหน่งของเจ้าของหนังสือต่อท้ายคำดังกล่าว
        ยุ่งแล้วครับ  อยากรู้คำเดียว  อ่านพบตำแหน่ง แทน อีกห้า  รวมเป็น หกตำแหน่ง
        ต้องหาความรู้ต่อละครับ  แล้วก็ได้ความรู้  โดยผมเลือกมาเฉพาะที่สงสัยใคร่รู้  ได้ดังนี้ครับ
        1.  ปฏิบัติหน้าที่แทน  ใช้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี  เพราะนายกรัฐมนตรีตาย  หรือขาดคุณสมบัติและคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
        2.  รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี  ใช้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน  ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน  ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง  เป็นผู้รักษาราชการแทน
        3.  ปฏิบัติราชการแทน  ใช้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจ  โดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี  ในการสั่ง  การอนุญาต  การอนุมัติ  การปฏิบัติราชการ  หรือการดำเนินการอื่นที่นายกรัฐมนตรีจะพึงปฏิบัติ  หรือดำเนินการตามกฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  คำสั่ง  หรือมติของคณะรัฐมนตรี
        ตำแหน่ง แทน อีก 3 ตำแหน่ง  ใช้ในกรณีที่มีกฎหมายอื่นนอกจากกฎหมาย  ว่าด้วย  ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดไว้โดยเฉพาะ  ดังนี้
        4.  รักษาการแทน  กฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัย  กฎหมายว่าด้วยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  เป็นต้น  กำหนดให้ใช้คำว่ารักษาการแทน  ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  และให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทน
        5.  รักษาการในตำแหน่ง  กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ  เช่น  กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน  กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู  เป็นต้น  กำหนดให้ใช้คำว่า  รักษาการในตำแหน่ง  ในกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการว่างลง  หรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติราชการได้
        6.  ทำการแทน  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  กำหนดให้ใช้คำว่า  ทำการแทน  ในกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายตุลาการว่างลง  หรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่อาจปฏิบัติราชการได้
        อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นไหมครับ ?  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของท่านโดยเขียนตำแหน่งแทน  ให้ถูกนะครับ  ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่ถ้าสงสัยในการปฏิบัติต้องไปหาอ่านต่อนะครับ
        ท่านจะตีความเรื่องของตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี หรือจะตีความมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  กรณีนายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ว่า  หมายถึงอะไรได้บ้างนั้น  อาจจะตีความพื้นๆ ได้  เช่น  ป่วย  ไปราชการต่างประเทศ  ฯลฯ  ส่วนจะหมายรวมถึง  เยี่ยมลูก  ช็อปปิ้ง  ตีกอล์ฟ  ฯลฯ  ได้หรือไม่นั้น  โปรดตัดสินโดยใช้วิจารณญาณ  เป็นความเชื่อส่วนบุคคล  และอย่าลบหลู่
        เรื่อง  รักษาราชการแทน นี้  มีนิทานติดปลายนวม 2 เรื่องครับ
        เรื่องแรก  เป็นนิทานมหาดไทย
        เรื่องเล่าว่า  หัวหน้างานระดับจังหวัดคนหนึ่งไม่ค่อยได้อยู่ปฏิบัติราชการ (โดดร่มบ่อย) เกรงว่าระหว่างที่ตนเองไม่อยู่มีราชการที่ต้องเสนอด่วนจะเกิดปัญหา  จึงเซ็นชื่อในกระดาษบันทึกข้อความเปล่าไว้หลายใบ  และสั่งลูกน้องว่าถ้ามีเรื่องต้องเสนอให้ดำเนินการได้เลย  จนเป็นที่เอือมระอาแก่ลูกน้องอย่างมากที่ต้องทำงานแทนตลอดเวลา
        อยู่มาวันหนึ่ง  หัวหน้างานท่านนั้นได้รับหนังสือแจ้ง อนุมัติการลาออก ก็ตกใจ  เพราะตัวเองไม่เคยแม้แต่จะคิด  แต่เมื่อดูบันทึกแนบที่อ้างถึงก็พบว่าเป็นบันทึกลาออกของตนเอง  มีลายเซ็นถูกต้อง  และเสนอ เห็นสมควรอนุมัติ โดยผู้รักษาราชการแทนครับ
        เรื่องที่สอง  เป็นนิทานครู ครับ
        โรงเรียนไกลปืนเที่ยงแห่งหนึ่ง  มีครู 2 คน  คือ  ครูใหญ่  กับครูน้อย  และแน่นอนวันที่ครูใหญ่ต้องไปราชการ  ครูน้อยก็ต้องรักษาการ
        ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการในอดีตนั้น  ผู้บริหารต้องลงบันทึกเหตุการณ์ในสมุดบันทึกประจำวัน  และส่วนใหญ่ผู้บริหารก็มักจะบันทึกว่า เหตุการณ์ปกติ
        วันหนึ่งครูใหญ่ไปราชการ  ครูน้อยรักษาการ  วันรุ่งขึ้นครูใหญ่อ่านบันทึกพบว่าครูน้อยบันทึก  ดังนี้
        วันนี้ไม่ได้ชักธงชาติ  เพราะไม่มีธงชาติอยู่ในตู้  สงสัยครูใหญ่จะเอาไปซ่อน
        ครูใหญ่อ่านแล้วก็บันทึกตอบไว้ว่า
        ครูน้อยตาเซ่อ  ธงชาติอยู่ซอกบันได  มองไม่เห็นเอง  ครูใหญ่ไม่ได้ซ่อน
        ครับ  เรื่องรักษาราชการแทน  รักษาการแทน  ฯลฯ  มีเรื่องเล่ามากมาย
        การบริหารไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ
หมายเลขบันทึก: 26299เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2006 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     นับเป็นโอกาสดีที่ได้อ่านเรื่องของท่าน  ทำให้ได้ทบทวนความรู้เดิม (ซึ่งอันที่จริงควรรู้ให้เป็นปัจจุบันตลอดไป แต่ตอนนี้กลับเริ่มเลือนลางเพราะกาลเวลา) 

     ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านนำเสนอนี้นับเป็นหัวใจสำคัญของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสำนักงานเลขาฯโดยเฉพาะงานบริหาร ที่ต้องมีความรอบรู้ แม่นยำ และทันสมัย

ขอชื่นชมอาจารย์มากๆ ด้วยว่า  ในปัจจุบันมีผู้บริหารจำนวนไม่มากนักที่มีโอกาสใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้ด้วยตัวเอง ส่วนมากก็ไม่ค่อยมีเวลา หรืออาจจะให้ความไว้วางใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา (ที่น่าไว้ใจ) เป็นผู้คัดกรองหนังสือราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบบัญญัติต่างๆ  แต่หนังสือราชการที่ผ่านมาบนโต๊ะจำนวนไม่น้อยก็ยังมีข้อผิดพลาด บกพร่อง ให้เห็นอยู่

หากผู้บริหารเอาใจใส่ในเรื่องนี้บ้าง จนท. คงต้องกระตือรือร้นที่จะควบคุมคุณภาพงานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ไม่อย่างนั้นอาจมีโอกาสหัวหลุดจากเก้าอี้ได้แน่ๆ 5555

  ! ในฐานะบุคคลากรสายสนับสนุน คงต้องรีบพัฒนาตัวเองอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ ท่านผู้บริหารได้เข้ามาลงรายละเอียดขนาดนี้แล้ว  รู้สึกอายๆ และหนาวๆ ร้อนๆ ซะแล้วสิคะ !

จะพยายามพัฒนาตัวเองสู่ "ความเป็นมืออาชีพ" ในงานที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้กิจการของมหาวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองต่อไปนะคะ

ถ้ามีเวลาก็เข้าฟิตเนสบ้างนะคะ สุขภาพจะได้แข็งแรง มีพลังในการบริหารกิจการอย่างมีความสุขค่ะ

ด้วยความเคารพค่ะ

สมาชิกฟิตเนส

เรียน  คุณแก้มแหม่ม
            ผมเขียนเรื่องนี้  เพราะความสงสัย 2 เรื่อง  คือ
            1.  ควรเรียกตำแหน่ง พล.ต.อ.ชิดชัย  ว่าอะไร ?  จึงจะถูกต้อง  มิใช่จับผิดสื่อ  เพราะสื่อต้องเรียกให้สั้นและกระชับอยู่แล้ว
            2.  มาตรา 41  เขียนไว้ว่า ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ผมสงสัยว่าตีความได้แค่ไหน ?  เผื่อว่าผู้บริหารคนอื่น  ตำแหน่งอื่นที่เป็นระดับหัวหน้างาน  ทำแบบเดียวกันกับนายกฯ บ้างจะได้หรือไม่ ?
            ขอแถมประสบการณ์ส่วนตัว  ผมเคยทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง  ขณะที่ผมเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  พอพบกัน  ท่านสรรพยอกว่า เดี๋ยวนี้  คณบดีทำหนังสือตรงถึงผู้ว่าฯ เลยนะ  ผมกลับมาดูหนังสือที่ผมเซ็นลงนาม  พิมพ์แต่ตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยครับ  ไม่ได้พิมพ์อีกหนึ่งบรรทัดว่า ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี  เรื่องอย่างนี้ต้องโทษคนเซ็นครับ  เพราะเป็นหนังสือของคนเซ็น  ไม่ใช่ของคนพิมพ์  จึงต้องขอความเห็นใจคนร่างและพิมพ์ครับ  กรณีอย่างนี้ถ้าไม่ใช่งานปกติ  และไม่ได้รับมอบอำนาจ  ผู้ลงนามต้องเป็นระดับหัวหน้างานเหมือนกัน  คือ  อธิการบดี
            ขอเชิญชวนสมาชิกบล็อก  ถ้าอยากให้ผมแลกเปลี่ยนเรื่องอะไร  หรือมีปัญหาการบริหารเรื่องใด ?  ถามมาได้ครับ  ไม่ใช่เก่ง  แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
            ที่สำคัญคือ  ผมจะได้มีเรื่องเขียนครับ
            ขอบคุณที่เป็นห่วงสุขภาพผม  อย่างนี้เรียกว่ารักกันจริงครับ

   เรียน  ท่านอาจารย์ที่เคารพ  

ขอเรียนถามท่านอาจารย์ อยากให้อาจารย์อธิบาย  คำว่า 1.ปฏิบัติหน้าที่แทน 2.รักษาราชการแทน 3. ปฏิบัติราชการแทน 4. รักษาการแทน 5.รักษาการในตำแหน่ง 6.ทำการแทน ให้อาจารย์อธิบายอย่างละเอียด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆนะคะ 

  เช่น  นายกอบต.ไม่อยู่ และไม้ได้มอบหมายให้ใครปฏิบัติหน้าที่แทน   ที่หนูใช้อยู่ คือ ปฏิบัติราชการแทน ถูกหรือเปล่าคะ 

ยกตัวอย่างทุกข้อเลยนะคะ

หน่วยงานของหนู คือ อบต. คะ

เพราะที่ ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็ยังสับสน ว่าใช้ได้ถูกต้องหรือเปล่า 

 ขอบคุณมากนะคะ  ธุรการหัวขี้เลื่อยตัวน้อยคนนี้จะพยามยามพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นคะ

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

                                  ด้วยความเคารพอย่างสูง

                                        ธุรการหัดใหม่

 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำและความรู้ดี ๆ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยดูแลสุขภาพให้ดีด้วยนะคะ

ด้วยควมเคารพอย่างสูง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท