ด้านการพัฒนาทักษะและการมีงานทำในจังหวัดชายแดนภาคใต้


การศึกษาเพื่อการมีงานทำ

การส่งเสริมการศึกษาด้านการพัฒนาทักษะอาชีพและการมีงานทำเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเพิ่อความมั่งคง โดยเน้นการกิจกรรมทางเศรษฐกิจนำการแก้ไขปัญหาทางสังคมจนทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการมีรายได้ที่มั่นคงจนเกิดสังคมคุณภาพที่พึงประสงค์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยการแยกเป็นประเด็นการส่งเสริมทั้งการทำงานในพื้นที่และนอกพื้นที่ ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นที่ ๑ การสร้างงานเร่งด่วน

            สภาพและปัญหา

            ฐานเศรษฐกิจหลักของจังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยภาคการเกษตรเป็นหลัก แต่ก็เน้นการพัฒนาควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดด้วย ทั้งนี้ เห็นว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วนของรัฐ(การจ้างงาน ๔,๕๐๐ บาท) ใช้งบประมาณมาก รัฐไม่อาจแบบรับภาระได้นาน ในขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบกับปัญหา ๓ เรื่องซ้อน ได้แก่

            ๑) อุปสงค์มวลรวมลดลง โดยเฉพาะการค้าการลงทุนให่มีให้เห็นน้อย กลไกทางเศรษฐศาสตร์ของพื้นที่ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาครัฐ เพราะผลผลิตทางการเกษตรหลักได้แก่ ยางพารามีราคาตกต่ำ จนทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่ลดลงและการซื้อขายมีสภาพคล่องในทางเศรษฐกิจลดลง และวิกฤติเศรษฐกิจโลกน่าจะส่งผลให้เกิดการว่างงานที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเพื่อนบ้านและแรงงานจากอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่

            ๒) เสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการได้รับงบประมาณของหน่วยงานรัฐในพื้นที่อาจไม่สามารถส่งเสริมเรื่องการสร้างอาชีพสร้างงานในพื้นที่ได้ต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายการจ้างงานเร่งด่วนในระยะแรกเริ่มได้ดึงแรงงานออกจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่า แต่เป็นที่นิยมเพราะคาดว่าจะได้ทำงานกับรัฐและเห็นว่าเป็นงานที่สบายกว่าเป็นแรงงานรับจ้างภาคเอกชน

            ๓) ทัศนคติ ค่านิยมและสมรรถนะการทำงานของคนในพื้นที่ การไม่นิยมทำงานหลายประเภท โดยเฉพาะงานในลักษณะ 3Ds (Dirty, Difficulty & Dangerous) ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน งานบริการ หรืองานที่เสี่ยงอันตราย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มุ่งเรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้หาแรงงานต่างด้าวมาทำแทนซึ่งอาจส่งผลถึงการสร้างปัญหาใหม่ของพื้นที่ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าความสนใจในการสมัครงานของเยาวชนในพื้นที่ที่เพิ่งจบการศึกษาส่วนใหญ่ที่สนใจทำงานในพื้นที่มีความนิยมมุ่งไปเป็นเจ้าพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐมากกว่า

 

            ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

            การมีแรงงานที่ไม่ทำงานในพื้นที่มากขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและเพิ่มจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่ร่วมก่อให้เกิดความไม่สงบที่ชักจูงได้ง่ายขึ้น ดังนั้นรัฐจะต้องมีทางออกในการส่งเสริมแรงจูงใจในการสร้างอาชีพในชุมชนโดยอาจเป็นมาตรการอุดหนุนสู่การพัฒนาทักษะสู่การสร้างอาชีพที่ลดภาระของรัฐในการแบบรับการใช้งบประมาณมากโดยไม่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นเลย ดังนั้นต้องค่อยๆ ลดการแบกรับภาระด้วยการส่งเสริมให้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบการจ้างงานเร่งด่วนให้สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมไปพัฒนาอาชีพในช่วงเวลาที่เหมาะสมพร้อมกับลดการผูกพันธ์ของรัฐ ซึ่งอาจจะให้เกิดความรู้สึกที่ว่าการทำงานมิได้เป็นเพียงการทำงานแลกค่าจ้างเท่านั้น หากมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ชุมชน โดยเน้นการพยายามดดำรงชีวิตอยู่บนโลกเช่นเดียวกับการแสวงลู่ทางทำมาหาเลี้ยงตนเอง และประคับประคองตนเองและครัวเรือนให้ดำรงอยู่ได้ภายใต้ความผันผวนทาเศรษฐกิจและสังคม

            ดังนั้น รัฐอาจกระทำด้วยการส่งเสริมแรงงานกลุ่มนี้ไปสู่สถาบันฝึกอบรมพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถและเจตคติที่ดีในการเป็นบัณฑิตอาสาหรืออาสาสมัครชุมชนในการคิดและพัฒนาชุมชน โดยผ่านการดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนกับหน่วยงานรัฐที่เคยทำงานอยู่ การช่วยเหลือรัฐในการเก็บข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือการสร้างกระบวนการถ่ายทอดความทันสมัยภายใต้บริบทชุมชนเดิม เช่น การจัดเวทีชุมชนในการเรียนรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษามาเลเซีย ภาษาอาหรับ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียนและโลกมุสลิม

            การลดภาระของรัฐด้านงบประมาณในการจ้างงานเร่งด่วนนี้ อาจได้ประโยชน์จากการนำงบประมาณส่วนนี้ไปเป็นแหล่งทุนส่งเสริมการประกอบการ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนมากกว่าการจ่ายเงินเพื่อจ้างแรงงานที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือและสร้างรายได้ให้ชุมชนมากนัก

 

ประเด็นที่ ๒ การรองรับแรงงานที่สำเร็จการศึกษาทุกระดับ

            สภาพและปัญหา

            จากการคาดการณ์สภาวะการมีงานทำจะเกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกมาก คาดว่าจะมีแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านหรือต่างประเทศบางส่วนกลับภูมิลำเนาตามค่านิยมในการกลับถิ่น ในขณะที่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษาก็ยังผลิตผู้สำเร็จการศึกษาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การเพิ่มขึ้นของสมาชิกในครัวเรือนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดสภาพของครอบครัวขยายเติบโตขึ้นและทำให้โครงสร้างประชากรของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีฐานประชากรที่เป็นเยาวชนที่สังคมต้องแบกรับจำนวนมาก แต่การลงทุนหรือการสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อให้เกิดการจ้างงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนไม่มีแนวโน้มจะขยายตัวภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่

            นอกจากนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเยาวชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งได้รับการชักชวนจากสถาบันอุดมศึกษาให้ไปศึกษานอกพื้นที่จำนวนมากและนิยมกลับถิ่นฐานเมื่อสำเร็จการศึกษา ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะมีหนี้สินติดตัวเนื่องจากในช่วงเวลาศึกษาได้อาศัยเงินกู้ยืมของกองทุนเพื่อการศึกษาเป็นหลัก (ส่วนใหญ่ใช้วงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตลอดหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ๔๐๐,๐๐๐ บาทต่อคน) ซึ่งนิยมเรียนทางด้านการบริหารธุรกิจและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ กลุ่มบัณฑิตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตสตรีที่ต้องหางานต่ำกว่าวุฒิและระดับความรู้ที่ได้รับการศึกษามา และมีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพในท้องถิ่น เช่น ครอบครัวอยากให้ทำงานใกล้บ้านในขณะที่ธุรกิจชุมชนที่อาศัยอยู่ไม่มีการจ้างระดับสูง จึงเกิดปัญหาการรองานและการทำงานต่ำกว่าวุฒิในพื้นที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

            ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

            ด้วยความต้องการส่วนใหญ่ของเยาวชนในระบบสถานศึกษามีความต้องการทำงานในพื้นที่บ้านเกิด หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการรองรับแรงงานที่จบการศึกษามาจากสถาบันต่างๆ ให้มากขึ้นขึ้นกว่าเดิม เช่น โครงการจ้างบัณฑิต แต่ควรพิจารณาปรับให้มีการสอนทักษะ/สมรรถนะและความรู้ส่วนบุคคลที่เหมาะกับสร้างคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การวางแผน การทำงานเป็นทีม การบริการ จริยธรรม วินัยความรับผิดชอบ ตลอดจนความรู้ด้านการจัดการ ด้านคอมพิวเตอร์ชั้นสูง ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาไทย นิสัย/วินัยอุตสาหกรรม ความรู้ด้านยาเสพติด เป็นต้น

            สถาบันการศึกษาและส่วนราชการด้านแรงงานต้องทำงานอย่างสอดคล้องเป็นกลไกไปสู่แนวทางการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ลดภาระของสังคมในการแบกรับการว่างงาน การผลิตตรงตามความต้องการของตลาดโดยให้มีบัณฑิตที่มีภาวะการว่างงานน้อยที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการยังเห็นว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับต่างๆ นั้น สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมต้องส่งเสริมเรื่องทักษะและความรู้ก่อนที่นักศึกษา/ผู้เรียนจะจบการศึกษา และต้องปรับหลักสูตร/สาขาวิขาที่ตรงกับตลาดโดยควรทำเป็นการสร้างเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนและทำแผนกรอบคุณวุฒิความสามารถแห่งชาติ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานแรงงานเพื่อโอกาสในการทำงานตามมาตรฐานโลก

 

ประเด็นที่ ๓ การทำงานรองรับแหล่งงานระยะยาว

            ควรส่งเสริมให้ทรัพยากรบุคคลและสถานศึกษา/หน่วยฝึกอบรม มองการพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถเพื่อสามารถรองรับการสร้างงานและทำงานใน ๕ มิติที่มีแผนการสร้างคนชัดเจน ได้แก่

            ๑) มิติการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

            ๒) มิติในการทำงานในพื้นที่อื่นของประเทศ 

            ๓) มิติการทำงานในประเทศมาเลเซีย กลุ่มประเทศอาเซียน และโลกมุสลิม

 

 

 

 

๓.๑ มิติการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  

            สภาพและปัญหา

            สภาพการทำงานหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มกลัวต่อความเสี่ยงต่อการถูกปองร้ายทำให้การทำงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรเข้าพื้นที่ปลูกน้อยลง ลดเวลาการทำงานลงหรือไปรับจ้างในพื้นที่ที่ปลอดภัยมากกว่า ได้แก่ การรับจ้างกรีดยาง การเก็บผลไม้ตามฤดูกาล ผู้ที่ทำกิจกรรมทางการเกษตรส่วนใหญ่นิยมวิธีการผลิตแบบเดิมและวิธีธรรมชาติ การปลูกพืชเศรษฐกิจในเชิงพาณิชย์หรือเป็นพื้นที่ใหญ่มีให้เห็นน้อยลง และการใช้พื้นที่เดิมในการเพาะปลูกซ้ำๆ ขาดการบำรุงดินและการเปลี่ยนแปลงของภาะดินฟ้าอากาศส่งผลให้จำนวนผลผลิตต่อพื้นที่มีแนวโน้มลดลง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกยางพารา การปลูกผลไม้ สำหรับการปศุสัตว์นิยมการเลี้ยงขนาดเล็กตามครัวเรือนซึ่งทำในลักษณะแค่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ในขณะที่กิจกรรมทางการเกษตรมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดทั้งในพืชและในสัตว์อยู่เสมอ การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้นมีให้เห็นน้อย ทั้งที่มีพื้นที่สาธิตตามโครงการพระราชดำริอยู่ในพื้นที่มาก กลไกสถาบันศึกษาทางการเกษตรในพื้นที่ขาดความสนใจของเยาวชนลูกหลานของเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีโครงการของหน่วยงานรัฐส่งเสริมการเกษตรอยู่อย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของสมาชิกในครัวเรือนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดสภาพของครอบครัวขยายเติบโตขึ้นและย่อมต้องการที่ดินเพิ่มมากขึ้น แต่โอกาสการขยายที่ดินออกไปไม่อาจทำได้เนื่องจากที่ดินที่เป็นที่ครอบครองเดิมไม่มีที่ดินว่างเปล่าอยู่ ทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นของสมาชิกในครัวเรือนในการดำรงชีพของตนเองมากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมทางการเกษตรที่เป็นกลไกสร้างรายได้เดิมของครัวเรือนมีแนวโน้มการขาดแคลนที่ดินเหมาะสมแก่การเพาะปลูกในท้องที่ เป็นเหตุให้ที่ดินมีราคาสูง

            สำหรับกิจกรรมนอกภาคการเกษตรมีการแนวโน้มขยายตัวและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดลักษณะการทำงานที่ควบคู่ทั้งการเกษตรและนอกภาคการเกษตรในลักษณะที่เอื้อซึ่งกันและกันได้ เช่น มีสวนยาง สวนลองกอง และทำประกอบกิจการขายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนั้นการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับรายได้ได้ง่ายกว่าและใช้ทุนไม่สูง

            นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ประกอบกิจกรรมทางธุรกิจก็จะเป็นแรงงานรับจ้าง แรงงานอิสระ หรือแรงงานในครอบครัว ซึ่งไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือสูงมากนักและเป็นกิจกรรมใช้แรงเป็นหลัก การทำงานส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่เป็นการใช้ทักษะฝีมือต่ำ จึงเสียเปรียบด้านสภาพการทำงานด้านค่าจ้างและสวัสดิการแรงงาน ดังนั้นมีลักษณะเป็นแรงงานรับจ้างส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพาเงินทุน เครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ หรือการตลาดจากนายทุน ซึ่งลักษณะการทำงานเป็นเช่นนี้มายาวนานและไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาทดแทน ลักษณะการใช้วิทยาการและเทคโนโลยีมาช่วยในกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเห็นได้ไม่มากนัก

           

 

            ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

            สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมทางการเกษตรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมเทคโนโลยีและกระบวนการรวมกลุ่มผลิตทางการเกษตรควรส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการรวมกลุ่มผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานและยกระดับไปสู่การผลิตที่ส่งเสริมให้ผลิตอาหารที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม ด้วยมีช่องทางการพัฒนาอาชีพและรายได้สอดคล้องกับความต้องการในการบริโภค ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปผลผลิต และต้องส่งเสริมการใช้การบำรุงดินและใช้ประโยขน์จากพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผนวกกับการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมจนทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงในรายได้และใช้การเกษตรเป็นฐานในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดความสงบสุขในระยะยาว

            สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตร หน่วยงานทางการศึกษาและฝึกอบรมควรเน้นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพท้องถิ่นจากฐานภูมิปัญญาและอาชีพดั้งเดิมไปสู่กระบวนการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในพื้นที่ เช่น การผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จากการสกัดเย็นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกทดแทนการผลิตด้วยการสกัดร้อนแบบเดิมที่เคยทำกันมา การจัดการน้ำในแปลงเกษตรด้วยการใช้ยางพารา การพัฒนาลวดลายที่นิยมในอดีตมาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเน้นการรวมกลุ่มผลิตเพื่อสานสัมพันธ์ที่ลดอคติเชิงชาติพันธุ์

            นอกจากนั้นความจำเป็นของชุมชนในการใช้ผู้มีทักษะฝีมือด้านช่างที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดบัฝีมือแรงงานพร้อมกับการฝึกสร้างนิสัยอุตสาหกรรมให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมมากขึ้น ควรมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ และควรส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญต่อการเพิ่มทักษะพัฒนาอาชีพ และควรเห็นการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐอย่างมีระบบ และสอดคล้องการการสร้างงานตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใชช้งบประมาณในการลงทุนจำนวนมาก

            สิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างกลไกทางเศรษฐกิจในระยะยาว คือ การฝึกอบรมประชาชนให้สามารถใช้หลักการบริหารจัดการและหลักการตลาดมาใช้ในการประกอบอาชีพ สำหรับเยาวชนในสถานศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาควรเน้นการสร้างแรงจูงใจในการเป็นผู้ประกอบการให้มากขึ้น โดยตัวแบบที่เยาวชนเห็นความสำคัญของการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามแนวทางอิสลามที่มีท่านศาสดาทางศาสนาอิสลามเป็นตัวแบบของการเป็นนักธุรกิจ การพัฒนาอาชีพและรายได้โดยอาศัยแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการพัฒนากิจกรรมทางการผลิตไม่ว่าจะเป็นการเกษตรและอุตสาหกรรมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนจากสังคมผู้บริโภค (Consumer Society) ไปสู่สังคมผู้ผลิต (Producer Society) จนสามารถสร้างคุณภาพชีวิต มีรายได้ระดับครัวเรือนและผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูงขึ้น

 

๓.๒ มิติการทำงานในพื้นที่อื่นของประเทศ

            สภาพและปัญหา

            ผู้จบการศึกษา ผู้ที่ออกจากการศึกษากลางคัน และแรงงานของพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ไปทำงานต่างพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไป ด้วยสาเหตุของการเปบี่ยนแปลงของฐานทรัพยากรหรือละทิ้งอาชีพเดิม โดยเฉพาะอาชีพประมง ที่ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ราคาน้ำมันแพงสูงขึ้น ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงละทิ้งถิ่นฐานเดิม ละทิ้งอาชีพเดิม เพื่อไปแสวงหาอาชีพใหม่ทั้งในพื้นที่อื่นของประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยพื้นฐานการสื่อสารที่นิยมใช้ภาษมลายูท้องถิ่นในการสื่อสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารภาษไทยทั้งพุด ฟัง อ่าน และเขียนได้ทัดเทียมกับเยาวชนในภูมิภาคอื่นได้ จึงมีความยากลำบากในการทำงานด้านการบริการที่ต้องอาศัยการสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้นมักได้รับการสะท้อนจากเยาวชนในพื้นที่ที่ไปทำงานต่างถิ่นว่าได้รับการยอมรับเข้าทำงานได้ยากด้วยมีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสื่อประโคมข่าวในทางลบตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ผู้ประกอบการด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมรับรู้จนเกิดอคติทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยชัดเจนและนิยมสื่อสารกันในกลุ่มด้วยภาษามลายูท้องถิ่นจนเกิดความหวดกลัวว่าจะนำเอาปัญหาไปสู่ธุรกิจที่ลงทุนได้

            อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพื้นฐานการใช้ภาษาอาหรับทางศาสนาอยู่แล้ว และได้รับการศึกษาในประเทศที่สื่อสารด้วยภาษาอาหรับจนเกิดความคล่องแคล่วได้รับโอกาสการทำงานในภาคบริการที่ต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการที่เป็นชนชาติกลุ่มประเทศอ่าว (Gulf Countries) โดยเฉพาะชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่นิยมมาใช้บริการทางการแพทย์และลงทุนด้านการเกษตรในประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จนทำให้แรงงานที่มีทักษะทางภาษาอาหรับอย่างคล่องแคล่วมีโอกาสการทำงาน แต่ก็การใช้ชีวิตต่างพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังต้องการการจัดพื้นที่และเวลาในการปฏิบัติศาสนกิจได้ด้วย

 

            ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

            โอกาสในการทำงานของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการส่งเสริมการเรียนวิชาชีพอย่างเดียวอาจไม่ประกันการมีงานทำได้ แต่ต้องมีการสร้างโอกาสการทำงานกับภาคธุรกิจโดยหน่วยงานรัฐเป็นกลไกในการเชื่อมโยงให้เรียนรู้ทักษะการทำงานกับสถานประกอบการมืออาชีพ เช่น การส่งเสริมโครงการ "ทำดี มีอาชีพ" ของส่วนงานมวลชนและกิจการพิเศษ สำนักเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษากระทรวงมหาดไทย หอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสการศึกษาวิชาชีพและส่งเสริมการมีงานทำสำหรับเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีโอกาสการอบรมทักษะวิชาชีพและทำงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจของผู้ประกอบการที่รัฐเป็นผู้กลั่นกรองและให้การอบรมก่อนการไปทำงานกับภาคธุรกิจต่างพื้นที่ของประเทศได้ หรือโครงการของกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตพยาบาลในระดับวิชาชีพในวิทยาลัยการพยาบาลทั่วประเทศเป็นการรองรับการขาดแคลนแรงงานด้านสาธารณสุขของพื้นที่ได้

            สำหรับการส่งเสริมทักษะสากล เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ การใช้ทักษะคอมพิวเตอร์ขั้นสูง เป็นโอกาสการทำงานให้เยาวชนในการไปทำงานต่างพื้นที่และได้รับการยอมรับ ซึ่งในระยะยาวการส่งเสริมไปเรียนรู้และทำงานในระดับประเทศจะทำให้สังคมไทยเกิดการยอมรับในคุณภาพของเยาวชนไทยมุสลิมจนเกิดลักษณะสังคมพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรมที่เกื้อกูลกัน

หมายเลขบันทึก: 259389เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช

ข้อมูลมีสาระดีนะคะ

โชคดี มีสุขค่ะ

ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช

ขอบคุณครับ

หลายหน่วยงานมองว่าปัญหาความไม่สงบของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงก่อนเหตุการณ์หรือโอกาสการพัฒนาจะเกิด

แต่หากมองเพื่อประโยชน์ของประเทศแล้ว ภาครัฐอาจจะต้องกลับมาทบทวน (rethink) โดยมองมิติของสังคมวิทยาและกลไกที่จะขับเคลื่อนพลเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและพื้นที่เอง เช่น ประเทศไทยได้ลงนามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ในการเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรประมาณ ๕๖๗ ล้านคน และกว่า ๓๐๐ ล้านคนเป็นคนเชื้อชาติมลายู (ไม่ได้มองในมิติศาสนา) และสื่อสารด้วยภาษามลายู อันรวมถึง Bahasa Malayu และ Bahasa Indonesia ซึ่งเป็นจำนวนกว่าครึ่งของประชากรอาเซียน

หากมองพลเมืองไทยที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรามีอัตลักษณ์ของพื้นที่ในความเป็นพหุภาษา และพหุวัฒนธรรม ที่โดดเด่นคือความเป็นผู้มีความอารี อัธยาศัยยิ้มแย้มไมตรีแบบไทยๆ และสื่อสารด้วยภาษามลายูท้องถิ่น (ซึ่งอาจเรียกได้ว่าใช้การสื่อสารเหมือนคนมาเลย์ในรัฐกลันตัน) ซึ่งเปรียบเหมือนการพูดภาษาถิ่น เช่น ภาษาไทยทางใต้ของประเทศ เพียงแต่เรามองในความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ประเทศไทยเราก็มีทรัพยากรชั้นดีที่จะพัฒนาการพูดไปสู่ Bahasa Malayu ไม่ยากนัก ดังนั้นอนาคตของอาเซียนที่จะเกิดความเข้มแข็งของความเป็นประชาคมในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (หรือ ๖ ปีจากนี้ไป) เราจะมีการเคลื่อนของประชากรระหว่างภูมิภาคสูง และหากมองโอกาสการพัฒนาจะเกิดประโยชน์กว่ามิติที่คลางแคลงใจที่มองพลเมืองของประเทศในจังหวัดชายนแดนภาคใต้เป็นเพียงปัญหาความมั่นคง

ที่วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสตอนนี้เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านภาษามลายูกลางเพื่อโอกาสการพัฒนาแล้ว ตอนนี้มีในอำเภอเมือง และกำลังส่งเสริมให้มีการเปิดสอนในอำเภอสุไหงโหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอรือเสาะ และกระจายให้ทั่วจังหวัด

การเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารหลากหลาย ไม่เป็นเพียงความมั่นคงของการพัฒนาของพื้นที่ในการเชื่อมโยงสู่โลกาภิวัตน์ แต่เป็นการพัฒนาจากข้างนอกเข้าสู่ข้างในเอง แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเราต้องสร้างเครือข่ายที่จะรักษาอัตลักษณ์เดิม (Social Selfty Net) ที่ดีอยู่แล้วให้ยังคงความโดดเด่น อันเกิดความภาคภูมิใจและฐานวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ตามแบบอย่างสังคมที่ยั่งยืนตามแนวคิดตะวันออกอย่างเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท