บุคคล ๔ ประเภท v.1


บุคคล ๔ ประเภทเรื่องแรกที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ

                ๑.รู้น้อยเอาตัวรอดได้                          ๒.รู้น้อยเอาตัวไม่รอด

                ๓.มีความรู้มากเอาตัวไม่รอด                 ๔.มีความรู้มากและเอาตัวรอดได้

 

                ข้อที่ว่า  รู้น้อยเอาตัวรอดได้นั้น  หมายถึงคนที่เรียนน้อย รู้น้อย  แต่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก  อะไรดีอะไรชั่ว  อะไรมีประโยชน์อะไรมีโทษ  อะไรควรทำไม่ควรทำ  แล้วทำในสิ่งที่ดีไม่มีโทษ เช่นรู้ว่า  ทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญมาก  ประพฤติธรรมข้อใดจึงจะเป็นประโยชน์แก่ตน  เมื่อแน่ใจว่าถูกต้องแล้วก็ลงมือปฏิบัติตามที่รู้นั้น  จึงเอาตัวรอดจากอบายมุข  จากอบายภูมิได้  ไม่ต้องไปตกนรกหรือตกอบาย  อย่างนี้เรียกว่ารู้น้อยแต่เอาตัวรอดได้  ดังที่สุนทรภู่ประพันธ์ไว้ว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

                ข้อที่ว่า รู้น้อยและเอาตัวไม่รอดนั้น  หมายถึง ท่านที่เรียนน้อยรู้น้อย และไม่ทำตามที่รู้นั้น เช่นรู้ว่า  การรักษาศีล ๕, ๘ เป็นความดีไม่มีโทษ  และเกิดประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า  หรือรู้ว่าอบายมุข เช่นการดื่มสุรา เสพยาเสพติดหรือเล่นการพนัน  จะพาให้ประสบกับความพินาศเสียหาย  เขาก็รู้ แต่ก็เป็นเพียงรู้เท่านั้น  ไม่สนใจที่จะรักษาศีล  ไม่เคยคิดที่จะเลิกอบายมุข  ยังคงมั่วสุมอยู่กับสิ่งเหล่านั้นต่อไป  บางคนสูบบุหรี่มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  เดี๋ยวนี้แก่แล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่าบุหรี่นั้นมีสารที่เป็นพิษ สูบมากๆ อาจเป็นอันตรายได้  แต่ก็เลิกไม่ได้  บอกว่าลงทุนมานาน เสียดาย  อย่างนี้ฉุดไม่ขึ้นดึงไม่ไหว เรียกว่า รู้น้อยเอาตัวไม่รอด

                ข้อที่ว่า  มีความรู้มากแต่เอาตัวไม่รอดนั้น  ได้แก่ นักเรียนนักศึกษาบางคนบางพวก  ตลอดจนนักพูดนักอภิปราย  นักเทศน์นักปาฐก  หรือนักเรียนที่จบปริญญาสูงๆ บางท่านมีความรู้มาก  รู้แทบทุกอย่าง รู้เหตุรู้ผล  รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน  แต่ว่ามีเพียงความรู้ ไม่เอาความรู้ ไม่เอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เลือกงานที่จะทำว่าต่ำเกินไปบ้าง  ละอายในการที่จะทำงานต่ำๆ บ้าง  ก็เลยหางานทำไม่ได้  กลายเป็นคนว่างงานใช้แต่ทรัพย์เก่าทุนเก่า  บางทีก็ไปทำในสิ่งที่ไม่สมควรเข้าอีก

                บางท่านมีความรู้ทางธรรมะดีมาก  รู้แม้กระทั่งว่าข้อห้ามต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนทำความชั่ว หรือโทษที่พระพุทธองค์ได้วางไว้ก็เป็นเพียงการเขียนเสือให้วัวกลัว  ไม่มีโทษอะไรตามนั้น แล้วก็ไม่สนใจที่จะทำตาม  มักละเมิดฝ่าฝืนข้อห้ามอยู่เสมอ  ความรู้อย่างนี้เอาตัวไม่รอดจากอบายภูมิแน่  เหมือนพระกปิละในศาสนาของพระกัสสปะพุทธเจ้า เรียนจบพระไตรปิฎก เทศน์เก่ง  เทศน์ได้ไพเราะ  พระเณรคฤหัสถ์ชอบฟัง  ท่านจะไปเทศที่ไหนก็มักมีแฟนๆ ตามไปฟังเสมอ  ลาภสักการะ  ชื่อเสียงก็โด่งดังมากขึ้น  กลายเป็นพระภิกษุที่สังคมยกย่อง  หนักเข้าก็ลืมตัว  ทำอะไรถูกไปหมด  พูดอะไรไม่มีผิด  เพราะไม่มีใครสักคนกล้าคัดค้าน  เห็นว่าท่านแตกฉานในพระไตรปิฎก  ท่านก็เลยได้ใจ  ทำอะไรแผลงๆ แปลกเข้าทุกที  จนกระทั่งพระเถรานุเถระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย  เห็นว่าจะเป็นอันตราย เรื่องจะไปกันใหญ่  ก็ได้เข้าไปตักเตือน  ท่านกลับข่อมขู่ดูหมิ่นพระเถระเหล่านั้นว่า โง่แล้วมาอวดฉลาด ไม่รู้อะไรก็นิ่งเสียดีกว่า  จากนั้นก็ไม่มีใครกล้าตักเตือน ท่านก็เลยทำความไม่ดีมากขึ้น จนในที่สุดก็ถูกทอดทิ้ง  ไม่มีพระเถระรูปใดสนใจ  เมื่อท่านมรณะแล้วไปตกนรกอยู่เป็นเวลานาน  ในพุทธกาลนี้  พ้นจากนรกมาเกิดเป็นปลาทองอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี  ประเทศอินเดีย  มีชาวประมงทอดแหได้มา  นำไปถวายพระพุทธเจ้าทอดพระเนตร  พระพุทธเจ้าได้อธิษฐานให้ปลานั้นพูดภาษามนุษย์ได้ พอปลานั้นอ้าปากขึ้นเท่านั้นกลิ่นเหม็นที่ออกจากปากของปลาก็ฟุ้งไปทั่วบริเวณนั้น  กลิ่นเหม็นเหมือนกับไข่เน่า  เหมือนอุจจาระที่หมักไว้นาน เหม็นแทบทนไม่ได้ ประชาชนจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เหตุใดปลาตัวนี้มีสีสวยเหมือนทองคำ แต่กลิ่งปากเหม็นเหลือเกิน  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ที่สีตัวเหมือนทองคำ  เพราะกุศลที่ทรงพระไตรปิฎก  ปากเหม็นเพราะเทศน์สอนประชาชนผิดธรรมผิดวินัย  และข่มขู่ดูหมิ่นพระภิกษุผู้มีศีลเรียบร้อย  ในสมัยที่ตนยังเป็นพระภิกษุอยู่  ปลากปิละได้ฟังพระพุทธเจ้าเล่าอดีตของตน  จึงรู้และสลดใจว่าได้เกิดพบพระพุทธศาสนา  มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ มีโอกาสได้เรียนจบพระไตรปิฎก ยังเอาตัวไม่รอดต้องไปตกนรก  แล้วยังต้อมมาทนทุกข์ในอัตภาพของปลาอีก  นึกเสียใจน้อยใจอย่างมาก  จึงยกศีรษะของตนขึ้นแล้วฟาดลงกับพื้น  ตายไปเกิดในนรกอีก นี่แหละที่ว่า บางท่านมีความรู้มาก แต่ก็ยังเอาตัวไม่รอดก็มี

                ข้อที่ว่า  มีความรู้มากและเอาตัวรอดได้นั้น  หมายถึง  ผู้ที่เรียนมาก ศึกษามากทั้งทางโลกและทางธรรม รู้ดีรู้ชั่ว  รู้โทษรู้ประโยชน์  รู้อุบายแห่งการทำดี  อุบายหลีกเว้นจากความชั่ว  แล้วปฏิบัติตามสิ่งที่ตนรู้นั้น  เช่นรู้ว่า  รักษาศีลดีก็พยายามรักษาศีล  รู้ว่าอบายมุขไม่ดี ก็พยายามหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล  สิ่งใดเป็นเหตุของความเจริญ ก็เร่งดำเนินตาม การปฏิบัติธรรมวิธีใดที่จะทำให้ใจสงบ สว่าง เย็น  ก็ปฏิบัติตามวิธีนั้น  อย่างจริงจัง  ไม่ท้อแท้ถดถอย  ก็ได้ผลสมความตั้งใจ  รู้อย่างนี้ รู้แล้วเอาตัวรอดได้

 

---->> นานาสารธรรม --- สีนวล ป.ธ.๙ <<----

 

หมายเลขบันทึก: 258806เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมมากครับ เยอะมาก เเละก็ได้ความคิดดีทีเดียว..นำเรื่องดี ๆ อย่างนี้มาอีกนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท