เป้าหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา


 

 

          คำสอนของพุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่น คือ คำสอนของศาสนาอื่นนั้นเป็นคำสั่งสำเร็จรูปที่ ศาสนิกจะต้องทำตามให้เทพเจ้าพึงพอใจสถานเดียว ใครไม่ทำตามจะถูกลงโทษจากเทพเจ้าเบื้องบนโดยการให้ตกนรกไปตลอดกาล[1] แต่คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเพียงการนำกฏความจริงของธรรมชาติมาบอกเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้สร้างกฏหรือผู้บังคับผู้คนให้ต้องทำตามกฏ พระองค์เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่พยายามสั่งสม/บำเพ็ญบารมีมาแล้วเป็นล้าน ๆ ชาติ[2] จนได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรู้แจ้งในกฏเกณฑ์ทั้งปวงของธรรมชาติว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีอะไรเป็นสาเหตุ ดังปรากฏหลังฐานให้ศึกษาในจูฬกัมมวิภังคสูตร[3] พระองค์ทรงรู้ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างจึงจะหลุดพ้นไปจากกฏเกณฑ์ทั้งปวงของธรรมชาติได้


                   องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ความตั้งอยู่ตาม   ธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคต(เพียงแต่)รู้แจ้งแล้ว...จึงนำมาบอก..เปิดเผย ...ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ..สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์..ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”[4] และตรัสว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัยชรามรณะจึงมี ตถาคตเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคต(เพียงแต่)รู้แจ้งและเข้าถึงธรรมนั้น แล้วนำมาบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า‘เธอทั้งหลายจงดูเถิด[5] 


                  พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า แม้พระองค์จะทรงรู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งปวงแล้ว แต่พระองค์ก็ไม่สามารถทำให้ใครเข้าถึงความจริงนั้นได้ จนกว่าเขาผู้นั้นจะเข้าถึงได้ด้วยความเพียรแห่งตนเอง พระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ดังพุทธพจน์ว่า “นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง จะพึงหลุดพ้นได้ ด้วยประการฉะนี้”[6]

หมายเลขบันทึก: 258843เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท