เสน่ห์ในหนี้ชาวบ้าน


ถ้าหนี้แบบ 1-2 ก็พอที่จะแก้ไขโดยการบรรเทาหนี้ด้วยวิธีต่างๆ แต่ถ้าเป็นประเภทที่ 3 มันเป็นลักษณะค่านิยม
                สภาพหนี้ของชุมชนเวลานี้เป็นปัญหาสำคัญ เมื่อเทียบกับอดีตสัก ปี 2540 แล้ว คนละเรื่อง ขณะนั้นแม้ว่าสภาวะการเงินจะไม่คล่องตัว แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดหนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเร่งเครื่องการพัฒนาในระดับรากหญ้า กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐอัดฉีดเงินลงไปถึงมือประชาชน เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังการบริโภคภายใน ทำให้เกิดการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ (จะเห็นจากการโฆษณาสินค้าบริโภคที่หนักมากๆ และมักเป็นเรื่องอบายมุขเสียด้วย) ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจชุมชนชะลอตัวจากราคาสินค้าที่ตกต่ำ ผลผลิตที่ไม่เต็มที่ ปัจจัยการกีดกันการค้า ปัจจัยทางด้านโรคระบาด เป็นต้น ทำให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจฐานราก หนี้สินที่เคยเป็นหนี้เพื่อการลงทุน หรือใช้จ่ายทั่วไปกลายเป็นหนี้ที่ไม่สามารถคืนกลับมาได้ หรือการคืนกลับมาก็เป็นการสร้างภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น
                                กล่าวไปแล้วสภาพหนี้สินที่เกิดขึ้นซึ่งผมขอเรียกว่า "เสน่ห์หนี้ชาวบ้าน" พอจำแนกรูปแบบ ได้สัก 3 อย่าง คือ
                - หนี้ที่เกิดจากการไม่เจตนา เช่น เจ็บป่วยมากรักษาตัวนาน ต้องกู้เขามาหนัก ขณะที่คนหนึ่งป่วย อีกคนก็ต้องเฝ้าไข้ งานที่ทำได้ก็ทำได้น้อยลง  ปัญหาก็หนักขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ถ้ามีการเบาเท่าหนี้ก็พอจะช่วยให้หายใจหายคอได้บ้าง
                - หนี้ที่เกิดจากการลงทุน แต่ขาดทุน หวังจะได้กำไรแต่ก็ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ การลงทุนบางอย่างไม่ได้วิเคราะห์ผลทางหนีทีไล่ให้ดีก่อน  แต่บางทีก็วิเคราะห์ยากเช่น ลงทุนปลูกข้าว แต่ขายไม่ได้กำไร แบบนี้ก็มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้างเยอะ แต่ครั้นจะบอกว่า ถ้าปลูกข้าวไม่ได้กำไร ก็เป็นไปสร้างอาคารให้เช่าเสียสิ ถ้าตอบแบบนี้ก็แสดงว่าผู้ตอบไม่เข้าใจว่า ข้าวเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่สินค้าเดี่ยวๆ ข้าวเป็นรากเหง้าของบ้านเราเลยล่ะ
                - หนี้แบบวัวพันหลัก แบบนี้มีมากสำหรับคนยากจน ที่อยากได้อยากมีเหมือนเขาบ้าง เช่น อยากได้สร้อยทองคำราคา 10,000 บาท ก็ใช้วิธีซื้อเงินผ่อน บางทีก็ผ่อนเป็นอาทิตย์ บางทีก็ผ่อนเป็นวัน เป็นต้น
                ถ้าหนี้แบบ 1-2 ก็พอที่จะแก้ไขโดยการบรรเทาหนี้ด้วยวิธีต่างๆ แต่ถ้าเป็นประเภทที่ 3 มันเป็นลักษณะค่านิยม เป็นวัฒนธรรมคนไทยในการมีชีวิตอยู่แบบเงินผ่อน ดิ้นไม่หลุดกับกระแส  แต่ถ้าจะแก้ไข ก็ต้องเล่นกันยาว  คือ การตั้งเป้าหมาย 10 ปี ที่จะปรับนิสัยคนไทยทั้งระบบ โดยเน้นที่เด็กนักเรียนชั้นประถม 5-6 และมัธยม 1-3 ให้เด็กได้คุ้นเคยกับการทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือน อย่างน้อย 5 ปี อีกทั้ง มีการสอนเรื่องการจัดการทรัพย์ โดยเน้นการออมและการนำทรัพย์ที่ได้มาลงทุนในกิจการเล็กๆ ระดับเด็ก มีการสอนเพื่อวิเคราะห์ผล มีการสอนการรวมกลุ่มเพื่อการลงทุน สร้างนิสัยสหกรณ์ตั้งแต่เด็กๆ ทำแบบนี้ทั้งระบบ ปรับพฤติกรรมที่เด็กและให้เด็กไปสอนคนโต  ส่วนคนโตนั้นก็ใช้กระบวนกกลุ่มการเรียนรู้ในการสอน
                เรื่องนี้เป็นเรื่องนิสัยของคน ต้องใช้เวลา และความอดทน ความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนครับ ไม่ใช่สำเร็จกันง่ายๆ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26119เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท