การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงิน...ตอบคำถามข้อ 3 (3.3)


ในการที่จะทำวิสาหกิจชุมชน (ขณะนี้) ไม่ต้องทำแผนแม่บทชุมชนก็ได้ หากกลุ่มรู้ว่าชุมชนตนเองมีความต้องการอะไร มีปัญหาอะไรก็สามารถทำได้เลย

                    ว่างเว้นจากการตอบคำถามของทีมกลางไปหลายวัน คงจะไม่ว่ากันนะคะ วันนี้ก็เลยถือโอกาสตอบคำถามข้อสุดท้าย ซึ่งก็คือ กระบวนการจัดการความรู้ในระดับสมาชิก ในส่วนนี้ทีมกลางบอกว่ายังมีอยู่น้อยมาก เข้าใจว่ายังไม่มีการจัดการในส่วนนี้เลย

                    ผู้วิจัยขอโน้มรับข้อสังเกตของทีมกลางที่กล่าวมาข้างต้นค่ะ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ผ่านมาเรายังไม่มีการจัดการความรู้ในระดับสมาชิกเลยค่ะ เพราะ พวกเรามัวแต่ไปมุ่งแก้ไขปัญหาในระดับเครือข่ายฯอยู่นานมาก

                    อนึ่ง ในการจัดการความรู้ระดับสมาชิกนั้น เดิมทีมวิจัยตั้งเป้าหมายของการจัดการความรู้เอาไว้ 3 ประการ คือ

                    1.สร้างและพัฒนาทีมจัดการความรู้

                    2.สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิด ปรัชญา และการบริหารจัดการของกองทุนสวัสดิการ ชุมชน โดยปรับฐานคิดจากการ “ออมเพื่อกู้” สู่ “การออมเพื่อให้”

                    3.สมาชิกมีการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเพื่อการวางแผนวิสาหกิจชุมชน

                    ซึ่งในเป้าหมาย 3 ประการนี้ แฝงไปด้วยจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ

                    1.ต้องการให้สมาชิกมีวินัยในการออม เพื่อ ลดจำนวนผู้ที่ขาดสมาชิกภาพ มีการกู้ยืมเงินจากกองทุนหมุนเวียนลดน้อยลง

                    2.เกิดแผนแม่บทชุมชน อันจะนำไปสู่การวางแผนวิสาหกิจชุมชนต่อไป (จุดมุ่งหมายนี้วางอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินการเพื่อที่จะทำแผนที่ภาคสวรรค์ให้เป็นจริง)

                    ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม จนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งต้องปิดโครงการ ทีมวิจัยได้มุ่งการจัดการความรู้ไปที่ระดับกลุ่มและสมาชิกใน 5 พื้นที่เป้าหมาย โดยในระดับสมาชิกนั้น ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้ดูแล 3 พื้นที่ คือ เกาะคา แม่พริก และเถิน เราได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการของแต่ละกลุ่มเพื่อวางแผนงานขับเคลื่อนในระดับกลุ่มและระดับสมาชิกไปพร้อมๆกัน ผลที่ได้จากการพูดคุย นอกจากได้แผนงาน , ตารางการประเมินตนเอง แล้ว เรายังได้ข้อสรุปที่สำคัญ คือ ในการที่จะทำวิสาหกิจชุมชน (ขณะนี้) ไม่ต้องทำแผนแม่บทชุมชนก็ได้ หากกลุ่มรู้ว่าชุมชนตนเองมีความต้องการอะไร มีปัญหาอะไรก็สามารถทำได้เลย เพราะ ในการทำแผนแม่บทชุมชนแม้จะเป็นสิ่งดี แต่สมาชิกต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องมีความพร้อม (ในระดับหนึ่ง) และต้องระดมการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

                     การพบปะกันของคณะกรรมการและสมาชิกในกิจกรรมต่างๆ เช่น การออม การประชุมประจำปี งานบุญ การพูดคุยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น รวมทั้งการที่ทีมวิจัยได้ลงไปพูดคุย สัมภาษณ์สมาชิกของกลุ่ม เป็นที่มาของข้อมูลว่าชุมชนมีความต้องการอะไร สมาชิกมีความต้องการอะไร ดังนั้น ในกลุ่มเป้าหมายที่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ดูแลจึงลงความเห็นว่าในเมื่อเรามีข้อมูลอยู่ในมือระดับหนึ่ง เราคงไม่ต้องเสียเวลาไปทำแผนแม่บทชุมชน เราสามารถดำเนินการต่อไปได้เลย คือ การเรียกประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ากลุ่มจะดำเนินการวิสาหกิจชุมชนต่อไปอย่างไร วิธีการเป็นช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกไปในตัวด้วย

                      นอกเรื่องไปเสียนาน วกกลับเข้าเรื่องดีกว่านะคะ สำหรับกระบวนการจัดการความรู้ที่จะนำไปเสริมในระดับกลุ่มที่ได้วางแผนไว้และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมงาน คือ

                      1.ส่งเสริมให้สมาชิกมีวินัยในการออม โดยที่ทางโครงการจะรับสมัครอาสาสมัครสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ และมอบกระปุกออมสิน พร้อมกับการ์ด (แบบฟอร์ม) การออมให้กับสมาชิก ทุกเดือนสมาชิกต้องเอาการ์ดมาส่งมอบให้กับกลุ่ม พร้อมกับเงินที่ออมในกระปุกออมสินด้วย (เป็นรายละเอียดแบบคร่าวๆค่ะ)

                      2.ในความรู้กับสมาชิกที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เช่น ในกรณีของกลุ่มแม่พริก จะมีการเชิญวิทยากรเพื่อมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์กับสมาชิก เป็นต้น

                      ไม่รู้ว่าจะตอบตรงคำถามหรือเปล่า ยังไงก็เสนอแนะมาได้นะคะ ขอบคุณค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25923เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท