ขุมทรัพย์ คือ บุญ


อิฏฐผลทั้งปวงนั้น เทวดาและมนุษย์ ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

นิธิกัณฑคาถา

นิธึ นิเธติ ปุริโส   คมฺภีเร  อุทกันฺติเก อตฺเถ กิจฺเจ สมุปฺปนฺเน อตฺถาย เม ภวิสฺสติ ฯลฯ เอวํ มหตฺถิกา เอสา ยทิทํ ปุญฺญสมฺปทา ตสฺมา ธีรา ปสํสนฺติ ปณฺฑิตา กตปุญฺญตนฺติ.

บุรุษย่อมฝั่งขุมทรัพย์ไว้ ในที่ลึกมีน้ำเป็นที่สุด ด้วยคิดว่า  เมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น  ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แ่ก่เรา  เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง  เพื่อเปลื้องตนจากโจรภัยบ้าง   เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง  ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง  ในคราวคับขันบ้าง  ขุมทรัที่เขาฝั่งไว้ในโลก  ก็เพื่อประโยชน์นี้แล

ขุมทรัพย์นั้นทั้งหมด  ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขา  ในกาลทั้งปวงที่เดียวไม่

เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่เสียบ้าง  ความจำของเขา เคลื่อนคล้าดเสียบ้าง  นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง  ยักข์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง  ผู้รับมฤดกที่ไม่ชอบกันขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ  ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้น ย่อมสูญไป

ขุมทรัพย์คือบุญ ของผู้ใด เป็นหญิงก็ตาม   เป็นชายก็ตาม  ฝั่งไว้ดีแล้ว   ด้วยทาน   ศีล  ความสำรวม และความฝึกตน   ในเจดีย์ก็ดี   ในสงฆ์ก็ดี   ในบุคคลก็ดี   ในแขกก็ดี   ในมารดาก็ดี   ในบิดาก็ดี  ในพี่ชาย พี่สาวก็ดี

ขุมทรัพย์นั้น  ชื่อว่าฝั่งไว้ดีแล้ว   ใคร ๆ ไม่อาจผจญได้  เป็นของติดตามตนไปได้   บรรดาโภคะทั้งหลาย  เขาจำต้องละไป  เขาจะพาขุมทรัพย์ คือ บุญนั้นไป

ขุมทรัพย์ คือ บุญ   ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น  โจรก็ลักไปไม่ได้  

บุญนิธิอันใด  ติดตามตนไปได้  ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น

บุญนิธิอันนั้น   ให้สิ่งที่ต้องการทุกอย่าง  แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เทวดาและมนุษย์  ปราถนานักซึ่งผลใด ๆ   ผลนั้น ๆ  ทั้งหมด  อันตนย่อมได้ ด้วยบุญนิธินั้น

ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม   ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ    ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี   ความเป็นผู้มีรูปสวย  ความเป็นใหญ่ยิ่ง   ความเป็นผู้มีบริวาร 

อิฏฐผลทั้งปวงนั้น   อันเทวดา และมนุษย์  ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ   ความเป็นใหญ่ยิ่ง  (คือ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ)  ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิ   อันเป็นที่พึงใจ  ความเป็นพระราชาแห่งเทพดาในทิพยกายทั้งหลาย

อิฏฐผลทั้งปวงนั้น  อันเทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย  ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

สมบัติเป็นของมนุษย์ด้วย  สมบัติอันบุคคลพึงรื่นรมย์  ในเทวโลกด้วย   สมบัติ คือ พระนิพพานด้วย  สมบัติทั้งปวงนั้น   อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

ความที่อาศัยคุณเครื่งถึงพร้อม คือ มิตรแล้ว   ถ้าประกอบโดยอุบายที่ชอบ  เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ

อิฏฐผลทั้งปวงนั้น  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

ปฏิสัมภิทา และวิโมกข์  สาวกบารมีญาณ  ปัจเจกโพธิญาณ  พุทธภูมิ

อิฏฐผลทั้งปวงนั้น   เทวดาและมนุษย์ทั้ง   ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

คุณเครื่องความถึงพร้อม คือ บุญนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่อย่างนี้   เพราะเหตุนั้น  บัณฑิตผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงสรรเสริญ ข้อทีบุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว ดังนี้แล.

ที่มา:สวดมนต์แปล

 

หมายเลขบันทึก: 258482เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2009 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท