นิยายออนไลน์ปรากฎการณ์วัฒนธรรมร่วมสมัย


นิยายออนไลน์

ในปัจจุบัน กระแสความนิยมการอ่าน นิยายออนไลน์ ของกลุ่มนักอ่านที่เข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ต เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ธุรกิจสำนักพิมพ์ออนไลน์ดูจะมีการเติบโตสวนกับกระแสเศรษฐกิจในทิศทางตรงกันข้าม สำนักพิมพ์ใหญ่ๆซึ่งเคยผลิตแต่หนังสือออกจำหน่ายโดยเน้นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและใช้ขนบในการประพันธ์รวมไปถึงการใช้มาตรฐานแบบเดิมในแง่มุมของวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูง ( ภาษาสละสลวย , มีความงามของภาษา , สะท้อนความเป็นไทย) ในการประเมินผลงานนักเขียน ต่างกระโจนเข้าใส่ธุรกิจสำนักพิมพ์ออนไลน์กันเป็นทิวแถว ส่วนแบ่งทางการตลาดดูจะมีมากพอที่จะแบ่งปันกันหาผลกำไร บางสำนักพิมพ์ถึงกับเปิดสำนักพิมพ์ออนไลน์หลายสำนักพิมพ์โดยแบ่งไปตามประเภทนิยาย    ตามร้านหนังสือ มีมุมจำหน่ายหนังสือนิยายที่ตีพิมพ์มาจาก นิยายออนไลน์ เบียดหนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมคลาสสิกจากนักเขียนชั้นแนวหน้าที่มีชื่อเสียง รวมเรื่องสั้น และหนังสือ ประสบการณ์ชีวิตรักของดารา นักร้อง ให้กลายเป็นเพียงแค่ไม้ประดับในร้านหนังสือเท่านั้น

            ภายในร้านหนังสือจะเห็นเด็กนักเรียนผู้หญิงจับกลุ่มอยู่ตรงมุมนิยายรักพาฝัน หน้าปกที่ออกแนวการ์ตูน สีสันของปกหนังสืออยู่ในโทนน่ารัก ชวนให้คนอ่านมีจินตนาการโลดแล่นไปกับเรื่องที่อ่าน คำโปรยบนปกหน้าและปกหลังของหนังสือ เช่นคำว่า เรื่องรักสดใสที่ทำให้โลกทั้งใบเป็นสีชมพู หรือ ติดปีกให้ความรักโบยบินเหนือจินตนาการ เหมือนเป็นการเชิญชวนให้คนอ่านเลือกที่จะหยิบจับขึ้นมาอ่านก่อนจะควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าหนังสือ

            ในขณะที่ปรากฏการณ์นิยายออนไลน์กำลังมาแรงและเป็นที่นิยม ในอีกด้านหนึ่งของสังคม นิยายออนไลน์ กลายเป็นหัวข้อในการวิพากษ์วิจารณ์ หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามถึงนิยายออนไลน์ กันอย่างหลากหลายประเด็น ทั้งในด้านของแวดวงวรรณกรรมซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า นิยายออนไลน์ ไม่ได้เป็นวรรณกรรมเนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามขนบของนิยาย เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ นิยายออนไลน์ทำให้วัยรุ่นหมกมุ่นในเรื่องกามารมณ์(เรื่องรักๆใคร่ๆ) รวมถึงเป็นสาเหตุให้เด็กไทยมีอัตราการอ่านหนังสือลดลง

            จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเกิดประเด็นคำถามว่า ถ้าวรรณกรรมหมายถึงงานเขียนที่ถูกให้คุณค่าโดยวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นทัศนะวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูง เหมือนที่ แมทธิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold) ได้กล่าวไว้ว่า วัฒนธรรม คือสิ่งที่ดีงามที่สุดที่มนุษย์เคยคิด หรือสร้างขึ้น  ถ้าเช่นนั้นแล้ว นิยายออนไลน์ คืออะไร เป็นวัฒนธรรมหรือไม่ และปรากฏการณ์ การได้รับความนิยมของนิยายออนไลน์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร บทความชิ้นนี้ใช้แนวคิดในการวิเคราะห์ คือแนวคิดอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของ              ธีโอดอร์  อะดอร์โน (Theodor  Adorno) และ แมกซ์  ฮอร์ไคเมอร์ (Max  Horkheimer) ,แนวคิดเรื่องทัศนะต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ของวอเตอร์  เบนจามิน  (walter   Benjamin)

ว่าด้วยนิยาย

เมื่อพูดถึงคำว่า นวนิยาย หลายคนมักจะนึกไปถึงคำว่า เรื่องสั้น นิยาย นิทาน และวรรณกรรม คำว่า นวนิยาย ดูจะคุ้นหูมากกว่าคำว่า วรรณกรรม ในความเป็นจริงวรรณกรรมมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น วรรณกรรมเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ การใช้ภาษาให้ถูกต้อง ชัดเจน และ เหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้ ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่ง ให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ หรือสวยงามได้ นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรงและยึดถือต่อไป (www.wikipedia.org )

            คำว่า วรรณกรรม ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2475 อาจเทียบเคียงได้กับคำภาษาอังกฤษว่า Literary work หรือ general literature ความหมายแปลตามรูปศัพท์ว่า ทำให้เป็นหนังสือ ซึ่งดูตามความหมายนี้แล้วจะเห็นว่ากว้างขวางมาก นั่นก็คือการเขียนหนังสือจะเป็นข้อความสั้น ๆ หรือเรื่องราวสมบูรณ์ก็ได้ เช่น ข้อความที่เขียนตามใบปลิว ป้ายโฆษณาต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงบทความ หรือ หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มทุกชนิด เช่น ตำรับตำราต่าง ๆ นวนิยาย กาพย์ กลอนต่าง ๆ ก็ถือเป็นวรรณกรรมทั้งสิ้น จากลักษณะกว้าง ๆ ของวรรณกรรม สามารถทำให้ทราบถึงคุณค่ามากน้อยของวรรณกรรมได้โดยขึ้นอยู่กับ วรรณศิลป์ คือ ศิลปะในการแต่งหนังสือนั้นเป็นสำคัญ นวนิยาย เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมลายลักษณ์ แต่งในรูปของร้อยแก้ว มีลักษณะแตกต่างจากเรื่องแต่งแบบเดิม ที่เรียกว่า นิยาย หรือนิทาน ที่เรียกว่า "นวนิยาย" ก็เพราะถือเป็นนิยายแบบใหม่ (novel) ตามแบบตะวันตก นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในภาษาพูดโดยทั่วไปนิยมเรียกว่า "นิยาย" ซึ่งกะทัดรัดกว่า นวนิยายนั้น เป็นเรื่องราวที่มีลักษณะสมจริงมากกว่านิทานหรือนิยายแบบเดิม บางครั้งอาศัยฉากหรือเหตุการณ์จริง หรืออิงความเป็นจริง มีบทสนทนา และบรรยายเหตุการณ์อย่างปุถุชนทั่วไป

          กำเนิดของเรื่องสั้น และนวนิยายสมัยใหม่ในประเทศไทยเกิดพร้อมๆ กับการรับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ จากชาติตะวันตก ในปี พศ. 2378 คณะมิชชันนารีอเมริกันได้นำเทคนิควิทยาการการพิมพ์เข้ามาใน ประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยเกิดเมื่อ ปี พศ. 2400 ชื่อ "ราชกิจจานุเบกษา" และทำให้เกิด หนังสือพิมพ์ตามมากอีกหลายฉบับสำหรับการแต่งนวนิยายเป็นเรื่องแรกนั้น ผู้รู้หลายท่านมักจะกล่าวว่าเรื่อง "สนุกนิ์นึก" ซึ่งแต่งโดยกรมหลวง พิชิตปรีชาการ ซึ่งตีพิมพ์หนังสือวชิรญาณวิเสศ (แผ่น 28 วันที่ 6 เดือน 8 ปีจอ อัฐศก 1248) เป็นเรื่องแต่ง ที่มีแนวโน้มจะเป็นนวนิยายเรื่องแรกของไทยที่แต่งเลียนแบบนวนิยายตะวันตก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็แต่ง ได้เพียงตอนเดียวก็ถูกระงับ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหากระทบกระเทียบต่อศาสนาในสมัยนั้น นวนิยายเต็มเรื่อง เรื่องแรกของไทยเป็นนวนิยายแปลเรื่อง "ความพยาบาท" ที่ แม่วัน แปลมาจากหนังสือชื่อ vandetta ของ marie corelli ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือลักวิทยา ในช่วงปี พ.ศ. 2445 และหลังจากนั้น ก็สร้างแรงจูงใจให้ "ครูเหลี่ยม" เขียนนวนิยายไทยที่เป็นเนื่องเรื่องแบบไทยแท้ล้อเลียนเรื่องแปลของแม่วัน โดยใช้ชื่อว่า "ความไม่พยาบาท" ในปี พ.ศ. 2458     งานเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายมีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งช่วง พ.ศ. 2471-2472 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา ที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของประวัติวรรณคดีไทย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดนักเขียนซึ่งทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ ให้มีการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายในยุคต่อมา คือ ในปี พ.ศ. 2471 กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา แต่ง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งได้รับความนิยมมาก พ.ศ. 2472 ดอกไม้สด แต่ง "ศตรูของเจ้าหล่อน" และ หม่อมเจ้าอากาศ ดำเกิงรพีพัฒน์ แต่ง "ละครแห่งชีวิต"   นักเขียนทั้งสามท่านเขียนเรื่องราวออกมาจากโดยใช้พล็อต หรือแนวเรื่องแตกต่างจากนวนิยายต่างประเทศ ในสมัยนั้น ทำให้นักเขียนทั้งสามท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการเขียนซึ่งวางโครงเรื่องเป็นแบบ ไทย และเป็นต้นแบบการเขียนนวนิยายมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้เรื่องสั้น และนวนิยายถูกนับว่าเป็นบันเทิงคดี คือเรื่องที่แต่งขึ้นมาจากจินตนาการของผู้เขียนเป็นส่วนใหญ่ แต่นวนิยายก็มีประโยน์และมีคุณค่าในตัวของมันเอง เรื่องสั้นและนวนิยายสามารถบอกเรื่องราว และความนึกคิด ของคนในสมัยต่าง ๆ ได้ เช่น เรื่องสี่แผ่นดิน ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สะท้อนเรื่องราวของชีวิตไทยในอดีต เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สองใน คู่กรรม เป็นต้น( www.wikeepedia.org )

 

          นวนิยายดังกล่าวมีช่องทางในการสื่อสารกับผู้อ่านคล้ายๆกัน เช่น ตีพิมพ์ในนิตยสาร/วารสารรายปักษ์  หรือว่ารายสัปดาห์ เป็นตอนๆไป หรือว่าจะเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ รวมถึงการออกเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ซึ่งช่องทางในการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นช่องทางมาตรฐานของวงการวรรณกรรม

นิยายออนไลน์กับประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม

            ในขณะที่รูปแบบการนำเสนอนิยายแบบเดิมๆนั้นจะผ่านการผลิตออกมาเป็นหนังสือเป็นส่วนใหญ่และในขณะเดียวกันการพิจารณาที่จะตีพิมพ์ก็จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆซึ่งแทบจะกลายเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของนักเขียนไปเสียแล้ว ในขณะที่นิยายออนไลน์มีตำแหน่งแห่งที่บนพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใครๆก็สามารถเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวได้ ดังนั้นทัศนะของนักเขียนออนไลน์ที่มีต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นอินเตอร์เน็ตจึงเป็นไปในทางบวก โดยที่จากการสัมภาษณ์พบว่านักเขียนและนักอ่านต่างเปิดเผยให้เห็นถึงแง่มุม ซึ่ง วอเตอร์  เบนจามิน (walter   Benjamin) ได้กล่าวถึงคือ การมีประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม ( cultural democracy การที่นักเขียนและคนอ่านไม่ต้องอยู่ในกรอบปฏิบัติของแวดวงวรรณกรรมแบบเดิมๆ การมีที่ทางหรือพื้นที่ใหม่ๆซึ่งเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของงานเขียนแบบเก่า เช่น

1. การนำเสนอผลงานในรูปแบบวรรณกรรมแบบเดิมนั้น งานเขียนจะออกสู่สายตาผู้อ่านได้ก็ต่อเมื่อได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มหรือตีพิมพ์เป็นรายตอนในนิตยสารแล้วเท่านั้น นิยายออนไลน์ จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียนหน้าใหม่โดยไม่จำเป็นต้องผ่านบรรณาธิการก็มีสิทธิที่จะเผยแพร่งานของตนเองสู่ผู้อ่านได้

2. หากจะเขียนเพื่อเสนอขายให้กับสำนักพิมพ์ สามารถเลือกได้ว่าสำนักพิมพ์ไหนเหมาะกับแนวงานเขียนของผู้แต่ง ข้อความดังกล่าวถูกสนับสนุนด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณางานของสำนักพิมพ์ ต่างๆ

ถือได้ว่าเป็นการเปิดตลาดของนิยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิมโดยผ่านกลไกทางการตลาด รวมไปถึงการเสนองานให้แก่สำนักพิมพ์ซึ่งในรูปแบบเดิมนั้นนักเขียนจะต้องเอาชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ไปเสนอบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์  ดังนั้นคนที่จะเป็นนักเขียนจะปะทะกับคนพิจารณาต้นฉบับโดยตรง การส่งงานเป็นเหมือนพิธีกรรมของการก้าวผ่านสู่การเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมดังกล่าวกลับไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วสำหรับนักเขียนออนไลน์ 

ในขณะเดียวกันหากนิยายเรื่องใดที่โพสต์ลงในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แล้วบรรณาธิการหรือคนคัดเรื่อง ได้เข้าไปอ่านและเห็นว่าน่าสนใจก็จะมีการทาบทามขอซื้อลิขสิทธิ์ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้จบเรื่องหรือไม่ต้องรอให้นักเขียนเอามาเสนอ ดังนั้นหนทางในการตีพิมพ์นิยายจึงเปิดกว้างกว่าแต่ก่อนมาก

3.นักเขียนสามารถทยอยโพสต์นิยายที่แต่งไว้ลงเป็นตอนๆในเว็บไซต์ แต่งไปโพสต์ไปไม่จำเป็นต้องแต่งให้เสร็จแล้วตีพิมพ์ครั้งเดียวเหมือนกับการเขียนนิยายแบบเดิม และยังสามารถแต่งได้หลายเรื่องพร้อมๆกันเพื่อการกระจายนิยายไปตามสำนักพิมพ์ออนไลน์

4.พล็อตเรื่องสามารถยืดหยุ่นได้เนื่องจากทยอยโพสต์ลงเป็นตอนและเปิดโอกาสให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น (comment) ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำให้ผู้แต่งสามารถปรับแต่งพล็อตเรื่องและเนื้อเรื่องให้ดำเนินไปตรงกับใจผู้อ่านได้  ไม่เหมือนกับนิยายแบบเดิมที่มีพล็อตเรื่องที่ตายตัวผู้อ่านไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อเรื่อง ในขณะเดียวกันถึงแม้นิยายแบบเก่าพล็อตเรื่องจะตายตัวแต่เรื่องจะแน่น(มีที่มาที่ไป,มีเหตุผลในพฤติกรรมของตัวละคร)ทำให้ดูสมจริงสมจังกว่านิยายออนไลน์

5.นักอ่านส่วนมากพอใจกับการอ่านนิยายออนไลน์เนื่องจากมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ และเมื่อพอใจเรื่องใดก็สามารถซื้อเก็บไว้ได้เมื่อถึงคราวที่สำนักพิมพ์นำมาตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ดังนั้นจึงเป็นหลักประกันให้กับผู้อ่านว่าเป็นเรื่องที่สนุกและสมควรหรือเหมาะสมที่จะซื้อเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่การจับจ่ายใช้สอยดังกล่าวเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ซึ่งแตกต่างจากการซื้อนิยายแบบเดิมที่คนอ่านแทบจะไม่เคยอ่านมาก่อน และเมื่อซื้อไปแล้วก็ไม่แน่ว่าจะสนุกหรือไม่ การซื้อนิยายไปอ่านจึงเปรียบเสมือนการเสี่ยง โดยวิธีการลดความเสี่ยงคือเลือกซื้อนิยายของนักเขียนที่มีชื่อเสียง ทำให้นักเขียนหน้าใหม่หมดโอกาสในการตีพิมพ์ผลงาน

6.การอ่านนิยายผ่านระบบออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองแต่ก็สามารถไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ต์ ได้ซึ่งค่าบริการก็มีราคาถูก (ชั่วโมงละ 10 15 บาท) ซึ่งเป็นทางเลือกของคนที่ไม่สามารถซื้อนิยายที่ตีพิมพ์เป็นเล่มได้ 

            ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตก็ได้เปิดพื้นที่ทางสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นมา ผู้อ่านกับผู้เขียนมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการแสดงความคิดเห็น และพัฒนาไปเป็นทักทายพูดคุยทำความรู้จักผ่านโปรแกรมสนทนาทางอินเตอร์เน็ต เช่น MSN  ,การโทรศัพท์ รวมถึงการนัดพบปะพูดคุย (Meeting) เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้อ่านด้วยกันเอง ระหว่างผู้อ่านกับนักเขียน โดยจะเป็นในเรื่องแลกเปลี่ยนการตีความจากการอ่านนิยายเรื่องนั้นๆ การเสนอมุมมองหรือพล็อตเรื่องใหม่ๆ การแก้เนื้อเรื่องนิยาย และในหลายครั้งการมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวขยายประเด็นในการพูดคุยออกไปจากเรื่องงานเขียน แต่รวมไปถึงเรื่องส่วนตัว การปรึกษาปัญหาชีวิต เรื่องการเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียนจึงเกิดขึ้นภายใต้พื้นที่ (space)แบบใหม่

บนพื้นที่อินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะภายในห้อง(หน้าหนังสือบนเว็บของนักเขียน)ก็มักจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เสมอ ปัจจุบันในเว็บไซต์สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมีการประกาศปิดห้องนิยายเรื่องหนึ่งเนื่องจากตัวผู้เขียนได้ประกาศปิดห้อง จากสาเหตุมีนักวิจารณ์นิยายมาแสดงความคิดเห็นต่อนิยายเรื่องดังกล่าวในทางลบทำให้แฟนคลับของนิยายเรื่องนี้ต่างไม่พอใจและตอบโต้กันผ่านการแสดงความคิดเห็น ( comment ) ในกระดานของห้องนี้ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการให้ความเห็นของนักเขียนออนไลน์หลายคนว่าเป็นการจัดฉากของนักเขียนดังกล่าว เนื่องจากพบว่านักเขียนดังกล่าวไปสมัครไอดี ไว้ในหลายชื่อและใช้ไอดีดังกล่าวปั่นความนิยมให้นิยายตนเองติดอันดับในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการขายนิยายให้สำนักพิมพ์

นิยายออนไลน์กับการทำให้เป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม

ปลายปี พ.ศ. 2551 ภายใต้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศ เกิดการปลดคนงานระลอกใหญ่ บริษัทและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง แต่ข่าวการเปิดตัวสำนักพิมพ์ออนไลน์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือ และจำนวนสำนักพิมพ์ออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเกือบ 10 สำนักพิมพ์ในปลายปี พ.ศ.2551 ดูจะเป็นเรื่องที่สวนกระแสเศรษฐกิจ

            จากการค้นหารายชื่อสำนักพิมพ์นิยายออนไลน์ ผู้เขียนพบว่ามีจำนวนสำนักพิมพ์มากกว่า 20 สำนักพิมพ์ และแต่ละสำนักพิมพ์ก็มีจำนวนนิยายในเว็บไซต์หลายเรื่อง นอกจากนั้นสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงบางแห่งมีนิยายถึง 100 เรื่องที่โพสต์ลงในเว็บไซต์สำนักพิมพ์ อย่างไรก็ตามผลการค้นหาดังกล่าวยังไม่รวมไปถึงนิยายที่โพสต์ตามห้องในเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวกับสำนักพิมพ์โดยตรง เช่น ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ซึ่งมีห้องถนนนักเขียน จากการสืบค้นในเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม (www.Dekdee.com) พบว่ามีนิยายมากกว่า 4,000 เรื่อง และยังมีนิยายที่ผู้เขียนนำไปโพสต์ลงในบล็อกต่างๆอีกมากมายปรากฏการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนิยายออนไลน์กลับมีอนาคตที่สดใสด้วยอัตราคนเล่นอินเตอร์เน็ตในปี พ.ศ.2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 130% และนั่นก็เป็นเหตุผลข้อสำคัญที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและมุ่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทต่างๆ สำนักพิมพ์ออนไลน์ที่ขยายและแตกตัวออกมาจากสำนักพิมพ์หลักๆ มีอยู่หลายสำนักพิมพ์  เช่น สำนักพิมพ์กรีนมายด์ (www.greenmidebook.com) ซึ่งชูสโลแกน ความรักยังงดงามอยู่ในใจเสมอ เป็นสำนักพิมพ์ที่แยกออกมาจากสำนักพิมพ์กรีนบุ๊คส์ และในส่วนของบริษัทสถาพรบุ๊ค ก็มีการเปิดสำนักพิมพ์ออนไลน์อีก 3 สำนักพิมพ์คือ สำนักพิมพ์พิมคำ (www.Pimkham.com) ,สำนักพิมพ์แซดเกิร์ล (www.z-girl.com) เน้นนิยายรักวัยรุ่น , สำนักพิมพ์ปริ้นเซส (www.Princes.com) เน้นนิยายผู้ใหญ่แนวโรมานซ์ ส่วนยักษ์ใหญ่แห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์ บริษัทอมรินทร์พรินต์ติ้ง ก็เปิดสำนักพิมพ์อรุณอุ่นไอรัก  ,บริษัท ณ บ้านวรรณกรรมกรุ๊ป จำกัด มีสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม และ สำนักพิมพ์ยาหยี-ยาใจ ยังไม่รวมถึงสำนักพิมพ์อื่นๆ เช่น สำนักพิมพ์แจ่มใส สำนักพิมพ์ไอเลิฟคลับ สำนักพิมพ์ไอวี่บุ๊คเฮาส์ สำนักพิมพ์โมโนทูยู สำนักพิมพ์เลิฟเบอร์รี1168 สำนักพิมพ์ริมทะเล สำนักพิมพ์นกฮูก สำนักพิมพ์อักขระบันเทิง สำนักพิมพ์ไฟน์บุ๊ค ฯลฯ ถึงแม้ว่าจำนวนสำนักพิมพ์ออนไลน์จะมีมากกว่า 20 สำนักพิมพ์ และจำนวนนิยายที่โพสต์ลงในอินเตอร์เน็ตมากกว่า 100 เรื่องแต่ เค้าโครงหรือเรื่องราวของนิยายดังกล่าวก็ดูจะมีแต่เรื่องนิยายรักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสาเหตุก็เพื่อตอบสนองนักอ่านผู้หญิงอันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดนิยายออนไลน์

          ถึงแม้ว่านิยายออนไลน์ส่วนมากจะมีแต่เรื่องความรักของชายหนุ่ม หญิงสาว บางครั้งพล็อตเรื่องดูจะเหมือนกันไปหมด แต่ นักเขียน กลับไม่ค่อยกังวลกับปัญหานี้มากนักกลับคิดว่าเมื่อมีงานที่เหมือนกันออกมามากๆจะเป็นการวัดฝีมือ หากใครไม่เก่งจริงก็ต้องล้มเหลวไปเอง ในส่วนของสำนักพิมพ์เนื่องจากการซื้อลิขสิทธิ์นำมาตีพิมพ์ในแต่ละครั้งจะมีทั้งแบบที่ซื้อขาด (ซื้อแล้วลิขสิทธิ์ตกเป็นของสำนักพิมพ์) หรือซื้อแบบทั่วไปซึ่งสัญญาจะมีผลแค่ 3-5 ปี เมื่อหมดสัญญานักเขียนก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวไปขายต่อให้สำนักพิมพ์อื่นได้  และในการตีพิมพ์นิยายดังกล่าวสำนักพิมพ์จะพิมพ์เพื่อจำหน่ายประมาณ 3,000เล่ม ค่าตอบแทนของนักเขียนจะได้  10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายโดยสำนักพิมพ์จะจ่ายให้ก่อน ครึ่งหนึ่ง เช่นตีพิมพ์ 3,000 เล่ม คูณราคาขายสมมติว่าเล่มละ100บาทและคูณ 10 เปอร์เซ็นต์ นักเขียนจะได้ค่าตอบแทน 30,000 บาท แต่สำนักพิมพ์จะจ่ายให้ก่อน 15,000 บาทในกรณีสำนักพิมพ์มีการประกันให้ ส่วนที่เหลือจะทยอยจ่ายตามยอดการจำหน่าย และในอีกกรณีหนึ่งนั้นสำนักพิมพ์จะไม่มีการประกันให้แต่ใช้สัญญาเหมือนกันคือให้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์แต่จะทยอยจ่ายให้เป็นรายเดือนตามยอดการจำหน่ายหนังสือ ดังนั้นนักเขียนจึงมักจะเลือกขายนิยายให้กับสำนักพิมพ์ที่มีการประกันให้  ทว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้วนักเขียนก็ยังถือว่าได้ค่าตอบแทนน้อยมากแต่เมื่อเทียบกับภาระการจำหน่ายหนังสือทั้งเรื่องของความเสี่ยงที่จะจำหน่ายไม่หมดซึ่งสำนักพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบ นักเขียนส่วนใหญ่ก็มักจะพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว           ถึงแม้ว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์แต่นักเขียนก็มักจะถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ เช่น นิยายขึ้นอันดับ (Top ten ) ในร้านหนังสือชื่อดังแต่ยอดขายที่สำนักพิมพ์แจ้งกลับไม่สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหานักเขียนจึงมักจะเลือกขายนิยายให้กับสำนักพิมพ์ที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง และมีกลยุทธ์ทางการตลาดในการจัดจำหน่าย

            ทั้งที่ในความเป็นจริงสำนักพิมพ์ไม่มีความเสี่ยงในการจำหน่ายเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากการตัดสินใจซื้อนิยายออนไลน์มาตีพิมพ์นั้นจะพิจารณาจากฐานของแฟนคลับนักเขียนด้วย (แต่เดิมมีความเข้าใจผิดว่าการเลือกซื้อนิยายออนไลน์มาตีพิมพ์นั้นสำนักพิมพ์จะดูจากจำนวนผู้เข้ามาอ่านนิยายทำให้เกิดการปั่นตัวเลขคนอ่าน) รวมทั้งการมีกลยุทธทางการตลาด เช่น บุฟเฟต์นิยาย จะหยิบนิยายกี่เล่มก็ได้ในราคา 250 บาท , จัดกิจกรรมสำนักพิมพ์พบคนอ่าน ( campus tour)ไปตามโรงเรียนระดับมัธยมซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ หรือจนไปถึงการจัดมีตติ้ง (Meeting) คนเขียนพบคนอ่าน และการจำหน่ายของที่ระลึกซึ่งเกี่ยวกับนิยายเรื่องนั้นๆ

            การให้คนอ่านสมัครสมาชิกก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งของทางสำนักพิมพ์ในการจัดจำหน่ายนิยาย โดยที่สมาชิกจะเสียค่าสมัคร 3,000 บาท ต่อปี และจะได้รับนิยายที่ออกใหม่ทุกเดือนโดยที่ทางสำนักพิมพ์จะตีพิมพ์นิยายใหม่ออกมาไม่เกินปีละ 30 เรื่อง ก็ยังถือว่าสำนักพิมพ์ไม่มีการขาดทุนแน่นอนนิยายออนไลน์บางเรื่องถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นละครทางโทรทัศน์ เช่น สงครามนางฟ้า ,มาเฟียที่รัก,แม่ค้าขนมหวาน เป็นต้น แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ที่ซื้อไปทำละครโทรทัศน์สามารถแก้ไข ปรับปรุงบทหรือพล็อตเรื่องได้ และนักเขียนส่วนมากก็จะยอมรับข้อเสนอนี้เพราะเป็นโอกาสที่จะมีชื่อเสียงอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นการต่อรองราคาค่าเรื่องกับสำนักพิมพ์ในการขายนิยายเรื่องต่อไปปรากฏการณ์ดังกล่าว คือสิ่งที่ ธีโอดอร์ อะดอร์โน ( Theodor  Adorno) และ แมกซ์  ฮอร์ไคเมอร์ (Max  Horkheimer) ได้อธิบายไว้ในเรื่องอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม(culture industry)เกี่ยวกับเรื่องการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า (commodification of culture) คือ การขายทุกอย่างที่ขวางหน้าแม้แต่วัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมก็ถูกผลิตเป็นสินค้าได้เช่นกัน กระบวนการผลิตเชิงวัฒนธรรมมีลักษณะมากในเชิงปริมาณแต่ด้อยในเชิงคุณภาพ  นักเขียนเริ่มถูกลดคุณค่าลงและขาดซึ่งเสรีภาพที่แท้จริง (no true freedom) เนื่องจากต้องผลิตสินค้า(งานเขียน) ตามความต้องการของตลาด และมีการยึดผลกำไรเป็นตัวตั้ง (profit-orientedness)  โดยที่ในกระบวนการผลิตนิยายแบบดั้งเดิม วิธีการตัดสินคุณค่าของนิยายจะใช้เกณฑ์ทางศิลปะ สุนทรียะ จริยะธรรม ควบคู่กันไป แต่พอมาถึงยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมการลงทุนกับกระบวนการผลิตนิยายแต่ละเรื่องจะใช้ผลกำไรเป็นตัวตั้งมากกว่าจะสนใจคุณค่าด้านจิตใจรวมถึงเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะของผู้ผลิตสื่อสรุป            ถึงแม้ว่านิยายออนไลน์ จะถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมมวลชน (mass culture)  ซ้ำยังถูกผูกติดกับคำว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และถูกให้คุณค่าว่าเป็นเพียงแค่ กลยุทธ์ทางการตลาด และห่างไกลจากคำว่าศิลปะศาสตร์เชิงอิสระ เป็นการแสดงตัวตนของปัจเจกชนที่คิดว่าตนเองคือปัจเจกชนที่มีอิสระในการเลือกที่จะเสพศิลปะรูปแบบใหม่ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่ปัจเจกชนแบบกำมะลอ  และตกอยู่ภ

หมายเลขบันทึก: 262711เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

* เป็นทางเลือกใหม่ของนักอ่านที่ต้องการสะสม  เพราะหนังสือบางเล่มมองภายนอกน่าสนใจแต่ไม่สามารถอ่านภายในได้เนื่องเพราะการค้า..การจะตัดใจซื้อก็ต้องคิดแล้วคิดอีก

* ขอบคุณที่นำความรู้มาเผื่อแผ่ค่ะ

* สุขกายสุขใจนะคะ

นวนิยายออนไลน์ สะดวก และเผยแพร่ได้ง่าย เป็นเหมือนดาบสองคม ที่ผู้คนเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวกแก่หนอนหนังสือ แต่นิยายบางประเภทมีผลเสียต่อสังคม ผู้ดูแลระบบต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะผู้เข้าถึงทุกวัยรวมถึงเด็กด้วย

นิยายออนไลน์ ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนัก(อยาก)เขียน และนักอ่านหลายๆ คนเลยทีเดียวค่ะ อีกทั้งในยุคนี้ที่มีหนังสือออกต่อวันในหลักร้อย เลยรู้สึกว่า การจะอ่านให้ได้ทุกเล่มนั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก และใช่ว่าทุกเล่มจะมีคุณภาพตามที่เราต้องการเสมอไป ในบางครั้งก็ได้เล่มที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ของตัวเรา ทำให้เวลาเลือกซื้อนิยายอ่านสักเล่มนั้น มักจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากนักเขียนคนนั้นมีนิยายลงในเว็บด้วยแล้ว ทำให้เราสามารถอ่านตัวอย่างก่อนได้ว่า พอใจในผลงานของนักเขียนคนนั้นหรือไม่

ขออนุญาตนำบทความนี้ ออกไปเผยแพร่เบื้องนอกนะคะ ที่ บอร์ดสำนักพิมพ์โอทูเลิฟ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท