"Carpe Diem" : Dead poets society, 20 years later


ระบบการศึกษากับช่วงชีวิตของการเรียนรู้

หากให้พูดถึงหนังในดวงใจสักเรื่อง..
เรื่องที่แจ่มชัดที่สุดในใจ คือ Dead poets society
..นานมากแล้ว สำหรับหนังเรื่องนี้ ที่ไปๆ มาๆ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า
ในปีนี้ 2009 หนังเรื่องนี้ ครบ 20 ปีพอดิบพอดี (1989 - 2009) จำได้ว่า
ไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนัง เพราะยังเด็กมากตอนที่หนังเข้าฉาย
แต่มีโอกาสได้ดูจากวีดีโอ ที่การมีโอกาสได้ดู dead poets society ในครั้งนั้น
สำหรับเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้เข้าใจสาระของหนังทั้งหมด
แต่ติดตา ติดใจกับหลายฉาย หลายตอนของหนัง..และหลายคำพูด หลายวลีที่โดนใจ

เวลาผ่านไป มีโอกาสได้กลับมาดูหนังเรื่องนี้อีก ต่างที่ต่างเวลา ต่างสถานการณ์
กับช่วงชีวิตการเรียนมัธยม ที่นับตั้งแต่นั้นมา dead poets society
ก็กลายเป็นหนังในดวงใจ ที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความฝัน
ชีวิตของตัวเองมากมาย แม้กระทั่งชีวิตในช่วงปัจจุบันนี้เลยทีเดียว

เรื่องราวของ dead poets society เกิดขึ้นที่โรงเรียนชายล้วน ชื่อว่า
เวลตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา "เกียรติภูมิ ขนบประเพณี ความโดดเด่นทางวิชาการ
ความเป็นเลิศต่างๆ" ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ เป็นที่หมายตาของบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง
ที่จะส่งลูกหลานให้เข้ามาร่ำเรียน ด้วยเชื่อว่านี่จะเป็นเส้นทางแห่งการเติบโตเป็น
เด็กผู้ชายที่สง่างาม ...

หากแต่ภายใต้เกียรติภูมิเหล่านั้น กลับทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่คุมขัง
เป็นโลกที่เต็มไปด้วยกรอบ กฎ และกติกามากมาย
จุดเปลี่ยนสำคัญของ dead poets society คือ การก้าวเข้ามาของศิษย์เก่าของเวลตัน
กับสถานะใหม่ ครูสอนภาษาอังกฤษ "ครูจอห์น คีตติ้ง"

ในห้องเรียนภาษาอังกฤษของครูคีตติ้ง กว้างขวางและใหญ่โตกว่าโลกในหนังสือ
ครูคีตติ้ง อาจสอนภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาสาระกลับมากกว่าการรู้จักภาษา
แต่เขาสอนให้นักเรียนรู้จักโลก สังคม และชีวิต อภิรมย์กับการมีอยู่ของชีวิต
โดยเรียนรู้คุณค่าเหล่้านั้นผ่านบทกวี โคลง ฉันท์บทต่างๆ ที่เขาสรรหามาเล่าสู่กันฟัง
และในไม่ช้าครูคีตติ้งก็ปลุกชีพ ...

ชมรมกวีไร้ชีพ : Dead poets society ให้กำเนิดขึ้นอีกครั้ง
พื้นที่อุโมงค์ลับๆ ที่่เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน ส่องสว่างไปด้วยแสงตะเกียง
เต็มไปด้วยเสียงพูดคุย และร่ำบทกวี บทแล้วบทเล่า ชมรมกวีไร้ชีพกลายเป็นพื้นที่
สำคัญที่ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งเรียนรู้ชีวิตของกันและกันมากขึ้น จุดประกายฝัน
ประกายไฟต่างๆ มากมายที่ห้องเรียนไม่เคยให้ได้
และสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเด็กหลายคน ที่นำไปสู่เรื่องราวต่างๆ
ทั้งสุข ทุกข์ เศร้า หรือแม้กระทั่งการเกิดโศกนาฎกรรมที่แสนสะเทือนใจในเวลาต่อมา

ครูคีตติ้ง มีวิธีการสอนเด็กๆ ด้วยวิธีการที่แยบยลแต่ลึกซึ้งนัก
เขาชักชวนให้เด็กๆ คิดอย่างอิสระ เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนที่ยืน สิ่งที่เห็นก็เปลี่ยนไป
เขาชักชวนให้เด็กๆ ลองยืนบนโต๊ะเรียน ก้มๆ เงยๆ สิ่งที่เห็นจนชินตาก็จะเปลี่ยนไป
เขาชักชวนให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของชีวิต และใช้ชีวิตให้คุ้ม
ตราบเท่าที่ยังมีโอกาส มีลมหายใจอยู่ ผ่านบทกลอนบทหนึ่ง
ที่เขาเรียกสั้นๆ ว่า Carpe diem หรือ seize the day
ที่เวลาต่อมา วลีนี้ได้กลายเป็นคติเตือนใจของกลุ่มเด็กหนุ่มชมรมกวีไร้ชีำพ
และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตใครอีกหลายคน
ชีวิตของผู้คนที่มีโอกาสดู dead poets society
(ที่หนึ่งในคนนับร้อย นับล้านนั้นคือ ตัวเอง ด้วย)

และเป็นความจริงที่ว่า บางทีชีวิตก็ต้องการที่จะ "ขบถ" อยากจะแหกจากกรอบ
อยากทำสิ่งที่นอกเหนือบรรทัดฐาน นอกเหนือความคาดหวัง
เพราะเรามีช่วงวัยเด็กไม่นานนัก ชีวิตวัยเด็ก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
คงดีไม่ใช่น้อย เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ ย้อนกลับไปมองวัยเยาว์ แล้วพบว่า
ความทรงจำในวัยเด็กเต็มไปด้วยการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะสุข เรียนรู้ที่จะทุกข์
และค้นพบสิ่งสำคัญที่จะทำให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ด้วยพลังกำลังของตัวเอง

....และนี่คือ ชมรมกวีไร้ชีพ ในความทรงจำ
นี่คือ จินตภาพของการคิดฝันอย่างอิสระเสรี

สำหรับตัวเอง ครูคีตติ้งคือครูในดวงใจ "O Captian My Captian"
"จงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้" ก็ยังดังก้องอยู่ในหูบ่อยครั้งเวลาที่ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง
และการเปลี่ยนที่ยืน เปลี่ยนมุมมอง ก็ยังเป็นสิ่งที่คอยเตือนตัวเองบ่อยครั้ง
เวลาที่เผชิญกับปัญหา หรือคำถามที่ตัวเองต้องการคำตอบ

และหากการดูหนังดีๆ สักเรื่องทำให้ชีวิตมีความสุข
dead poets society ทำหน้าที่นั้น ...
ที่แม้ว่า...dead poets society อาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุด
แต่ก็เป็นหนังที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากมายจริงๆ

"เพราะโลกนี้ช่างกว้างมากนัก และเราอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อที่จะเรียนรู้มัน..
คิดอะไรไม่ออก ตะโกนดังๆ "Carpe Diem" ....

หมายเลขบันทึก: 261260เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2009 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท