ศัตรูของมะลิดอกแสนบริสุทธิ์ป้องกันได้ด้วยลูกลำโพงสมุนไพรข้างทาง


    

      มะลิ เป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกไว้บริเวณบ้านเรือน ด้วยเป็นไม้ดอกสีขาวที่มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เก็บดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำเป็นดอกไม้แห้ง หรือนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหย ในส่วนของผู้ปลุกเพื่อการค้ามักจะท้อแท้กับแมลงศัตรูพืชที่รบกวนมากจนต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดสร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อม สารพิษตกค้างในดอกมะลิและตัวของเกษตรกรเอง ถ้าผู้ผลิตขาดความตระหนักถึงพิษภัยที่จะถึงผู้บริโภคอาจสร้างปัญหาเมื่อดอกมะลิถูกนำไปร้อยพวงมาลัยแล้วนำไปแขวนไว้หน้ารถยนต์ สารพิษจะฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งสะสมในร่างกายของผู้โดยสาร ด้วยความตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมี เกษตรกรในจังหวัดชัยนาท จึงนำภูมิปัญญาชาวบ้านใช้เพื่อการปลูกดอกมะลิ เพื่อนำมาร้อยพวงมาลัยจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในตลาดอำเภอสรรพยา ซึ่งผู้ปลูกเองกล่าวว่า “การใช้สมุนไพรเพื่อฉีดพ่นแมลงศัตรูพืช พบว่าไม่มีหนอนและเพลี้ยต่างๆ เข้าทำลายต้นมะลิ ทำให้ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพียงใช้แรงงานเท่านั้น จากพื้นที่ปลูกเพียงไม่กี่ตารางวาก็สามารถสร้างรายได้จากการนำดอกมะลิมาร้อยพวงมาลัย จำหน่ายได้ประมาณวันละ 200 บาท เป็นค่ากับข้าวสำหรับ 2 ตายายได้อย่างสบาย อีกทั้งร่างกายได้ออกกำลังกายจากการทำการเกษตรและปลอดภัยจากสารพิษด้วย” สองตายายพูดด้วยอารมณ์ที่แจ่มใส(ต้องขออภัยที่มิไต้บอกชื่อเพราะไม่ประสงค์ออกนาม) และเก็บดอกมะลิ และร้อยพวงมาลัยให้ดูอย่างมีความสุข แต่เสียดายที่ไปในช่วงบ่ายดอกมะลิที่เคยออกดอกเต็มต้นถูกเก็บไปจนเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย 
    
      คุณพี่จำรัส เกตุคำ บ้านเลขที่ 134 หมู่ 5 ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ผู้เป็นหลานของคุณตาและคุณยาย ผู้ได้ทำน้ำสกัดสมุนไพรเพื่อใช้สำหรับฉีดพ่นในสวนมะลิกล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลหาดอาษา มีต้นลำโพงขึ้นตามบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า หรือสองข้างทาง จึงนำมาทำน้ำสกัดเพื่อใช้ในนาข้าว และให้คุณตา ใช้ในสวนมะลิ จากประสบการณ์ที่เคยใช้
 
     พบว่าได้ผลดีทั้งในแปลงนาข้าว และสวนดอกมะลิ คือลดปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช ทั้งหนอนและเพลี้ยต่าง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ถ้าพูดถึงต้นทุนของการใช้เมล็ดลำโพง คือกากน้ำตาลลิตรละ 10 บาท ใช้สกัดลูกลำโพงได้ 3 กิโลกรัม เมื่อนำมาใช้ จะใช้เพียง 100 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร สิ่งที่จะต้องลงทุนอีกคือค่าแรงงานฉีดพ่น และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ก็คงจะไม่มากมายนัก เพราะสิ่งที่เราได้กลับมาคือความสมดุลที่กลับคืนสู่ไร่นา และสวนเกษตรให้มีความอุดมสมบูรณ์ดั่งที่เคยเป็นมา
    วิธีทำ เก็บลูกลำโพงคัดเอาผลที่แก่จัด(จะมีสารที่เป็นประโยชน์มาก) นำมาชั่งเพื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างลูกลำโพงกับกากน้ำตาลให้ได้อัตราส่วน 3 : 1 เช่น ถ้ามีผลลำโพง 3 กก. จะใช้กากน้ำตาล 1 กก. ทุบลูกลำโพงให้แหลก ผสมกับกากน้ำตาลที่เตรียมไว้ ก่อนเติมน้ำสะอาดให้ท่วม หมักทิ้งไว้ 15-20 วัน นำมากรองก่อนนำน้ำไปใช้เพื่อป้องกันการอุดตันหัวฉีด อัตราส่วนที่ใช้
     ขอกล่าวในภาพรวมสำหรับนำไปใช้ในพืชได้หลายชนิดคือ พืชไร่และไม้ผล เจือจางสารสกัดสมุนไพรจากลูกลำโพง 1: 200 พืชผักและไม้ดอก เจือจางสารป้องกันแมลงศัตรูพืช 1: 500 การฉีดพ่นส่วนใหญ่สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 50 ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก สารสกัดสมุนไพรจากลูกลำโพงที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในไม้ผล โดยฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น และรดลงดินทุก 20 วัน หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดให้ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง ในอัตราส่วน 1:200 หรือ 100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ในนาข้าว สารสกัดสมุนไพรจากลูกลำโพง สามารถป้องกันศัตรูของดอกมะลิที่สำคัญคือ
      1. หนอนเจาะดอก ซึ่งมีลักษณะลำตัวมีขนาดเล็ก สีเขียว ปากหรือหัวดำ ระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ซึ่งพบการทำลายของหนอนเจาะดอกนี้มากกว่าแมลงตัวอื่น ๆ หากป้องกันกำจัดไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก นอกจากการฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรแล้ว การเก็บเศษพืชที่หล่นบริเวณโคนต้นเผาทำลาย ช่วยป้องกันดักแด้ของหนอนเจาะดอก และตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวแก่ได้
     2. หนอนกินใบ พบการระบาดในฤดูฝน ลักษณะการทำลายโดยพับใบเข้าด้วยกัน แล้วซ่อนตัวอยู่ในนั้น และกัดกินทำลายใบ
     3. หนอนเจาะลำต้น หนอนจะเจาะตรงบริเวณโคนต้น ทำให้ต้นแห้งตาย อาการเริ่มแรกจะพบต้นมีใบเหลืองและหลุดร่วง ถ้าสังเกตที่บริเวณโคนต้น จะเห็นกองขุยไม้ซึ่งเกิดจากการกัดกินของหนอน ถ้าพบควรถอนต้นที่ถูกทำลายเผาไฟทิ้งเสีย
    4. เพลี้ยไฟ เป็นศัตรูที่สำคัญ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายหงิกงอ แคระแกร็น เสียรูปร่าง
     นายรังสรรค์ กองเงิน เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสมอเมื่อมีโอกาสได้นำปัญหาต่างๆ เข้าปรึกษา และขอคำเสนอแนะ โดยให้ขอคิดกับผู้เขียนเสมอว่า การส่งเสริมการเกษ๖รจะต้องพยายามให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินเป็นพิเศษ ผสมผสานกับภูมิปัญญาต่างๆ ให้กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นอย่างลงตัว เนื่องจากถ้าใช้ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปแล้ว แมลงหรือศัตรูพืชต่างๆ มีโอกาสที่จะปรับสภาพตัวเองให้เกิดความต้านทานได้ ดังนั้นจึงควรสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในสมุนไพรแต่ละชนิดที่มีหลากหลายในพื้นที่ หรือแต่ละสูตร และภูมิปัญญาที่หลากหลายมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
คำสำคัญ (Tags): #มะลิ#ลำโพง
หมายเลขบันทึก: 261734เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท